รีดันแดนซ์ กรณีศึกษาของ Incubator


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทเอดีเวนเจอร์ และบริษัทรีดันแดนซ์ นับว่าเป็นกรณีศึกษา ธุรกิจดอทคอมของไทย ที่กำลังมาถึงช่วงขาลง

Incubator เป็นส่วนประ กอบที่สำคัญในยุคเริ่มต้นของบรรดา ธุรกิจดอทคอม พวกเขาจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน สถานที่ ให้คำปรึกษาแก่บรรดาเจ้าของไอเดีย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ทีมีไอเดียแต่ขาดเงินทุนให้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ เว็บไซต์ดังๆ ของโลก อย่าง yahoo.com และ amazon. com ก็ได้ venter capital อย่างซอฟต์แบงก์ เป็นผู้ลงทุน

ความแตกต่างระหว่าง incubator และ venture capital (vc) อยู่ที่ช่วงเวลาของการเข้าไปลงทุน และรายละเอียดเกี่ยวกับการให้การสนับสนุน vc มักจะลงทุนในช่วงที่ธุรกิจดอทคอมเริ่มต้นธุรกิจไปแล้วพักใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปด้วยดี การลงทุนจะอยู่ในรูปของเงินทุนแลกกับการเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจดอทคอม ผลตอบแทนที่ vc มุ่งหวังมักจะเป็นส่วนต่างของมูลค่าหุ้นหลังจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ในขณะที่ Incubator จะลง ทุนในช่วงยังเป็นไอเดีย การให้ความ สนับสนุนของ Incubator จะครอบ คลุมตั้งแต่เงินทุน สถานที่ อุปกรณ์ และการให้คำปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจ ระยะเวลาในการลงทุนของ Incubator จะยาวนานมากกว่า vc มีผู้เชื่อว่า Incubator จะเหมาะสมสำหรับธุรกิจดอทคอมของไทยมากกว่า

ชินคอร์ป นับเป็นกลุ่มทุนธุรกิจแรกๆ ที่ตัดสินใจก้าวเข้าสู่โลกของดอทคอมด้วยการเริ่มต้นทำธุรกิจ Incabator ขึ้นในไทย ในนามของทุนนวัตกรรม ต่อมาได้จัดตั้งเป็นบริษัทเอดีเวนเจอร์ เพื่อทำหน้าที่ลงทุนกว้านซื้อเว็บไซต์ต่างๆ ที่มี hit rate ดีๆ มีเนื้อหาน่าสนใจเข้ามา ใช้เงินทุนเริ่มแรก 200 ล้านบาท ต่อมาได้ เพิ่มเงินทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท

ความมุ่งหวังของชินคอร์ปในเวลา นั้น คือ การเรียนรู้ธุรกิจดอทคอม เพื่อหวังจะใช้เป็นตัวเชื่อมต่อธุรกิจสื่อสาร บรอดคาสติ้งในมือ กับธุรกิจอินเทอร์เน็ต เข้าด้วยกัน หรือการก้าวสู่กระแสของ new economy ซึ่งชินคอร์ปเชื่อว่า การ ทำตัวเป็นผู้ลงทุนจะทำให้เขาเรียนรู้และสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับเจ้าของไอเดียใหม่ๆ ที่เข้าไปให้การสนับสนุนได้

เวลานั้นชินคอร์ปอเรชั่นเอง ก็อยู่ระหว่างการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแดค การมีธุรกิจดอทคอม ก็เท่ากับเป็นสร้างมูลค่าของธุรกิจ ช่วงแรกของธุรกิจเอดีเวนเจอร์ กว้านซื้อ เว็บไซต์ต่างๆ ไว้ในมือ มากกว่า 20 แห่ง sanook.com เองก็เป็น 1 ในเว็บไซต์ที่ได้รับการทาบทาม แต่ด้วยเงื่อนไขในเรื่องราคา จึงมาลงเอยที่ hunsa.com และลงทุนในเว็บไซต์อื่นๆ ตามมา

กรรมวิธีการลงทุนของเอดีเวนเจอร์ คือ จะเข้าไปหุ้น 40% ในเว็บไซต์แต่ละแห่ง ซึ่งมูลค่าการลงทุนมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้อตกลง และรายละเอียดของธุรกิจ หลังจากเข้าถือหุ้นแล้ว ภาระหน้าที่ในการบริหารงานยังคงเป็นของเจ้าของเว็บไซต์

ธุรกิจดอทคอมของไทย เดินไปตามกระแสของธุรกิจดอทคอมสหรัฐ อเมริกา การตกต่ำของตลาดหุ้นแนส แดค จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจดอทคอม ของไทย ที่เดินตามตลาดของสหรัฐ อเมริกาอยู่ตลอดเวลาอย่างช่วยไม่ได้

กระแสของดอทคอมที่เคยร้อนแรงเริ่มเงียบลง เว็บไซต์หลายแห่งเริ่มปิด ตัวลงอย่างเงียบเชียบ ในขณะที่เว็บไซต์ชื่อดังบางรายเริ่มมีกระแสข่าวลือหนาหู ว่ามีเพียงรายได้เล็กน้อยจากอัตราโฆษณาบนแบนเนอร์ เทียบไม่ได้กับเงินลงทุนที่ใช้ไปจำนวนมาก ว่าจะอยู่รอดไปได้นานแค่ไหน

หลายเว็บไซต์ที่มีสายป่านที่ยาวพอ และมีธุรกิจอื่นๆ ที่จะรองรับได้ และ ยังไม่มีการออกอาการเหมือนกับรายเล็กๆ การเริ่มปรับทิศทางของธุรกิจเอดีเวนเจอร์ก็เช่นกัน ถึงแม้จะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินไม่มากเมื่อเทียบกับธุรกิจโทร คมนาคม แต่ธุรกิจย่อมเป็นธุรกิจที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง เอดีเวนเจอร์ จึงเริ่มมีการปรับเปลี่ยนทิศทางของธุรกิจ หันมามุ่งเน้นการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ ปรับทิศทางของเว็บไซต์ให้หันมาเป็นบริการสำหรับลูกค้าธุรกิจ หลังจากที่พวก เขาพบว่า รายได้จากโฆษณาบนเว็บไซต์ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเมืองไทย

เอดีเวนเจอร์เริ่มทบทวนการลงทุนในเว็บไซต์เป็นระยะๆ เว็บไซต์บาง แห่งก็ตัดสินใจซื้อขึ้นมา 100% เจ้าของเว็บไซต์บางแห่งกลายมาเป็นพนักงานของเอดีเวนเจอร์ เช่น กรณีของ hunsa. com และ ohoweb.com ที่เข้าไปถือหุ้น และมีการยกเลิกการลงทุนในหลายเว็บไซต์

เอดีเวนเจอร์ ได้มีการเจรจาหาพันธมิตรข้ามชาติเข้าลงทุนมาพักใหญ่ แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งล่าสุด เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ ไทยแลนด์ จำกัด เพื่อทำธุรกิจ Internet Data Center เป็นธุรกิจขาใหม่ที่เป็นทางออกของธุรกิจดอทคอมเวลานี้

การปรับโครงสร้างของกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นล่าสุด ที่ได้มีการนำเอาผู้บริหารมืออาชีพเก่าแก่ อารักษ์ ชลธานนท์ มานั่งเป็นประธานกลุ่ม E-busi-ness รับผิดชอบการดำเนินงานของเอดีเวนเจอร์ และชินนี่.คอม การมาของเขาก็เพื่อหาแนวทางใหม่ให้กับธุรกิจ

"เราเริ่มเหนื่อย เงินลงทุน 500 ล้านบาท เริ่มร่อยหรอ เราพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจ ชินคอร์ปไม่ได้ให้นโยบาย แต่ให้ไปดูว่า จะทำอะไรต่อ คือ ผมในฐานะผู้บริหาร ต้องกลับไปบอก ผู้ถือหุ้นว่า ผมจะทำอะไร"

อารักษ์ ตัดสินใจ ทบทวนการลงทุนในเว็บไซต์ทั้งหมด และตัดสินใจหยุดการลงทุนในเว็บไซต์หลายแห่ง เช่น อีโอทูเดย์.คอม และรีดันแดนซ์ เหลืออยู่เฉพาะเว็บไซต์บางแห่ง เช่น โซดาแมกส์.คอม หรรษา.คอม เอเบิล ออน.คอม ชินนี่.คอม

ก่อนหน้านี้เอดีเวนเจอร์เอง ก็เคยตัดสินใจยกเลิกการลงทุนในหลายเว็บไซต์ หลังจากใช้เวลาลองถูกลองผิดพักใหญ่ ซึ่งบางรายก็จากกันได้ด้วยดี มีการแบ่งทรัพย์สินกันได้ลงตัว แต่บางเว็บไซต์กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะบรรดาเจ้าของเว็บไซต์ เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนต่อ บางรายได้ที่มีกำลังมากพอ ก็นำกลับมาทำเอง เช่น อีโอทูเดย์.คอม ในขณะที่บางรายก็มีปัญหาเกิดขึ้น เช่น กรณีของสุรินทร์ ฤทธีภมร ผู้บริหารของ รีดันแดนซ์ ที่ออกมาโจมตีบริษัทเอดีเวน เจอร์ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบอกเลิกกิจการ ทำให้ต้องปิดบริษัทและ เรียกร้องเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ต้องลาออกไป

สุรินทร์เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เรียนจบและทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา หลายปี เมื่อกลับมาเมืองไทย ก็มาเปิดบริษัทไทยเทรดขึ้นมาเพื่อเปย์เมนต์เกต เวย์ ระบบชำระเงินบนเว็บไซต์ จนมาเจอ กับจุไรรัตน์ อุณหกะ เอดีเวนเจอร์ ผู้บริหารของเอดีเวนเจอร์เวลานั้น มองเห็น โอกาสทางธุรกิจ จึงตัดสินใจเข้าลงทุน 40% ส่วนสุรินทร์และเพื่อนยังถือหุ้น 60%

สัญญาการลงทุนระหว่างเอดีเวน เจอร์ และรีดันแดนซ์นั้น กำหนดไว้ว่า เอดีเวนเจอร์จะอัดฉีดเงินลงทุนเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก 30 ล้านบาท ซึ่งเอดี เวนเจอร์ได้ใส่เงินลงทุนไปแล้ว แลกกับหุ้น 40% ในรีดันแดนซ์ จะสิ้นสุดในช่วงปลายปี 2544 ตามข้อตกลงกับเอดีเวนเจอร์ ชินจะมีเวลาในการตัดสินใจที่จะลงทุนเพิ่มอีก 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นเฟสที่ สอง ภายในปลายปี 2544

หลังจากมีการทบทวนการลงทุนในเว็บไซต์ต่างๆ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารของเอดีเวนเจอร์ตัดสินใจจะไม่ลงทุนในรีดันแดนซ์ต่อ หลังจากพบว่า มีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เงิน ลงทุนอีกมาก โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีลูกค้ามากน้อยแค่ไหน ในขณะที่เงิน ทุนของบริษัทมีจำกัด ไม่สามารถทุ่มเงินไปกับการลงทุนด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เพราะจะกระทบการลงทุนในส่วนอื่นๆ

"ส่วนหนึ่งที่เราหยุดการลงทุน ในรีดันแดนซ์- เพราะโครงการเราไม่แน่ใจ ธรรมชาติของธุรกิจไม่ชัดเจน ทุกคนวาดภาพสวยหรู แต่พอลงไปแล้ว มีผลกระทบอื่นๆ" อารักษ์- ชลธานนท์ ประธานกลุ่มธุรกิจ E- Business ให้เหตุผล

อารักษ์พบว่าอนาคตของธุรกิจเปย์เมนต์เกตเวย์เป็นไปได้ยาก เนื่องจากธนาคารต่างๆ ก็หันมาลงทุน ทำเปย์เมนต์เกตเวย์กันเกือบทุกแห่ง

การตัดสินใจในครั้งนั้น ได้กลายเป็นปัญหา เมื่อรีดันแดนซ์เองกลับไม่ได้มองเช่นนั้น พวกเขามองว่า การที่ธุรกิจไม่สามารถทำรายได้ในช่วงปีแรก เป็นเพราะเอดีเวนเจอร์ ต้องการให้เป็น show case ของธุรกิจ ให้หาลูกค้าเข้ามา โดยไม่ต้องคำนึงถึงรายได้ ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา ความไม่พอใจนี้จึงแสดง ออกในทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการนำ พนักงานมาร้องเรียนผู้บริหาร รวมถึงการให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนถึงความไม่เป็นธรรมตลอดเวลาที่เอดีเวนเจอร์เข้ามาลงทุน

ไม่มีใครรู้ได้ว่าระหว่าง รีดันแดนซ์ หรือเอดีเวนเจอร์ ใครเป็นฝ่าย ผิดหรือฝ่ายถูก เป็นรายละเอียดของ ธุรกิจ ทั้งสองรู้ดีที่สุด และไม่ว่าจะลง เอยอย่างไร ก็เป็นบทเรียนให้กับทั้ง incubator และเจ้าของไอเดียของไทย ที่จะต้องผ่านประสบการณ์ ผ่านเรื่องราวการเรียนรู้ของธุรกิจ และวิธีการจัดการธุรกิจที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.