นาน ๆ โรงแรมระดับห้าดาวอย่างรอยัล ออคิด เชอราตัน จะเปิดห้องบอลรูมเต็มขนาดต้อนรับผู้คนหลากหลายระดับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งสักครั้ง
ซึ่งดูไม่แตกต่างจากวันปิดงานแสดงสินค้าที่เคยเฟื่องฟูมาก ๆ มาระยะหนึ่งเท่าใดนัก
จะผิดแผกก็ตรงที่ปลายทางงานนี้อยู่ที่ COCKTAIL RECEPTION เหมือน ๆ งานฉลองธุรกิจทั่ว
ๆ ไป
ผู้มาร่วมงาน มีตั้งแต่อดีตประธานรัฐสภา รัฐมนตรี นายธนาคารใหญ่ พ่อค้าเบิ้ม
ๆ นักอุตสาหกรรมจนถึงครูและข้าราชการตัวเล็ก ๆ ทำหน้าที่จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์…
วันนั้นคือค่ำของวันที่ 17 มิถุนายน 2529
นับย้อนจากวันนั้นไป 40 ปีเต็มพอดี คือวันที่บริษัทวิทยาคมกำเนิดขึ้น โดยเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตัน
ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานในเมืองไทยจนถึงวันนี้ประมาณ 80 ปีแล้ว
ทว่าเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันได้ค่อย ๆ กลืนและเลือนไปกับกาลเวลา พร้อม ๆ
กับการเติบโตของธุรกิจที่ก้าวไปสู่ความสลับซับซ้อนมากขึ้น
ขณะเดียวกันผู้ก่อตั้งบริษัทวิทยาคมค่อย ๆ เปิดตัว เป็นที่รู้จักและยอมรับจากวงการต่าง
ๆ จนถึงปัจจุบัน เป็น "ดาวค้างฟ้า" ของวงการธุรกิจและการเมือง
เขาคือ อบ วสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตประธานสภาหอการค้า และอดีตตำแหน่งผู้มีบารมีอีกหลายตำแหน่ง…
เมื่อก่อนเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันมีคนรู้จักมากกว่า อบ วสุรัตน์ แต่ปัจจุบันเขากลับโด่งดังมากกว่าเครื่องพิมพ์ดีดเรมิงตันและวิทยาคม
มีหลายคนที่ไม่รู้ว่า อบ วสุรัตน์ มีอดีตและปัจจุบันอันลึกซึ้งกับบริษัทวิทยาคม
แต่บางคนก็รู้ว่า วิทยาคม คือสมบัติชิ้นสุดท้ายของ อบ วสุรัตน์ ที่เหลืออยู่
เวลาประมาณ 18.30 น. งานฉลองครบรอบ 40 ปีของบริษัทวิทยาคมเปิดขึ้นอย่างเอิกเกริก
แขกคลาคล่ำเบียดเสียดกันชมนิทรรศการแสดงสินค้าของวิทยาคมที่ทางบริษัทลงทุนยกเครื่องไม้เครื่องมือมาโชว์มาแสดงให้ดู
โดยมีผู้บรรยายประกอบ ตั้งแต่เครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ท เครื่องเอ็กซเรย์ คอมพิวเตอร์ควบคุมโรงงาน
ฯลฯ
กว่าจะฝ่ามาถึงห้องเลี้ยงรับรองก็หิวได้ที่พอดี
นับเป็นงานที่ค่อนข้างมีลักษณะมวลชนและแปลกกว่างานอื่น ๆ เป็นงานฉลองครบรอบ
40 ปีที่แฝงด้วยสีสันธุรกิจ มีเป้าหมายการตลาดไปสู่ลูกค้าระดับกว้างจริง
ๆ
ใจกลางของงานเริ่มจริง ๆ ประมาณเวลา 19.00 น. ด้วยการปูพื้นด้วยบรรยากาศแบบไทย
ๆ -รำไทยอวยพรกลมกลืนไปกับกลิ่นวิสกี้ บรั่นดี เครื่องแต่งกายหลากสีสันกับเฟอร์นิเจอร์แวววาว
พิธีทางการเริ่มต้นเมื่อพลโทผ่อง มีคุณเอี่ยม ประธานกรรมการบริษัทวิทยาคมขึ้นเวทีกล่าวเปิดงาน
ตามด้วย อบ วสุรัตน์ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งปัจจุบันไม่มีตำแหน่งอะไรในบริษัทถูกลูกสาวจูงขึ้นเวทีรำลึกความหลังครั้งก่อตั้งบริษัท
พิธีอย่างเป็นทางการเป็นงานปิดท้ายด้วย อุปจิต วสุรัตน์ บุตรชายคนโตของอบ
ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการขึ้นเวทีวาดแผนในอนาคตของวิทยาคมให้แขกในงาน (ส่วนใหญ่เป็นลูกค้า)
ฟังกัน
งานนี้ ลลนา วาสนาส่ง ลูกสาวคนสวยของพิชัย วาสนาส่ง โฆษกทีวีอาวุโสทำหน้าที่ดำเนินรายการ
และพากษ์เป็นภาษาอังกฤษให้แขกชาวต่างชาติที่มางานจำนวนนับสิบรู้เรื่องด้วย
ว่ากันว่าแขกวันนี้นับเป็นจำนวนพันคน ผู้ที่รุมล้อมและเป็นศูนย์กลางก็คือบุรุษสายตาไม่ดี
อบ วสุรัตน์ นั่นเอง
ล่วงเลยเวลา 2 ทุ่มผู้คนเริ่มทยอยออกจากงาน พร้อม ๆ กับการรับแจกหนังสือ
"40 ปีบริษัทวิทยาคม จำกัด" ติดไม้ติดมือกลับไปอ่านที่บ้าน
หนังสือเล่มนี้หนาประมาณ 100 หน้า พิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดี เรื่องราวชักนำให้ผู้อ่านรู้จักความเป็นมาของบริษัทวิทยาคม
ความดีของหนังสือเล่มนี้มีอยู่ตอนแรก ๆ ที่กล่าวถึง Dr. H McFarland มิชชั่นนารีผู้สร้างประโยชน์แก่สังคมไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
4
ผู้ที่เรียนประวัติศาสตร์ก็คงพอจะจำกันได้ว่าเขาคือผู้นำพิมพ์ดีดเครื่องแรกมาใช้ในประเทศไทย
และเป็นผู้หนึ่งที่พัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเป็นเครื่องแรกด้วย
ต่อมาเขาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระอาจวิทยาคม ซึ่งถูกนำมาตั้งเป็นชื่อบริษัทวิทยาคม
นั่นเอง
จุดเน้นอีกจุดหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือบทบาทของอบ วสุรัตน์ ที่คนเขียนพยายามหาจุดมายกย่องชมเชยค่อนข้างจงใจ
แต่กลับไม่ได้ให้รายละเอียดมากนักเกี่ยวกับบริษัทนี้ เพียงแต่วาดภาพคร่าว
ๆ สั้น ๆ เกี่ยวกับการเพิ่มตัวสินค้า การขยายตัวทางธุรกิจเพียงด้านเดียว
น่าเสียดายที่บริษัทวิทยาคมอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสมควรจะนำข้อมูลมาเผยแพร่ได้มากกว่านี้
ในแง่มุมต่าง ๆ (อย่างที่ "ผู้จัดการ" เขียนมาหลายเรื่อง)
หนังสือเล่มนี้พิมพ์สองภาษาทั้งไทยและอังกฤษ อ่านไปอ่านมาก็ชักสงสัยว่าต้นฉบับแปลจากภาษาไทยหรือแปลจากภาษาอังกฤษกันแน่!
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องชมเชยกันว่าบริษัทที่มีประวัติเก่าแก่อย่างวิทยาคมนี้
ให้ความสำคัญในการบันทึกเรื่องราวไว้ให้อนุชนรุ่นหลังศึกษาพอประมาณ โดยปกติแล้วธุรกิจในบ้านเราไม่ค่อยจะนิยมทำกัน--ก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุอันใด?
งานฉลองครบรอบ 40 ปีของวิทยาคมจบไปแล้ว เสียงผู้คนพูดคุยอึงคนึงยังคงก้องอยู่ในความทรงจำของ
อบ วสุรัตน์ ผู้ก่อตั้งและปลุกปั้นบริษัทนี้ แม้ร่างกายของเขาจะไม่แงแรงนัก
แต่ทางเดินของความเป็นนักธุรกิจผู้ยิ่งยงคนหนึ่ง นักการเมืองผู้คร่ำหวอดคนหนึ่ง
เขาก็ควรภาคภูมิใจ เพราะจำนวนและบุคคลที่มางานนี้ย่อมแสดงถึงบารมีที่มีอยู่ของเขา
หนังสือ 40 ปีวิทยาคม…พูดถึงเขาอย่างชื่นชม เรื่องราวของบริษัทนี้ถูกบันทึกเป็นประวัติส่วนหนึ่งของชีวิตเขา
แม้ว่าทุกวันนี้บริษัทนี้จะต้องประสบมรสุมทางธุรกิจบ้าง คือขาดทุนครั้งแรกในรอบ
40 ปี หนักหนาพอประมาณตั้งแต่ปี 2527 (อายุ 39 ปี) แม้ไตรมาสแรกของปี 2529
จะมีกำไรบ้าง (1.023 ล้านบาท) ก็หาใช่ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นตลอดไปไม่ สัญญาณเหล่านี้บ่งชี้ว่าประวัติศาสตร์หน้าต่อไปของวิทยาคม
ซึ่งเขาไม่ได้เขียนนั้นจะต้องดำเนินให้ดีและใช้ความระมัดระวัง
ลูก ๆ ของเขาในฐานะผู้สืบทอดจะต้องทำงานกันด้วยสติปัญญาทั้งมวล มิฉะนั้น
อบ วสุรัตน์ คงไม่สบายใจในบั้นปลายชีวิตเป็นแน่ เพราะวิทยาคมคือส่วนหนึ่งของชีวิต
อบ วสุรัตน์