ซื้อขายออนไลน์ยอดพุ่งปีนี้โต20%“พาณิชย์”ได้ทีทำแผน พัฒนารองรับ


ASTV ผู้จัดการรายวัน(22 มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สินค้าออนไลน์พุ่ง หลังคนไทยหันมาซื้อขายมากขึ้น คาดปีนี้ดันยอดซื้อพุ่ง 20% แฟชั่น เครื่องสำอางมาแรง “พาณิชย์” เตรียมทำแผนพัฒนาอีคอมเมิร์ซไทยต่อเนื่อง

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า แนวโน้มการค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ปี 2553 จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตมากถึง 10-20% จากปี 2552 เนื่องจากขณะนี้คนไทยได้หันมาใช้บริการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงทำให้ประชาชน ส่วนใหญ่หันมาซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ที่สะดวกสบายกว่าแทน

“ในช่วงเกิดการชุมนุมที่มีการปิดถนน และเดินทางไม่สะดวก รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ทำให้ประชาชนหันมาซื้อสินค้าระบบออนไลน์มากขึ้น ทดแทนการไปเดินซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ทำให้ร้านค้าค่อนข้างเงียบเหงา สวนทางกับสินค้าที่ขายออนไลน์กลับได้รับความนิยม โดยสินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์มาก ได้แก่ แฟชั่น เครื่องสำอางและสินค้าประเภทดิจิตอลคอนเทนท์”นายบรรยงค์กล่าว

ทั้งนี้ การค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มาจากพฤติกรรมของคนไทย ที่ปรับตัวมาใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์ (โซเชียล เน็ตเวิร์ก) มากขึ้น ประกอบกับร้านค้าในระบบอีคอมเมิร์ซมีการพัฒนาสินค้า บริการ โปรโมชั่น และความน่าเชื่อถือ ทำให้มูลค่าการค้าขายสินค้าในตลาดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จุดอ่อนสำคัญยังเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือในระบบซื้อขายและการส่งสินค้า ที่ยังไม่คล่องตัว

นายบรรยงค์กล่าวว่า กรมฯ มีแผนส่งเสริมธุรกิจการค้าออนไลน์ต่อเนื่อง โดยจะเน้นพัฒนาทักษะ และสร้างความเชื่อมั่นในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การให้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสร้างความเชื่อมั่นโดยการแสดงความคิดเห็นและคะแนนความน่าเชื่อถือจากผู้ ซื้อ ผู้ขาย และยังจะช่วยสนับสนุนการสร้างโอกาสทางการค้าระบบอีคอมเมิร์ซ ผ่านตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

สำหรับผลสำรวจการค้าระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ปี 2552 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ธุรกิจที่ได้รับความนิยมใช้อีคอมเมิร์ซมากสุด ได้แก่ แฟชั่น เครื่องแต่งกาย อัญมณี และเครื่องประดับ รองลงมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอินเตอร์เน็ต

ส่วนมูลค่าธุรกิจพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ปี 2551 มีมูลค่า 527,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่ 427,460 ล้านบาท 23.41% โดยแบ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ 288,749 ล้านบาท มูลค่าแบบผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (บีทูบี) จำนวน 190,751 ล้านบาท และผู้ประกอบการกับลูกค้าทั่วไป (บีทูซี) มูลค่า 45,951 ล้านบาท โดยมีธุรกิจยานยนต์และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสุด 71,617 ล้านบาท สัดส่วน 30% ของมูลค่าทั้งหมดรองลงมาเป็น กลุ่มคอมพิวเตอร์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเตอร์เน็ต 59,420 ล้านบาท สัดส่วน 24.9%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.