ไอเอสพีถึงเวลาปรับ


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่ลดต่ำลง กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่

"ฐานะของเราเวลานี้ ไม่ใช่ ISP อีกต่อไปแล้ว เราเริ่มมาตั้งแต่งานสัมมนา ลูกค้าองค์กร เมื่อเดือนกันยายน 2542 ตั้งแต่ที่เราออกตัวบริการ thai.com ออกมา ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดว่า เราเปลี่ยนฐานะของตัวเอง" ตฤณ ตัณฑ เศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิน เทอร์เน็ตประเทศไทย บอกถึงสภาพของ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

ธุรกิจของการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี นับเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ต มีเอกชนมากกว่า 18 รายที่ได้รับใบอนุญาต เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) แต่เอาเข้าจริงแล้ว กลับมีผู้เปิดทำธุรกิจอย่างจริง จังเพียงแค่ 6-7 ราย และทุกวันนี้พวกเขาก็ยังต้องประสบกับความผันผวนทางธุรกิจอยู่มาก

ผู้ประกอบการเหล่านี้กลับต้องขวนขวายหาพันธมิตรข้ามชาติเข้ามาซื้อหุ้น พวกเขาหวังว่า กำลังทุน และเครือข่ายของพันธมิตรข้ามชาติ จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ ซึ่งไอเอสพีบางรายก็ตัดสินใจขายทิ้งธุรกิจไปทั้งหมด เช่น กรณีที่บริษัทดาต้าแมท ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทดาต้าลายไทยให้กับกลุ่มชิน ที่เพิ่งได้รับอนุมัติจากบอร์ด กสท. ไปหมาดๆ

ในขณะที่มีอีกหลายรายต้องปรับเปลี่ยนไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม และทดแทนรายได้จากค่าบริการอินเทอร์เน็ต (Access) ที่นับวันจะลดต่ำลงไปทุกที

โครงสร้างรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจไอเอสพี มาจากอัตราค่าบริการในการใช้บริการอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า บริการ access แต่ปัจจุบันราคาค่าบริการลดต่ำลงไปเรื่อยๆ อัตราเฉลี่ยในช่วงต้นปีจะอยู่ประมาณ 10 บาทต่อชั่วโมง (ไม่รวมช่วงโปรโมชั่น) ในขณะที่โครง สร้างต้นทุนของผู้ประกอบการเหล่านี้ กลับไม่ได้ลดลงไปมาก ถึงแม้ว่าการ สื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) จะ ลดอัตราค่าวงจรต่างประเทศลงเป็น ระยะแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง แล้ว ค่าใช้จ่ายมากกว่า 60% ยังคงมาจากค่าเช่าวงจรจากต่างประเทศ

โครงสร้างต้นทุนราคาค่าเช่าวงจรทางไกลต่างประเทศ จะถูกแบ่ง ออกเป็น 2 ส่วน (half circuit) คือ วงจรในส่วนที่เหล่าบรรดาไอเอสพีต้องเช่าใช้จากการสื่อสารฯ โดยตรง และส่วนที่สอง คือ การเช่าวงจรที่ต่อเชื่อมไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งในส่วนนี้ราคาจะถูกหรือแพง ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไอเอสพีแต่ละราย ไม่เหมือนกับการเช่าวงจรจาก กสท. ที่จะกำหนดราคาตายตัว แต่ยิ่งปริมาณการเช่ามากขึ้น ราคาก็จะยิ่งถูกลง

นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า การเพิ่มวงจรต่างประเทศจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับจำนวน ลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ในการใช้งาน ขณะเดียวกัน วงจรต่างประเทศเหล่านี้จะต้องมีลูกค้ามาใช้งานมากพอกับค่าเช่าที่ต้องจ่ายออกไป

"มันเหมือนกับการที่เราใช้ไฟฟ้า หรือน้ำประปา ที่เราเสียค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ต้องหาลูกค้ามาเพิ่มตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับไอเอสพี" กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทเคเอสซีบอก และนี่คือ สาเหตุ ที่ทำให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องใช้นโยบายด้าน "ราคา" มาเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายฐานลูกค้า เพื่อให้มีผู้ใช้มากพอกับค่าเช่าวงจรที่จ่ายออกไป ทุกวันนี้ลูกค้าเองก็มักจะเลือกตัดสินใจด้วยโปรโมชั่นในเรื่องราคามาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาเครื่องพีซีที่ยังสูงอยู่ และเครือข่ายโทรคมนาคม ที่ยังไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ผลที่ตามมา สำหรับบรรดาไอเอส พีเหล่านี้จะต้องแก้ปัญหากับผลกำไรที่ได้ จากอัตราค่าบริการ access รายชั่วโมง ที่ลดต่ำลงไปเรื่อยๆ การหาทางออกของไอเอสพีส่วนใหญ่จะหันมามุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าองค์กร แทนที่จะเป็นลูกค้าบุคคลเพียงอย่างเดียว และการสร้างบริการใหม่ๆ ที่จะรองรับกับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ (ไอดีซี) หรือการเป็นผู้ให้ บริการให้เช่าแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ หรือ Application Service Provider (ASP)

ดังเช่น กรณีของบริษัทอินเทอร์เน็ตไทยแลนด์ หรือ ไอเน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายแรกของเมืองไทย บริษัท แห่งนี้ ถือหุ้นโดยหน่วยงานรัฐ 3 แห่ง คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และศูนย์เทคโนโลยีและอิเล็ก ทรอนิกส์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ผันจากธุรกิจการให้บริการอินเทอร์เน็ต มาเป็นผู้ให้บริการ business infrastruc-ture เริ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2542 โดยมีบริการ thai.com เป็นตัวนำร่อง

ผลที่ตามมา ก็คือ การที่ไอเน็ตจะสามารถให้บริการได้ตั้งแต่อิเล็กทรอ นิกส์ คอมเมิร์ซ ทั้งในรูปแบบการใช้งาน ระหว่างธุรกิจด้วยกัน หรือ b to b และ การใช้งานระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค หรือ b to c สิ่งที่พวกเขาต้องทำภายใต้แนวคิดเหล่านี้ ก็คือ การทำระบบหน้าร้านขายสินค้า (แค็ตตาล็อกออนไลน์) ระบบการชำระเงินผ่านธนาคาร (pay-ment system) ระบบการขนส่งสินค้า (logistic)

เว็บไซต์ thai.com จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของบริการเหล่านี้ เพื่อเปิด ให้ลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดย่อม ด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม ในต่างจังหวัดเข้ามาใช้งาน เพื่อเป็นทั้งร้านค้าออนไลน์ ในการนำสินค้ามาวางขาย มีแค็ตตาล็อกสินค้า มีระบบรับชำระเงิน ระบบขนส่งสินค้า เป็นการสร้างบริการแบบครบวงจร โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้อง ลงทุนสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นเอง ซึ่งกรรมวิธีในการสร้างแรงจูงใจของ thai.com ก็คือ การที่ผู้ใช้จะไม่ต้องเสียค่าสมาชิก ค่าบริการรายเดือน ผู้ประกอบการเหล่านี้จะต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็ต่อเมื่อสามารถ ขายสินค้าได้ โดยจะเสียค่าทรานแซกชั่น 2% จากยอดขาย

"เวลาไปฝากขาย ต้องให้ส่วนลด เขา 30% ต้องให้ระยะเวลาชำระเงิน 30 วัน บน thai.com ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ 2% และเงินได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทุก อย่างดีกว่าหมดเลย นี่คือ position ของ inet เราไม่ใช่ผู้ให้บริการ inet เราเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน และเราก็คิดค่าบริการเพียงแค่ 2% เท่านั้น ที่ผมอยู่ได้ เพราะฐานลูกค้าของเราจะมีขนาด ใหญ่"

ตฤณเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น จะทำให้ไอเน็ตสามารถขยายฐานลูกค้าออกสู่ต่างจังหวัด ไม่ต้องมากระจุกตัวเพียงแต่ภายในตัวเมือง รวมถึงการขยายขอบเขตของบริการ ที่นอกเหนือไปจากบริการ access เพียงอย่าง เดียว

"เราไม่ได้เป็นไอเอสพีอีกแล้ว ฉะนั้นฟรีอินเทอร์เน็ตจะมาหรือไม่ ก็มีผลกระทบต่อเราน้อยมาก จะมีต่างชาติเข้ามาหรือไม่มาก็ไม่เป็นผล เพราะฐานธุรกิจเราย้ายออกไปหมดแล้ว ย้ายไปตั้ง 1 ปีแล้ว"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไอเน็ตต้องทำต่อจากนี้ ก็คือ การสร้างฐานลูกค้าที่ยังเป็นเรื่องต้องทำอย่างต่อเนื่อง สำหรับไอเน็ตการลงทุนสร้างบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในลักษณะนี้ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นจำเป็นต้องมีฐานลูกค้าที่มีจำนวนมากพอระดับหนึ่งเช่นกัน

เช่นเดียวกับ จัสมินอินเทอร์เน็ตที่ใช้ชื่อบริการว่า เจไอเน็ต จัดเป็นไอเอส พีขนาดกลาง ที่เริ่มเปิดตัวออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ปลายปี 2542 ใช้เงินลงทุนไปแล้วมากกว่า 50-60 ล้านบาท ลูกค้าหลัก ของเจไอเน็ตจะเป็นลูกค้าส่วนบุคคล และลูกค้าประเภทองค์กร 90 ราย มีรายได้จากการทำธุรกิจ 80 ล้านบาท

สิ่งที่พวกเขาพบตลอดในช่วงการทำธุรกิจไอเอสพี ก็คือ การแข่งขันในเรื่องของราคาค่าบริการ (access) ที่ ลดต่ำลงเรื่อยๆ เป็นเรื่องยากที่บริษัทจะสามารถแสวงหากำไรจากการให้บริการ access ได้ในระยะยาว จำเป็นที่บริษัทจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยการหันไปมุ่งเน้นลูกค้าประเภทองค์กร

สมศักดิ์ พัฒนะเอนก ผู้จัดการทั่วไป บริษัทจัสมินอินเทอร์เน็ต" เชื่อว่า การปรับกลยุทธ์ในลักษณะนี้ จะทำให้เจไอเน็ตไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันในเรื่องราคา "ผู้ให้บริการแข่งกันสุดเหวี่ยง ถึงแม้ว่าดูแล้วไม่น่าจะลงขนาดนั้น แต่ก็ลงได้ เราพยายามถอยฉาก ทางออกของเรา ก็คือการพยายามขยายไปยังกลุ่มลูกค้า องค์กรอุตสาหกรรมขนาดกลาง"

นอกจากนี้ โครงสร้างของต้นทุน การทำธุรกิจระหว่างลูกค้าองค์กรยังต่ำกว่าลูกค้าทั่วไป ซึ่งต้องใช้จ่ายเงินไปกับค่าโฆษณา ค่าการตลาด รวมถึงการที่ต้องมีช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขยายไปยังลูกค้าต่างจังหวัด ซึ่งจะมีต้นทุนแพงมาก ในขณะที่หากเป็นลูกค้าองค์กร สามารถลดการลงทุนลงได้จากการที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเหล่านี้แล้ว นอกจากนี้สัญญาที่ทำกับลูกค้าองค์กรจะเป็นสัญญาระยะยาว เป็นปีต่อปี ไม่เหมือนกับลูกค้าทั่วไป ที่จะเป็นสัญญาระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม การหันมามุ่งเน้นลูกค้าองค์กร ทำให้เจไอเน็ต จำเป็นต้องขยายขอบเขตของการให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะรองรับกับลูกค้ากลุ่มนี้อย่างครบวงจร ไม่ว่า จะเป็นการจับมือกับผู้ค้าซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ รวมถึงการให้บริการให้เช่าแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ (application service provider หรือ ASP) ที่จะมุ่งเน้นไปในเรื่องของ การฝึกอบรม

การร่วมมือกับทีทีแอนด์ทีเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ทั่วประเทศ โดยจะอาศัยฐานลูกค้าโทรศัพท์พื้นฐาน 1.3 ล้านราย มาเป็นฐานในการเข้าถึงลูกค้าองค์กร โดยจะร่วมมือกับผู้ผลิตซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ ระบบสื่อสาร

และนี่ก็เป็นระลอกแรกของการแปลงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจไอเอสพี แน่นอนว่า ยังไม่ใช่บทสรุปของเรื่องทั้งหมด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.