ซอว์ ไว กับ ซันเบิร์ดส์ ภารกิจของพวกเขาคือ "To Help Make The Best Better"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ซอว์ไว เกิดที่พม่าเขาเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปลายปี 2514 แต่อยู่เพียงช่วงสั้น ๆ จากนั้นก็เข้ามาอยู่อย่างถาวรอีกครั้งเมื่อเดือนกันยายนปี 2518 โดยทำงานกับบริษัทลีวาย สเตร๊าส์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดซึ่งต้องรับผิดชอบผลิตภัณฑ์จำพวกเสื้อผ้าของลีวายทั้งหมด

ปี 2520 ซอว์ ไว ลาออกจากบริษัทลีวายฯ มาร่วมงานกับบริษัทแอบบอทตัวแทนจำหน่ายน้ำเกลือ ยาแก้รังแคยี่ห้อเซลซันและนมกระป๋องยี่ห้อเซลมาแลค เขาเริ่มต้นที่ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและอีก 8 เดือนให้หลังก็ได้รับการโปรโมทขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ซอว์ ไว ร่วมงานที่นี่เป็นเวลา 5 ปีครึ่ง ก็ลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ

มีหลายบริษัทที่รับทราบถึงความสามารถทางด้านการตลาดของซอว์ ไว อยากได้ตัวไปร่วมงานด้วย ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำทุกแห่ง

แต่ซอว์ ไว กลับทำในสิ่งที่หลายคนอาจจะนึกแปลกใจอยู่บ้าง!

เขาตั้งกิจการเล็ก ๆ เป็นของตัวเองภายใต้ชื่อบริษัทซันเบิร์ดส์ จำกัด ทำหน้าที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการตลาดซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่บ้านเรายังไม่มีใครทำมาก่อน

"เราเริ่มต้นกันเมื่อปี 2526 เดิมผมอยากจะใช้ชื่อบริษัทว่า FIRE BIRDS เพื่อที่จะสื่อความหมายว่าถึงเราเล็ก เราจนแต่ก็จะไม่มีวันตาย เราจะเป็นอมตะเหมือนกับ FIRE BIRDS ทีนี้ชื่อ FIRE BIRDS เขียนแล้วอ่านเป็นภาษาไทยยาก ผมก็เลยเอาเป็น SUN BIRDS แทนคือ ถึงเราจะเล็กจะจนแต่เราก็เป็นอิสระและบินสูงไม่ต่างอะไรจาก SUN BIRDS" ซอว์ ไวเปิดเผยความในใจให้ฟัง

บริษัทซันเบิร์ดส์ของซอว์ ไวนั้น อาจจะจำแนกภารกิจที่ให้บริการกับลูกค้าเป็น 4 ด้านกว้าง ๆ คือ

ทางด้านการตรวจสอบทางการตลาดหือที่เรียกว่า MARKETING AUDIT

ทางด้านการจัดฝึกอบรมความรู้และทักษะการตลาด

ทางด้านการจัดหาบุคลากรในข่ายงานการตลาด และ

ทางด้านการประสานงานติดต่อระหว่างบริษัทต่างประเทศกับตัวแทนภายในประเทศ

ทั้งนี้ก็ด้วยทีมงานประจำ 6 คนซึ่งโชกโชนอยู่ในวงการตลาดคนละนาน ๆ ทีมที่ปรึกษาพิเศษอีก 1 ชุดและทีมคณะกรรมการบริษัทซึ่งประกอบด้วย ปรก อัมระนันท์ ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ พลตำรวจตรีประจักรา บุนนาค ชดช้อย โสภณพนิช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชวนชัย อัชนันท์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ วิรัช นิมมานวัฒนา รวมทั้งซอว์ ไว ที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ

"งานของซันเบิร์ดส์ทางด้านการประสานงานติดต่อกับบริษัทต่างประเทศโดยทั่ว ๆ ไปก็คือหากมีบริษัทจากเมืองนอกเขาอยากเปิดตลาด ต้องการหาตัวแทนจำหน่าย ต้องการรู้ว่าผู้ร่วมทุน เราก็จะเป็นผู้คัดเลือกจัดหาให้ ส่วนการจัดหาบุคลากรนั้นเรามุ่งเฉพาะสายการตลาดอย่างเดียว สายอื่นเราไม่ทำ เราถือว่าเราชำนาญสายการตลาดที่สุดเราทดสอบแลัดเลือกได้เพราะเราอยู่ในวงการนี้มานาน แต่ด้านอื่น ๆ เราอาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจพอ อย่างเช่นตำแหน่งทางด้านคอมพิวเตอร์อย่างนี้เราหาคนให้ เราต้องปฏิเสธ และทางด้านการฝึกอบรมหรือการเทรนนิ่งก็จะมีหลายระดับ มีทั้งที่เราจัดเป็นการเฉพาะให้กับลูกค้าเป็นราย ๆ ไป และการจัดสัมมนาของเราเอง มีหัวข้อต่าง ๆ กันไปเรื่อย ๆ" ซอว์ ไว เผยในตอนหนึ่ง

ซึ่งงานในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ซอว์ ไว และบริษัทซันเบิร์ดส์ของเขาฝากฝีไม้ลายมือให้เป็นที่ประจักษ์มาแล้วหลายหน่วยงาน อาทิเช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มธุรกิจในเครือบริษัทมาบุครอง บริษัทยิลเล็ตต์ (ประเทศไทย) องค์การคลังสินค้ากระทรวงพาณิชย์ บริษัทบอร์เนียว บริษัทอเมริกัน เอ็กซเพรส (ไทย) ธนาคารเอเชีย บริษัทซิงเกอร์ บริษัทไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งได้ส่งคำชมเชยผลงานของซันเบิร์ดส์จนซอว์ ไวและทีมงานของเขาอดรู้สึกภูมิใจไม่ได้

"มันเป็นเสมือนกำลังใจและช่วยบอกให้เราทราบว่า เราเดินถูกทางแล้ว แม้จะเป็นเส้นทางที่ยังไม่มีใครในบ้านเรานี้เดินกันหรือให้ความสำคัญก็ตาม…" ผู้บริหารของซันเบิร์ดส์อีกคนหนึ่งกล่าว

ก็คงจะจริง เพราะถ้าพูดถึงการตรวจสอบทางการตลาดหรือ MARKETING AUDIT ซึ่งเป็นบริการสำคัญด้านหนึ่งที่ซันเบิร์ดส์ให้บริการนั้น ก็ออกจะเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับวงการธุรกิจของไทย

"ผมสอนที่จุฬาฯ มาแล้ว 3 ปี ผมพูดเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ออดิตนี้มาก มันเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทำไมอยู่ ๆ กำไรจึงลด ก่อนที่คุณจะวินิจฉัยและตัดสินใจหามาตรการแก้ปัญหา เครื่องมือที่คุณจะต้องใช้ในการค้นหาสาเหตุนี้เรียกว่า มาร์เก็ตติ้ง ออดิต.." ซอว์ ไว พูดกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับซันเบิร์ดส์แล้วก็มีประสบการณ์ของการเข้าไปช่วยทำการตรวจสอบทางการตลาดอยู่หลายแห่ง "บางแห่งเราชี้ปัญหาและเสนอหนทางแก้ไขเขาเอาไปปฏิบัติก็ได้ผลดีมาก แต่บางแห่งเมื่อเราตรวจสอบ เราบอกเขา เขาก็ว่าคำตอบและข้อชี้แนะดีมาก แต่เขาไม่ทำตามก็เจ๊งไปแล้วก็มี หรือบางแห่งเราเข้าไปตรวจสอบก็พบว่าปัญหาทั้งหมดมันอยู่ที่ตัวเจ้าของ ลูกจ้างทุกคนมาทำงาน 8 โมงเช้า เข้าทำงานไม่ได้ เพราะเจ้าของถือกุญแจหมด ทั้งกุญแจออฟฟิศ กุญแจเซฟ แล้วกว่าจะมาทำงานได้ก็ 10 โมงเช้า เราเห็นแบบนี้เราก็ถอย เพราะถ้าจะให้เราเสนอทางแก้ไข เขาก็คงไม่ฟังหรอก แบนี้ก็มี.." ซอว์ ไว เล่าไปหัวเราะไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.