สยามฯ ชูสเปเชียลิตี้ สโตร์ เทรนด์แรงแซงดีพาร์ตเมนต์ฯ


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สมรภูมิค้าปลีกในบ้านเราไม่ได้มีเพียงแค่ค่ายเซ็นทรัลและเด อะมอลล์ที่สร้างความยิ่งใหญ่ หากแต่ยังมีค่ายสยามพิวรรธน์ ทว่าที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ไม่ได้มีการขยายสาขามากมายนัก มีเพียงศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพารากอน ที่ร่วมกับค่ายเดอะมอลล์ แม้จะมีสาขาไม่มากนัก แต่ก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่เดินทางเข้ามาใช้ชีวิตกลางกรุง ล่าสุดกลุ่มสยามพิวรรธน์เตรียมเปิดตัว พาราไดซ์พาร์ค ซึ่งทางกลุ่มเอ็มบีเค ผู้ถือหุ้นในสยามพิวรรธน์ได้เข้าไปซื้อกิจการของห้างเสรีเซ็นเตอร์ จากนั้นให้กลุ่มสยามพิวรรธน์เข้ามาบริหาร โดยมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบของสเปเชียลิตี้ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ภายใต้ ชื่อใหม่คือ พาราไดซ์พาร์ค

'เทรนด์ในธุรกิจค้าปลีกของไทยจะเปลี่ยนไปในแนวทางที่เป็น Speciality Shopping Center มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ในต่างประเทศก็มีการดาวน์ไซส์ของห้าง อย่างที่ญี่ปุ่น จัสโก้ ต้องควบรวมกับห้างเซบุ ขณะที่สเปเชียลิตี้อย่างลอฟท์เติบโตมากขึ้น หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าในอเมริกาและยุโรปก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่เป็นเพราะผู้บริโภคต้องการอะไรที่มีความเป็นพิเศษเฉพาะตัวมากขึ้น สำหรับในเมืองไทยเชื่อว่าไม่เกิน 3 ปีเราจะเห็นรูปแบบที่เป็นสเปเชียลิตี้มากขึ้นและจะแซงหน้ารูปแบบดี พาร์ตเมนต์สโตร์' เป็นคำกล่าวของ ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สยามพิวรรธน์ และรองประธานกรรมการ พาราไดซ์พาร์ค เกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจค้าปลีกของไทย และรูปแบบศูนย์การค้าที่กลุ่มสยามพิวรรธน์ดำเนินมาเป็นเวลาหลายสิบปี และสามารถฝ่าฟันการแข่งขันที่รุนแรงมาได้ทุกยุคทุกสมัย ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งที่เกิดในเวลาไล่เลี่ยกันต่างพากันปิดกิจการ

สเปเชียลิตี้ชอปปิ้งเซ็นเตอร์เป็นศูนย์การค้าที่ไม่มีดีพาร์ตเมนต์สโตร์ แต่จะมีร้านค้าเป็นองค์ประกอบ ซึ่งแต่ละร้านจะตอบโจทย์ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกัน ซึ่งถือเป็นรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกที่กำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มสยามพิวรรธน์ได้วางคอนเซ็ปต์ของแต่ละศูนย์ฯ ให้เป็นสเปเชียลิตี้ที่ตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง ทำให้ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดย ชฎาทิพ ผู้บริหารกลุ่มสยามพิวรรธน์กล่าวถึงการวางโพซิชันนิ่งของแต่ละศูนย์ฯ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดย สยามเซ็นเตอร์ เจาะตลาด Young Generation ร้านค้าต่างๆ กิจกรรมการตลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในศูนย์ฯ ล้วนตอบโจทย์ความเป็นวัยรุ่น ในขณะที่สยามดิสคัฟเวอรี่เกิดขึ้นเพื่อรองรับฐานลูกค้าที่เติบโตจากวัยเรียน เข้าสู่วัยทำงานทั้งที่มีครอบครัวและยังไม่มีครอบครัว โดยเน้นการตอบสนองวิถีชีวิตของผู้บริโภคกลุ่มคนทำงานและครอบครัว ทำให้สยามดิสคัฟเวอรี่ถูกวางให้เป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ ส่วน สยามพารากอน เป็นศูนย์การค้าที่จับตลาดกลุ่มใหญ่ มีการบริหารงานร่วมกับกลุ่มเดอะมอลล์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องดี พาร์ตเมนต์สโตร์และซูเปอร์มาร์เกต ขณะที่ สยามพิวรรธน์ มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจพฤติกรรมกลุ่มวัยรุ่น


ล่าสุดสยามพิวรรธน์เตรียมเปิดตัว พาราไดซ์พาร์ค ทว่าด้วยพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ทำให้สามารถสร้างความเป็นสเปเชียลิตี้ได้หลาก หลายกลุ่ม โดยเฉพาะเรื่องอาหาร ที่มีทั้ง วิลล่า มาร์เก็ท ฟอร์แมตใหม่ ตอบโจทย์ความเป็นพรีเมียมซูเปอร์มาร์เกต และเสรี มาร์เกต ที่ถูกสร้างบรรยากาศแบบย้อนยุค นอกจากนี้ยังมีฟู้ด บาซาร์ และไดนิ่งพาราไดซ์ ส่วนเรื่องไลฟ์สไตล์ก็มีร้านลอฟท์ ฟูลคอนเซ็ปต์สโตร์ ตลอดจน ศูนย์สุขภาพ โรงภาพยนตร์ สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ถูกจัดเป็นโซนๆ เพื่อสร้างความเป็นสเปเชียลิตี้ในด้านต่างๆ

'ไปเซ็นทรัล หรือเดอะมอลล์ สาขาไหนก็เหมือนๆกัน แต่มาที่เรา แต่ละตึก แต่ละศูนย์ฯจะมีความแตกต่างกัน ทั้งหน้าตา อารมณ์ เพราะผู้บริโภคแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน อย่างคนมาเดินสยามเซ็นเตอร์ซึ่งเราวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นเด็กก็ต้องสร้าง อารมณ์ให้เป็นแบบเด็ก ทำให้คนที่มาเดินแล้วมีความคึกคัก มีหัวใจวัยรุ่นขึ้นมา' ชฎาทิพ กล่าว

ทั้งนี้ในโลกยุคโกลบอลไลเซชั่น ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถรับรู้ว่าอะไรอินเทรนด์ อะไรแปลกใหม่ เป็นยุคที่ผู้บริโภครู้มาก การตอบสนองให้ตรงใจเป็นเรื่องซับซ้อน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ไม่มีลอยัลตี้ พร้อมที่จะเข้าหาสิ่งแปลกใหม่เสมอ ดังนั้น สยามพิวรรธน์จึงมีการศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย มีการพูดคุยเพื่อรับรู้ความต้องการที่เปลี่ยนแปลง และความต้องการใหม่ๆที่เกิดขึ้นเสมอเพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีการนำเสนอสินค้า ร้านค้า ที่ตอบสนองกับเทรนด์อย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์มีการปรับเปลี่ยนร้านค้าในศูนย์ฯอย่างต่อเนื่องเพื่อ รักษาคอนเซ็ปต์ในความเป็นสเปเชียลิตี้สโตร์ เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายร้านแจ้งเกิดและเติบโตกับสยามฯ ทว่าต่อมามีการขยายสาขาไปยังศูนย์การค้าอื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องมาสยามฯเพื่อซื้อสินค้าในร้าน นั้นๆเนื่องจากเป็นร้านที่มีสาขากระจายในที่อื่นๆ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อหาร้านค้าใหม่ๆที่จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูด ลูกค้าเข้าศูนย์

ความเป็นสเปเชียลิตี้ทำให้สยามพิวรรธน์ต้องมีการศึกษาเทรนด์ใหม่ๆและปรับ เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาความเป็นผู้นำเทรนด์ โดย always One Step A Head เป็นสโลแกนที่สยามพิวรรธน์ปลูกฝังในทีมการตลาด โดยจุดสำคัญอยู่ที่การเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสยามพิวรรธน์มีแผนกที่เรียกว่า Think Tank ในการติดตามเทรนด์ และศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า นอกจากนี้ในการเปิดศูนย์แต่ละแห่งจะต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มตัวอย่างใน พื้นที่เพื่อเข้าใจความต้องการก่อนที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นสเปเชียลิตี้สโตร์ แต่ละแห่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่มได้อย่างโดนใจ ซึ่งก่อให้เกิดการจับจ่ายและมีความต่อเนื่องในการมาใช้บริการ

'ประเทศไทยเป็น Trend Follower ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าเทรนด์จะเป็นอย่างไร เราก็ต้องไปดูประเทศที่คนไทยนิยมไป เมืองไหนที่คนไทยชอบไป ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป' ชฎาทิพ กล่าว

อย่างไรก็ดี ความเป็นสเปเชียลิตี้มีทั้งข้อดีและข้อด้อย จุดเด่นคือความเป็นสเปเชียลิตี้เรื่องหนึ่งเรื่องใดในใจลูกค้า ทำให้สามารถทำการตลาดได้โดนใจกลุ่มเป้าหมายมากกว่าศูนย์การค้าแบบอื่น ส่วนข้อด้อยคือความเฉพาะเจาะจงทำให้ไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม หรือทุกอย่างที่ผู้บริโภคอยากได้ ทว่าการเข้ามาบริหาร พาราไดซ์พาร์ค ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ ทำให้สยามพิวรรธน์สามารถจัดโซนนิ่งเพื่อสร้างความเป็นสเปเชียลิตี้ในด้าน ต่างๆได้ครอบคลุมมากขึ้น

'นอกจากการบริหารศูนย์ฯแล้วเรายังเป็นนักสร้างแบรนด์ให้กับคู่ค้า เราทำงานร่วมกับคู่ค้าตลอด คู่ค้าที่มีไอเดียดีๆเราก็ช่วยผลักดัน เวลามีปัญหาเศรษฐกิจถ้าคู่ค้าไม่ไหวเราก็มีการพูดคุย บางทีก็ลดค่าใช้จ่ายให้ มีการวางแผนงานร่วมกันเพื่อให้คู่ค้าอยู่รอด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งปรากฏว่าร้านค้านั้นๆไปไม่ไหว ไม่ตรงกับเทรนด์ เราก็ต้องตัดใจเปลี่ยน ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนไปถึง 3 ปี ที่สำคัญเรามีงบปีละ 100 ล้านบาท ในการสร้างอีเวนต์ที่จะดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อสินค้าในร้านค้าที่อยู่ใน ศูนย์ฯของเรา ซึ่งทั้งหมดที่ทำล้วนแต่เป็น Value Added ให้กับบริษัท เห็นได้จากเวลาที่เรามาบริหารพาราไดซ์พาร์ค บนพื้นที่ 90,000 ตารางเมตร เราสามารถขายพื้นที่หมดในเวลาเพียง 6 เดือน เพราะได้รับความไว้วางใจจากคู่ค้า ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกันในระยะยาว' ชฎาทิพ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.