หนุนส่งออกผ่านอีเบย์


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าธุรกิจบนโลกออนไลน์หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า e-commerce จะเป็นปรากฏการณ์ที่ดำเนินมานานกว่าทศวรรษ แต่สำหรับหน่วยราชการไทย ช่องทางทางการค้าที่ว่านี้ อาจได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นโอกาสใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทย

เพราะเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับอีเบย์ (eBay) ตลาดการค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก จัดสัมมนาเสริมศักยภาพ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยในหัวข้อ "เปิดโอกาสธุรกิจสู่ตลาดโลกผ่านอีคอมเมิร์ซบนตลาดออนไลน์อีเบย์" เพื่อขยายช่องทางการค้า โดยการเจาะกลุ่มผู้ซื้อรายใหม่ๆ ทั่วโลก

"การแข่งขันบนเวทีโลกในปัจจุบันเป็น เรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง กรมส่งเสริมการส่งออกจึงมุ่งมั่นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้กลยุทธ์การค้าออนไลน์ และเทคนิคการขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดโลกอย่าง มีประสิทธิภาพโดยที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินลงทุนสูงๆ" ศรีรัตน์รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ให้ความเห็น

ข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ที่ประเทศไทย นับเป็นตลาดออนไลน์ที่มีการเคลื่อนไหวซื้อขายที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ โดยในเดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายสินค้าบนตลาดอีเบย์ของสมาชิกในไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โอลีเวอร์ ฮัว ประธานเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการอีเบย์ประจำ ประเทศจีน ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่นระบุว่า หาก นับสินค้ายอดนิยมหมวดต่างๆ บนเว็บไซต์อีเบย์ทั่วโลก สินค้าประเภทชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์เสริม มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่สินค้าประเภทเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ สินค้าประเภทของตกแต่งบ้านและสวน รวมถึงสินค้าประเภทเครื่องประดับอัญมณีและนาฬิกา มีมูลค่าการซื้อขายต่อปีสูงถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ, 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

การจัดสัมนาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการส่งออกกับอีเบย์ ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 เพื่อสนับสนุนธุรกิจส่งออกของไทย ในการขยายตลาดให้ครอบคลุมทั่วโลก

ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว กรมส่งเสริมการส่งออก และอีเบย์ได้มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลความรู้ บุคลากร และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อเสริมศักยภาพการพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซให้เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจส่งออก ไทย รวมทั้งจัดกิจกรรมฝึกอบรมด้านกลยุทธ์การขายสินค้าบนตลาดออนไลน์อย่างปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือแม้อีเบย์จะเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพบนโลกออนไลน์ แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า การที่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยหันมาใช้อีเบย์ ก็คือการเพิ่มประเภทสินค้าให้กับอีเบย์อีกทางหนึ่ง

ภายใต้รายจ่ายว่าด้วยค่าธรรมเนียมการวางสินค้าของสมาชิก

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่กรมส่งเสริมการส่งออกของไทย ไม่สามารถสร้างสรรค์กลไกเพื่อส่งเสริม e-commerce ของชาติที่มีมาตรฐานขึ้นมาเองได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.