ถอยเพื่อรุกแบบ CIMB


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( เมษายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกาศขายหุ้นจำนวน 99.99% ในบริษัท บีที ประกันภัย จำกัด (BTI) ของธนาคาร CIMB Thai ให้กับบริษัท ศรีอยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หากประเมินในด้านหนึ่งอาจเป็นเหมือนการผ่องถ่ายสินทรัพย์ของธนาคาร CIMB Thai แต่ในอีกมิติหนึ่งนี่คือการสร้างพันธมิตรในธุรกิจ Bancassurance ที่น่าสนใจไม่น้อย

เพราะการเห็นพ้องต้องกันในการขายกิจการครั้งนี้ส่งผลให้บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัยจะลงนามในข้อตกลงทางธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ประกัน (Bancassurance) อายุสัญญา 10 ปีกับ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เพื่อให้ธนาคารเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยของบริษัท บีที ประกันภัย และบริษัท ศรีอยุธยา ประกันภัย โดยผ่านสาขาต่างๆ ของธนาคารทั่วประเทศ

โรวัน ดี อาซี่ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การเข้าซื้อกิจการของบริษัท บีทีประกันภัย ในครั้งนี้จะทำให้สถานะในตลาดของบริษัท ศรีอยุธยาประกันภัยแข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ได้รับประโยชน์ทางธุรกิจที่ยังคงมีอยู่มากในตลาดการประกันวินาศภัยในประเทศไทย

"ในปัจจุบันอัตราการทำประกันวินาศภัยของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เมื่อพิจารณา ถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวและนโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนให้มีการทำประกันภัยผ่านมาตรการต่างๆ มากมาย จึงเชื่อมั่นว่าจะทำให้ธุรกิจประกันภัยของไทยมีอนาคตที่สดใส และการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้บริษัท ศรีอยุธยา ประกันภัยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจประกันวินาศภัยซึ่งเราประสบความสำเร็จอยู่แล้วได้ในทันที"

บริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2493 โดยเป็นบริษัทประกอบธุรกิจทางด้านการรับประกันภัยต่อบุคคลทั่วไป ได้แก่ การรับประกันอัคคีภัย การรับประกันภัยทางทะเลและขนส่ง การประกันภัยเบ็ดเตล็ด รวมทั้งการประกันภัยรถยนต์ ปัจจุบันบริษัทมีสาขาทั้งสิ้น 18 สาขาและมีพนักงาน 350 คนในประเทศไทย ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 บริษัทได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการบริหารดีเด่น อันดับ 1 ติดต่อกันสองปีซ้อนประจำปี 2550 และ 2551 รวมถึงได้รับรางวัลบริษัทประกันวินาศภัยที่มีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ดีที่สุด (Best Product Innovation) ประจำปีจากหอการค้าเนเธอร์แลนด์-ไทย ในปี พ.ศ.2552 ด้วย

"การเข้าซื้อกิจการนี้จะช่วยให้ทั้งบริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย และบริษัท บีทีประกันภัยสามารถผสมผสานจุดแข็งของกันและกันได้ดียิ่งขึ้นและช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถเข้าถึง ผลิตภัณฑ์และการบริการอันหลากหลายได้ง่ายมากขึ้น บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงขึ้นแก่นักลงทุน และก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม" โรวัน ดี อาซี่ ย้ำ

สอดรับกับทัศนะของสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ที่ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัท บีที ประกันภัย จะเป็นบริษัทที่มีผล กำไรและมีการบริหารจัดการที่ดี แต่ด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด มากขึ้นรวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมประกันภัย เชื่อว่ากิจการที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะสามารถสร้างสรรค์และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และขยายธุรกิจได้

"ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจของบริษัท บีทีประกันภัย จึงมีความเหมาะสมกับกิจการที่มีความแข็งแกร่งอย่างบริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย อีกทั้งบริษัทศรีอยุธยาประกันภัยซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการประกันวินาศภัยชั้นนำมานานถึง 60 ปีอีกด้วย ธนาคาร จึงมั่นใจว่า จะได้พันธมิตรทางธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ประกัน (Bancassurance) ที่แข็งแกร่ง"

แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น สุภัคระบุว่า การขายกิจการดังกล่าว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคของกลุ่มซีไอเอ็มบี ซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากความรู้ความเชี่ยวชาญของบริษัทประกันภัยชั้นนำในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยมุ่ง ใช้ศักยภาพเครือข่ายของธนาคารให้เป็นจุดจำหน่าย ธนาคาร จะเน้นการใช้ศักยภาพของธนาคารในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการประกันภัยใหม่ๆ อันหลากหลายแก่ลูกค้าผ่านเครือข่ายสาขากว่า 147 แห่งทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทั้งบริษัทศรีอยุธยาประกันภัยและบริษัท บีทีประกันภัยจะยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปตามปกติจนกว่าขั้นตอนการเข้าซื้อกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของบริษัทจะยังคงเป็นไปตามที่ได้ตกลงไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหลักเกณฑ์การเรียกร้องและชดเชยค่าเสียหายต่างๆ แต่อย่างใด โดยการเข้า ซื้อกิจการซึ่งมีมูลค่าประมาณ 392 ล้านบาท ครั้งนี้จะต้องเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัยและผู้ถือหุ้นของบริษัท ศรีอยุธยาประกันภัย จำกัด (มหาชน) อีกครั้งหนึ่ง

บางทีสมรภูมิทางการเงินจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการให้บริการของธนาคารแต่ละแห่งแล้ว หากกำลังขยายบริบทไปสู่ธุรกรรมทางการเงินทุกรูปแบบด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.