Path to Growth อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของ ยูนิลีเวอร์

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

จุดเริ่มต้นของตำนานบรรษัท ที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ เริ่มขึ้นหลังจาก ที่ วิลเลียม ลีเวอร์ (William Hesketh Lever) นักธุรกิจชาวอังกฤษ ซึ่งพัฒนาทักษะการค้าขายจากธุรกิจร้านค้าส่งของครอบครัวมาอย่างช่ำชอง ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกับ เจมส์ พี่น้องของเขา ภายใต้ชื่อ ลีเวอร์ บราเธอร์ส (Lever Brothers) ในปี 1885 และเริ่มผลิตสินค้าประเภทสบู่ และเคมีซักล้าง ในชื่อ Sunlight ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในตลาดสหราชอาณาจักร และภายในระยะเวลาเพียง 15 ปี ลีเวอร์ บราเธอร์ส ก็ขยายธุรกิจการค้าสบู่ซักล้างนี้ไปทั่วโลก

ในช่วงระหว่างปี 1906-1915 ลีเวอร์ บราเธอร์ส ได้ขยายธุรกิจออกไปด้วยกลยุทธ์การเข้าครอบงำกิจการ ท่ามกลางความต้องการน้ำมันพืช เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบใน การผลิตสบู่ ลีเวอร์ บราเธอร์ส ได้จัดตั้งบริษัทการค้า และเพาะปลูกพืชพันธุ์ในหลายภูมิภาคของโลก เพื่อเป็นแหล่งสำรองวัตถุดิบด้วย

ลีเวอร์ บราเธอร์ส เริ่มผันธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงสงครามโลกครั้ง ที่หนึ่ง เมื่อลีเวอร์ บราเธอร์ส นำน้ำมันพืช ที่มีสำรองอยู่มากมายมาแปรรูปไปสู่การผลิตมาร์การีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารอย่างช้าๆ พร้อมกันนั้น ประมาณปี 1917 ลีเวอร์ บราเธอร์ส ได้ดำเนินการเข้าครอบกิจการอาหารกระป๋อง ไอศกรีม และอุตสาหกรรมการประมงด้วย

ขณะที่ ลีเวอร์ บราเธอร์ส กำลังเติบใหญ่ขึ้น และ ปักหลักฐานมั่นคงอยู่บนฟากฝั่งของเกาะอังกฤษนั้น ความเป็นไปของธุรกิจอุตสาหกรรมบนภาคพื้นยุโรปก็เต็มไปด้วยสีสันไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โดยในปี 1927 บริษัทผู้ผลิตเนยจากเนเธอร์แลนด์ Jurgens และ Van den Berghs ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์ มาร์การีน ได้ร่วมกันจัดตั้ง Margarine Unie ซึ่งครอบครองตลาดในยุโรปไว้ได้

และด้วยเหตุ ที่ทั้ง Margarine Unie และ Lever Brothers ต่างต้องแสวงหา และใช้วัตถุดิบในการผลิตชนิดเดียวกัน และต่างเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการตลาดเครื่องอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ ในปี 1930 Margarine Unie และ Lever Brothers จะผนวกรวมกิจการเข้าด้วยกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานบริษัทข้ามชาติ ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติแองโกล-ดัตช์ ที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

แม้จะมีการรวมกิจการเข้าด้วยกัน แต่ด้วยเหตุผลทางด้านภาษี ทั้งสองฝ่ายจึงแยกการบริหารออกเป็น Unilever PLC ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ Unilever N.V. ในรอตเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภายใต้การเชื่อมประสานการบริหารผ่านข้อตกลงระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นจำนวนมากตราบจนปัจจุบัน

การดำเนินธุรกิจของ Unilever เติบโตขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่าจะต้องฝ่าผจญกับวิกฤติถดถอยทางเศรษฐกิจ และสงครามโลกครั้ง ที่สอง โดย Unilever ได้เข้าครอบงำกิจการ Thomas J. Lipton ของสหรัฐอเมริกาในปี 1937 และ Pepsodent ในปี 1944

กระนั้น ก็ดี การครอบครองตลาดของ Unilever ในสหรัฐอเมริกาถูกท้าทาย หลังจาก ที่ Procter & Gamble (P&G) ออกผลิตภัณฑ์ซักฟอกสังเคราะห์ ภายใต้ชื่อ TIDE ในปี 1946 ขณะที่ Unilever ก็ได้รับประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวของยุโรปหลัง สิ้นสุดสงครามโลก และความตื่นตัวในการใช้มาร์การีน รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตผงซักฟอก และการขยายตัวในตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพส่วนบุคคล

แม้ว่าพัฒนาการในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดของ Unilever จะเป็นจักรกลสำคัญในการขยาย และเติบโตของบริษัท แต่การเข้าครอบงำกิจการ ซึ่งในบางช่วงมีอัตราเฉลี่ยสูงถึง 1 กรณีต่อปี ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และทำให้ Unilever มีฐานะนำเช่นในปัจจุบัน

กรณีการเข้าครอบงำกิจการเหล่านี้ประกอบด้วย การเข้าครอบงำ Birds Eye Foods ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1957 และการเข้าครอบงำกิจการของบริษัทในสหรัฐอเมริกาเช่น Good Humor ในปี 1961, Lawry's Foods ในปี 1979, Ragu ในปี 1986, Chesebrogh-Ponds ในปี 1987, Calvin Klein Cosmetics ในปี 1989, Faberge/Elizabeth Arden ในปี 1989 และ Breyers Ice Cream ในปี 1993

ท่ามกลางภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรษ ที่ 1990 Unilever ได้เริ่มแผนลดจำนวนพนักงานลง 7,500 อัตราในปี 1995 พร้อมกับการมุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจหลักของกลุ่ม ที่ประกอบด้วยธุรกิจอาหาร และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ด้วยการเข้าซื้อกิจการของ Helene Curtis ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม และยาระงับกลิ่นกายในปี 1996 และการขายกิจการด้านเคมีภัณฑ์ ในปี 1997 ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเงินจำนวนนี้ได้จ่ายคืนเป็นเงินปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้นในรอบบัญชี ปี 1999 ทั้งนี้ ในปี 1998 Unilever ยังได้ขายกิจการ ด้านเมล็ดพันธุ์ Plant Breeding International Cambridge (PBIC) ให้แก่มอนซานโต เป็นเงินจำนวน 525 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย

ในปี 1999 Unilever ตกลง ที่จะซื้อกิจการของ Amora Maille ผู้ผลิต มัสตาร์ด ในฝรั่งเศส ด้วยราคาประมาณ 743 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปีเดียวกันนั้น เอง Unilever ได้ประกาศแผนที่จะตัดทอนแบรนด์สินค้าของบริษัทจำนวนกว่า 1,200 แบรนด์ออกไป โดยจะคงเหลือไว้เฉพาะ 400 แบรนด์ ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในแต่ละตลาดไว้เท่านั้น

ปี 2000 นับเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งอีกปีหนึ่งสำหรับยูนิลีเวอร์ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ยูนิลีเวอร์ได้ประกาศแผนปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร โดยมีแผนที่จะลดจำนวนพนักงานในระยะ 5 ปีข้างหน้าลงอีก 25,000 อัตรา หรือ 10% ของอัตรากำลังทั้งหมด ซึ่งอัตรากำลัง ที่ลดลงนี้ส่วนใหญ่เป็นพนักงานในสหรัฐ อเมริกา และยุโรป โดยแผนปรับปรุงโครงสร้างการบริหารดังกล่าวรวมถึงการปิดโรงงานผลิตจำนวนกว่า 100 แห่งจาก ที่มีอยู่กว่า 250 แห่งทั่วโลก โดยโรงงานแห่ง ที่เหลือ จะได้รับการปรับปรุงให้เป็นโครงข่ายระดับภูมิภาคต่อไป

ในเดือนเมษายน ยูนิลีเวอร์ตกลง ที่จะเข้าครอบงำกิจการของ Ben & Jerry's Homemade ซึ่งเป็นผู้ผลิตไอศกรีมประเภทซูเปอร์พรีเมียม และในเดือนพฤษภาคมได้ซื้อกิจการของ Slim-Fast Foods มูลค่ากว่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ความเคลื่อนไหว ที่สำคัญยิ่งในเดือนมิถุนายน ปี 2000 อยู่ ที่การตกลงซื้อกิจการ Bestfoods ด้วยมูลค่า 20.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม ที่ข้อเสนอซื้อในราคา 18.4 พันล้านเหรียญสหรัฐได้รับการปฏิเสธ ซึ่งการซื้อกิจการของ Bestfoods ส่งผลให้ยูนิลีเวอร์ก้าวขึ้นสู่อันดับนำ 1 ใน 3 ของวงการอุตสาหกรรมอาหารทันที

ก่อนหน้านี้ ยูนิลีเวอร์ก็ถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมอาหารมาอย่างเนิ่นนาน ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในภาคพื้นยุโรปแล้ว ยูนิลีเวอร์ จะเป็นรองอยู่บ้างก็เพียง เนสท์เล่ (Nestle') เท่านั้น ซึ่งการเข้าซื้อกิจการ Bestfoods ของยูนิลีเวอร์ ในครั้งนี้ ดูเหมือนจะติดตามมาด้วย การประลองกำลังครั้งใหญ่ระหว่างสองยักษ์ใหญ่บนภาคพื้นยุโรป และ การแข่งขันแบบ brand to brand ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

การรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารของยูนิลีเวอร์มิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นฐาน ที่เลื่อนลอย หากแต่เป็นผลมาจากส่วนต่างผลกำไร (profit margin) ที่อุตสาหกรรมชนิดนี้สามารถสร้างเสริมให้แก่ยูนิลีเวอร์ เพราะในขณะที่ส่วนต่างผลกำไรในอุตสาหกรรมซักล้าง และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพส่วนบุคคลมีลักษณะถดถอยแคบลงนั้น อุตสาหกรรมอาหารยังสามารถคงการมีส่วนต่างผลกำไรในระดับสูงไว้ได้อย่างมั่นคง และรายได้จากสินค้าในกลุ่มอาหารนี้ก็มีสัดส่วนกว่า 50% ของรายได้รวมของ ยูนิลีเวอร์ ทั้งระบบ

นอกจากนี้ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ว่าด้วย การลดจำนวนแบรนด์สินค้า ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ในเดือนกรกฎาคม ยูนิลีเวอร์ได้ตัดสินใจขายธุรกิจ เบเกอรี่ใน 13 ประเทศทั่วยุโรปให้กับ CSM NV ด้วยมูลค่า 672 ล้านเหรียญสหรัฐ และล่าสุดในเดือนสิงหาคม ยูนิลีเวอร์ได้ประกาศ ที่จะแยกธุรกิจของกลุ่มออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดแจ้ง ประกอบด้วยแผนกธุรกิจอาหาร และแผนกธุรกิจเครื่องอุปโภคในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพส่วนบุคคล เพื่อพัฒนาธุรกิจ แต่ละแขนงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความพยายามในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของยูนิลีเวอร์ ในลักษณะเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตลอดทศวรรษ ที่ 1990 ซึ่ง Antony Burgmans ประธานกรรมการร่วมของยูนิลีเวอร์ กล่าวไว้อย่างน่าฟังเมื่อ ไม่นานมานี้ว่า "การปรับองค์กรในช่วงปี 1996 ได้ส่งผลในทางบวกอย่างกว้างขวางต่อยูนิลีเวอร์ แต่ธุรกิจยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป และการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ ก็เป็นช่วงเวลา ที่เหมาะควรสำหรับการก้าวไปสู่ความเป็นเลิศในอนาคต"

ซึ่งดูเหมือนว่าทัศนะ ที่สะท้อนให้เห็นถึง จิตวิญญาณของผู้ประกอบการนับตั้งแต่ผู้แรกเริ่มก่อตั้งดังกล่าว จะยังคงเป็นหัวใจหลักสำคัญในการประกอบธุรกิจของยูนิลีเวอร์ ตราบจนปัจจุบัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.