|
มะเขือม่วง GM โครงการที่เป็นหมัน
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มะเขือม่วงที่ชาวอินเดียเรียกว่า Brinjal กลายเป็นประเด็นร้อนจนขึ้นพาดหัวข่าวไม่เว้นวัน ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงมะเขือม่วงล้นตลาด กองอวบอ้วนทั้งสีม่วงเข้มและเขียวอ่อนอยู่ทุกแผงผัก ราคาจึงดิ่งจากกิโลกรัมละ 20 กว่ารูปี ลงเหลือ 5 รูปี เป็นที่สำราญใจแก่บรรดาแม่บ้าน ส่วนมะเขือม่วงฝานแผ่นชุบแป้งทอด เมนูของว่างยามเย็นยอดฮิตก็ยังยืนราคาชิ้นละ 2 รูปีอยู่ไม่ต่างจาก 3-4 ปีก่อน แล้ว เหตุใดมะเขือม่วงจึงกลายเป็นเรื่องร้อน เป็นประเด็นวิวาทะกันระหว่างนักการเมือง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกษตรกรและนักวิทยาศาสตร์
สาเหตุคือมะเขือม่วง บีที ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการดัดแปลงทางพันธุกรรม (GM: Genetic Modification) ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตรวจสอบด้านพันธุวิศวกรรมของอินเดีย (GEAC: Genetic Engineering Approval Committee) ให้มีการปลูกเชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดการประท้วงจากหลายภาคส่วน จนทำให้รัฐมนตรีสหภาพดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อม Jairam Ramesh เห็นควรให้เปิดการรับฟังสาธารณะเพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนการตัดสิน ใจอนุมัติอย่างเป็นทางการ และผลจากการรับฟังสาธารณะที่จัดขึ้น 7 รอบในรัฐต่างๆ ยังผลให้ราเมษ ประกาศระงับมะเขือม่วงบีทีเข้าสู่การเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
มะเขือม่วงบีทีนี้เป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นโดย บริษัท Mahyco (Maharashtra Hybrid Seeds Company) ของอินเดีย โดยใช้ยีน Cry 1Ac จากแบคทีเรียในดินชื่อ Bacillus Thuringiensis (Bt) ที่คาดว่าจะช่วยต้านแมลงที่เป็นอันตรายต่อยอดอ่อนและการออกผล ซึ่งยีนบีทีที่ใช้ในการดัดแปลงทางพันธุกรรมนี้มาจากบริษัท Monsanto ของสหรัฐฯ ซึ่งถือหุ้นของ Mahyco อยู่ 26 เปอร์เซ็นต์
หากรัฐบาลอนุมัติมะเขือม่วงบีทีจะเป็นพืช GM เพื่อการบริโภคชนิดแรกของอินเดียที่มีการเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ และเป็นมะเขือม่วง GM สายพันธุ์แรกของโลก โดยที่อินเดียนั้นถือเป็นประเทศผู้ผลิตมะเขือม่วงรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ซึ่งสายพันธุ์ธรรมชาติที่ใช้เพาะปลูกมีหลากหลายกว่า 2,500 สายพันธุ์ที่ล้วนแต่ให้ผลผลิตดีทำให้มีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับพืชผักอื่นๆ
งานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมในมะเขือม่วงนี้ไม่ใช่กรณีมะเขือม่วงบีทีเป็นรายแรก ก่อนหน้านี้ในปี 1997 รัฐบาลกลางได้มีคำสั่งล้มเลิกการทดสอบภาคสนามของ 'มะเขือม่วงเพชฌฆาต' ที่ผ่านการตัดต่อใส่ยีนที่คาดว่าจะฆ่าหนอนที่ชอบเข้าไปฟักตัวอยู่ข้างใน อันเป็นผลงานการวิจัยของสถาบันวิจัยด้านการเกษตรของรัฐบาลเอง
ในกรณีของมะเขือม่วงบีที หลังการอนุมัติโดยคณะกรรมการ GEAC เมื่อเดือนตุลาคม 2008 ได้ก่อให้เกิดการประท้วงและการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงให้ระงับการเดินหน้าเชิงพาณิชย์ ด้วยเกรงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค ต่อเกษตรกรรายย่อย ที่ยังเพาะปลูกด้วยสายพันธุ์ธรรมชาติ รวมถึงผลด้านการกลายพันธุ์ในสายพันธุ์ธรรมชาติที่มีอยู่
ในแง่สุขภาพ มีการอ้างอิงอย่างกว้างขวางถึงผลการประเมินของ Gilles-Eric Seralini ศาสตราจารย์ ชาวฝรั่งเศสแห่งคณะกรรมการข้อมูลและการวิจัยอิสระด้านพันธุวิศวกรรม ซึ่งใช้ฐานข้อมูลจากรายงาน การทดสอบสารพิษที่ Mahyco ยื่นต่อรัฐบาลอินเดีย และให้ความเห็นว่ายีนในมะเขือม่วงบีที อาจก่อสารพิษในร่างกายของผู้บริโภค และอาจนำไปสู่ความผิดปกติของทารกในครรภ์ และปัญหาสุขภาพอย่างมะเร็ง และโรคพาร์คินสัน
Niranjana Maru ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรเชิงนิเวศที่เข้าร่วมการรับฟังสาธารณะในเมืองนาคปุระ เล่าถึงประสบการณ์จากการทำงานกับเกษตรกรท้องถิ่นว่าการเพาะปลูกมะเขือม่วงใช้ระยะเวลาราว 8 เดือนครึ่ง ได้ผลผลิตราว 30,000 กิโลกรัมต่อพื้นที่หนึ่งเฮกตาร์ ราคาขายมักอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 8-16 รูปี ส่วนปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลงอยู่ที่ 0-10 เปอร์เซ็นต์ "อย่างนี้แล้วมีความจำเป็นอะไรที่ต้องพึ่งสายพันธุ์จีเอ็ม" เขาตั้งคำถาม
K. Varadarajan เลขาธิการของ All India Kisan Sabha หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่คัดค้านในเรื่องนี้กล่าวในการให้สัมภาษณ์นิตยสารฟร้อนท์ไลน์ว่า ร้อยละ 60 ของเกษตรกรอินเดียเป็นเกษตรกรรายเล็กที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ ขณะที่ร้อยละ 40 ของธุรกิจเมล็ดพันธุ์อยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติ หากสนับสนุนให้ใช้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มเชิงพาณิชย์ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมการผูกขาดของตลาด เมล็ดพันธุ์ ซึ่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์โดยปราศจากความเข้าใจปัญหาของเกษตรกรอินเดียที่แท้จริง "อย่างยีนบีทีนั้นเป็นยีนต้านแมลง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าไม่ช้าแมลงก็จะปรับตัวได้ ไม่ต่างจากกรณีดื้อยาฆ่าแมลง จึงไม่ได้มีประโยชน์อะไร หากในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีด้านนี้มาใช้เชิงการเกษตร ทำไม ไม่มีงานวิจัยใดที่ให้ความสำคัญกับปัญหาพื้นฐาน เช่น พัฒนาสายพันธุ์มะเขือเทศที่ยืดระยะการสุกงอม หรือพืชไร่ที่ทนต่อปัญหาน้ำแล้งหรือดินเค็ม งานวิจัยด้านการเกษตรของอินเดียก็ควรจะสนองปัญหาของอินเดีย ไม่ใช่บงการโดยบรรษัทข้ามชาต""
ขณะเดียวกันเขาเสริมความเห็นว่า หากรัฐบาลเปิดไฟเขียวให้มะเขือม่วงบีทีจะเท่ากับเป็น การอ้าแขนรับพืชผักจีเอ็มเพื่อการบริโภคที่กำลังจ่อคิวอยู่อีกกว่า 60 ชนิด อาทิ ข้าว ข้าวโพด กระเจี๊ยบเขียว ฯลฯ ซึ่งยังเป็นประเด็นอ่อนไหวในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายยังตั้งแง่ต่อผักจีเอ็ม สืบเนื่องจากประสบการณ์กรณีฝ้ายบีที (Bt Cotton) พืชจีเอ็มชนิดแรกที่รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้เพาะปลูกเชิงพาณิชย์ในปี 2002 แต่จน ถึงปัจจุบันยังไม่มีการประเมินผลที่แน่ชัด ซึ่งผลดีผลเสียในแต่ละรัฐก็มีตัวเลขต่างกันไป แต่โดยรวมชาวไร่ให้ความเห็นว่า สายพันธุ์นี้ต้านแมลงได้ดีในช่วงสามปีแรก หลังจากนั้นพวกเขากลับต้องใช้ยาฆ่าแมลงหนักกว่าเก่า ทั้งมีรายงานจากบางพื้นที่ถึงกรณีสัตว์เลี้ยงตายและโรคภูมิแพ้ที่เกิดกับเกษตรกร แม้ว่าประเด็นนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับฝ้ายบีทีหรือไม่ แต่ผลที่แน่ชัดคือ ฝ้ายบีทีไม่ได้ช่วยให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายหนีหนี้ของชาวไร่ฝ้ายลดลงแต่อย่างใด
สำหรับฟากฝั่งของผู้ที่สนับสนุนการเปิดเชิงพาณิชย์ของมะเขือม่วงบีที ศาสตราจารย์ Govindarajan Padmanabhan อดีตผู้อำนวยการ Indian Institution of Science กล่าวถึงความวิตกเรื่องผลกระทบต่อสายพันธุ์ธรรมชาติว่า ในธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงของยีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และนั่นทำให้อินเดียมีมะเขือม่วงกว่า 2,000 สายพันธุ์ เขายังแสดงความเชื่อมั่นต่อไปว่า ในประเทศที่ประชากร เพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างอินเดีย การจะผลิตอาหารให้เพียงพอจำต้องอาศัย 'การปฏิวัติเขียวรอบสอง' อันหมายถึงการนำเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมเข้ามาใช้ และหากงานวิจัยคิดค้นที่เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์อินเดียอย่างกรณีมะเขือม่วงบีทีได้รับการสนับสนุน ในอนาคตอินเดียก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งบรรษัทข้ามชาติอย่างมอนซานโต้
การตัดสินใจของรัฐมนตรีฯ ราเมษครั้งนี้ได้รับทั้งคำชมและเสียงติฉิน โดยนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มมองว่าการกระทำของเขาบั่นทอนความน่าเชื่อถือของแวดวงผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ และยับยั้งความก้าวหน้าในงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจไบโอเทคที่มีมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
อินเดียจะเดินหน้าต่อไปในเรื่องนี้อย่างไร ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่การสรุปบทเรียนจากกรณีฝ้ายบีทีให้แน่ชัด แต่สิ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับบ้านเรา คือการเปิดรับฟังสาธารณะก่อนการตัดสินใจ สำคัญใดๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่มีสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นเดิมพัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|