|
ถึงคราวตกต่ำของสิทธิมนุษยชน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ในการเยือนเอเชียเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Barack Obama พูดทุกเรื่องที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ควรพูด การค้าเสรี การลงทุน พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ เว้นเพียงเรื่องเดียว สิทธิมนุษยชน ยิ่งในการเยือนจีน Obama แทบไม่แตะเรื่องนี้เลย ส่วน เรื่องจีนเซ็นเซอร์ Internet Obama กล่าวแต่เพียงว่า เขาเป็น "ผู้สนับสนุนการไม่เซ็นเซอร์สื่อตัวยง" เท่านั้น การไม่แตะเรื่องสิทธิมนุษยชนของ Obama แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ กำลังละวางจากนโยบายที่เคยใช้มาเกือบตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
การเปลี่ยนไปใช้นโยบายเกี่ยวพันกับรัฐบาลทหารของพม่า การตัดสินใจไม่เข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จเยือน สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในยุคของ Obama จนถึงการนิ่งเงียบเมื่อเกิดการประท้วงในอิหร่าน แสดงชัดว่า รัฐบาลอเมริกันยุค Obama จะไม่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน มากเท่ากับยุคของ George W. Bush หรือ Bill Clinton อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะ Obama เท่านั้นที่เปลี่ยนไปทั่วทั้งยุโรป เอเชีย จนถึงละตินอเมริกา ชาติประชาธิปไตยต่างพากันละทิ้งการสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจยกเว้นเพียงแคนาดา ต่างพากันนิ่งเงียบเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน ในปีนี้ ยุโรปกลับมอบตำแหน่งประธานองค์การ Organization for Security and Cooperation in Europe (OSCE) หนึ่งในองค์กรหลักที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในยุโรปและเอเชียให้แก่คาซัคสถาน ประเทศซึ่งถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า จับกุม กักขัง และทรมานตามอำเภอใจ
ส่วนนายกรัฐมนตรี Yukio Hatoyama ของญี่ปุ่นก็ประกาศ จะดึงเกาหลีเหนือให้กลับมาเจรจาปัญหานิวเคลียร์ แทนที่จะกดดัน ให้เกาหลีเหนือปล่อยตัวชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวไปก่อน Hatoyama ยังต้องการจะใช้ความนุ่มนวลกับจีนมากขึ้นด้วย เขาประกาศจะกระชับสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน โดยไม่สนใจการกดขี่ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในจีน
แม้แต่ออสเตรเลียซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์จีน พม่า และรัฐบาล เผด็จการอื่นๆ อย่างเผ็ดร้อนอยู่เสมอ ยังกลับร่วมมือกับอินโดนีเซีย และชาติอื่นๆ ไม่ยอมรับผู้ลี้ภัยที่มาจากศรีลังกาและประเทศอื่น และยังกักขังผู้ลี้ภัยไว้บนเกาะ Christmas Island แบบเดียวกับค่ายกักกัน Guantanamo ในคิวบา ที่สหรัฐฯ ใช้กักขังผู้ต้องสงสัย ก่อการร้าย นายกรัฐมนตรี Kevin Rudd ของออสเตรเลียงดเว้นการวิพากษ์วิจารณ์จีน แม้กระทั่งเมื่อจีนจับกุมผู้บริหารบริษัทเหมืองแร่ของออสเตรเลียเอง และตั้งข้อหาเป็นสายลับ
ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศส ยอมผิดคำ สัญญาตอนหาเสียงที่จะสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และจะตัดสัมพันธ์ที่มีมานานกับผู้นำเผด็จการในแอฟริกา ด้วยการสนับสนุน Ali Bongo Ondimba ผู้นำคนใหม่ของกาบอง ทั้งๆ ที่ยังมีข้อกังขาว่า Ondimba อาจชนะเลือกตั้งด้วยการโกง ฝรั่งเศสยังยอมรับ Mohamed Ould Abdel Aziz นายพลผู้นำรัฐประหารในมอริเทเนีย แม้แต่ Bernard Kouchner รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ผู้ร่วมก่อตั้ง Medecins Sans Frontieres หรือองค์การแพทย์ไร้พรมแดน กลุ่มสิทธิมนุษยชนสำคัญของฝรั่งเศส ยังยอมรับว่า การสนับสนุนสิทธิมนุษยชนกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ดูเหมือนจะขัดแย้งกันตลอดกาล
ชาติกำลังพัฒนาก็เช่นเดียวกัน ชาติประชาธิปไตยที่ดูเหมือนพร้อมจะยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างแอฟริกาใต้ ไทย และกัมพูชา ต่างยอมถอยหลัง แอฟริกาใต้ซึ่งเคยอาศัยแรงกดดันจากทั่วโลก จนได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับคนผิวขาวและการเหยียดผิว กลับหันไปสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการอย่างซิมบับเว ซึ่งแอฟริกาใต้มีผลประโยชน์ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจอยู่ที่นั่น และยังสนับสนุนพม่าด้วย ไทยซึ่งเคยยอมรับผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนนับหมื่นๆ คนในยุคสงครามเวียดนาม กลับผลักดันชาวม้ง 3,000 คนกลับไปยังลาว แม้จะรู้ว่าพวกเขาจะต้องถูกดำเนินคดี กัมพูชาเนรเทศชาว Uighur กลับจีน แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า พวกเขาอาจถูกประหาร
ยุคของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้จบสิ้นลงแล้ว และกำลังเข้าสู่ยุคสัจนิยม (realism) เหมือนสมัย Henry Kissinger กับ Richard Nixon อีกครั้ง ความล้มเหลวของ Bush ในการส่งเสริมประชาธิปไตยโดยอ้างศีลธรรมนำหน้า อย่างเช่นการอ้างเหตุผลการยกทัพบุกยึดอิรักว่า เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยซึ่งฟังไม่ขึ้นในสายตาของชาวโลก บวกกับแนวคิดปฏิบัตินิยม (pragmatism) ที่กลับมาเพราะวิกฤติการเงินโลก ทำให้บรรดาผู้นำโลกต่างสงบปากสงบคำเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รัฐบาล Obama ปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้โลกซึ่งกำลังเบื่อหน่ายกับ Bush รับรู้ว่า รัฐบาลของเขาแอนตี้ Bush และสหรัฐฯ จะฟังคนอื่นมากขึ้น แต่แทนที่จะยอมรับตรงๆ ว่าสหรัฐฯ เคยทำผิด และจะแก้ไข ให้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซีย จีนหรืออิหร่าน รัฐบาล Obama กลับเลือกที่จะใช้วิธีนิ่งเงียบแทน
วิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้คนทั่วโลกต้องมีชีวิตอย่างยากลำบาก ทำให้การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเหมือนของฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะเมื่อจะฟื้นเศรษฐกิจโลกจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากชาติที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด อย่างจีนและคาซัคสถาน ซึ่งรายหลังร่ำรวยน้ำมัน ในช่วงต้นทศวรรษ 2000
Tony Blair อาจสามารถให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในแอฟริกา เป็นหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของอังกฤษได้ แต่ในวันนี้ Gordon Brown ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการแก้ปัญหาหนี้ล้นประเทศของอังกฤษ ปัญหาภายในของสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาล Obama ไม่อาจทำตัวเหินห่างจากชาติอื่นๆ ที่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาของตนได้ อย่างที่ Hillary Clinton พูดไว้เมื่อคราวเยือนจีนครั้งแรก ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ว่า การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ คงไม่อาจเอาไปข้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก
การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของโลกยังจะทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับความสนใจในระดับโลก เหมือนกับในช่วงทศวรรษ 1990-2000 อีกต่อไป ในช่วงนั้นเคยเชื่อกันว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีความได้เปรียบรัฐบาลที่กดขี่ Bill Clinton ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นถึงกับเตือนจีนว่า การพยายามจะควบคุมอินเทอร์เน็ตก็เปรียบเหมือนกับการพยายาม จะตอกตะปูติดเยลลี่ไว้บนผนัง ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้
แต่มาถึงวันนี้ แม้ Twitter, Facebook และเครื่องมือสื่อสาร ทันสมัยอื่นๆ อาจช่วยให้ผู้ประท้วงในอิหร่านสื่อสารกับโลกภาย นอกได้ หลังจากรัฐบาลอิหร่านควบคุมสื่อกระแสหลัก แต่รัฐบาลเผด็จการต่างก็ไม่เคยหยุดคิดค้นวิธีเซ็นเซอร์ อินเทอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ โปรแกรม ควบคุมอินเทอร์เน็ตของจีนที่เรียกว่า "Great Firewall" สามารถเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตอย่างได้ผล จนประเทศอย่างซาอุดีอาระเบียและเวียดนาม ถึงกับเชิญผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ตของจีน ไปช่วยสร้าง Great Firewall ให้บ้างและในยามที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างทุกวันนี้ แทบไม่มีบริษัทชาติตะวันตกใด หรือแม้กระทั่งรัฐบาลชาติตะวันตกใด ที่กล้าจะต่อต้านการเซ็นเซอร์ของจีน แม้ Google จะหาญกล้าประณามการเซ็นเซอร์ของจีน แต่โปรดสังเกตว่าไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ใน Silicon Valley อื่นใดเลย ที่จะกล้าลุกขึ้นมา สนับสนุนคำประณามของ Google
บรรดาผู้นำโลกในปัจจุบันดูเหมือนจะยึดสัจนิยมมากกว่าอุดมคตินิยม และเลือกที่จะเก็บปากเก็บคำ มากกว่าจะผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป ทั้ง Brown, Hatoyama และนายกรัฐมนตรี Manmohan Singh ของอินเดีย ขาดทั้งแรงจูงใจและบารมีเทียบเท่า Blair หรือ Koizumi ผู้นำคนก่อนของอังกฤษกับญี่ปุ่น Ban Ki-moon เลขาธิการสหประชาชาติก็ไม่ใช่ Kofi Annan ผู้นำคนก่อนของ UN Ban จากพม่าไปอย่างเงียบๆ โดยไม่โวยวาย อะไรในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลทหารพม่าไม่อนุญาตให้เขาเข้าพบ Aung San Suu Kyi
ส่วนผู้นำเพียงหนึ่งเดียวที่มีทั้งความนิยมและความสามารถ เพียงพอที่จะกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ก็ไม่สนใจที่จะทำเช่นนั้น ดูเหมือนว่า Obama ตั้งใจที่จะได้ชื่อว่าเป็นนักสร้างฉันทามติแม้กระทั่งกับรัฐบาลเผด็จการ และไม่ต้องการเผชิญหน้า เขาคิดว่าจะสามารถแสวงจุดร่วมได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้นำอย่าง Omar al-Bashir ของซูดาน และ Kim Jong Il ของเกาหลีเหนือ ดูเหมือน Obama จะยึดแนวนโยบายแบบอดีตประธานาธิบดี Jefferson ของสหรัฐฯ คือลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงของสหรัฐฯ นอกประเทศ ด้วยการจำกัดพันธะของสหรัฐฯ Obama เชื่อว่า สหรัฐฯ สามารถจะเผยแพร่ประชาธิปไตยและส่งเสริมสันติภาพได้ดีที่สุด ด้วยการทำตัวเองเป็นตัวอย่างที่ดีของประชาธิปไตย โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายนอกสหรัฐฯ ซึ่งตรงข้ามกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง Woodrow Wilson, John F. Kennedy และ Bill Clinton ที่เชื่อว่า การส่งเสริมประชาธิปไตยนอกสหรัฐฯ จะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพของโลก
แม้แต่ประชาชนทั่วไปในประเทศประชาธิปไตยเองก็ลดความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนลงไป ในปี 2005 คอนเสิร์ต Live 8 เพื่อช่วยแอฟริกา เรียกความสนใจจากคนได้ทั่วโลก แม้คอนเสิร์ต นั้นอาจไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยตรง แต่ก็แสดงว่าชาติร่ำรวย ยังสนใจความเป็นไปในชาติยากจน แต่ด้วยอัตราการว่างงานที่สูงลิ่วในวันนี้ ทำให้ประชาชนในชาติประชาธิปไตยต้องหันกลับไป สนใจปากท้องของตัวเอง และรังเกียจคนต่างด้าว กลับไปคิดถึงการค้าเสรี และไม่ค่อยสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่อิหร่าน ซูดานหรือเกาหลีเหนือ ผลสำรวจของ Pew Research Center ล่าสุด พบว่า ชาวอเมริกัน 49% เชื่อว่าสหรัฐฯ ควรปล่อยให้ชาติอื่นๆ จัดการปัญหาของพวกเขาเองโดยสหรัฐฯ ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว นับเป็นตัวเลขที่แสดงถึงความต้องการโดดเดี่ยวตัวเองที่สูงที่สุดในสหรัฐฯ ในรอบ 40 ปี
การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างหลายอย่าง ล้วนไม่เป็นผลดีต่อการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน กระทรวงต่างประเทศของชาติใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี ซึ่งเคยให้ความสำคัญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน กลับเปลี่ยนเป็นตรงข้าม เมื่อ Craig Murray เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอุซเบกิสถาน ตำหนิการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น เขาถูกเรียกตัวกลับอังกฤษทันที และถูกปลดจากตำแหน่ง เพราะความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอุซเบกิสถาน สำคัญต่อนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของอังกฤษ มากกว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในอุซเบกิสถาน
ชาติประชาธิปไตยเคยครองเวทีโลกในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ขณะนี้ชาติเผด็จการอย่างรัสเซียและจีนค้นพบว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจสามารถครองใจชนชั้นกลางได้ ซึ่งปกติแล้วจะเป็นชนชั้นที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน รัฐบาลจีนขึ้นเงินเดือนให้แก่ผู้นำความคิดอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัย เปิดรับผู้ประกอบการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และทำทุกอย่างเพื่อจะกระจายความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนให้ไปถึงชนชั้นกลางด้วยนโยบายนี้ได้ผลดียิ่ง
ผลสำรวจของ Pew Research พบว่า ชาวจีนพอใจกับสภาพภายในของประเทศตน มากกว่าที่ประชาชนในประเทศอื่นๆ พอใจกับสภาพภายในประเทศเหล่านั้น และจีนกำลังส่งออกโมเดล นโยบายนี้ออกนอกประเทศด้วย จีนเพิ่มความช่วยเหลือแก่ประเทศเผด็จการ ช่วยให้ประเทศเหล่านี้ไม่ต้องตกอยู่ใต้แรงกดดันของชาติ ตะวันตกในเรื่องสิทธิมนุษยชน นายกรัฐมนตรี Hun Sen ของกัมพูชา ซึ่งครองอำนาจมา 30 ปี ถูกกล่าวหาว่าสร้างบรรยากาศแห่ง ความหวาดกลัวให้แก่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม กล่าวชื่นชมจีนที่ช่วย สร้างถนนและสะพานในกัมพูชาโดยปราศจาก "เงื่อนไขที่ยุ่งยาก"
จีนกับรัสเซียยังเริ่มบิดเบือนแนวคิดสิทธิมนุษยชนให้บิดเบี้ยวไปจากความหมายที่แท้จริง Freedom House รายงานว่า ประธานาธิบดี Hu Jintao ของจีน ใช้คำว่า "ประชาธิปไตย" 60 ครั้ง ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 17 เมื่อปี 2007 ส่วนรัสเซียสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรในเอเชียกลางและคอเคซัส ที่เลียนแบบองค์การนิรโทษกรรมสากล หรือมูลนิธิส่งเสริมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนของชาติตะวันตก แต่ให้องค์กรใหม่เหล่านี้ส่งเสริมแนวคิด "ประชาธิปไตยแบบมีการจัดการ" ของ Putin แทน ซึ่งหมายถึงระบอบเผด็จการที่มีการให้เสรีภาพทางสังคมแบบพอเป็นกระสาย จีนก็กำลังทำโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเจ้าหน้าที่ชาวจีน 15,000 คนต่อปี เพื่อเผยแพร่วิธีการของจีนที่สามารถเปิดเสรีทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องเปิดเสรีภาพทางการเมือง
ปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่ยากลำบากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ สำหรับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน Freedom in the World ของ Freedom House ในปีนี้พบว่า เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพของพลเรือนทั่วโลกตกต่ำเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน นับเป็นการตกต่ำติดต่อกันยาวนานที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการปราบปรามผู้ประท้วงรุนแรงขึ้น แต่ชาติประชาธิปไตยกลับนิ่งเฉยดูดาย การตามล่าตัวผู้ที่ลงชื่อใน Charter 08 ซึ่งเรียกร้องให้จีนใช้หลักนิติธรรม และการที่จีนตัดสินจำคุก Liu Xiaobo นักเคลื่อนไหวทางการเมือง 11 ปี รวมถึงการปราบปรามผู้ประท้วงในเวียดนามและเอเชียกลาง แทบไม่ได้รับความสนใจจากชาติประชาธิปไตยเลย
สถานการณ์ของนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนดูจะยิ่งลำบาก มากขึ้นในปีนี้และวันข้างหน้า เมื่อชาติประชาธิปไตยคงต้องใช้เวลานาน กว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก หากแม้กระทั่งทุกวันนี้ จีนยังสามารถขัดขวางประชาธิปไตยได้ ลองคิดดูว่า จีนจะทรงอิทธิพลมากขึ้นอีกเพียงใด เมื่อจีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกในวันหนึ่ง ข้างหน้า
แม้ขณะนี้ Obama ดูเหมือน จะกลับมาให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้น การยอมเข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะ การตำหนิซิมบับเวและอิหร่าน การแต่งตั้งทูตพิเศษรับผิดชอบปัญหาสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ การประณามการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของจีนและ เรียกร้องให้จีนสอบสวนการล้วงข้อมูลบน Google แต่อำนาจของ Obama กำลังลดลง หลังจากช่วงฮันนีมูนของการเป็นประธานาธิบดีปีแรกผ่านพ้นไป พรรคเดโมแครตของเขายังสูญเสียเสียงข้าง มากในวุฒิสภา ส่วนว่าที่ผู้นำในอนาคตของชาติประชาธิปไตยอื่นๆ อย่าง Jacob Zuma ของแอฟริกาใต้ และ David Cameron ของอังกฤษ ก็ดูไม่ค่อยสนใจจะสนับสนุนสิทธิมนุษยชนเท่าใดนัก หากแนวคิดสัจนิยมและการโดดเดี่ยวตัวเอง (isolationism) หยั่งรากฝังลึกลงเมื่อใด ก็ยากที่จะถอนออกได้ ในอดีตที่ผ่านมา สิ่งที่อาจ กระตุ้นอุดมการณ์นิยมให้กลับคืนมาได้นั้น ก็มีแต่เหตุการณ์แรงๆ อย่างการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน หรือเหตุการณ์ร้ายๆ อย่าง 9/11 ซึ่งหามีใครต้องการให้เกิดขึ้นอีกไม่
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|