เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2529 ที่ผ่านมานี้ บริษัทอีสต์แมนโกดัก (EASTMAN KODAK
CO.) แห่งเมืองโรเชสเตอร์ มลรัฐนิวยอร์คประกาศว่าภายในสิ้นปีนี้บริษัทจะปลดคนงานออกประมาณ
12,900 คน หรือ 10% ของคนงานทั้งหมดในเครือโกดักทั่วโลก (โปรดอ่าน "ผู้จัดการ"
ปีที่ 3 ฉบับที่ 32 ประกอบ)
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจแม้แต่น้อยนิดเมื่อ เจ ซี สมิธ กรรมการผู้จัดการบริษัทโกดัก
(ประเทศไทย) จำกัดประกาศ "โครงการลดกำลังคนโดยความสมัครใจ"
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เจ ซี สมิธ มีหนังสือเวียนถึงพนักงานโกดักชี้แจงถึงโครงการลดกำลังคนโดยความสมัครใจ
"เมื่อเราได้พิจารณาดูถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันนี้ ก็ได้พบว่าบริษัทกำลังประสบกับภาวะท้าทายทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ค่าประกอบการในการดำเนินธุรกิจยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ภาวะการตลาดได้มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกระทบต่อปริมาณการขาย และผลกำไรของบริษัท…" (คำแปลทางการของโกดักเองอาจจะดูเยิ่นเย้อก็ช่างเถอะ)
เจ ซี สมิธ ร่ายยาวในจดหมายตอนต้นโดยพยายามใช้ภาษาเข้าช่วยลดวิกฤติการณ์ที่โกดักเผชิญ
"…โครงการลดกำลังคนนี้สำหรับพนักงานแผนกบริการลูกค้า แผนกบริการสินค้าเข้าแผนกขนส่ง
แผนกช่างซ่อมบำรุงและห้องแล็ปโกดัก พนักงานคนใดที่เลือกจะร่วมโครงการนี้มีเวลาในการตัดสินใจถึงวันที่
4 มิถุนายน 2529 โปรดกรอกข้อความแจ้งผลการตัดสินใจของท่านลงบนจดหมายที่แนบมา…และส่งคืนให้แก่กรรมการผู้จัดการภายในเวลา
12.00 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน 2529 ทั้งนี้ฝ่ายจัดการขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาที่จะรับหรือไม่รับผลการตัดสินใจของพนักงานที่อยู่ในโครงการลดกำลังคน
ซึ่งจะประกาศผลให้ทราบภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2529 การตัดสินใจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ
ซึ่งได้รับการยอมรับโดยฝ่ายจัดการจะได้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้ใน"ตารางผลประโยชน์ในกรณีลาออกเอง"
บวกส่วนที่เพิ่มขึ้นอีก 50% ของผลประโยชน์ที่ได้รับ (ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างต่ำจะเท่ากับจำนวน
8 เดือนของเงินเดือนงวดสุดท้าย) รวมทั้งเงินเดือนที่จ่ายให้อีกหนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าชดเชยสำหรับวันเวลาพักร้อนที่ยังไม่ได้ใช้ในปี
พ.ศ. 2529"
ว่าแล้วเขาก็แถลง "ยอมรับ" วิกฤติการณ์ของโกดักอีกตอนว่า "ความสำเร็จของโครงการฯ
นี้มีความสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดของบริษัท เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท…"
รายงานข่าวที่ตามมากับจดหมายฉบับนี้บอกว่าจำนวนที่โกดักจะลดพนักงานนั้นปีละประมาณ
10% ดังที่บริษัทแม่แถลงเอาไว้เมื่อต้นปี
ว่ากันว่าเมื่อเอาคนออกไปจำนวนหนึ่งแล้วจะรับใหม่เข้ามาซึ่งเงินเดือนถูกกว่า
เอาเป็นว่าสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล มีเพื่อนร่วมชะตากรรมเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย
20 คน เพียงแต่วิถีทางแตกต่างกัน
เส้นทางของสุวัฒน์นั้นขมขื่น เจ็บช้ำอย่างไร "ผู้จัดการ" ฉบับที่อ้างแล้วข้างต้นจาระไนไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความแล้ว
เพียงแต่มันไม่จบแค่นั้น
ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายโกดักเองต้องการให้มันจบ ๆ ไป
สำหรับสุวัฒน์ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ (เป็นเงิน) ที่เขาควรปกป้องแล้ว
อาจจะไม่ใช่สาระสำคัญเพราะที่สำคัญเป็นการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของเขาอีกด้วย
หนึ่ง-โกดักลดตำแหน่งสุวัฒน์ สุวัฒน์ตอบโต้โดยการฟ้องร้องที่ศาลแรงงานในข้อหาละเมิดการจ้างงาน
สอง-สุวัฒน์ ฟ้องคดีอาญากล่าวหาโกดักปลอมแปลงเอกสารสร้างพยานเท็จ โกดักตอบโต้ด้วยการเลิกจ้าง
"ผู้จัดการ" เสนอรายละเอียดมาแล้วในฉบับที่อ้างถึง
สาม-สุวัฒน์ตัดสินใจพึ่งศาลสถิตยุติธรรมอีก ในคดีเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 ศาลแรงงานนัดสืบพยานโจทก์ในคดีแรก (ปากสุดท้าย)
ศาลขอให้มีการประนีประนอมอีกครั้งหลังจากความพยายามครั้งแรกไม่สัมฤทธิ์ผล
(เพราะโกดักอิดเอื้อนตลอด)
วันนั้นทนายฝ่ายโกดักกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนี้รู้ถึงบริษัทอีสต์แมนโกดัก
ที่โรเชสเตอร์แล้ว และได้ตัดสินใจให้บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) เตรียมเงินจำนวน
5 แสนบาท ไว้จ่ายให้สุวัฒน์ เพื่อให้คดีสิ้นสุด แต่เมื่อ "ผู้จัดการ"
เสนอข่าวออกมาทางโกดักเสียหายมาก (เขาว่าอย่างนั้น) จึงงดที่จะเจรจาประนีประนอม
อย่างไรก็ดีเขาเอง (ทนายโกดัก) พยายามเจรจาหว่านล้อม จนโกดักยอมจะเจรจาประนีประนอม
โดยจะยอมจ่ายให้สุวัฒน์เป็นจำนวนเงิน 5 แสนบาทดังกล่าวอยู่
สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุลปฏิเสธ
ทนายฝ่ายโกดักขอให้สุวัฒน์ เสนอว่าต้องการเท่าไร
สุวัฒน์เสนอ 5 ล้านบาท (เพราะจริง ๆ แล้วสุวัฒน์อยากให้คดีดำเนินจนถึงที่สุด)
เจ้าหน้าที่ผู้บริหารของโกดักบางคนหัวเราะกิ๊ก!!
โกดักไม่ยอม จึงต้องสืบพยานกันต่อไป