|
ธนชาตจ่าย6.8 หมื่นล.ฮุบสคิบ
ASTV ผู้จัดการรายวัน(12 มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ธนชาตทุ่ม 68,000 ล้านบาทซื้อหุ้นนครหลวงไทย จ่ายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 3.2 หมื่นล้าน ในราคา 32.50 บาทต่อหุ้น จำนวน 1,005,330,950 หุ้น "ทองอุไร"ฟุ้งฟันกำไร 20,000 ล้าน “บันเทิง” ระบุเตรียมซื้อคืนจากนักลงทุนรายย่อยราคาเดียวกัน ใช้เงินอีกประมาณ 36,000 ล้านบาท พร้อมควบรวม 2 ธนาคาร ลบชื่อนครหลวงไทยออกจากสาระบบ เหลือธนาคารธนชาตรายเดียว ยันลูกค้าไม่กระทบ คาดการควบรวมจะเสร็จสิ้นในปี 54 ด้านบิ๊กสคิบรอผู้ถือหุ้นใหม่ปรับแผนธุรกิจ
วานนี้(11 มี.ค.) เวลาประมาณ 16.00 น. นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(กองทุน ฟื้นฟูฯ) พร้อมด้วยนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารธนชาต และนางมิเชล คว๊อค รองประธานบริหารอาวุโสภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง ธนาคารโนวาสโกเทียได้ร่วมกันลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,005,330,950 ล้านหุ้น หรือ 47.58 % ซึ่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯถืออยู่ให้แก่ธนาคารธนชาต
นางทองอุไร เปิดเผยภายหลังจากการลงนามสัญญาซื้อขายว่า สาเหตุสำคัญที่กองทุนฟื้นฟูฯเลือกธนาคารธนชาต เพราะหากพิจารณาจากราคา เงื่อนไข และแผนดำเนินธุรกิจ ถือว่าดีที่สุดที่นำเสนอมา ประกอบกับธนาคารโนวาสโกเทีย ซึ่งเป็นถื้อหุ้นใหญ่ของธนชาตก็เป็นสถาบันการเงินที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ติด 1 ใน 10 ของทวีปอเมริกาเหนือ ทำให้เมื่อมีการโอนกิจการของธนาคารนครหลวงไทยไปยังธนาคารธนชาตแล้วส่งผลให้ ธนชาตมีขนาดสินทรัพย์ขยับอยู่ที่อันดับ 5 จากเดิมอันดับ 8 จึงมั่นใจว่าจะช่วยให้สถาบันการเงินไทยมั่นคงมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อ ประชาชนมากที่สุด
ทั้งนี้ ธนาคารธนชาตจะได้ใช้เงินซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยจากกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งสิ้น 3.2 หมื่นล้านบาท ในราคา 32.50 บาทต่อหุ้น เมื่อเทียบกับงบการเงินกองทุนฟื้นฟูฯล่าสุด ราคาตามบัญชีอยู่ที่ 19 บาทต่อหุ้น ทำให้การขายครั้งนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูมีส่วนเกินจากมูลค่าหุ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งราคาหุ้นดังกล่าวได้รวมเงินปันผลที่คาดว่าจะได้เรียบร้อยแล้วและกองทุน ฟื้นฟูฯ จะได้รับเงินด้วยแคชเชียร์เช็คและนัดโอนหุ้นในวันที่ 9 เม.ย.นี้
อนึ่ง ในการขายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยครั้งนี้มีผู้สนใจส่งจดหมายร่วมประมูลทั้ง สิ้น 45 ราย แต่มีผู้สนใจตรวจสอบสินทรัพย์และหนี้สิน(Due Diligence) เหลือ 3 ราย แต่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลราคารอบสุดท้ายเหลือแค่ 2 ราย
**TCAP คาดควบรวมเสร็จปี54**
ด้านนายบัณเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ ธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การเจรจาซื้อขายหุ้นสามารถสรุปได้ชัดเจนเมื่อเช้าของวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารนครหลวงไทยจะต้องมีการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จึงเหลือเพียงธนาคารธนชาตรายเดียว ซึ่งคาดว่าจะโอนกิจการธนาคารนครหลวงไทยไปยังธนาคารธนชาตแล้วเสร็จสิ้นไม่ เกินสิ้นปี 54
โดยขั้นตอนต่อไปจากนี้ ธนาคารธนชาตจะประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ในวันที่ 7 เม.ย.เพื่อขออนุมัติการซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารจะเปิดทำการซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อย (Tender Offer) ภายใน 3 วัน นับแต่แต่วันที่มีการโอนเงินซื้อขายแล้ว ซึ่งจะมีการซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยในราคาเดียวกันกองทุนฟื้นฟูฯ คือ 32.50 บาท ฉะนั้นขั้นตอนการทำ Tender Offer ต้องมีการเริ่มทำปลายเดือนเม.ย.นี้ และคาดว่าจะสิ้นสุดในช่วงต้นเดือนก.ค.นี้
หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาต และนครหลวงไทย โดยในเบื้องต้น จะขออนุญาตจากธปท.ให้ธนาคารธนชาตสามารถถือหุ้นในสถาบันการเงิน 2 แห่งได้ไปก่อนจนกว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้น ส่วนในเรื่องของการผ่อนผันต่างๆ ธนาคารธนชาตจะเป็นผู้ยื่นผ่านมายังฝ่ายกำกับสถาบันการเงินของธปท. ซึ่งคาดว่าจะสามารถอนุมัติได้ก่อนวันที่ 9 เม.ย.
"การควบรวมกิจการระหว่างกัน จะใช้วิธีการโอนสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารนครหลวงไทย มารวมกับธนาคารธนชาต เมื่อเรียบร้อยแล้วจะเลิกกิจการธนาคารนครหลวงไทย และเอาหุ้นออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากนั้นจะเหลือธนาคารธนชาตธนาคารเดียว"
โดยธนาคารธนชาตได้ใช้เงินลงทุนซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทยทั้งสิ้น 6.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่เกิดจากการเพิ่มทุนและออกหุ้นกู้ไม่มีกำหนดชำระ ซึ่งสามารถใช้เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ได้ 4.2 หมื่นล้านบาท เงินสดที่ธนาคารธนชาตมีอยู่แล้ว 2 หมื่นล้านบาท และอีก6,000 ล้านบาท จะเป็นการขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ใช้เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 จำนวน 6 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะออกขายให้แก่ประชาชนทั่วไปในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. เพื่อใช้เป็นเงินในการซื้อขายครั้งนี้และเมื่อควบรวมกิจการแล้ว ทำให้ธนชาตมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่ต่ำกว่า 12%
ส่วนการปรับโครงสร้างพนักงานในธนาคารทั้ง 2 แห่งนั้นจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดยในเบื้องต้นผู้บริหารของธนาคารทั้ง 2 แห่งคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ซึ่งธนาคารชาตก็ยังขาดผู้บริหารระดับสูงพอสมควร ขณะที่พนักงานระดับล่างนั้นก็จะกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะธนาคาร 2 แห่ง มีฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน เนื่องจากธนาคารธนชาตจะเน้นสินเชื่อประเภทเช่าซื้อเป็นหลัก ขณะที่ธนาคารนครหลวงไทย จะเน้นการปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวพอสมควร
"การควบรวมดังกล่าวอาจจะต้องมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนสาขาที่มีบริเวณใกล้ เคียงกัน ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 60-70 สาขา เพื่อลูกค้าจะต้องได้รับประโยชน์จากการบริการที่ดี โดยปัจจุบันธนาคารธนชาตมีสาขาทั้งสิ้น 200 สาขา ส่วนธนาคารนครหลวงไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 400 สาขา ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ธนาคารธนชาตซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯที่ 32.50 บาทต่อหุ้น โดยใช้เงิน 3.26 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดจะนำเข้าสู่วาระการประชุมของธนาคารธนชาตในวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งที่ผ่านมาบริษัททุนธนชาตก็ได้มีการอนุมัติหลักการซื้อหุ้นดังกล่าวเรียบ ร้อยแล้ว แต่ในครั้งนี้จะนำรายละเอียดของบที่ปรึกษาทางการเงินอิสระประกอบไปด้วย"นาย บันเทิง กล่าว
ด้านบริษัทย่อยของธนาคารนครหลวงไทย ที่มีอยู่ 5 บริษัท ขณะนี้ยังไม่มีการประเมินเนื่องจากต้องศึกษาถึงขั้นตอนต่างๆ แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อภาพรวมยังไม่มากนัก ซึ่งในเบื้องต้นอาจมีวิธีในการจัดการหลายทาง อาทิ ควบรวมกัน แยกกันดำเนินกิจการ หรือหาพันธมิตร เป็นต้น สำหรับการรีแบรนด์สาขา ธนาคารประเมินว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง รวมถึงในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยของพนักงาน อาทิ การตัดชุดพนักงานใหม่ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อไม่ ให้กระทบต่อลูกค้า
**บิ๊กสคิบรอผู้ถือหุ้นใหม่ปรับแผน**
ขณะที่นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (มหาชน) (SCIB) ระบุว่า แผนธุรกิจขณะนี้จะยังคงดำเนินการตามปกติ ซึ่งในส่วนของการปรับเปลี่ยนนโยบายจากผู้ถือหุ้นรายใหม่คงยังไม่สามารถตอบ แทนผู้ถือหุ้นใหม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างๆสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากผู้ถือหุ้นใหม่เห็นว่าควรมีการปรับ เปลี่ยน
"โดยในปี 53 ธนาคารวางเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 6% ซึ่งจะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย และ กลุ่มเอสเอ็มอี รวมทั้งปรับพอร์ตสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะสินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่สร้างผลตอบแทนได้น้อย แต่จะเน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ธนาคารสามารถให้บริการได้ครบวงจร ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 28% พอร์ตลูกค้าเอสเอ็มอี ทรงตัวที่ 37% และ พอร์ตสินเชื่อลูกค้ารายย่อย ลดลงจาก 37% เหลือ 35%" นายชัยวัฒน์ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|