กู๊ดเยียร์พึ่งอีโคคาร์ดันยอด


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กู๊ดเยียร์ ค่ายเบอร์3ตลาดยางรถยนต์ไทย กางแผนงานปีเสือดุด้วยการพุ่งเป้าไปที่ตลาดโออีเอ็ม เล็งค่ายรถที่ผลิตอีโคคาร์ พร้อมเดิมหน้าพัฒนาเครือข่ายศูนย์บริการ “กู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์”หลังสำรวจพบว่าการปรับเปลี่ยนจากร้านเครือข่ายธรรมดามาเป็นรูปโฉม ใหม่ทำให้รายได้เติบโตสองเท่า ขณะเดียวกันไม่ทิ้งกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต ที่จะช่วยยกระดับแบรนด์ในกลุ่มยางรถยนต์สมรรถนะสูง

ตลาดยางเริ่มส่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มเติบโตอีกครั้ง ส่งผลให้ค่ายยางหลายค่ายผลักกลยุทธ์ที่หลายหลายออกมาสู้ ล่าสุดค่ายเบอร์ 3 ของตลาดอย่างกู๊ดเยียร์ก็ได้ออกมาประกาศแผนงานรุกตลาดในปีนี้ โดยยุทธศาสตร์ที่กู๊ดเยียร์วางเอาไว้ในปีนี้คือ การรุกตลาดโออีเอ็ม ที่เริ่มส่งสัญญาณในทางบวก โดยมีการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในบางรุ่น รวมไปถึงการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด ผ่านโครงการอีโคคาร์ แนวโน้มที่เกิดขึ้นทำให้กู๊ดเยียร์มองว่ายังมีช่องทางที่จะเจาะตลาด เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่กู๊ดเยียร์ผลิตยางและป้อนให้นั้นก็ได้แก่ โตโยต้า ,อีซูซุ,ฮอนด้า มาสด้า เมอร์เซเดส – เบนซ์ และล่าสุดกับฟอร์ด เฟียสต้า

ปัจจัยที่ทำให้กู๊ดเยียร์มั่นใจว่าจะเข้ามาเจาะตลาดอีโคคาร์ได้นั้น เนื่องจากมีการพัฒนายางสำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก โดยมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาพัฒนา รวมไปถึงการผลิตยาง อีโคไทร์ ที่มีจุดเด่นในเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดน้ำมัน ขณะที่ระบบการผลิตก็จะมีการรีไซเคิล นำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งแนวทางในการพัฒนาสินค้าใหม่ออกมาในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำ กู๊ดเยียร์เชื่อมั่นว่าจะเป็นตัวเลือกในโครงการอีโคคาร์

“กู๊ดเยียร์มองว่าโรงงานในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญ รองจากจีน และอินเดีย ประกอบกับปัจจุบันโครงการอีโคคาร์รวมไปถึงโปรเจคต่างๆของค่ายรถยนต์ก็มีแนว โน้มที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้กู๊ดเยียร์มองว่าตลาดโออีเอ็มน่าจะเติบโต ซึ่งบริษัทได้มีการเข้าหาค่ายรถยนต์ต่างๆเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้ กับค่ายรถต่างๆ”ก้องเกียรติ ทีฆมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว

นอกเหนือจากตลาดโออีเอ็มที่กู๊ดเยียร์เริ่มหันกลับมารุกแบบจริงจังอีกครั้ง ในส่วนของตลาดอาร์อีเอ็มหรือตลาดทดแทนนั้นก็มีการวางแผนรุกต่อเนื่องจากปี ที่แล้ว โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาเครือข่ายการให้บริการผ่าน “กู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์”ที่มีการเปิดให้บริการไปแล้ว 5 สาขาในปีที่ผ่านมา ซึ่งผลการตอบรับจากผู้บริโภคหลังจากที่เปิดให้บริการรูปแบบใหม่พบว่ายอดขาย ของบางสาขาเติบโต5-10% เช่นเดียวกับความพึงพอใจของผู้บริโภคที่พบว่าเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้ามาใช้ บริการ

การเข้ามารุกตลาดบริการหลังการขายแบบเต็มตัวในครั้งนี้ของกู๊ดเยียร์ นอกจากจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายศูนย์ให้บริการแล้ว ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ารูปโฉมใหม่มีผลต่อการดึงดูดผู้บริโภคในการเข้ามาใช้ บริการ และจะช่วยผลักดันยอดขายของกู๊ดเยียร์ให้เติบโตได้ในอนาคต ขณะเดียวกันรูปแบบของศูนย์บริการในแบบใหม่นี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะ เข้ามาต่อกรกับคู่แข่งในตลาด อย่างบริดจสโตนที่มี ค็อกพิท,ออโต้บอย และแอค ขณะที่มิชลินก็มีไทร์พลัส

ดังนั้นการที่กู๊ดเยียร์ปรับโฉมจากอีเกิ้ลสโตร์มาเป็นรูปแบบมาตรฐานทั่วโลก อย่าง กู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์ ก็จะถือเป็นการปรับตัวเพื่อรับกับการแข่งขันกับคู่แข่งขันนั่นเอง โดยกู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์จะทำการขยายสาขาเพิ่มอีก 20 สาขา จากเดิมในปีที่ผ่านมาที่มี 5 สาขา โดยบริษัทฯจะมีการลงทุนช่วยเหลือตัวแทนจำหน่ายที่สนใจจะเปิดศูนย์บริการดัง กล่าวในงบประมาณ 1 ล้านบาทขึ้นไป

“การขยายตัวของกู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์ จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จากปีที่ผ่านมามี 5 แห่งปีนี้คาดว่าจะเพิ่มอีก 20 สาขา ปัจจัยที่ทำให้กู๊ดเยียร์ไม่เร่งขยายตัวแทนให้มากเพื่อจะแข่งขันกับคู่แข่ง ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็เนื่องมาจากไม่ต้องการให้ลูกค้าของบริษัทต้องมาแข่งขันกันเอง ดังนั้นการเลือกว่าสาขาไหนจะเปิดให้บริการในรูปแบบใหม่หรือไม่อย่างไร ก็ต้องดูศักยภาพและพื้นที่ที่จะเข้าไปเปิดบริการด้วย เรามองว่าไม่ต้องการที่ฆ่าลูกค้าของเรา ”ก้องเกียรติ กล่าว

ขณะที่แผนงานด้านภาพลักษณ์ของแบรนด์นั้น กู๊ดเยียร์ยังคงเลือกใช้ กลยุทธ์ทางการตลาดแบบ มอเตอร์สปอร์ต โดยมีการวางเป้าหมายที่จะสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับการแข่งขันรถ,การด ริฟท์รถ,รวมไปถึงการส่งทีมเข้าไปแข่งในนานาชาติ ทีมแดร็ก คาดว่าทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับแบรนด์ของกู๊ดเยียร์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยผลักดันให้ชื่อเสียงของกู๊ดเยียร์เป็นที่รู้จักใน กลุ่มผู้ใช้ยางรถยนต์แบบสมรรถนะสูง

เรียกได้ว่าทุกแนวทางของกู๊ดเยียร์ที่วางไว้ ตั้งแต่การรุกเข้าไปในกลุ่มอีโคคาร์ ในตลาดโออีเอ็ม ,การขยายเครือข่าย กู๊ดเยียร์ ออโต้แคร์ และการสนับสนุนมอเตอร์สปอร์ต ทั้งหมดทั้งมวลจะเป็นตัวขับเคลื่อนยอดขายของกู๊ดเยียร์ให้เติบโตได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถกวาดโครงการอีโคคาร์มาได้ทั้งหมด จะทำให้ตำแหน่งที่เคยอยู่ในเบอร์ 3 ในปัจจุบันอาจจะมีการขยับเข้าไปใกล้ชิดกับเบอร์ 2 ของตลาดก็เป็นได้

ค่ายยางงัดทุกกลยุทธ์สู้

ภาพรวมของตลาดยางในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการผลิตประมาณ14-15 ล้านเส้นต่อปี แบ่งออกเป็นตลาดโออีเอ็มประมาณ7-8ล้านเส้นต่อปี ส่วนยางอาร์อีเอ็มประมาณ 6-7 ล้านเส้นต่อปี โดยเบอร์ 1 ที่ครองตลาดยางทั้งหมดเป็นของค่ายบริดจสโตน ตามมาด้วยค่ายมิชลิน และ กู๊ดเยียร์

เหตุผลหลักที่ทำบริดจสโตนครองความเป็นเบอร์1นั้น ส่วนหนึ่งมาจากชื่อเสียงและแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และส่วนสนับสนุนที่สำคัญที่สุดคือ เครือข่ายศูนย์บริการอย่าง ค็อกพิท,ออโต้บอย และแอค ที่เปิดบริการทั่วประเทศ และยังมีแผนงานที่จะขยายอีกต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเครือข่ายการให้บริการ เรียกได้ว่าปัจจัยดังกล่าวส่งให้ยอดขายของยางรถยนต์แบรนด์นี้สามารถเข้าถึง กลุ่มเป้าหมายที่เป็นแมสได้เหนือกว่าแบรนด์อื่นๆ

ขณะที่ค่ายเบอร์รองอย่าง มิชลิน มีการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์อยู่ในกลุ่มยางพรีเมียม รวมไปถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่มีการสื่อสารมาโดยตลอดว่าเป็นยางประหยัด น้ำมันและเป็นยางที่ตอบสนองด้านอารมณ์ให้กับผู้บริโภค กล่าวคือเป็นยางที่นุ่มนวล เงียบ ตรงจุดนี้ถือเป็นจุดเด่นที่มิชลินมักจะเลือกมาสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายเสมอ ขณะเดียวกันกลยุทธ์ทางการตลาดผ่านโปรโมชั่นแรงๆก็เป็นสิ่งที่มิชลินมีการ เน้นหนักในช่วงหลัง

โดยในปีที่ผ่านมามีการแจกรางวัลสำหรับผู้ที่เลือกซื้อยางมิชลิน ด้วยการให้ร่วมชิงรางวัลรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาส มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท มาถึงปีนี้ก็ยังคงใช้แคมเปญนี้ต่อเนื่อง และเลือกที่จะแจกเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส มูลค่าเกือบ 4 ล้านบาท ซึ่งมิชลินมองว่ากลยุทธ์ดังกล่าวนอกจากจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขายแล้ว การเลือกแจกรถหรูยังเป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นภาพลักษณ์ของแบรนด์ มิชลิน ที่มักจะจับกลุ่มผู้บริโภคในระดับเอ หรือ บี

ถือเป็นแนวรุกของค่ายเบอร์ 1 และ 2 ที่แม้จะมีแนวทางที่แตกต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายของทั้งคู่เหมือนกัน นั่นคือยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาด ประกอบกับการที่หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์กันว่าตลาดยางในปีนี้จะเติบโตตามจีดี พีที่รัฐบาลมีการตั้งเป้าหมายไว้ โดยคาดว่าจะมีการผลิตรวม 17 ล้านเส้น แบ่งสัดส่วนออกเป็นตลาดโออีเอ็ม 10 ล้านเส้น และตลาดอาร์อีเอ็ม 7 ล้านเส้น สัญญาณที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้การแข่งขันของตลาดยางในปีนี้ดุเดือดไม่แพ้ปี อื่นๆอย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.