ใครเป็นใครใน...ยูนิไทย?


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

มร.ริชาร์ดสัน หรือ สันต์ สันติสัมฤทธิ์

กรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนิไทยปี 2522-2528

ชาวจีนฮ่องกงเชื้อสายเซี่ยงไฮ้ เกิดบนแผ่นดินจีนได้หนีมายังฮ่องกงในช่วงที่มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ มร. Farnk Tsao เพราะหนีตายจากเซี่ยงไฮ้ด้วยกัน (ข่าวบางกระแสกล่าวว่า บุคคลทั้งสองนี้ เป็นญาติกันด้วย)

จบการศึกษาชั้นสูงในสาขาฟิสิกส์-เคมีจากเซนจอห์น ยูนิเวอร์ซิตี้ เก่งการคำนวณอย่างหาตัวจับยาก เริ่มธุรกิจการเดินเรือในฮ่องกงประเดิมบริษัทแรกคือบริษัท I.M.C. (International Marrinetime Carrier) ต่อมาประสบการขาดทุน โอนกิจการให้กับ มร. Farnk Tsao ซึ่งเป็นหุ้นส่วน

มร. ริชาร์ดสันได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยในปี 2507 และเดินทางไปยังประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งบริษัท M.I.S.C (Malaysian International Shipping Corporation) ร่วมกับ มร. Frank Tsao ซึ่งต่อมาทางรัฐบาลมาเลเซียให้การสนับสนุนเป็นสายการเดินเรือแห่งชาติ จึงได้ถอนตัวกลับมายังประเทศไทย ขณะนั้นได้เริ่มก่อตั้งบริษัทไทยวิสาหกิจการกลเดินเรือขึ้นในปี 2513 ดำเนินธุรกิจทางด้านพาณิชย์นาวีมาตลอด

เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยนานมาก จนรักเมืองไทย จึงได้โอนสัญชาติเป็นคนไทยในเวลาต่อมา

จนกระทั่งในช่วงปี 2517-2518 ได้เสนอโครงการตั้งบริษัทยูนิไทย เพื่อให้เป็นสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขึ้น ซึ่งขณะนั้นทางสำนักงานดังกล่าวกำลังศึกษาความเป็นได้ในการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลทางด้านพาณิชย์นาวีโดยตรงคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมพาณิชย์นาวี ในเวลาต่อมา

ปรากฏว่าแผนการตั้งบริษัทยูนิไทย ได้รับความสำเร็จรัฐบาลให้การสนับสนุนที่จะก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาในปี 2520

มร. ริชาร์ดสัน จึงเข้าไปนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทยูนิไทยเป็นคนแรก

จากความสำเร็จในการก่อตั้งบริษัทเดินเรือในหลายบริษัทในหลายประเทศ ทำให้ มร. ริชาร์ดสันได้ปรารภให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า "สักวันหนึ่งจะไปนั่งร่างแผนก่อตั้งบริษัทเดินเรือแห่งชาติให้กับประเทศลาว"

ทุ่มเทการทำงานให้กับบริษัทยูนิไทยมาตลอดช่วงที่รับตำแหน่ง โดยถือว่ายูนิไทยเป็นเรือนตาย ก็ว่าได้ แต่ต้องประสบกับความผิดหวัง เมื่อเจอฤทธิ์เดชนักการเมืองไทยบางคนแผลงฤทธิ์ จนต้องถอนตัวออกจากยูนิไทยแทบไม่ทัน พร้อมทั้งได้ฝากข้อคิดเห็นให้กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังฟังว่า "ยูนิไทยต้องต่อสู้ทางด้านการแข่งขันในเชิงธุรกิจ กับบริษัทเรือต่างประเทศแล้ว ยังต้องมาต่อสู้กับเกมส์ทางการเมืองที่เข้ามาโดยไม่เต็มใจด้วย" จำต้องถอนตัวออกมา ซึ่งเจ้าตัวคิดเสมอว่าทำงาน "พลาดเมื่อตอนแก่"

ปัจจุบันอายุเกือบ 70 ปี แล้ว แต่ยังกระฉับกระเฉงขณะนี้ไปรักษาแผลหัวใจที่ถิ่นเดิมในตำแหน่งประธานบริษัทไทยวิสาหกิจสากลเดินเรือ

สุธรรม จิตรานุเคราะห์

ผู้จัดการทั่วไป

เป็นหนุ่มใหญ่ไฟแรงมือขวาของ มร. ริชาร์ดสัน ยืนหยัดมาตั้งแต่บริษัทยูนิไทยยังไม่เกิดจนถึงปัจจุบันยังคงทำงานอยู่ที่ยูนิไทย

การศึกษาจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเรียนต่อปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกาในสาขาเดียวกัน จบมาเข้าทำงานกับกระทรวงคมนาคมในตำแหน่งวิศวกรประจำกองเศรษฐกิจ รับผิดชอบทางดด้านการสร้างท่าเรือเขตตะวันออก

เริ่มเข้าสู่วงการพาณิชย์นาวี เมื่อไปคัดค้านการขออนุมัติซื้อเรือ 2 ลำของบริษัทไทยเดินเรือทะเล เพราะเมื่อเห็นสภาพขนาดเรือแล้วมานั่งคำนวณความคุ้มค่าของการใช้งาน, การขนส่ง เห็นว่าไม่คุ้มค่าโดยมีความคิดว่า "หากจะซื้อเรือสองลำนี้ เอาเงินที่ซื้อเรือไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ยจะดีกว่า" คัดค้านหลายหนจนกระทั่งพลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ ประธานบริษัทไทยเดินเรือทะเล เกิดความหงุดหงิดใจ เลยชวนให้เข้าไปทำงานบริษัทไทยเดินเรือทะเลในปี 2516 เพื่อที่จะได้มารู้ปัญหาของบริษัทเดินเรือว่ามีอะไรบ้าง

ทำงานให้กับบริษัทไทยเดินเรือทะเลใน 3 ตำแหน่งควบไปเลย คือตำแหน่งเลขานุการผู้อำนวยการ, เลขานุการกองโครงการ และเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนากิจการพาณิชย์นาวี ทำงานให้บริษัทไทยเดินเรือทะเล 3 ปีเต็ม

ขณะเดียวกันในช่วงหลังทางคณะอนุกรรมการพัฒนาพาณิชย์นาวีได้ศึกษาที่จะตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพาณิชย์นาวี กับการตั้งบริษัทยูนิไทย ซึ่งทางเจ้าตัวเองได้หมายมั่นปั้นมืออยู่ในใจว่า "อะไรที่เกิดขึ้นก่อนก็จะไปอยู่ที่นั่น" ปรากฏว่าบริษัทยูนิไทยได้ตั้งขึ้นก่อนในปี 2518 จึงได้เข้าไปนั่งทำงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการทั่วไปและเลขานุการคณะกรรมการบริหารบริษัทด้วย

พร้อม ๆ กับการเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จนกระทั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดวิชาทางด้านพาณิชย์นาวี คณะนิติศาสตร์ จึงได้กระโดดเข้าไปช่วย จนปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสาขาวิชาทางด้านพาณิชย์นาวี

ในช่วงวิกฤตการณ์กับบริษัทยูนิไทย เป็นตัวจักรสำคัญในการเจรจาประนอมหนี้ การดึงหุ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาถือหุ้น หลังจากถูกผู้ถือหุ้นเดิมไม่ยอมที่จะเพิ่มทุนใหม่พร้อมทั้งวิ่งเต้นเข้าหาผู้บริหารระดับสูงในคณะรัฐบาลหลาย ๆ คน เพื่อช่วยให้บริษัทรอดภาวะล้มละลายทางธุรกิจ

ด้วยคติที่ว่า "บริษัทยูนิไทยจะล้มไม่ได้ หากล้มไปแล้วย่อมกระทบถึงการลงทุนในประเทศ เรพาะบริษัทยูนิไทยเกิดขึ้นมาจากการชักชวนของรัฐบาลที่ให้เอกชนเข้ามาลงทุน หากรัฐบาลปล่อยให้ล้มไป นักลงทุนต่างประเทศย่อมขาดความเชื่อถือการทำงานของรัฐบาล"

ระยะเวลาการแก้ไขปัญหา 3 เดือนเต็มเพื่อให้ยูนิไทยกลับมาดำเนินการได้ปกติในปัจจุบัน ทำให้ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับไปอีกนาน และมีความซาบซึ้งถึงความประพฤติของนักการเมืองบางคน จนถึงกับตั้งใจที่จะเขียนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นให้กับยูนิไทยให้ชนรุ่นหลังศึกษาเพื่อเป็นอุทาหรณ์

ปัจจุบันยังคงทำงานอยู่ในยูนิไทย ซึ่งเจ้าตัวประกาศอยู่เสมอว่าพร้อมที่จะไปจากยูนิไทย หากเกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นกับยูนิไทยในอนาคต...

มร.แฟร้งค์ เจ้าท์

ประธานบริษัท I.M.C

นักธุรกิจชาวฮ่องกงเชื้อสายเซี่ยงไฮ้ หนีตายจากจีนแผ่นดินใหญ่พร้อม ๆ กับ มร. ริชาร์ดสัน

เป็นนักลงทุนข้ามชาติมือฉกาจ เริ่มธุรกิจพร้อม ๆ กับ มร. ริชาร์ดสัน แต่ประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย เข้ามาถือหุ้นบริษัทยูนิไทยหลังเกิดวิกฤตการณ์ในฐานะ "เพื่อนเก่า"

ธุรกิจเริ่มแรกของ Frank Tsao คือบริษัท Great Southern Stemship Co., Ltd. ต่อมาจึงได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท I.M.C ในปัจจุบันบริษัท I.M.C มีจำนวนเรือ 19 ลำในฮ่องกง ซึ่ง มร. Frank Tsao ได้ยึดอาชีพธุรกิจเดินเรือเป็นอาชีพหลัก นอกเหนือจากธุรกิจอื่น ๆ ในต่างประเทศแต่ก็ได้ยอมรับว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รายได้บริษัทตกต่ำลงแต่ยังคิดว่ายังดีกว่าบริษัทอื่นๆ อีกหลายบริษัทที่ต้องประสบการขาดทุน

เริ่มไปลงทุนในประเทศมาเลเซีย ในช่วงปี 2498-2503 ในธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งทอ ต่อมาได้เปิดธุรกิจทางด้านพาณิชย์นาวี ก่อตั้งบริษัทสายการเดินเรือมาเลเซีย (M.I.S.C.) และ Malacca Seamens'Trainning School ซึ่งถือว่าได้ประสบความสำเร็จพอสมควร

ต่อมาได้เข้ามาสร้างธุรกิจในประเทศไทย เป็นเจ้าของสวนปาล์มที่ใหญ่มากในจังหวัดทางภาคใต้ของไทยและยังเป็นผู้ที่มีหุ้นอยู่ในบริษัทไทยวิสาหกิจสากลเดินเรือ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ให้บริษัทยูนิไทยกู้เพื่อซื้อเรือ 3 ลำในช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งบริษัท จำนวน 4 ล้านเหรียญสหรัฐนับว่าเกี่ยวพันตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทยูนิไทยเลยทีเดียว

สำหรับธุรกิจในต่างประเทศอื่น ๆ ทางแถบประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกาและในบราซิล เป็นธุรกิจประเภท ยารักษาโรค, การเกษตร, อู่ซ่อมเรือ, ซิเมนต์และโรงงานทอผ้า

เรียกได้ว่าลงทุนทุกอย่างที่ขวางหน้า จึงเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งของฮ่องกง ปัจจุบันเดินทางไปมาระหว่างประเทศที่มีธุรกิจอยู่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.