เปิดตำรารบ 3 เรือธงในสมรภูมิเลือด


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

*เปิดแม่ไม้ ซูเปอร์ ฮีโร่โปรดักส์ สู้ศึกเหนือเสือใต้ แม้สมรภูมิชุ่มโชกไปด้วยเลือด
* มาม่า สู้อย่างไรท่ามกลางการเสียบสกัดแบบไม่ไว้หน้าจากบรรดาคู่แข่ง
* ทำไม ชาเขียว หลายหลากรสถึงสู้รสชาติดั้งเดิมไม่ได้
* นันยาง แบรนด์ทั้งเก่าทั้งแก่ มีดีอะไรจึงยังครองความเป็นผู้นำอย่างเหนียวแน่น

ท่ามกลางการแข่งขันในบางสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ต่างสาดอาวุธเข้าหากันอย่างดุเดือดเลือด พล่านจนเหมือนทะเลเลือด (Red Ocean) แต่ก็มีสินค้าบางตัวสามารถฝ่ากระแสอยู่รอดและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้กับองค์กรอย่างเป็นกอบเป็นกำกว่าสินค้าหลายตัวที่มีอยู่ในมือ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแม้จะมีแบรนด์ใหม่และสินค้าหน้าใหม่เกิดขึ้นในตลาด แถมมาพร้อมกับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หวังว่าจะเข้ามาสร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภค และวงการตลาดตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงกลับไม่สามารถเบียดเจ้าตำรับเดิมให้สั่นสะเทือนได้มากนัก

ทั้งที่หลายสินค้า หลายแบรนด์เกิดขึ้นมานมนานหลายปี อย่าง นันยาง ที่ชูจุดขายพื้นเขียวมานานหลายสิบปีแต่ยังสามารถอยู่ยั้งยืนยงทั้งที่มี รองเท้านักเรียนหน้าใหม่ทยอยเข้ามาประลองกำลังอยู่ไม่ขาดสาย ส่วนในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใครต่อใครรับรู้กันดีว่าการแข่งขันร้อน ยิ่งกว่าน้ำต้มบะหมี่ ด้วยผู้เล่นแต่ละคนล้วนเป็นเจ้าใหญ่ในวงการ มีทั้งเงิน และนวัตกรรมเพียบ แต่ไม่สามารถโค่นมาม่า ที่มีรสต้มยำกุ้งและหมูสับเป็นพระเอกตลอดกาลได้ และยังมีสินค้าอื่นอีกหลายต่อหลายแบรนด์ที่เป็นเช่นนี้ คือเป็นเรือธง ที่คอยยิงสกัดกั้นคู่แข่งไม่ให้มาแหยมได้

อะไรคือกลยุทธ์ความสำเร็จของสินค้าที่เป็นเรือธงดังกล่าว? ต้องติดตาม

2 รสชาติ 'มาม่า' ต้มยำกุ้งและหมูสับ ฮิตตลอดกาล

ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การสร้างสีสันและกระตุ้นยอดขาย ด้วยการเปิดตัวสินค้ารสชาติใหม่ เป็นกลยุทธ์ตลาดที่นำมาใช้ได้ในบางสถานการณ์นั้น เพราะโอกาสเปิดจากราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เป็นอุปสรรคกับการทดลองรส ชาติใหม่ๆ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ยึดติดกับแบรนด์และรสชาติ พร้อมจะทดลองมากินอีกรสชาติหนึ่ง ถ้ามีรสชาติใหม่ออกมาทำตลาด

ทว่า รสชาติที่ครองอันดับความนิยม ต้มยำกุ้ง รสหมูสับ เหล่านี้ ก็ยังเป็นรสชาติที่มีการขับเคี่ยวกันของเบอร์หนึ่ง มาม่า และสองคือ ไวไว แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่า ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เจ้าตลาดมาม่า มีรสชาติ 'หมูสับ' และ 'ต้มยำกุ้ง' ที่เป็นดาวเด่นและเรือธงสำหรับการบุกตลาดอย่างต่อเนื่องมาหลายปี

จากปีแรกๆ ที่มาม่า เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการสื่อสารตลาดที่ปรับเข้ากับไลฟ์สไตล์คนในยุค ใหม่ สินค้าตัวแรกที่หยิบมาทำตลาดด้วยกลยุทธ์มูฟวี่มาร์เกตติ้ง คือ รสชาติต้มยำกุ้ง รสชาติที่ขายดีที่สุด ขณะที่มาม่าเองก็เป็นผู้นำในตลาดและในรสชาตินี้ โดยการเป็นผู้สนับสนุนภาพยนตร์เรื่อง 'ต้มยำกุ้ง' ซึ่งเป็นครั้งแรกของแบรนด์มาม่า ในการทำตลาดร่วมกับภาพยนตร์

กระทั่งปี'51 จุดเปลี่ยนที่ มาม่า หันมาให้ความสำคัญกับการปรับรูปแบบการตลาดไปสู่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มมาก ขึ้น รสชาติ 'หมูสับ' และ 'ต้มยำกุ้ง' รสชาติที่เป็นยอดขายหลัก ก็เป็นรสชาติหลักที่นำมาโปรโมต โดยเทงบกว่า 300 ล้านบาทเพื่อรุกตลาดมาม่า 2 รสชาติอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

สำหรับก้าวรุกใหม่นี้ที่วางเกมให้ 'หมูสับ' และ 'ต้มยำกุ้ง' เป็นเรือธงนั้น เน้นสื่อสารตรงกับผู้บริโภค ระหว่างมาม่ากับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการสื่อสาร 2 ทาง สร้างความใกล้ชิดระหว่าง แบรนด์มาม่ากับผู้บริโภค ภายใต้กลยุทธ์อินเตอร์แอกทีฟ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้สื่อสารกับผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์

ขณะเดียวกัน มาม่าหมูสับ วางตำแหน่งให้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ผ่านกลยุทธ์มิวสิกมาร์เกตติ้ง โดยมีกิจกรรมการตลาดการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ มาม่าหมูสับ ผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ซึ่งเป็นแนวทางกลยุทธ์โฆษณาที่แตกต่างจากที่ผ่านมา เน้นคอนเซ็ปต์ความแตกต่างแต่กลมกลืน โดยดึง ครูเป็ด มนต์ชีพ ครูสอนดนตรี นักร้องวัยรุ่นวงออกัสมาร่วมเป็นพรีเซนเตอร์ นอกจากนั้นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับ มาม่าหมูสับ ได้จัดต่อยอดไปยังกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นแคมเปญด้านเอนเตอร์เทนอีกด้วย

รสชาติต้มยำกุ้ง ที่มาม่าเป็นผู้นำตลาด และตัวเลขที่มีสัดส่วนมากสุดประมาณ 26% ของตลาดรวมกว่า 1.3 หมื่นล้าน เป็นที่สนใจจนทำให้คู่แข่งหลายๆ แบรนด์เปิดตัวสินค้า ('Me Too' product) เพื่อจะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาด เช่นเดียวกับ ไวไว ในปีถัดไปหลังจากที่ มาม่า หยิบรสชาตินี้ขึ้นมาเป็นเรือธง ไวไว ก็เปิดตัว 'ไวไว รสต้มยำกุ้ง แซ่บแท้ ต้มยำไทย' ออกสู่ตลาดด้วย และถือเป็นครั้งแรกของไวไวสำหรับการเข้าสู่ตลาดต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นรสชาติหลักของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเมืองไทย

ก่อนหน้าที่ ไวไว จะแตกแบรนด์ใหม่มาเป็น ควิก เพื่อขยายกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่และรองรับการตลาดบะหมี่รสชาติจัดจ้าน ซึ่งมี ควิก ต้มยำกุ้ง อยู่แล้วนั้น ไวไว จะทำตลาดเน้นความกลมกล่อม ไม่ได้ตีตลาด มาม่าหมูสับโดยตรง แต่ก็มีรสหมูสับต้มยำ เป็นสินค้าหลักที่วางเกมให้เข้ามากินส่วนแบ่งรสชาติต้มย้ำกุ้งในตลาดรวม และตามประกบมาม่าต้มยำกุ้ง ด้วยจุดขายที่มีรสชาติจัดจ้านใกล้เคียงกับต้มยำกุ้ง จะทำให้ลูกค้าหันมาทดลองสินค้า

ชาเขียว 'ออริจินัล' เท่านั้น

ภาพรวมการแข่งขันในตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม ที่มีโออิชิครองบัลลังก์ในตลาดมานาน แม้ทุกๆ ปีชาเขียวค่ายนี้จะมีโปรโมชั่นแรงๆ ออกมากระตุ้นยอดขายให้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่กลยุทธ์การตลาดด้านรสชาติ โดยเฉพาะรสชาติออริจินัล ที่นำโด่งทิ้งคู่แข่งมานั้น นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รักษาความเป็นผู้นำมาได้

จากจุดเริ่มต้นรสชาติฮิตเป็นยอดนิยม ออริจินัล ข้าวญี่ปุ่น ฮันนี่เลมอน และอีกหลายๆ รสชาติที่ตามกันมาเป็นซีซันนัล ตามแนวทางการตลาดชาเขียวทั้งในแง่ Emotional ขายความสดชื่น ควบคู่ไปกับ Functional รสชาติที่ให้ประโยชน์เฉพาะด้านตามเทรนด์ของตลาด อาทิ กรีนทีมิกซ์เบอร์รี รสแอปเปิล กีวี

ทว่าปัจจุบันนั้นยอดขายของชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิมาจาก 3 รสชาติหลักๆ ออริจินัล ข้าวญี่ปุ่น ฮันนี่ผสมน้ำผึ้ง ยังคงเป็นรสชาติที่ได้รับการตอบรับดีในวันนี้ และยอดขายของชาดำไต่อันดับขึ้นมาเป็นรายได้อันดับที่ 4 ของเครื่องดื่มชาทั้งหมดของโออิชิ

ครั้งที่ตลาดชาเขียวเฟื่องฟู จนทำให้แบรนด์ใหม่ๆ กระโจนเข้ามาแข่งขันกันอย่างรุนแรง ก่อนที่จะขยายไลน์ไปสร้างสรรค์รสชาติฮิตที่เป็นยอดนิยมของตัวเอง ซึ่งรสชาติหลักๆ ที่ โออิชิ และยูนิฟ แข่งขันทำตลาดคือ รสชาติออริจินัล

จากนั้นมีอีกหลายแบรนด์ที่พยายามเข้ามาในตลาดชาเขียวรสออริจินัลที่โออิชิ ปักธงไว้แล้ว ที่ผ่านมา 'เซนชะ ชาเขียวรสชาติญี่ปุ่นแท้ คนญี่ปุ่นแท้' ของ อายิโนะโมะโต๊ะ ทำตลาด 2 รสชาติคือ รสออริจินัล และยูสุผสมน้ำผึ้ง และเมื่อ 'สยามคิริน' ค่ายเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นเข้าเปิดศึกชาเขียวพร้อมดื่ม ก็เปิดตัว 2 รสชาติเท่านั้น คือ รสต้นตำรับ ซึ่งรสชาติของนะมาชะ ถือเป็นชาเขียวพร้อมดื่มญี่ปุ่นแท้ๆ และรสธัญพืช เพราะเป็นรสชาติที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาด และขยายฐานลูกค้าใหม่

เมื่อไม่มีแบรนด์ไหนโค่นออริจินัลของโออิชิลงได้ แบรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามาเริ่มจับทางใหม่หันไปเจาะตลาดชาเขียวผสมน้ำผลไม้ ซึ่งเป็นการต่อยอดหลังตลาดชาเขียวแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวและได้เข้ามาเป็น เครื่องดื่มอีกทางเลือก ประเมินว่าตลาดรวมชาเขียว 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดชาเขียวผสมน้ำผลไม้ สัดส่วนประมาณ 60% ขณะที่ชาเขียวรสชาติออริจินัล ฮันนี่เลมอน และข้าวญี่ปุ่น ที่มีแบรนด์หลักๆ คือโออิชิ มีสัดส่วน 40%

นับว่าภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น 'ฟูจิ' เป็นรายใหม่ที่เข้าตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม จากการมองโอกาส และช่องว่างในการเติบโตเครื่องดื่มชาเขียวที่เป็นสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ รสชาติออริจินัล เช่นเดียวกับผู้นำตลาดอย่างโออิชิ โดยมีการแตกไลน์สินค้าเครื่องดื่มชาเขียว ภายใต้แบรนด์ 'ฟูจิชะ' ลงสู่ตลาด 3 สูตรบรรจุในขวดเพ็ต จำหน่ายผ่านภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นฟูจิทุกสาขา และโมเดิร์นเทรด โดยมี 3 รสชาติ คือ รสดั้งเดิม เทสตี้ และมีส่วนผสมของใบแปะก๊วยที่ช่วยในเรื่องความจำ

ความนิยมของชาเขียวรสชาติออริจินัล ยังมีแนวโน้มดีในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน สิงคโปร์ เกาหลี ยังคงนิยมดื่มชาเขียวรสออริจินัล และโออิชิ จับจุดเรื่องรสชาติของชาเขียวที่นิยมกัน นำมาต่อยอดไปในแนวลึก โดยเฉพาะการทำตลาดชาเขียว รสชาติออริจินัล ที่วางตำแหน่งเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ จะเป็นไปในรูปแบบฟังก์ชันนัลที่มีคุณประโยชน์เฉพาะด้าน และจับกระแสสุขภาพมาเป็นจุดสร้างความแตกต่าง โดยออกมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ การเปิดตัว 2 รสชาติใหม่ ชาเขียวไร้น้ำตาล (Oishi Zero) และชาเขียวผสมคลอโรฟีลล์ เข้ามาเป็นตัวสร้างสีสันตลาด

ปัจจุบัน โออิชิ ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาด เปิดตัวชาเขียวรสชาติใหม่ 'มัทชะ' (Matcha) ซึ่งเป็นชาเขียวคุณภาพสูงผสมน้ำแร่ เจาะกลุ่มพรีเมียม โดยออก 1 ขนาด 470 มล. ราคา 30 บาท โดยการเปิดตัวสินค้าใหม่ครั้งนี้ เป็นการขยายฐานจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่มีชาเขียวรสชาติออริจินัล ข้าวญี่ปุ่น ฮันนี่เลมอน และสตรอเบอร์รี ไปสู่กลุ่มพรีเมียมด้วยการชูนวัตกรรมนำร่อง

'นันยาง' ต้นตำรับ ผ้าใบพื้นเขียว

หากพูดถึง 'รองเท้าผ้าใบนักเรียน' มั่นใจว่า 'นันยาง' คือ แบรนด์อันดับต้นๆ ที่อยู่ในใจของกลุ่มนักเรียน แม้จะเป็นตราสินค้าที่อยู่ในตลาดมากว่า 57 ปี ทว่า นันยาง ก็ยังอยู่ในฐานะผู้นำที่มีความแข็งแกร่ง ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่า 50% จากตลาดรวมรองเท้าผ้าใบนักเรียนมูลค่า 2,500 ล้านบาท

ที่ผ่านมา นันยางถือเป็นผู้เล่นหลักในตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนที่ให้ความสำคัญเกี่ยว กับการทำตลาด การจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม รวมทั้งสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยจะเน้นหนักไปในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เพราะเป็นช่วงฤดูการขายสินค้าที่เกี่ยวกับนักเรียน คิดเป็นสัดส่วนราว 70% จากยอดขายทั้งปี ส่งผลให้แบรนด์นี้ยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง

แต่ปัจจัยที่ทำให้นันยางยังได้รับความนิยมจากกลุ่มนักเรียนชาย โดยเฉพาะเด็กชั้น ม.1-ม.6 จนถึงทุกวันนี้ คงต้องยกให้ 'รองเท้าผ้าใบ รุ่นพื้นเขียว' หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'รุ่นต้นแบบยอดนิยม 205-S' ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น 'ฮีโร่โปรดักส์' ของผู้นำรายนี้เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเป็นตัวหลักที่ทำรายได้ 85% จากยอดขายรองเท้าผ้าใบนันยาง โดยที่เหลือ 15% มาจากรองเท้าผ้าใบรุ่นไลท์และรุ่น 121-N ทั้งที่ในอดีต นันยางเป็นแบรนด์รองเท้าผ้าใบที่มีสินค้าให้เลือกมากกว่า 5 รุ่น แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 รุ่นที่ได้รับความนิยมและทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยรุ่นต้นแบบยอดนิยม 205-S ถือเป็นผ้าใบรุ่นแรกๆ ของนันยาง ที่มีการปรับดีไซน์เล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับวัยรุ่นในแต่ละยุค แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ คือ การเป็นผ้าใบพื้นเขียวมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รุ่นไลท์ จะเป็นรองเท้าผ้าใบแบบหัวยางที่เพิ่งจำหน่ายได้เพียง 2-3 ปี โดยพัฒนามารองรับกลุ่มที่เน้นเล่นกีฬา และรุ่น 121-N รองเท้าผ้าใบแบบหัวผ้า วางจำหน่ายมาประมาณ 10 ปี

นอกจากนี้ เอกลักษณ์การเป็น 'รองเท้าผ้าใบพื้นเขียว' ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักเรียนชาย จนกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้คู่แข่งหลายรายต้องหันไปเพิ่มคุณสมบัติดังกล่าวใน กลุ่มสินค้าของตนเองเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์บาจา, แบรนด์โกลด์ ซิตี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้เล่นในตลาดออกมาเล่นเรื่องพื้นเขียวจำนวนมาก แต่ในฐานะที่นันยางเป็นแบรนด์แรกที่ทำการออกแบบรองเท้าผ้าใบรุ่นดังกล่าว ทำให้นันยางสามารถพูดได้เต็มปากว่าตนเองเป็น 'ต้นตำรับ' ผ้าใบพื้นเขียว ที่กลายเป็นจุดขายและจุดแข็งที่ผู้เล่นรายอื่นไม่สามารถปฏิเสธได้

'นันยางเป็นแบรนด์ที่ออกแบบรองเท้าผ้าใบพื้นเขียวรายแรก จนกลายเป็นต้นตำรับของรองเท้าผ้าใบในเมืองไทย' เป็นคำกล่าวของ สมชาย สีสมสง่า ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด

จึงไม่แปลกที่การจัดแคมเปญกับผู้บริโภคทุกครั้ง นันยางจะไม่ลืมสื่อสารเรื่องความเป็นผู้นำรองเท้าผ้าใบ รวมถึงการพรีเซนต์เรื่องพื้นเขียว เพื่อตอกย้ำการเป็นแบรนด์ต้นแบบตัวจริง เช่น การเอ็ดดูเคตผ่านหนังโฆษณาชุด 'Nanyang the Classic' เมื่อราว 2-3 ปีก่อน ด้วยการนำรองเท้ารุ่น 205-S ตำนานของรองเท้าผ้าใบพื้นเขียวมานำเสนอเรื่องราวแฟชั่นเหยียบส้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กนักเรียนชายทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่านันยางเป็นแบรนด์ที่ยังได้รับความนิยมทุกยุคสมัย

ล่าสุดกับการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการรายแรกในช่วงฤดูกาลแบ็ก ทู สคูล ซึ่งปีนี้นันยางได้ส่งแคมเปญ 'นันยาง ทำอะไร ทำจริง แจกจริงทุกสัปดาห์' ออกมาสร้างสีสัน ให้ลูกค้าได้ร่วมลุ้นชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 150,000 บาท ได้แก่ iPod Touch 32 GB, Sony Play Station 3 Slim, LG LCD TV 32 นิ้ว, Sony Cyber Shot T90 และ Netbook Dell Mini 10 โดยหวังว่าจะกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น และทำให้ยอดขายช่วงแบ็ก ทู สคูล ของนันยางเติบโตขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ขณะเดียวกัน นันยางก็ไม่ลืมที่จะลอนช์หนังโฆษณาชุด 'ทำอะไร ทำจริง' เพื่อสะท้อนไลฟ์สไตล์ของเด็กวัยรุ่นในยุคนี้ที่มีนันยางเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ของกิจกรรมดังกล่าวด้วย ถึงแม้ว่าเนื้อหาของหนังชุดนี้ นันยางได้เลือกกิจกรรมที่เกี่ยวกับลูกฟุตบอลมานำเสนอ ซึ่งหากมองผิวเผินอาจเข้าใจว่าเป็นการกล่าวถึงไลฟ์สไตล์เด็กนักเรียนชายกับ กีฬาฟุตบอล โดยไปคล้ายกับการนำเสนอของแบรนด์เบรกเกอร์ จากค่าย เอส.ซี.เอส. ที่เคยนำมาใช้เมื่อราว 5-6 ปีก่อนก็ตาม แต่เชื่อว่าไฮไลต์ของหนังโฆษณาชุดนี้น่าจะอยู่ตรงที่การส่ง message 'ระวังของลอกเลียนแบบ' เพราะนอกจากเป็นการตอกย้ำความเป็น 'ตัวจริง' ของแบรนด์นันยางในกลุ่มรองเท้าผ้าใบพื้นเขียวแล้ว จะเห็นว่า message ปิดท้ายของหนังชุดดังกล่าว นันยางยังตั้งใจส่งออกไปกระแทกคู่แข่งที่มีรองเท้าผ้าใบรุ่นพื้นเขียวด้วย

และนี่คือ ฮีโร่ โปรดักส์ จากนันยาง ที่ทำหน้าที่รุกฆาตคู่แข่ง ทั้งในด้านยอดขายและแบรนด์อิมเมจได้อย่างขาดลอย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.