คำรณ เตชะไพบูลย์ กับธนาคารมหานคร ตำนานที่อุเทนและตระกูลเตชะไพบูลย์ได้แต่นิ่งเงียบ!


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าให้คำรณ เตชะไพบูลย์เลือกทางเดินชีวิตใหม่ตอนี้ เขาก็คงคิดว่า เขาน่าจะเป็นผู้จัดการธนาคารศรีนคร สาขาสระปทุมอยู่เหมือนอย่างเก่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วคงจะดีกว่า

"คุณคำรณ ตอนนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารศรีนครอยู่สาขาสระปทุม แล้วคุณอุเทนก็ดึงตัวให้ไปทำธนาคารมหานคร" อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารมหานครคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

สำหรับอุเทน เตชะไพบูลย์ ตำแหน่งนายกสมาคมธนาคารเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วก็เป็นตำแหน่งที่เขาอึดอัดใจมาก เพราะในฐานะที่ดำรงตำแห่งนี้ เมื่อรัฐบาลขอให้สมาคมธนาคารเข้ามาช่วยธนาคารมหานครซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าธนาคารไทยพัฒนา อุเทนไม่มีทางเลือก เมื่อเพื่อน ๆ นายธนาคารทั้งหลายพากันลงมติให้ธนาคารช่วย แต่กลายเป็นอุเทนต้องช่วยอยู่เป็นส่วนใหญ่

"ตอนนั้นคุณอุเทนต้องเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารไทยพัฒนาไว้ร่วม 30 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของตระกูลเตชะไพบูลย์ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่อยากจะเข้า แต่ก็ต้องเข้าเพราะรัฐบาลขอมา

คำรณ เตชะไพบูลย์ก็เลยต้องหันเหชีวิตของตนเองออกมาอีกด้านหนึ่ง

บทบาทของคำรณ เตชะไพบูลย์ ในช่วงที่เข้าไปบริหารธนาคารมหานครนั้นเป็นบทบาทที่อุเทน เตชะไพบูลย์ไม่ได้สนใจอะไรเลย เพราะคิดว่าเป็นงานที่คนต้องรับผิดชอบก็ต้องทำกันไปอยู่แล้ว

"คุณอุเทนเป็นคนมีงานมากตอนนั้น พอคุณคำรณเข้าไปก็หมดเรื่องที่ต้องมาพบปะพูดคุยกันอีก" คนในวงการเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงหันเหชีวิตของโครงสร้างทางอำนาจของจอมพลถนอมและประภาสแล้ว ยังมีผลกระทบต่อนักธุรกิจอีกหลายคนทั้งในแง่บวกและลบ

คำรณ เตชะไพบูลย์เองก็โดนกระทบด้วย แต่สำหรับคำรณแล้ว ผลกระทบนี้เขาคงคิดว่าเป็นเรื่องที่วิเศษสุดในชีวิตของเขาก็ได้

เพราะหุ้นของจอมพลประภาสประมาณ 26% ถูกคณะกรรมการยึดทรัพย์เสนอขายมาทางสมาคมธนาคาร ซึ่งทางสมาคมฯ ก็ขอให้อุเทนฯ เป็นผู้ซื้อ

อุเทน เตชะไพบูลย์ ตัดสินใจซื้อโดยมอบหมายให้คำรณเป็นตัวแทนในการจัดการ

หุ้นของจอมพลประภาสก็เลยถูกเปลี่ยนมือ แต่ผู้ซื้อกลับกลายเป็นคำรณ เตชะไพบูลย์ไป เพราะว่า "ตอนนั้นพอคุณคำรณได้รับมอบหมายให้ไปซื้อหุ้นแทนคุณอุเทน แกก็หายตัวไปเลยตามตัวไม่เจอ คุณอุเทนก็ไม่ได้ตามเรื่องคิดว่าเรียบร้อยแล้ว โดยไม่รู้ว่าคุณคำรณแกแอบไปซื้อหุ้นไว้ในชื่อแกเอง และหลังจากนั้นแกก็เพิ่มทุนธนาคารมหานครจนหุ้นแกก็เป็นหุ้นใหญ่ที่สุดไป" กรรมการเก่าคนหนึ่งของธนาคารมหานครพูดกับ "ผู้จัดการ"

"เวลานั้นคุณคำรณอยากจะตั้งตัวเอง มีกิจการเป็นของตัวเองก็เลยคิดที่จะลงทุนในหุ้นของจอมพลประภาสด้วยตัวเอง" คนที่เคยอยู่กับคำรณมาก่อนเล่าให้ฟัง

แต่ก็ไม่ทราบว่าอุเทน เตชะไพบูลย์จะว่าอะไร? แต่ที่แน่ ๆ เองธนาคารมหานคร สำหรับอุเทนแล้วมันได้สิ้นสุดขาดจากตัวอุเทนเมื่อคำรณเข้าไปถือหุ้นของจอมพลประภาสในนามของตัวเขาเอง

จากวันนั้นเป็นต้นมา คำรณ เตชะไพบูลย์ดูเหมือนจะเหินห่างจากตระกูลอย่างมาก ๆ ไม่ว่ากิจกรมของตระกูลหรือการค้าขาย

"คุณพูดได้ว่ายังคงเป็นพี่น้องกัน แต่ก็ต่างคนต่างอยู่" แหล่งข่าวในวงการพูดออกมาให้ฟัง

เคยมีคนมาถามอุเทน เตชะไพบูลย์ว่า เป็นเจ้าของธนาคารมหานครด้วยหรือ? ทุกคนก็จะได้คำตอบมานานแล้วว่า "ธนาคารมหานครนั้นเป็นของคุณคำรณ เตชะไพบูลย์เขา"

ก็คงพอจะพูดได้ว่าธนาคารศรีนครนั้นขาดกับธนาคารมหานครมานับตั้งแต่วันที่คำรณแอบฮุบหุ้นจอมพลประภาสเป็นของตัวเอง

สำหรับอุเทน เตชะไพบูลย์ การกระทำของคำรณนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎของตระกูล "ในบรรดาเตชะไพบูลย์ด้วยกันเขาถือว่าคุณคำรณนั้นเป็นคนนอกมานานแล้วและจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วย แม้แต่การประชุมของตระกูลเขาก็ไม่ได้เชิญคุณคำรณ" คนจีนรุ่นเก่าคนหนึ่งพูดเป็นภาษาจีนให้ฟัง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อคำรณเอาวิรุฬห์ เตชะไพบูลย์เข้าไปเป็นกรรมการธนาคารมหานครด้วย พออุเทนรู้เข้าก็สั่งให้วิรุฬห์ถอนตัวออกมาทันที

การดำเนินการของธนาคารมหานครในช่วงนั้นก็ดำเนินต่อไป โดยหลายต่อหลายครั้งก็จะใช้ฐานลูกค้าของธนาคารศรีนครด้วย

แต่มาระยะหลังธนาคารมหานครได้แสดงความเป็นอิสระของตัวเองด้วยการหาลูกค้าเอง และบางครั้งก็ประกาศเจตนารมณ์ออกมาอย่างเด่นชัดแจ้งว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับธนาคารศรีนคร หรือกิจการในเครือเตชะไพบูลย์

"มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อโครงการวังเพชรบูรณ์กำลังเริ่มนั้น คุณคำรณก็ประกาศว่า ธนาคารมหานครมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่เข้ามาทำวังเพชรบูรณ์เลย" คนเก่าของคำรณเล่าให้ฟัง หรืออาจจะเป็นเพราะว่าคำรณคงคิดว่าตัวเองโตพอแล้วก็ได้

เวลานั้นแทบจะทุกคนในตระกูลก็ได้แต่เงียบเพราะทุกคนก็รู้ว่า คำรณ เตชะไพบูลย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตระกูลนี้มานานแล้ว และคำรณก็เข้าใจเลือกเวลาประกาศ การไม่ได้เกี่ยวข้องในจังหวะที่เขากำลังต้องการความมั่นใจจากสาธารณชนในเรื่องวังเพชรบูรณ์

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่คนในตระกูลจะเก็บเอามาคิด เพาะชั่วดีอย่างใดมันก็คงจะเป็นสายเลือดเดียวกัน!

"ในช่วงที่แม่โขงกำลังมีปัญหากับหงส์ทองนั้น ธนาคารมหานครก็เข้าไปสนับสนุนเหล้าหงส์ทอง ซึ่งมันก็เห็นได้ชัดแล้วว่าธุรกิจเขาแยกกันมานานแล้ว" คนในวงการเหล้าพูดให้ฟัง

สำหรับอุเทน เตชะไพบูลย์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าตระกูลก็คงจะไม่ยอมพูดอะไรเลย ถึงแม้ "ผู้จัดการ" จะพยายามติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ แต่ "ท่านบอกว่าไม่มีอะไรจะพูดเพราะเองของคุณคำรณนั้นท่านไม่เคยรู้เรื่องเลย และก็ไม่ได้เกี่ยวพันกันมานานแล้ว เกรงว่าพูดไปแล้วจะผิดพลาด" เลขาอุเทนตอบให้เราฟัง

แต่ที่แน่ ๆ ในจิตใจของชายวัย 74 นี้ก็คงจะไม่สงบเท่าใดนัก เพราะอย่างไรก็ตาม คำรณ เตชะไพบูลย์ ก็ยังคงเป็นน้องชายคนหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่คำรณมีปัญหายิ่งพูดไม่ออก ถึงแม้จะเป็นอะไรก็คงต้องเป็นห่วง

"ในช่วงที่มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับธนาคารมหานครนั้น พอดีลูกชายคุณคำรณแต่งงาน ซึ่งก็มาขอเชิญคุณอุเทนให้ไปเป็นประธานในงาน ซึ่งในงานนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ของธนาคารชาติ และผู้ใหญ่หลายคนในวงราชการก็ไปด้วย ปรากฏว่าจากการที่คุณอุเทนไปปรากฏตัว ก็มีข่าวว่าธนาคารมหานครกับศรีนครช่วยซึ่งกันและกัน" คนในวงการธนาคารพูดขึ้นมา

อุเทน เตชะไพบูลย์ ก็คงอึดอัดใจอย่างมาก ๆ เพราะแน่นอนที่สุด การไปปรากฏตัวในงานก็ต้องทำให้เกิดข่าวลือ แต่คุณอุเทนก็ต้องไปเพราะตัวเองเป็นหัวหน้าตระกูลในงานมงคลสมรสของหลาน ถ้าไม่ไปอุเทนก็คงไม่ใช่อุเทนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

และก่อนหน้านี้อุเทนเองก็ไปเป็นเจ้าภาพให้หลานคนอื่นด้วย ฉะนั้นถ้าเป็นคนในตระกูลเดียวกันก็ต้องเป็นเจ้าภาพให้ตามธรรมเนียม โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์

อุเทนรักน้องและไม่เคยทำลายน้อง มีอยู่ครั้งหนึ่งมีฝรั่งนายแบงก์จากต่างประเทศมาถามอุเทนว่า ธนาคารมหานครเป็นไงมาไง อุเทนก็ได้แต่ตอบไปอย่างนิ่มนวลว่าคำรณเขาโตแล้ว เขาควรจะมีกิจการเป็นของตนเอง

สำหรับคำรณ เตชะไพบูลย์ ชีวิตนี้คงจะต้องเหนื่อยไปอีกนาน เพราะข้อกล่าวหาของธนาคารชาติกับการหลบของคำรณนั้นทำให้เส้นขนานเส้นนี้ดูกว้างมากขึ้นไปอีก

"เมื่อวันแต่งงานลูกชายแก คุณคำรณเองก็บอกคุณอุเทนว่าตัวแกไม่มีอะไรเหลือแล้ว แม้แต่บ้านจะอยู่ เพราะหลักทรัพย์ทุกอย่าง แม้กระทั่งบ้านที่ลูกอยู่ก็โอนไปให้ธนาคารหมด ในต่างประเทศก็ไม่ได้มีอะไรเก็บไว้ เพราะแกเองขาดทุนจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่" ลูกน้องคนสนิทของคำรณเล่าให้ฟัง

ตำนานธนาคารมหานครก็คงเป็นอีกตำนานหนึ่งที่ต้องใช้เวลาอีกสักพักเพื่อให้ความจริงเปิดออกมา ซึ่งก่อนที่ความจริงนั้นจะเปิดออกมาก็คงต้องมีคำถามอีกมากมายที่ต้องตั้งให้กับคำรณ เตชะไพบูลย์ และตัวธนาคารชาติเองด้วย เช่นว่า:-

จริง ๆ แล้วที่ขาดทุนนั้น ขาดทุนจากการดำเนินการเพราะขาดทุน เพราะคำรณโกงเงินไป?

คำรณเอาเงินไปเล่นที่ฮ่องกงหรือเปล่า?

ก็คงจะมีสักวันที่เราคงได้คำตอบเหล่านั้น

และก่อนที่วันนั้นจะมาถึง อุเทน เตชะไพบูลย์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าตระกูลก็คงต้องยืดอกรับข่าวลือทุกประเภทอย่างเงียบสงบ เหมือนอย่างที่เขาว่ากัน "ต้นไม้ใหญ่ต้องเจอลมแรง"

ส่วนบรรดาเตชะไพบูลย์ทั้งหลายในวันนี้ก็มีแต่ความอึดอัดใจ เพราะการนิ่งเงียบไม่ยอมพูดออกมาก็อาจจะถูกแปลได้หลายอย่างไปทางผิด

แต่ถ้าพูดออกมาก็จะกลายเป็นว่าคำรณก็ต้องถูกตำหนิแน่ และคนข้างนอกก็จะมองว่าพอคำรณล้มก็เหยียบย่ำซ้ำเติม

เหมือนอย่างที่ภาษิตจีนเขาว่า "จะหัวร่อก็มิออก ร้องไห้ก็ไม่ได้"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.