|
ไฮซีซัน 'สวนสนุก' ปีเสือคึกคัก 'สยามปาร์คซิตี้' เดินเกมรุกชิงตลาด
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจสวนสนุกในประเทศไทยแม้จะมีความเคลื่อนไหวที่น้อยมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถใช้เงินท่องเที่ยวได้ทุกวัน กอปรกับอุปกรณ์เครื่องเล่นที่เปิดให้บริการก็แบบเดิมๆ ซึ่งกว่าจะถึงเวลาเปลี่ยนใหม่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง ตลอดจนช่วงเวลาในการประกอบติดตั้งที่ยาวนาน
แต่ทว่ากลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวประเภทครอบครัวซึ่งเป็นเป้าหมายหลักกลับไม่ ได้ลดน้อยลงไปเลย ขณะที่สวนสนุกของไทยกลับมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการสวนสนุกต้องเตรียมความพร้อมเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการ ตลาดนี้เอาไว้ในมือให้ได้นานที่สุด
ปัจจุบันการเริ่มขับเคลื่อนและปรับทัพองค์กรต่างมีให้เห็นกันอย่างชัดเจนและ ต่อเนื่องเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจสวนสนุกที่ดูจะมีสีสันมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงโอกาสที่จะสามารถโกยเงินได้ตลอดทั้งปี จึงไม่แปลกที่ปลายปี'52 ที่ผ่านมา จะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของธุรกิจสวนสนุกออกมาพร้อมๆ กับอัดเม็ดเงินส่งเสริมการตลาด หวังดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้กลับเข้าไปใช้บริการ
ว่ากันว่า 'สวนสยาม' หลายปีที่ผ่านมา นับเป็นธุรกิจที่ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย แต่ในยามวิกฤตก็มักมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ...แม้ว่ายอดตัวเลขนักท่องเที่ยวจะ วูบหายไปเกือบเท่าตัวก็ตาม แต่ความพยายามกอบกู้ชื่อเสียงให้กลับคืนมาของ ชัยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ผู้ก่อตั้งสวนสยาม ก็มิได้ท้อถอยแต่อย่างใด
การผุดเครื่องเล่นระดับโลกกว่า 10 ชนิดในช่วงเวลาจากนี้ไปอีกกว่า 4 ปีข้างหน้า รวมถึงปรับปรุงพื้นที่บางส่วนให้เป็นดินแดนท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในยุคของไดโนเสาร์ หรือแม้แต่ป่าแอฟริกาก็ยังถูกจำลองมาไว้ในสวนสยาม กลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ถูกปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง
ปัจจุบันสวนสยามกำลังเปลี่ยนไป ด้วยโมเดลที่ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด (ยกเว้นสวนน้ำ) การปูพรมชูจุดขายใหม่ด้วยเครื่องเล่นจำนวนมากพร้อมสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ถูก เนรมิตออกมาชนิดที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อาทิ แอฟริกา แอดเวนเจอร์ รวมถึงหลายส่วนในพื้นที่ ต่างถูกหล่อหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้แบรนด์ใหม่ที่ใช้ชื่อว่า 'สยามปาร์คซิตี้' นั้นกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก
เนื่องจากที่ผ่านมาแบรนด์ 'สวนสยาม' ถูกใช้มากว่า 27 ปี ภายใต้สโลแกนเดิมๆ คือทะเลกรุงเทพฯ แต่ในปัจจุบันการบริหารจัดการของทายาทรุ่น 2 ต่อจากชัยวัฒน์กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะมีภารกิจที่ต้องสร้างแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ 'สยามปาร์คซิตี้' ให้เป็นที่รู้จักควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของสวนน้ำพร้อมๆ กัน จึงไม่แปลกที่จะมีการปรับแผนการตลาดแบบเดิมๆ (ระบบครอบครัว) ออกไปเพื่อให้เข้าสู่ระบบอินเตอร์อย่างมีมาตรฐานสากล
สอดคล้องกับที่ วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศตัวพร้อมปรับแผนการตลาดใหม่ทั้งหมด โดยจ้างมืออาชีพจากบริษัทในประเทศสิงคโปร์ให้เป็นผู้วางแผนการตลาดและสร้าง แบรนด์สวนสยามให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายตลาดไปในภูมิภาคเอเชีย
แม้ว่าตลาดสวนสนุกในเอเชียจะมีการแข่งขันกันสูงก็ตาม แต่สำหรับกลยุทธ์ของสวนสยาม กลับมองไปที่ตลาดใหม่ๆ ในเอเชีย โดยเบื้องต้นเน้นโฟกัสที่ประเทศจีน และอินเดีย ขณะที่ตลาดในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีการเข้าไปทำตลาดเรียบ ร้อยแล้ว
ขณะที่จุดขายเริ่มให้ความสำคัญไปที่เครื่องเล่นตัวใหม่ที่มีอยู่ในแผน 5 ปีประมาณกว่า 19 ประเภทเข้ามาให้บริการ โดยทยอยนำเข้ามาติดตั้งและเริ่มดำเนินการแล้ว 4 ประเภท และกำลังติดตั้งเพิ่มอีก 12 ประเภท ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเภท จะติดตั้งแล้วเสร็จในปี 2554
ซึ่งที่ผ่านมาสวนสยามมีรายได้รวมปีละ 200 ล้านบาทเท่านั้น รายได้ส่วนใหญ่มาจากสวนน้ำที่ยังไม่ได้รับการโปรโมตเท่าไรนัก ซึ่งปีที่ผ่านมามีคนเข้ามาใช้บริการเพียงแค่ 2-3 ล้านคน และหลังจากที่ติดตั้งเครื่องเล่นครบ กอปรกับภาครัฐให้การสนับสนุนโปรโมตตลาดต่างประเทศ เชื่อว่าจะทำให้คนที่เข้ามาเที่ยวมีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท จากเดิมที่มีเพียง 200-300 บาท/คน เท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้สวนสยามมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล
จึงไม่แปลกที่ผู้บริหารสวนสยามคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีสัดส่วนผู้ใช้บริการตลอดทั้งปีเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 50% จากตัวเลข 300 ล้านคนในปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นต่างชาติ 30% คนไทย 70% และภาพรวมรายได้สิ้นปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 350 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในปี 2553 กลายเป็นปีที่สวนสยามเปิดเกมรุกตลาดมากขึ้น และสิ่งแรกที่จะเริ่มทำเพื่อกระตุ้นให้มีรายได้เข้าสู่บริษัทคือแผนการปรับ โครงสร้างราคาตั๋วใหม่ในรอบ 20 ปี ด้วยการขายตั๋วราคาเดียว ผู้ใหญ่ราคา 600 บาท เด็ก 300 บาท เพื่อใช้เข้าสวนสนุกและเล่นเครื่องเล่นได้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันตั๋วเข้าสวนสนุกอยู่ที่ 200 บาท เล่นเครื่องเล่นได้ 1 ชนิด ซื้อบัตรผ่านเว็บไซต์ราคา 500 บาท จากราคา 900 บาท และเด็กราคา 100 บาท เล่นเครื่องเล่นได้ทุกชนิด โดย 20 ปีก่อนบริษัทจำหน่ายตั๋วราคาเดียวมาแล้วที่ราคา 200 บาท
อย่างไรก็ตาม ช่วงไฮซีซันที่กำลังจะมาถึง สยามปาร์คซิตี้ยังจัดโปรโมชั่นลดราคาค่าบัตรเหลือ 300 บาทจากราคาปรกติ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงหน้าร้อน ส่งผลให้ราคาบัตรเครื่องเล่นรวมเหลือ 600 บาท และบัตรเครื่องเล่นครอบครัวเหลือ 300 บาท ขณะเดียวกันยังขยายเวลาเปิดให้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์เร็วขึ้นเป็น 11.00 น. และเวลาปิด จาก 18.00 น. เป็น 21.00 น. เพื่อให้ลูกค้าวัยทำงานมีโอกาสเล่นเครื่องเล่นและตอบสนองความต้องการของ ลูกค้าที่ต้องการเล่นเครื่องเล่นในช่วงบ่ายเป็นช่วงเย็นเนื่องจากอากาศร้อน
การปรับตัวของสวนสยามครั้งนี้ ว่ากันว่าน่าจะส่งผลให้กับธุรกิจสวนสนุกไม่น้อย โดยเฉพาะคู่แข่งขันที่ชัดเจนอย่าง ดรีมเวิลด์ ที่ออกมายอมรับว่าต้องเตรียมพร้อมปรับแผนการดำเนินงานจากนี้เป็นต้นไปออกมา อย่างต่อเนื่อง โดยมีการหยิบใช้กลยุทธ์เรื่องของราคาตั๋วเข้ามา พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อเป็นส่วนลด หวังกระตุ้นให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด เพื่อสร้างสีสันให้กับสวนสนุก โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซันที่กำลังจะมาถึง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|