|

“บ้านสีเขียว” สมบูรณ์แบบสุดๆ
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่แล้ว บ้านหินทรายที่เป็นมรดกตกทอดหลังนี้ได้สลัดพ้นจากอดีตอันน่าเบื่อหน่ายเพราะเต็มไปด้วยกรอบประเพณีมาโดยสิ้นเชิง เมื่อเจ้าของบ้านคนปัจจุบันตกลงใจซื้อบ้านแห่งทศวรรษ 1870 ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางภาคเหนือตอนล่างของซิดนีย์หลังนี้มาไว้ในครอบครองนั้นอยู่ในสภาพรกรุงรังมีแต่ข้าวของกองเต็มไปหมด แถมยังมีทางเดินในบ้านมืดทึมอีกต่างหาก ข้อดีเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ในตอนนั้นคืองานออกแบบที่ไม่มีผนังกั้นหรือ open-plan
Stephen Lesiuk สถาปนิกผู้รับผิดชอบองค์ประกอบเกี่ยวกับพื้นที่ของโครงการนี้เล่าว่า "เป็นบ้านที่ไม่มีชีวิตชีวาเอาเสียเลย คุณจะรู้สึกเพียงว่าตอนนี้กำลังอยู่ข้างใน หรือไม่ก็ข้างนอกบ้านเท่านั้น ไม่มีความต่อเนื่องหรือการเชื่อมต่ออะไรทั้งสิ้น"
ส่วน Nadine Alwill สถาปนิกอีกคนหนึ่งซึ่งดูแลเรื่องรายละเอียดทั้งหมดฟื้นความหลังว่า "โจทย์สั้นๆ คือสะสางบ้านเก่าๆ นี่ให้ด้วย นอกจากนี้ต้องมีพื้นที่สำหรับงานศิลปะมากเป็นพิเศษ แต่อย่าให้สะดุดตาหรือเด่นจนเกินไป ทุกสิ่งทุกอย่างต้องให้ความรู้สึกสบายๆ โดยมีเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียยุคทศวรรษ 1950 เป็นจุดหลัก"
หลังจากงานบูรณะแล้วเจ้าของต้องการให้บ้านหลังนี้หันหน้าออกสู่ทิวทัศน์สวยงามที่ล้อมรอบอยู่ให้มากที่สุด ให้มีทางลมเพื่อรับลมทะเลได้ทั่วทั้งบ้านและให้แสงแดดสาดส่องเข้ามาเต็มที่
"เราพูดถึงตลอดเวลาเรื่องความเรียบง่าย การใช้ประโยชน์ ได้จริง ครอบครัว และมีความเป็นสีเขียวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญปล่องบันไดจะต้องทำหน้าที่เป็นแกนหรือจุดศูนย์กลางที่มีตัวบ้านล้อมรอบ" เจ้าของบ้านชวนฝันเพิ่มเติม
งานบูรณะขนานใหญ่เริ่มจากการรื้อส่วนต่อขยายที่ทำในช่วงทศวรรษ 1980 ออกจนหมด โชว์ตัวบ้านส่วนที่มีมาแต่เดิมเต็มที่ด้วยการเสริมโครงเหล็กเข้าไปค้ำตัวโครงสร้างเอาไว้ รูปลักษณ์ที่เห็นในปัจจุบันจึงเป็นช่องบานเกล็ดกว้างและมีความสูงเป็นสองเท่าที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างปีกของบ้านที่สร้างขึ้นมาใหม่แลดูทันสมัยสุดๆ กับส่วนของตัวบ้านดั้งเดิมซึ่งได้รับเป็นมรดกตกทอดมา
แนวคิดของการติดตั้งบานเกล็ดและผนังแบบเลื่อนตรงหน้า เทอร์เรซอันกว้างขวางนี้ก็เพื่อเปิดกว้างให้ลมและแสงแดดเข้ามาในตัวบ้านได้เต็มที่ วัสดุที่ใช้คือไม้ศรีตรัง (jacaranda) ซึ่งแลดูดีสุดหรูนั้นไม่เพียงแต่เพื่อโชว์ให้ตะลึงเล่นเท่านั้น หากแต่ไม้ผลัดใบ ชนิดนี้ยังมีคุณสมบัติสุดวิเศษตรงที่ทำให้บ้านเย็นสบายในหน้าร้อน และยอมให้แสงแดดส่องเข้ามาให้ความอบอุ่นในหน้าหนาวด้วย
จุดที่สถาปนิกแสดงให้เห็นถึงความช่ำชองในงานออกแบบเพื่อปรับเปลี่ยนเห็นจะเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ โดยใช้เนื้อที่ของผนังความยาวหนึ่งเมตรทางทิศเหนือของห้องนั่งเล่นเป็นส่วนจัดแสดงผลงานศิลปะแบบ "จิตรกรรมแผง" (panel painting) ขนาดมหึมาซึ่งเป็นจิตรกรรมที่เขียนบนแผงไม้รวม 20 แผ่นแล้วนำมาเชื่อมต่อกัน (ดูภาพประกอบ)
ที่น่าสังเกตคือเกือบทุกผนังในบ้านจะเป็นที่อยู่ของผลงานศิลปะอันน่าประทับใจ ช่วยเพิ่มสีสันให้กับทั่วทั้งบ้านไปในตัวด้วย
ส่วนของบันไดเหล็กก็ทำหน้าที่เป็นแกนหลักของบ้านไปโดยปริยายเพราะเชื่อมห้องเขียนหนังสือตรงชั้นใต้ดินเข้ากับห้องนั่งเล่น ซึ่งอยู่บริเวณทางเข้าบ้านชั้นล่างและห้องนอนอีก 5 ห้อง ซึ่งอยู่ชั้นบนอันประกอบด้วยห้องนอนใหญ่แบบห้องชุด ห้องรับรอง และห้องนอนเด็กอีก 3 ห้อง
สถาปนิก Nadine เปรียบเทียบบันไดเหล็กนี้ว่ามีความมหัศจรรย์เหมือนศิลปะพับกระดาษของญี่ปุ่นเราดีๆ นี่เอง แม้ว่าจะมีน้ำหนักถึง 8 ตัน แต่มองดูเหมือนบันไดนี้ลอยล่องมาจากชั้นบน โดยมีแสงสว่างจากท้องฟ้านำสายตาลงมา
ด้านขวาทางเข้าบ้านจัดให้เป็นมุมของครอบครัวโดยเฉพาะ มี daybed 2 ตัววางอยู่ข้างๆ บันได ที่อยู่ถัดออกไปคือ ที่นั่งรับประทานอาหารแบบกันเองและห้องครัวขนาดใหญ่ที่มีผนังไม้เชอร์รีเข้ามาช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับพื้นคอนกรีตได้เป็นอย่างดี
บริเวณด้านหน้าของบันไดซึ่งเป็นส่วนของบ้านที่มีมาแต่เดิม นั้นเป็นที่ตั้งของห้องนั่งเล่นและห้องอาหารอย่างเป็นทางการ เมื่อมองผ่านประตูแบบฝรั่งเศสออกไปบริเวณนี้เป็นจุดที่สามารถชื่นชม ความงดงามของทิวทัศน์ด้านนอกได้เต็มตา
เมื่อมองดูภาพรวมของทั้งบ้านแล้วจะเห็นว่า ความเปิดกว้าง และความเป็นส่วนตัวสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างชาญฉลาด เห็นได้จากการติดตั้งบังตาไม้ระแนงแบบเลื่อนทำด้วยไม้ซีดาร์กั้นบริเวณ ทางเข้านั้น นอกจากจะให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวเวลาเลื่อนปิดแล้วเวลาเปิดออกยังกลายเป็นจุดรับลมแบบเต็มๆ ด้วย ส่วนห้องนอนทุกห้องจะมีประตูบานเลื่อนความสูงจากพื้นจดเพดานที่มองดูเหมือนจะกลืนหายไปในช่องผนัง ซึ่ง Nadine อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม ในจุดนี้ว่า "มันทำให้เกิดความต่อเนื่องของพื้นที่ ขณะเดียวกับที่ให้ความเป็นส่วนตัวยามต้องการด้วย บังตาแบบเลื่อนทำด้วยไม้ระแนง ที่ติดตั้งตรงส่วนของห้องชุดในห้องนอนใหญ่ นอกจากจะให้ความสวยงามแล้วยังช่วยกรองแสงได้เป็นอย่างดี"
ปีกของบ้านส่วนที่เป็นของเด็กๆ นั้นเล่าเป็นงานไม้ทาสีเขียว สดใสบริเวณทางเดินซึ่งนอกจากจะให้ความรู้สึกคึกคักสนุกสนานแล้วสีเขียวสดใสยังตัดกับทั่วทั้งบ้านซึ่งไม่เน้นสีสันได้เป็นอย่างดี
บริเวณสนามหญ้าด้านหลังได้รับการปรับพื้นที่เพื่อให้เป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ ถัดจากสวนที่จัดแต่งอย่างดีจะเป็นบริเวณสวนป่าตามธรรมชาติและสตูดิโอซึ่งออกแบบให้ซ่อนตัวอยู่บริเวณต่ำกว่าพื้นที่ของสระว่ายน้ำและใช้เป็นเรือนรับรองที่มีจุดเด่นคือด้านหน้ากั้นด้วยไม้ระแนงที่เรียงตัวเป็นบานเกล็ดเพื่อความโปร่งใสและสร้างรูปทรงเรขาคณิตแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นวิธีควบคุมแสงสว่างตามแบบฉบับของออสเตรเลียโดยเฉพาะ
นอกจากเป็นบ้านที่เขียวชอุ่มชุ่มชื้นเพราะมีต้นไม้ล้อมรอบแล้ว บ้านหลังนี้ยังเป็น "บ้านสีเขียว" อย่างสมบูรณ์แบบอีกต่างหากเจ้าของนำน้ำใช้แล้วผ่านกระบวนการบำบัด (grey water) แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งในห้องน้ำและสวน ที่เลือกใช้พื้นคอนกรีต กับห้องนั่งเล่นแบบกันเองและสตูดิโอก็เพราะเหตุผลเรื่องความสวย งามและคุณสมบัติของการเป็นตัวเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดีเยี่ยมนั่นเอง นอกจากนี้บนหลังคายังติดตั้งเซลล์พลังงานไฟฟ้า แสงอาทิตย์สำหรับป้อนพลังงานให้กับบ้านยามที่มีคนอยู่ เมื่อไม่มีคนอยู่บ้านก็จะป้อนพลังงานไปเก็บไว้ที่ตะแกรงแทน
เมื่อมองไปในทุกหนแห่งจะเห็นว่าเจ้าของบ้านให้ความสำคัญกับรายละเอียดในทุกจุดได้อย่างน่าทึ่งบวกกับความสบายเพราะมีลมโกรกทั้งปีและยังสว่างไสวไม่ทึบทึมทำให้ผู้เป็นเจ้าของสรุปสั้นๆ ว่า "บ้านหลังนี้มีชีวิตชีวาอย่างน่าประหลาดจนเราไม่คิดจะย้ายไปไหนอีกแล้ว"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|