เธอเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจอินเทอร์เน็ตไม่กี่ราย ที่ได้เม็ดเงินจากธุรกิจที่เธอสร้างขึ้นมาด้วยเงินทุน
3.5 ล้านบาท นอกจากปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์ sanook.com กนกวรรณ
ว่องวัฒนะสิน ก็จัดเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่า สามารถทำเงินจากธุรกิจอินเทอร์เน็ต
เป็นผลมาจาก การที่เธอขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทศูนย์บริการวิทยาการ อินเทอร์เน็ต
จำกัด (Internet KSC) ให้กับกลุ่มเอ็มเว็บ ประเทศไทย
กนกวรรณ เป็นทายาทคนโต ของ ธุรกิจน้ำตาลไทยกาญจนบุรี แต่หันมาเอาดีกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตเพื่อหาความท้าทายใหม่
ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เธอเข้าไปบุกเบิกธุรกิจด้านไอทีให้กับกลุ่มบ้านฉาง
ของไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ สานต์ ซึ่งเวลานั้นเพิ่งเข้าซื้อกิจการซีโนบริตมาหมาดๆ
ธุรกิจหลักของซีโนบริต จะเป็นการประมูลระบบงานคอมพิวเตอร์ ให้กับหน่วยงานราชการขนาดใหญ่
"เราเริ่มจะหาใครที่อยู่ในวงการ เป็นผู้ใหญ่เป็นที่รู้จัก ก็เลยไปเจออาจารย์ศรีศักดิ์
จามรมาน ซึ่งเป็นพ่อของ เพื่อนน้องสาว ก็เลยไปนั่งคุย แล้วอาจารย์เป็นคนแรกที่พูดว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นธุรกิจได้
ต่อไปคนจะใช้กันอย่างมหาศาล" กนกวรรณเล่า
จากการพบกันในครั้งนั้น ทำให้เธอเริ่มมองเห็นโอกาสจากธุรกิจนี้ และตัดสินใจศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้าน
Computer and Engineering Management มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค เพื่อวางรากฐานให้กับตัวเอง
หลังจากเรียนจบ เธอทำงานเป็นผู้อำนวย การศูนย์บริการวิทยาการอินเทอร์เน็ต
ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ช่วงเวลานั้นเองเธอก็ได้ร่วมกับ ศ.ดร.ศรีศักดิ์
จัดตั้งบริษัทศูนย์บริการวิทยาการ อินเทอร์เน็ต จำกัด (อินเทอร์เน็ต เคเอสซี)
โดยมีกลุ่มบ้านฉาง เป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับเธอ และศ.ดร.ศรีศักดิ์ ยื่นขอใบอนุญาต
เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ (Inter-net Service Provider หรือ ISP)
จาก การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)
หลังจากได้ใบอนุญาตจาก กสท. เป็นที่เรียบร้อย ก็ได้มีการจัดตั้งบริษัท
เคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ต (เคเอสซี อินเทอร์เน็ต) ขึ้นมา เพื่อเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
ในเดือนตุลาคม 2537 โดยมีบริษัทอินเทอร์เน็ตเคเอสซี ถือหุ้น 65% และที่เหลืออีก
35% ถือโดย กสท.
เคเอสซี นับเป็นเอกชนรายแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตลาดอินเทอร์เน็ต ซึ่งเวลา
นั้นอินเทอร์เน็ตยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมไทย นอกเหนือจากบริษัทอินเทอร์เน็ต
ประเทศไทย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายแรกของไทย ที่ถือหุ้นโดยหน่วยงานรัฐแล้ว
ในด้านเอกชนรายอื่นๆ ที่ได้ใบอนุญาตในช่วงเวลาใกล้ เคียงกัน แต่ก็ยังไม่มีรายใดที่เริ่มบุกเบิกตลาดอย่างจริงจัง
การได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นับเป็นส่วนช่วยเคเอสซีเป็นอย่างมาก
เพราะนอกเหนือจากสถานที่ และทีมงานในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจแล้ว จุดใหญ่ก็คือ
ฐานลูกค้า กลุ่มใหญ่ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เพราะในเวลานั้นอินเทอร์เน็ต
เป็นหนึ่งในวิชาบังคับที่บรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอนของที่นั่น
กนกวรรณเล่าว่า เธอใช้เงินทุน 3.5 ล้านบาทในการเริ่มต้นธุรกิจของเคเอสซี
การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเช่าวงจรต่างประเทศ และคู่สายโทรศัพท์
ซึ่งจำเป็นต้องมีลูกค้าเพิ่มขึ้น ให้มีจำนวนสอดคล้องกับต้นทุน และที่สำคัญต้องมีกำไร
"เหมือนกับท่อประปา หรือไฟฟ้า เมื่อเช่ามาแล้ว ทำอย่างไรจะต้องมีลูกค้ามาใช้ให้พอดีที่จะมีรายได้และ
ผลกำไร"
ทั้งกนกวรรณ และศ.ดร.ศรีศักดิ์ก็สามารถร่วมกันบุกเบิก และสร้างชื่อให้เคเอสซี
กลายเป็นผู้ให้บริการที่มีชื่อติดตลาด ด้วยกลยุทธ์การตลาด บวกผสมกับการประชา
สัมพันธ์อย่างได้ผล กนกวรรณเชื่อว่า ความสำเร็จที่แล้วมาของเคเอสซี ในการสร้างชื่อและฐานลูกค้ามาเป็นจำนวนหนึ่ง
มาจากการเกิดในจังหวะ ที่เหมาะสม มีการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ออกสู่ตลาดสม่ำเสมอ
ทั้งในแง่ของบริการ แต่สิ่งที่มากกว่านั้น ก็คือ การไม่ต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินแม้แต่แห่งเดียว
เป็นข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่น
อย่างไรก็ตาม กระแสของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในไทย ที่เกิดขึ้นมา ในช่วงปลายปี
2542 ต่อเนื่องมาจนถึง ต้นปี 2543 อันเป็นอิทธิพลที่มาจากการบูมของตลาดหุ้นแนสแดค
กลาย เป็นทั้งโอกาส และอุปสรรค ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอยู่เดิมในเวลาเดียวกัน
เพราะถึงแม้ธุรกิจจะเติบโต ขึ้น ผู้ใช้เรียนรู้มากขึ้น แต่ดีกรีการแข่งขันก็เพิ่มความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว
อัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ต (access) ลดต่ำลงเรื่อยๆ แต่นั่นยัง ไม่เท่ากับว่า
การลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ ที่เข้ามาซื้อหุ้นในกิจการของ ไอเอสพีหลายแห่ง
นั่นหมายความว่า อุปสรรคที่รออยู่ในวันข้างหน้าของเคเอสซี คู่แข่งที่พร้อมทั้งเงินทุน
และเครือข่ายธุรกิจ เป็นการแข่งขันที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
"ทางออกของเคเอสซีเวลานั้น มีเพียง 2 ทาง คือ เข้าตลาดหุ้น หรือ ขายหุ้นให้กับพันธมิตรข้ามชาติ
ถ้าจะเข้าตลาด ก็ต้องเป็นตลาดหุ้นแนส แดค จำนวนสมาชิกของเราถึงแม้จะมีเป็นแสนๆ
ราย แต่เทียบไม่ได้กับต่างประเทศ ที่เขามีสมาชิกเป็นล้านๆ มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว"
คำตอบของกนกวรรณ ที่บอกว่า ทาง ออกที่ดีที่สุดของเคเอสซี คือ การขายหุ้นใหักับบริษัทข้ามชาติ
ความได้เปรียบในเรื่องของเงินทุน และประสบการณ์ที่เข้าตลาด หุ้นแนสแดคมาแล้วของ
MIH เป็นส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์ ที่ทำให้เอ็มเว็บ กลายเป็นตัวเลือกที่ดีในสายตาของกนกวรรณ
และ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ ซึ่งเวลานั้นมีการเจรจาอยู่กับบริษัทข้าม ชาติหลายราย
และเหตุผลที่มองข้าม ไม่ได้เลย เรื่องของ "ราคาหุ้น"
ถึงแม้ว่า จะไม่มีการเปิดเผย เม็ดเงินที่ได้จากการขายหุ้นให้กับ MIH ในครั้งนั้น
ว่ากันว่า การขายหุ้น ของกนกวรรณที่ถืออยู่ 4,500,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าเกือบพันล้านบาท
เพราะการเซ็นสัญญาขายหุ้นในครั้งนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นแนส แดคกำลังเติบโตอย่างสุดขีด
คือ ใน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2543 เป็นช่วงที่ตลาดอินเทอร์เน็ตของไทยกำลังตื่นตัวกันอย่างเต็มที่
MIH เอง ก็ เหมือนกับผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต ที่คาดหวังระดมทุนในตลาดหุ้นแนสแดค
การซื้อกิจการเคเอสซี ก็เป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่ MIH เชื่อว่า ฐานลูกค้าของเคเอสซี
จะช่วยสร้างความครบ ถ้วนให้กับธุรกิจ และสร้างอำนาจต่อรอง ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนได้ไม่ยากนัก
ข้อตกลงในครั้งนั้น กนกวรรณจะขายหุ้นที่เธอถืออยู่ 45% และในส่วนของ ศ.ดร.ศรีศักดิ์
30% ที่ถืออยู่ในบริษัท ศูนย์บริการวิทยาการอินเทอร์เน็ตให้กับบริษัท MIH
จากนั้นเอ็มไอเอช จะตั้งบริษัทขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อว่า เอ็มเคเอสซี เวิลด์.คอม
เพื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัท เคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ตแทน บริษัทศูนย์บริการวิทยาการอินเทอร์เน็ต
ส่วนอีก 25% ยังคงถือหุ้นโดย จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล
สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเอ็มเคเอสซี เวิลด์.คอม จะประกอบไปด้วย MIH
49% ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 51% ถือโดยศรีศักดิ์ และกนกวรรณ แต่เป็นหุ้นบุริมสิทธิ
ซึ่งตามข้อตกลงทั้งกนกวรรณ และศรีศักดิ์ จะยังคงนั่งทำงานใน ฐานะของมืออาชีพให้กับเคเอสซี
ต่อไปอีก 1 ปี มีสิทธิขายหุ้นให้กับ MIH ในราคาที่ตกลงไว้แล้วตั้งแต่ต้น
นั่นหมาย ความว่า ไม่ว่ากนกวรรณ และศรีศักดิ์ จะลาออกในช่วงปีถัดมา หรือออกไปทันที
ทั้งสองจะได้เม็ดเงินจากการขายหุ้นไปแล้ว
การตัดสินใจไม่ต่อสัญญาในครั้งนี้ กนกวรรณบอกว่า เธอต้องการเริ่ม ต้นธุรกิจใหม่ๆ
ที่ท้าทายมากกว่าธุรกิจไอเอสพีที่เริ่มอยู่ตัวแล้ว และที่สำคัญยังถูกจำกัดรูปแบบในการทำธุรกิจอยู่มาก
เช่น การที่ไม่สามารถให้บริการเสียง voice over IP ก็ไม่สามารถทำได้ และ
บริการด้านอื่นๆ ก็ไม่สามารถทำได้ รวม ถึงโครงสร้างราคาที่ยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของหน่วยงานรัฐ
"ธุรกิจดอทคอม เวลานี้ผ่านคลื่น ลูกแรกไปแล้ว ส่วนคลื่นลูกที่สองจะเป็นอย่างไรนั้น
ทุกคนรอดูอยู่ เพื่อจับโอกาส ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอดูกฎหมาย การเปิดเสรีโทรคมนาคม
และ อินเทอร์เน็ตต่อไปว่า จะมีรูปแบบอะไร ที่เปลี่ยนแปลงบ้าง" คำตอบของกนกวรรณ
ที่บอกถึงการรอโอกาสที่จะกลับมา สู่เส้นทางของธุรกิจอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง
และในฐานะของนักบุกเบิก และเจ้าของกิจการอย่างที่เธอทำมาแล้ว
ไม่ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร คลื่นลูกที่สองของเธอจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ
เวลานี้เธอเป็น 1 ในผู้ประกอบการธุรกิจอินเทอร์เน็ต 1 ใน 2 ราย ที่ได้เม็ดเงินจากธุรกิจที่เธอสร้างขึ้นมา
เหมือนดังเช่น sanook. com เคยทำมาแล้ว
แต่สำหรับเอ็มเว็บ ประเทศไทย สถานการณ์ของเขากลับกัน พวกเขากำลังอยู่ในภาวะที่ท้าทายที่สุด
ทำอย่างไรกับธุรกิจอินเทอร์เน็ต และกิจการทั้งหมดในมือ เพื่อก้าวไป สู่โมเดลของการเป็นอเมริกันออนไลน์
ที่เอ็มเว็บเชื่อว่า นี่คือสูตรสำเร็จของการทำธุรกิจที่พวกเขาได้เริ่มต้นด้วย
จากการซื้อเว็บไซต์ sanook.com เพื่อสร้างธุรกิจ content ซื้อกิจการไอเอสพี
เพื่อเป็นเส้นทางในการต่อเชื่อมให้คนเข้าสู่อินเทอร์เน็ต เพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
นับตั้งแต่การตกต่ำของตลาด หุ้นแนสแดค สภาพธุรกิจอินเทอร์เน็ตของไทยเวลานี้
ไม่แตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกา และหลายๆประเทศทั่วโลก ที่ธุรกิจกำลังปรับตัว
สู่สภาพความเป็นจริง ไม่ได้ต้องการเพียงแค่การคาดการณ์ของธุรกิจ ยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์
จำนวน page view แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่แท้จริง มีรายได้ มีผลกำไร เหมือนกับธุรกิจ
อื่นๆ และนี่อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดสำหรับเอ็มเว็บ ประเทศไทย ที่พวกเขาต้องหาคำตอบ