ที่อยู่อาศัยเป็นความใฝ่ฝันของคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว กว่าจะตัดสินใจซื้อบ้าน
ต้องคิดแล้วคิดอีก ระมัดระวังต่อสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าบ้านจัดสรร
เหมือนอย่างที่หลาย ๆ คนพลาดมาแล้ว แต่ถึงแม้จะระมัดระวังอย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งที่พวกเขาไม่อาจคาดหมายได้
นั่นคืออนาคตข้างหน้า บ้านและที่ดินจะได้รับความคุ้มครองจากเจ้าของโครงการตลอดไปหรือไม่
และนี่ก็คงจะเป็นกรณีหนึ่ง
ปัญหาร่วมสมัยของนักธุรกิจที่ทำมาหากินกับคนหมู่มาก นับวันกำลังถูกเปิดโปงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดและต่อเนื่องสร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มคนที่กำลังมีความฝันใฝ่จะสร้างเนื้อสร้างตัว
พวกเขาเกิดความตื่นตระหนกระมัดระวังในการจะหาซื้อบ้านสักหลังหนึ่ง ด้วยความหวังว่าตัวเองจะไม่ถูกใครทำลายสิ่งที่สำคัญที่สุดของความใฝ่ฝัน
ภายหลังจากที่ได้วางเงินที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบให้คนอื่นไปแล้ว
พงษ์เพชรนิเวศน์ 2 เป็นโครงการหนึ่งที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางของครอบครัวใหม่
ผู้กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวเหล่านี้
ที่นั่น ราคาของบ้านและที่ดินไม่แพงนัก อยู่ไม่ไกลตัวเมืองจนเกินไป สงบเงียบ
เมื่อปี 2517 ผืนที่ดินผืนนี้ยังคงเป็นที่ว่างเปล่า แต่ปัจจุบันที่แห่งนี้กลายเป็นชุมชนใหญ่
เรียกกันตามหมู่บ้านที่เริ่มก่อกำเนิดขึ้นว่า "ชุมชนพงษ์เพชร"
ที่จริงก็ไม่น่าเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "หมู่บ้านจัดสรร" ดังที่หลายคนเข้าใจกันหรอกเองจากการกระทำต่าง
ๆ ของเจ้าของหมู่บ้านหรือเจ้าของโครงการนี้ออกจะพิกล ๆ อยู่
คือเจ้าของหมู่บ้านอ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของถนนภายในหมู่บ้าน และเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินที่ถูกสร้างให้เป็นถนนนั้น
ไม่ใช่สมบัติส่วนกลางอย่างที่ควรเป็น!
ผู้ซื้อบ้านและที่ดินโครงการพงษ์เพชรนิเวศน์ 2 ต่างกำลังเผชิญปัญหากับเรื่องถูกเจ้าของหมู่บ้านเอาที่ดินที่เป็นถนน
ไปกระทำการอื่น ก็เลยมีการร้องเรียน
เรื่องดำเนินติดต่อกันเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ปัญหายังไม่จบ
จากสามแยกเกษตรไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านด้านข้างของมหาวิทยาลัยเกษตร ข้ามทางรถไฟ
เพียงไม่เกิน 5 กิโลเมตรก็ถึงชุมชนซึ่งกายเป็นตลาดใหญ่ในปัจจุบัน เรียกกันว่าตลาดพงษ์เพชร
พงษ์เพชรนิเวศน์ 2 ตั้งอยู่ด้านหลังตลาดพงษ์เพชร ด้านหนึ่งติดกับริมคลองประปา
ทั้งตลาดและหมู่บ้านดำเนินงานโดยบริษัท พงษ์เพชร จำกัด มีพงษ์ไพโรจน์ รัชตะทรัพย์
เป็นกรรมการผู้จัดการและเจ้าของบริษัทแห่งนี้
เดิมที่ที่ดินผืนนี้ เป็นของเจ้าของที่ดินใหญ่ที่ครอบครองผืนดินแห่งนี้มานานชื่อว่า
เยื้อน บุญเปี่ยม เป็นที่ดินที่ถูกทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่า พงษ์ไพโรจน์ รัชตะทรัพย์
มากว้านซื้อที่ดินผืนนี้เอาไว้ด้วยความตั้งใจว่าจะลงทุนสร้างหมู่บ้านจัดสรร
ซึ่งการซื้อที่ดินผืนนี้ของพงษ์ไพโรจน์ รัชตะทรัพย์ ก็มีประเด็นน่าสนใจมากทีเดียว
เนื่องจาก ในเวลาต่อมาเมื่อโครงการบ้านจัดสรรเริ่มที่จะมีโฆษณาออกไป ผู้ซื้อเริ่มไปซื้อบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้
แต่การโอนโฉนดของผู้ซื้อกลับเป็นการโอนกับเยื้อ บุญเปี่ยม
และผู้ซื้อที่ดินและบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อมีการโอนโฉนดกันจะเห็นลักษณะที่ผิดหูผิดตาประการหนึ่งนั่นก็คือ
ในสัญญาขายที่ดินเขียนไว้ว่าที่ดินดังกล่าว "ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง"
ผู้ซื้อหลายคนก็งง เนื่องจากตอนที่ไปดูที่ดิน ก็เห็นบ้านสร้างเสร็จกันอยู่แล้วเรียงกันเป็นแถวกว่า
300 หลัง และตอนที่พวกเขาจะตัดสินใจซื้อ ต่างก็ได้เดินดูแบบลักษณะของบ้านบนพื้นดินเหล่านั้นซึ่งมีอยู่หลายแบบเป็นเวลานาน
"เขาพยายามที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ให้หมู่บ้านเข้าข่ายการจัดสรรอย่างแน่นอน"
ลัคนา ตันติเจริญ พนักงานธนาคารกรุงเทพ สาขาสำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ซื้อคนหนึ่งกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
เล่ากันว่าพงษ์ไพโรจน์รัชตะทรัพย์ เจ้าของบริษัทพงษ์เพชร ผู้นี้เป็นลูกชายของทวีวัฒน์
รัชตะทรัพย์ ซึ่งแต่เดิมเป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงปอ ที่บัวใหญ่ โคราช ต่อมาโรงปอถูกไฟไหม้
เรื่องนี้ไม่ทราบเป็นอย่างไรคือแทนที่จะยากจน กลับร่ำรวยขึ้นกว่าเดิม ย้ายภูมิลำเนาข้าสู่กรุงเทพฯ
ดำเนินธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร ในปัจจุบันมีบริษัทในเครือหลายบริษัท นอกจากบริษัท
พงษ์เพชร จำกัด แล้วก็มี บริษัท น้ำแสงเพชร จำกัด บริษัท ทวีวัฒน์เฮ้าส์ซิ่ง
จำกัด บริษัท สินทรัพย์ธานี จำกัด
พงษ์ไพโรจน์ รัชตะทรัพย์ เป็นคนหนุ่มอายุยังไม่ถึง 40 ปี คนผู้นี้เป็นทายาทที่เรียกได้ว่า
เป็นเสาหลักในบรรดาทายาทของทวีวัฒน์ รัชตะทรัพย์ เขาเป็นคนบุกเบิกธุรกิจจัดสรรที่ดินให้แก่ตระกูลจนประสบความสำเร็จ
ในขณะเดียวกันโครงการหมู่บ้านจัดสรรของเขา และตัวเขาเองกลับถูกก่นด่าจากหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับมานานวัน
ปัญหามันเป็นเช่นไรกันแน่?
เหตุเริ่มต้นของกรณีเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517 เมื่อบริษัทพงษ์เพชร จำกัด
ได้ประกาศโฆษณาขายบ้านและที่ดินในหมู่บ้านพงษ์เพชรนิเวศน์ 2 ริมถนนงามวงศ์วาน
ในโฆษณาบรรยายถึงสภาพภายในหมู่บ้านว่า มีถนนสายหลักกว้างถึง 14 เมตร ชื่อว่าถนนพงษ์เพชรดำเนิน
และตามซอยในหมู่บ้านมีถนนกว้าง 8 เมตร กลางถนนพงษ์เพชรดำเนินซึ่งเป็นถนนสายหลักของหมู่บ้าน
มีเสาไฟฟ้าและต้นหูกวาง และสาธารณูปโภคต่าง ๆ พร้อมพรั่ง
พ.ศ. 2518 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร บริเวณหมู่บ้านฝั่งตรงข้ามถนนงามวงศ์วานถูกน้ำท่วม
แต่หมู่บ้านพงษ์เพชรนิเวศน์ 2 น้ำกลับไม่ท่วม
เหตุการณ์นี้เป็นที่ร่ำลือกันจากปากต่อปาก พร้อมทั้งคำโฆษณาของบริษัทฯ
ทำให้ผู้คนที่กำลังให้ความสนใจในการที่จะมีบ้านสักหลังหนึ่ง หลั่งไหลกันมาที่หมู่บ้านแห่งนี้
บ้านกว่า 300 หลังในโครงการแรกขายหมดไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ปี พ.ศ. 2522 บริษัทพงษ์เพชรได้ดำเนินการก่อสร้างตลาดสดพงษ์เพชร เปิดช่องทางเข้าออก
4 ด้าน ด้านหน้าออกห้างสรพสินค้าเรนโบว์ ด้านซ้ายออกถนพงษ์เพชรดำเนิน ด้านขวาและด้านหลังออกซอยพงษ์ดำริ
1, 2, 3 และ 4
ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างราบรื่น ผู้คนในหมู่บ้านต่างรู้สึกสุขใจที่ได้ซื้อบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ไว้
เพราะสิ่งอำนวยความสะดวก นอกจากจะมีสาธารณูปโภคพร้อมแล้ว ยังมีตลาดอยู่ใกล้บ้านอีก
แต่แล้ว เมื่อกาลเวลาผ่านไป ทุกสิ่งทุกอ่างเริ่มที่จะไม่เหมือนดั่งที่พวกเขาได้คาดคิดเอาไว้
บริเวณตลาดเริ่มที่จะทรุดโทรม ถนนหนทางหลายสายชำรุดทรุดโทรม บางสายก็ถูกน้ำท่วมขัง
และในปี 2526 บริษัทฯ ได้ก่อสร้างอาคารร้านค้า ชื่อพงษ์เพชรพลาซ่า ลงบนกลางถนนพงษ์เพชรดำเนิน
ซึ่งเป็นถนนสายหลักทางเข้าออกหมู่บ้าน โดยบริษัทฯ ได้เปิดอาคารร้านค้าดังกล่าวให้พ่อค้าแม่ค้าเช่าหาประโยชน์
ช่องทางเข้าออกหมู่บ้านด้านอื่น ๆ ทั่งเหลืออีก 2 ช่องทางนั้นก็มีผิวจราจรที่คับแคบมากเกินไป
ถ้าหากเกิดอัคคีภัยขึ้นภายในหมู่บ้าน ณ จุดใดจุดหนึ่งรถดับเพลิงจะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
กลุ่มผู้คนในหมู่บ้านจึงหวังเพียงถนสายที่ชื่อพงษ์เพชรดำเนินนี้ ที่จะทำให้เกิดความอบอุ่นใจได้บ้าง
ความสงบเงียบและความมีระเบียบสะอาดสะอ้านค่อย ๆ หมดไปนับแต่มีการสร้างตลาดขึ้น
พ่อค้าแม่ค้าต่างวางของขายบนฟุตบาธและล้ำผิวจราจรออกมาบนถนนทางเข้าออกหมู่บ้าน
และยิ่งเมื่อถนนสายหลัก ถูกปักเสาเข็มลงพร้อมด้วยแผงลอยถาวรที่ล้ำผิวจราจรออกมากลางถนนเช่นนี้
ผู้อยู่อาศัยซึ่งทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจ นายธนาคารก็เริ่มที่จะรวมตัวกันไปร้องเรียนต่อพงษ์ไพโรจน์
รัชตะทรัพย์ กรมการผู้จัดการบริษัทฯ
พงษ์ไพโรจน์ รัชตะทรัพย์ ได้บอกปัดข้อเสนอของลูกบ้านทั้งหมด โดยบอกให้ไปติดต่อกับทวีวัฒน์
รัชตะทรัพย์ ผู้เป็นบิดา
วันที่ 16 ตุลาคม 2526 เวลาประมาณ 9.00 น. ที่บ้านของทวีวัฒน์รัชตะทรัพย์ในซอยอินทามระ
19 ถนสุทธิสาร ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านพงษ์เพชร ซึ่งรวมตัวกันตั้งเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านพงษ์เพชรแล้วจำนวน
20 คน ได้ขอเข้าพบทวีวัฒน์ รัชตะทรัพย์ เพื่อยื่นบันทึกแจ้งปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ให้ทราบและขอให้แก้ไข
ซึ่งผลของการพูดจา ทวีวัฒน์ รัชตะทรัพย์ ได้รับว่าจะขยายผิวการจราจรโดยจะถอนเสาคอนกรีตออกทั้งหมด
จะยกเลิกการจัดตลาดนัดบนผิวจราจร จะจัดทำป้ายห้ามจอดรถทุกชนิดติดหรือปักไว้เป็นระยะตลอดแวถนนที่มีปัญหา
เพื่อให้การเข้าออกสะดวก
"บรรยากาศการพุดคุยกันวันนั้น เต็มไปด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัยและกระชับความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะผู้เคยค้าขาย"
ผู้อยู่อาศัยในพงษ์เพชร 2 กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แต่ถึงแม้ข้อเสนอจะได้รับการตอบรับด้วยดี และบรรยากาศจะมีความสัมพันธ์ชื่นมื่นแค่ไหนก็ตาม
ในเมื่อพงษ์ไพโรจน์ รัชตะทรัพย์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท ไม่เห็นด้วย เรื่องก็เดินต่อไปไม่ได้
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้รับการปฏิบัติตามมิหนำซ้ำ หลายสิ่งหลายอย่างกลับเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
ในปี พ.ศ. 2528 ประมาณเดือนตุลาคม เขตบางเขน ได้ทำการปรับปรุงถนนเลียบคลองประปา
ซึ่งอยู่ติดด้านหนึ่งของพงษ์เพชรนิเวศน์ 2 เมื่อทางเขตปรับปรุงถนนเสร็จได้ไม่นาน
ทางบริษัทฯ ก็ได้ขึ้นป้ายว่า บริษัทฯ จะปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำภายในหมู่บ้าน
ให้ประชาชนในหมู่บ้านไปใช้ถนนเลียบคลองประปาชั่วคราว และบริษัทพงษ์เพชรก็ได้ปิดถนนพงษ์เพชรดำเนิน
ซึ่งเป็นถนนสายหลักของหมู่บ้าน
แต่แทนที่จะปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านกำลังเดือดร้อน
บริษัทพงษ์เพชร กลับดำเนินการก่อสร้างต่อเติมอาคารและตอกเสาเข็มขนาด 21 เมตร
ลงบนถนนพงษ์เพชรดำเนิน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำการเชื่อมอาคารริมถนนเข้าด้วยกัน
ผู้อยู่อาศัย จึงได้รวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง ทำหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานเขตบางเขน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทยและสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์
โดยมีข้อร้องเรียนดังนี้คือ
- เจ้าของโครงการปล่อยให้น้ำท่วมขัง ในถนนเข้าออกหมู่บ้านบางตอนมีน้ำท่วมขังนานเน่าเหม็นเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
- เอาถนนที่เคยประกาศเมื่อตอนขายว่าเป็นทางเข้าออกไปหาผลประโยชน์ โดยสร้างร้านค้ากลางถนนใต้สายไฟฟ้า
เป็นเหตุให้ทางเข้าออกลำบากและพวกที่อยู่ตึกแถวไม่มีที่จอดรถและกิการค้าซบเซา
- ปิดถนนเพื่อต่อเติมอาคารของบริษัทแต่ปิดประกาศหลอกลวงชาวบ้านว่า จะปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำ
และมีลักษณะว่าจะปิดเป็นการถาวร เพราะมีการตอกเสาเข็มลงบนถนน
- เมื่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ไปติดต่อขอร้องเรียนให้บริษัทแก้ไขความเดือดร้อน
อันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าวของบริษัท ก็มักได้รับคำตอบในลักษณะท้าทายว่า
บริษัทมีเงินเสียอย่าง จะทำอะไรก็ได้
วันที่ 22 มกราคม 2529 เขตบางเขนนัดลูกบ้านเหล่านี้ประชุม ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยในพงษ์เพชรนิเวษน์
2 นี้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คนเศษ
ประเด็นของการถกเถียงที่น่าสนใจคือ ลูกบ้านอ้างว่า ถนนซึ่งใช้ร่วมกันเป็นเวลา
11 ปีแล้ว ก็ควรจะเป็นทางสาธารณะชาวบ้านมีสิทธิ์ใช้ ผู้ใดจะมาก่อสร้างผิดทางไม่ได้
เพราะในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 เรื่องควบคุมการจัดสรที่ดิน ปี 2515
ข้อ 30 กล่าวว่า "สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้น เพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต
เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาวะจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร
และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าว
ให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการอันใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมสะดวกมิได้"
แต่ถนัด ศรีชู หัวหน้างานโยธา เจ้าหน้าที่เขตบางเขน ได้ชี้แจงว่า ถนนนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ
เพราะโฉนดเป็นชื่อของบริษัทฯ บริษัทฯ มิได้โอนหรือยกให้ กทม. ถ้าจะให้เป็นทางสาธารณะก็ต้องทำการฟ้องร้องเอา
และการจัดสรรของบริษัทฯ ก็ไม่ได้อยู่ในข่ายกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายการจัดสรร
ถึงตอนนี้ ประชาชนก็ต้องร้อง อ้าว! หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรรหรอกหรือ?
และในช่วงเวลาดังกล่าว ประชาชนผู้อยู่อาศัยต่างไม่ยินยอมกับข้อสรุปของทางเขต
และมีการร้องเรียนต่อไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
พ.อ. พัลลภ ปิ่นมณี ยังเติร์กชื่อดังซึ่งปัจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ จำลอง
ศรีเมือง รับหน้าที่ออกหน้าให้กับชาวบ้าน โดยไปถึงหมู่บ้านพงษ์เพชร 2 และเปิดให้มีการประชุมระหว่างผู้อยู่อาศัยกับทางบริษัทพงษ์เพชร
จำกัดขึ้น
"มีชาวบ้านเขาร้องเรียนมา เนื่องจากเจ้าของหมู่บ้านใช้อิทธิพลสร้างตลาดปิดทางเข้าออกของประชาชน
สร้างโชว์รูมขวางฟุตบาธ ปล่อยให้น้ำครำท่วมถนน เดือดร้อนกันมาก ตรวจสอบไปทางเขตแล้วเขาผิดกฎหมายจริง
ๆ ร้องเรียนกันมานาน จนกระทั่งถึงมหาดไทยและมาร้องที่เราอีกครั้งหนึ่ง วันนัดเจรจาเห็นมีกลุ่มชาย
3-4 คนเป็นคนของเขายืนสังเกตการณ์ มือกอดอกตามลักษณะคนใจถึง แต่ไม่เห็นมีอาวุธพกติดตัว
เจรจาปัญหาต่าง ๆ หลายข้อผ่านไปด้วยดี มีอยู่ประการหนึ่ง เรื่องสร้างตลาดนี่เขาบอกว่าขอเวลา
เราก็ถามจะใช้เวลาเท่าไหร่ คำพูดโอหังที่ตอบกลับมา บอกไม่มีคำตอบ ก็เลยเสียงแข็งกลับไปว่างั้นไม่ต้องพูดกัน
เราจะยอมให้การเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นกับชาวบ้านไม่ได้เป็นอันขาด"
พ.อ. พัลลภ ปิ่นมณี กล่าว
แต่ดูเหมือนว่า บริษัท พงษ์เพชร จะไม่ได้สนใจกับคำสั่งของ กทม. แต่อย่างไร
ยังคงเดินหน้ากระทำเรื่องที่ไม่น่าสมควรในสายตาลูกบ้านอย่างหน้าตาเฉย
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 บุรุษ 4 คนได้ไปที่บ้านของลัคนา ตันติเจริญ
หนึ่งในผู้นำชาวบ้านในหมู่บ้านต่อสู้กับสิ่งไม่อันควรเหล่านี้ ขณะนั้นเป็นเวลา
20.10 น. บุรุษทั้ง 4 คนได้ทำการกดกริ่งเขย่าประตูเหล็กหน้าบ้านและตะโกนเรียกว่าขอพบหน่อย
แต่ลัคนา ตันติเจริญ ไม่ยอมออกไปพบ คนทั้ง 4 จึงใช้ก้อนหินขว้างบ้านโดนกระจกแตก
ลัคนา ตันติเจริญ จึงได้แจ้งความไว้ที่โรงพักบางเขน เมื่อนายตำรวจสายตรวจมาถึง
และขณะที่กำลังยืนพูดจากันนั้น ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นจากบริเวณบ้านของพงษ์ไพโรจน์
ตำรวจจึงวิ่งไปดู พร้อมแนะนำให้ลัคนา ตันติเจริญ ไปแจ้งความไว้ที่โรงพักบางเขน
ซึ่งลัคนาให้การกับตำรวจว่า พงษ์ไพโรจน์ เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในคนทั้งสี่ที่ขว้างบ้านของตน
หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว การต่อสู้ของคนสองฝ่ายก็ยิ่งเขม็งเกลียวขึ้น
เดือนมีนาคม 2529 มีจดหมายฉบับหนึ่งถึงผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ
จดหมายฉบับดังกล่าวเป็นหัวจดหมายของบริษัทพงษ์เพชร จำกัด ลงวันที่ 7 มีนาคม
2529 ลงนามโดยพงษ์ไพโรจน์ รัชตะทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทพงษ์เพชรลูกค้าธนาคารกรุงเทพ
ในจดหมายฉบับดังกล่าวอ้างบุญคุณที่บริษัทพงษ์เพชรได้ทำายได้ให้ธนาคารกรุงเทพมากว่า
10 ปีเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาทแล้ว และเรียกร้องให้ไล่ลัคนา ตันติเจริญ ซึ่งทำงานเป็นพนักงานฝ่ายตรวจสอบ
สำนักงานใหญ่ออกจากงาน และให้ทางธนาคารกรุงเทพพิจารณานิสัยที่นำเวลาการทำงานธนาคารเที่ยวระรานลูกค้าเป็นเหตุให้บริษัทไม่เต็มใจชำระหนี้ให้กับธนาคาร
โชคดีที่ทางธนาคารกรุงเทพไม่บ้าจี้ตามบริษัทนี้ด้วย เรื่องดังกล่าวจึงเงียบอยู่แค่นั้น
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านแห่งนี้ ต่างรวมตัวกันตั้งชมรมหมู่บ้านพงษ์เพชร
2 ขึ้น
และในช่วงต่อมา คณะกรมการชมรมบางคนได้ถูกทำร้ายร่างกายจาก "ผู้นิรนาม"
และบางคนถูกข่มขู่จนต้องหนีกันไปหาที่อยู่ใหม่ ส่วนคนที่ยังไม่ไปก็วิ่งร้องเรียนกันไปตามสถานที่ต่าง
ๆ ของหน่วยราชการ
ถึงวันนี้ของปี 2530 เรื่องที่ประชาชนในหมู่บ้านแห่งนี้เดือดร้อนก็ยังคงเดือดร้อนกันต่อไป
ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อปี 2526 เป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น
ไม่มีใครทราบว่า ปัญหาจะยุติลงได้อย่างไรและเมื่อไหร่?