บนเส้นทางที่เคยเกรียงไกรของกลุ่มเสถียรภาพ 27 ปีเต็ม ที่ "จุลไพบุลย์" สร้างมากับมือ


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มเสถียรภาพเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นอุตสาหกรรมเซรามิกจากจุดเล็กๆ ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว มีผู้ก่อตั้งเป็นสองสามีภรรยาคือ พงศ์เทพ จุลไพบูลย์ และอุบล จุลไพบูลย์ (ก่อตั้งได้ไม่นานพงษ์เทพก็เสียชีวิต กิจการตกอยู่ในความรับผิดชอบของอุบลเพียงคนเดียว)

โรงงานแรก

พงษ์เทพและอุบลได้เข้าหุ้นกับพี่ ๆ น้อง ๆ ในบริษัทพอร์ซเลนไทย จำกัด สร้างโรงงานทำเครื่องเคลือบดินเผา แต่บริษัทนี้ยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็มีอันให้ต้องล้มละลายไปในปี 2501 พี่ๆ น้องๆ หมดตัวกันทุกคน (โดยเฉพาะมณฑา พานิชวงศ์ กับ ปัญญา ควรตระกูล น้องสาวและน้องชายของอุบล) แต่พงษ์เทพกับอุบลกลับสามารถประมูลซื้อกิจการของบริษัทพอร์ซเลนไทยจำกัดได้จากกองล้มละลายกระทรวงยุติธรรมและเริ่มดำเนินกิจการในรูปของบุคคลธรรมดาก่อน การผลิตนั้นใช้วิธีและเตาเผาแบบโบราณและผลิตเฉพาะชามก๋วยเตี๋ยวเป็นหลัก (ที่มีรูปไก่อยู่ข้างชามนั่นแหละ) ต่อมาจึงได้ปรับปรุงโรงงานเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตมาเป็นแบบสมัยใหม่ มีการก่อสร้างเตาแบบอุโมงค์ ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ยี่ห้อ MINO ของญี่ปุ่น มีการว่าจ้างนายช่างเทคนิคชาวญี่ปุ่นมาให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคการผลิต ภายหลังการปรับปรุงโรงงานนี้ได้เพิ่มรูปแบบและขนาดของผลิตภัณฑ์ต่างๆ กันออกไป และเปลี่ยนรูปกิจการจากบุคคลธรรมดามาเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ชื่อเสถียรภาพอุตสาหกรรม ทุนจดทะเบียน 500,000 บาท

โรงงานที่สอง

ห้างหุ้นส่วนจำกัดเสถียรภาพอุตสาหกรรมได้วางแผนขยายกำลังการผลิตโดยก่อตั้งโรงงานที่สองติดๆ กับโรงงานแรก และเริ่มทำการผลิตได้เมื่อปี 2510 การขยายโรงงานครั้งนี้ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เครื่องจักรและอุปกรณ์ส่วนใหญ่ใช้ยี่ห้อ KERA จากประเทศเยอรมนีตะวันตกและเปลี่ยนรูปกิจการจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพ จำกัด ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2507 ผู้ถือหุ้นนอกจากอุบล จุลไพบูลย์และลูกๆ

โรงงานที่สาม

ภายหลังก่อตั้งโรงงานที่สองแล้วกิจการได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพสามารถขยายตลาดได้กว้างขวาง กลายเป็นผู้ผลิตถ้วยชามรายใหญ่ที่สุดในประเทศ จนโรงงานทั้งสองโรงที่มีอยู่ผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด บริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพก็เลยตัดสินใจขยายกำลังการผลิตโดยก่อตั้งโรงงานที่สามขึ้นในปี 2513 โรงงานใหม่แห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ดินติดกับสองโรงงานแรก (คือที่เลขที่ 61 ถนนเศรษฐกิจ 1 อ้อมน้อย กระทุ่มแบน สมุทรสาคร) เครื่องจักรและอุปกรณ์สั่งซื้อจากบริษัท TAGASAGO ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกันนั้นบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพก็ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 5 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท

โรงงานที่สี่

เมื่อมีโรงงานเป็นสามโรง แล้วบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพของตระกูล "จุลไพบูลย์" ก็หาได้หยุดนิ่งไม่ บริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพได้มีการปรับปรุงกิจการกันตลอดเวลา คือได้ก่อสร้างโรงพิมพ์รูปลอกสำหรับติดถ้วยชามขึ้นใช้เองภายในบริเวณโรงงาน เปลี่ยนเครื่องปั้นทั้งสามโรงงาน ระบบเดิมซึ่งเป็น MANUAL และ SEMI AUTOMATIC มาเป็นระบบ ROLLER MACHINE พร้อม JET DRYER และในปี 2514 ก็ได้สร้างโรงงานที่สี่สำหรับผลิตกระเบื้องโมเสก เป็นการดำเนินกิจการในนามบริษัทอุตสาหกรรมโมเสคไทย จำกัด ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทซึ่งก็มีฐานะเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพ ถือหุ้นโดยตระกูล “จุลไพบูลย์” อีกเช่นกัน

โรงงานที่ 5

ก่อสร้างโรงงานที่ 5 เมื่อปี 2517 เป็นโรงงานผลิตกระเบื้องปูผนัง ดำเนินงานในนามบริษัทอุตสาหกรรมโมเสคไทยเช่นเดียวกับโรงงานที่ 4

โรงงานที่ 6

ในปี 2518 กลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพได้ก่อตั้งบริษัทกระเบื้องเคลือบสยามจำกัดทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาทขึ้นเป็นบริษัทที่ 3 และสร้างโรงงานแห่งที่ 6 ทำการผลิตโมเสกและอิฐทนไฟในปีเดียวกัน

โรงงานที่ 7

ถ้าจะถามว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพมีความภาคภูมิใจในสิ่งใดมากที่สุด ก็เห็นจะต้องตอบว่า โรงงานแห่งที่ 7 โรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2523 ดำเนินงานในนามบริษัทบัวหลวงเซรามิค จำกัด ซึ่งเริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท และต่อมาเพิ่มทุนเป็น 70 ล้านบาท บริษัทบัวหลวงเซรามิคและโรงงานแห่งที่ 7 อาจจะพูดได้ว่ากลุ่มเสถียรภาพต้องลงทุนสร้างขึ้นมาโดยใช้เงินทุนสูงที่สุดที่มีอยู่เดิมทั้ง 6 โรง เป็นโรงงานที่ผลิตถ้วยชามชั้นดีทั้งแบบที่เรียกว่าพอร์ซเลนและสโตนแวร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มียอดขายสูงที่สุดของกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพและเป็นชิ้นปลามันที่ “จุลไพบูลย์” หวงนักหวงหนา เจ้าหนี้จะรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานแห่งนี้น้อยที่สุด

ในปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพจึงมีการดำเนินงานในรูปของ 4 บริษัท คือบริษัทอุตสาหกรรมเสถียรภาพ ทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท บริษัทอุตสาหกรรมโมเสคไทย ทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท บริษัทกระเบื้องเคลือบสยาม ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท และบริษัทบัวหลวงเซรามิค ทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท

มีโรงงานทั้งสิ้น 7 โรงตั้งอยู่บนเนื้อที่ราวๆ 80 ไร่ มีพนักงานประมาณ 2,103 คน (ซึ่งตอนนี้คงลดจำนวนไปพอสมควรแล้ว) โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง

“แน่นอนล่ะค่ะ เมื่อกิจการดี การทำงานของดิฉันก็รู้สึกว่าสนุกและคุ้นเคยกับมันยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเมื่อบรรษัท (หมายถึงบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งคอยติดตามงานอยู่เสมอเห็นว่าทำงานเกิดผล จึงตกลงให้กู้เงินอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2504 รวม 6 แสนบาท ต่อมาก็กู้ได้เป็นครั้งที่สามอีก 7 แสนเศษ ดิฉันสามารถทำให้บรรษัทเชื่อใจได้ก็เพราะนอกจากผลงานแล้ว ดิฉันยังสามารถที่จะส่งเงินคืนได้ตามที่กำหนดไว้เสมอ” อุบล จุลไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือชื่อ “สารคดีสิบชีวิตผู้ประกอบอุตสาหกรรมในประเทศไทย” ซึ่งจัดพิมพ์โดยบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมฯ เมื่อต้นปี 2510 ขณะที่ยังมีหนี้ในวงเงินไม่ถึงล้านบาท

ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทุกวันนี้อุบล จุลไพบูลย์ ยังจดจำคำสัมภาษณ์ในครั้งนั้นได้หรือไม่ หรือว่าเงินเป็นพันล้านบาทที่เธอเป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่จะทำให้ความจำต้องมีอัน (แกล้ง) เสื่อมกันบ้าง?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.