สวนลุมพินี ณ วันวาน

โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ว่ากันว่า ผู้ที่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำทุกวันนั้นจะมีความสมบูรณ์ด้วยกำลังร่างกายและสติปัญญา โดยสารอาหารจะเข้าไปหล่อเลี้ยงสมองและพลังงานอย่างมีระบบ การรับประทานอาหารมื้อเช้านั้นจะทำให้มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน มีความกระปรี้กระเปร่า จิตแจ่มใส นอกจากนี้ยังช่วยให้มีสมาธิในการทำงานตลอดทั้งวัน แม้ว่าจะต้องพบเจอปัญหาอุปสรรคในการทำงานบ้างก็ตาม

นอกจากการรับประทานอาหารแล้ว การออกกำลังกายสำหรับทุกคนเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ทั้งเป็นการสร้างสุขนิสัยในการเสริมสร้างพลานามัยให้แข็งแรงปราศจากโรคภัย ทำให้เกิดการไหลเวียนของโลหิต เลือดลม บริหารระบบหายใจ อวัยวะ ในร่างกายได้รับออกซิเจน

การออกกำลังกายของคนไทยมีมาเนิ่นนานมากแล้ว โดยจะเห็นได้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน จะมีตำราว่าด้วยฤาษีดัดตนที่เก่าแก่ ซึ่งวงการแพทย์ในปัจจุบัน ยอมรับว่าท่าฤาษีดัดตน เป็นการบริหารร่างกายที่ใช้หลักการของการดัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย

การบริหารระบบหายใจ โดยระบุว่าการดัดเป็นเรื่องของการฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายในเชิงเวชศาสตร์ ฟื้นฟูครอบคลุมทุกส่วนของร่างกาย ที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหว ตั้งแต่ศีรษะจนจรดปลายเท้า ซึ่งถ้าปฏิบัติได้อย่างพอเหมาะ พอควรจะเกิดผลดีต่อการไหลเวียนโลหิตของกล้ามเนื้อ

การบริหารระบบการหายใจ ด้วยการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อและกระบังลมในท้อง จากการสูดลมหายใจเข้าออกในท่าต่างๆ อย่างเต็มที่ จะช่วยให้อวัยวะในร่างกายทั้งหมดได้รับออกซิเจน คือช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวตาม ธรรมชาติของข้อต่างๆ แขน ขา เพื่อการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต่อต้านโรคภัยทำให้อายุยืนยาว

เมื่อ พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ พระโอรสในรัชกาลที่ 1 เป็นผู้ทรงกำกับช่างหล่อรูปฤาษีดัดตนรวม 80 ท่าด้วย สังกะสีผสมดีบุก "ชิน" ตั้งไว้ตามศาลารายพร้อมจารึกบรรยาย สรรพคุณไว้เป็นโคลงสี่สุภาพ

ยังมีการวาดภาพลงสมุดไทย ซึ่งเป็นหลักฐานที่อ้างอิงได้ดี มีความถูกต้องในข้อมูล ปัจจุบันมีท่าฤาษีดัดตนรวม 127 ท่า

คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการออกกำลังกาย ด้วยเทรนด์การรักษาสุขภาพที่มาแรง และการรณรงค์อย่างเป็นจริงเป็นจังของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ คือกระทรวงสาธารณสุข

จะเห็นไม่ใช่เฉพาะแต่บริเวณสวนสาธารณะที่ผู้คนนิยมร่วมกิจกรรมในเรื่องของการออกกำลังกาย แม้แต่ห้างร้านเอกชนมักจะใช้ลานของห้างเป็นที่ออกกำลังกาย หรือแม้แต่ปัจจุบันจะเห็นสถานบริการการออกกำลังกายในรูปแบบลักษณะต่างๆ เปิดให้บริการเกิดขึ้นมากมาย

ทั้งนี้ก็เพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ทุกคนมีร่างกายที่แข็งแรง จิตใจแจ่มใส ไม่เครียด เป็นหนทางหนึ่งที่ป้องกันโรค ก่อนที่จะเจ็บไข้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นการประหยัด เงินได้จำนวนมหาศาล

วิธีการออกกำลังกายของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ภารกิจหรืองบประมาณ มีตั้งแต่การออกกำลังกายด้วยการเดิน จ๊อกกิ้ง วิ่ง รำมวยจีน ไท้เก๊ก รำกระบอง ถีบจักรยาน เล่นกีฬา กอล์ฟ เทนนิส ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก เล่นโยคะ โดยใช้ บริเวณภายในหมู่บ้าน สถานบริการที่เปิดให้บริการ หรือสวนสาธารณะต่างๆ

เมื่อพูดถึงการออกกำลังกาย ทำให้นึกถึงสวน สาธารณะในยามเช้าและเย็นจะมีผู้คนไปร่วมทำกิจกรรมในเรื่องของการออกกำลังกายกันมาก ซึ่งในกรุงเทพมหานครปัจจุบันมีกระจายอยู่ทั่วทุกมุมของเมือง มีจำนวนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อเป็นปอด ของกรุงเทพฯ โดยมีต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจีช่วยในเรื่องสภาวะอากาศ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยเฉพาะ เพื่อการออกกำลังกายอีกด้วย

สวนสาธารณะแห่งแรกของชาวกรุงเทพ มหานคร สถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจเก่าแก่ของชาวกรุง

"สวนลุมพินี" พระราชมรดกที่พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้ให้ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงครองราชสมบัติครบ 15 ปีใน พ.ศ.2468 ประกอบกับขณะนั้นเกิดสภาวะเศรษฐกิจ ที่ตกต่ำในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทรงมีพระราช ดำริจะจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติขึ้น ซึ่งเป็นการจัดครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อแสดงพิพิธภัณฑ์ สรรพสินค้า และทรัพยากรธรรมชาติดังประเทศแถบ ตะวันตกทำและได้ผลเป็นการเปิดหูเปิดตาประชาชน เหล่าพสกนิกรให้ได้เห็นสินค้าต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะทำเอง ผลิต เอง และเป็นการโชว์สินค้าไทยให้ชาวต่างประเทศได้เลือกซื้อหา ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตรา ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริว่าเมื่อเสร็จสิ้นการจัดงานแล้ว ควรจัดทำเป็นสวนพฤกษชาติ อุทยานที่สวยงาม เป็นรมณียสถาน เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและพักผ่อนหย่อนใจ

โดยมีกำหนดจัดงานในฤดูหนาวปลายปี 2468 ซึ่งสถานที่ดังกล่าวต้องมีความกว้างขวางสำหรับเป็นที่จัดงาน

แต่รัฐบาลขณะนั้นไม่มีเงิน พระองค์ทรงเลือกบริเวณ "ทุ่งศาลาแดง" ที่ดินส่วนพระองค์ที่เหลือจากการแบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ประมาณ 336 ไร่ ให้เป็นสมบัติของชาติ

งานที่จะจัดมีชื่อว่า "งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์" ทรงสละพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่ มีการขุดสระขนาดใหญ่นำดินขึ้นมาถม

การสร้างเกาะกลางน้ำ โดยปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองจากทุกภาคของประเทศ ตัดถนน การสร้างอาคาร ตึกแบบกรีก การสร้าง หอนาฬิกา

โดยพระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า "สวนลุมพินี" สถานที่ประสูติแห่งพระพุทธเจ้า ณ ตำบลลุมพินีวัน ประเทศเนปาล

นอกจากนี้ยังได้วางรางรถรางจากถนนเจริญกรุง เลียบคลองสีลมผ่านสวนลุมพินีไปถึงประตูน้ำ แต่พระองค์ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อนในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 ทำให้งานดังกล่าวต้องล้มเลิกไป

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 โครงการถูกรื้อขึ้นมาอีกครั้ง โดยทรงใช้ที่ดินด้านใต้ของสวนลุมพินีจำนวน 90 ไร่ จัดทำเป็นสวนสนุก "วนาเริงรมย์" ตั้งแต่นั้นมา สวนลุมพินีจึงกลายเป็นสถานที่ที่ให้ทั้งความเพลิดเพลิน เจริญใจ ให้ความสนุกสนานแก่ประชาชนทั่วไปทุกหมู่เหล่า

มีการละเล่นต่างๆ การเล่นว่าว การวิ่งวัว มีเครื่องเล่นให้ได้ เล่นมากมาย ม้าหมุน ชิงช้าสวรรค์ ลานสเกต ยิงเป้า ตกเบ็ด บิงโก โรงละคร การฉายหนังกลางแปลงแบบฝรั่ง นำรถเข้าไปจอดชมได้แบบ Drive In

การโชว์หรือเปิดการแสดงดนตรีจากต่างประเทศ บลูฮอลล์ เป็นโรงเต้นรำ บางครั้งอาจจะมีการแข่งขันกีฬาชกมวย หรือสั่งทีมฟุตบอลดังๆ จากต่างประเทศมาฟาดแข้งกับทีมไทย

โดยมีการเก็บค่าผ่านประตูในการใช้บริการและการเข้าชม แต่กิจการนี้ดำเนินการได้ไม่นานนักก็ปิดตัวลง

นับได้ว่าสวนลุมพินีนั้นเป็นสถานที่จัดไว้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัว ลูกๆ ได้วิ่งเล่นเป็นการสร้างทักษะและสติปัญญา

ผู้ใหญ่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยจนคุ้นเคยกันในที่สุด โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เด็กๆ ทุกคนจะรอเวลาแดดร่มลมตกให้มาถึงไวๆ จะได้แต่งตัวสวยรอคอยพ่อแม่ผู้ปกครองพาไปยังสวนลุมฯ แห่งนี้ได้เที่ยวและพักผ่อนกันอย่างอบอุ่น และได้มีเวลาอบรมสั่งสอนลูกๆ ไปด้วยสำหรับพ่อแม่

ที่ดินในส่วนที่เหลือจากการให้เช่า ได้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ โดยใช้เงินจากค่าเช่าที่ดินดังกล่าวดำเนินการ

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนลุมพินีได้กลายเป็นสถานที่ตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นอีกด้วย

ในปี พ.ศ.2478 ได้มีการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ โดยได้ติดต่อเศรษฐีชาวต่างชาติให้ช่วยสร้างสนามกีฬาสำหรับเด็ก และมีการจัดตั้งสวนเพาะชำ ขยายพันธุ์ไม้ เพื่อไว้สำหรับใช้ในการตกแต่งกรุงเทพฯ

สวนลุมพินียังเป็นที่จัดงานระดับชาติ เช่น งานฉลองรัฐธรรมนูญ การจัดประกวดนางสาวไทย งานวันเด็ก งานลอยกระทง

ช่วงเย็น เมื่อแดดร่มลมตกจะคึกคักไปด้วยผู้คนและของกินเล่น เช่น เมี่ยงคำ หมึกย่าง ส้มตำ หนุ่มสาวบางคู่จะขับรถเข้ามาแล้วเปิดกระจกรถ มะพร้าวน้ำหอมจะถูกบริกรนำมาเสิร์ฟให้ดื่มให้ทานถึงรถเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีภัตตาคาร ร้าน อาหารชื่อดังให้บริการด้วยความสุขสนุกสนาน เป็นความทรงจำที่ไม่รู้ลืม เช่น ศรีไทยเดิม และกินรีนาวา

"ศรีไทยเดิม" ร้านอาหารชุดแรก ร้านแรกในสวนลุมพินี ซึ่งมีอายุยืนยาวกว่า 50 ปี ในสมัยนั้นยังไม่มีร้านอาหารมากมายนัก

ผู้ที่ก่อตั้งและบุกเบิกร้าน คือสว่างและสังเวียน เชยกลิ่นเทศ เดิมสว่างเป็นทหารร่วมรบในสงครามมหา เอเชียบูรพา หลังจากลาออกจากทหาร ได้กลายมาเป็นพ่อค้าหาบเร่ขายขนมโบราณและของกิน เช่น เนื้อสวรรค์ มะม่วง มะขามแช่อิ่ม ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อซื้อของอย่างละ 50 กิโลกรัม และนำกลับมาทำเพื่อออกขาย เป็นที่เลื่องลือในฝีมือและรสชาติ

ต่อมาได้รับการชักชวนจากพลเอกเรือง เรืองวรุยุทธ ให้ไปเปิดขายในสวนลุมพินี

ซึ่งในช่วงแรกเปิดร้านเป็นเพิงเล็กๆ ทุกคนต้องมาซื้อหากลับบ้านเสมอ ไม่ว่าจะเป็นบรรดานักการเมือง หรือพวกเศรษฐี และได้ขยับขยายกิจการเพิ่มขึ้นในระยะเวลาต่อมา

เทรนด์สมัยนั้นของศรีไทยเดิม ที่ทำโดยไม่มีร้านใดเคยทำมาก่อน คือเสิร์ฟและรับประทานอาหาร โดยใช้ถาดเสิร์ฟอาหารเกาะติดกับตัวรถ ซึ่งอาหารเด่นๆ ยอดนิยมของคนในยุคนั้น คือเย็นโตโฟ ที่ได้พ่อครัวจีนซึ่งมีสูตรต้นตำรับจากจีน ปลาหมึกย่างกรอบๆ และอาหารรสไทยแท้ตำรับชาววัง โดยคุณยายทวดเคยเป็นแม่ครัวในวังมาก่อน อาหารทุกจานของศรีไทยเดิมนอกจากรสชาติเด็ดแล้ว ยังปราศจากผงชูรส และรสจะไม่ใช้รสหวานนำเช่นอาหารของคนยุคนี้

ต่อมาได้ขยายกิจการไปที่ "ศรีไทยเดิม" อาคารบริษัทเดิน อากาศไทย (บดท.) หลานหลวง (ปัจจุบันเป็นอาคารสำนักงานการบินไทย) ได้ฉีกแนวโดยมีวงดนตรี อ.พยงค์ มุกดา และนักร้อง อัญชนา วงค์เกษม และนักร้องที่โด่งดังในเพลงลาทีปากน้ำ นพดล ชาวไร่เงิน มาขับขาน ทำให้ยิ่งได้รับความนิยมมาก ทั้งยังสามารถ นั่งชมวิวถนนราชดำเนินตลอดทั้งสาย มองเห็นศาลาเฉลิมไทยได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

สิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง คือในเวลาต่อมา ศรีไทยเดิม ณ สวนลุมพินี ถึงทางตัน ด้วยเหตุว่า กทม.มีนโยบายปิดประตูสวนลุมพินี ห้ามนำรถเข้า ทำให้ลูกค้าน้อยลง รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย สู้ต่อมาอีกหลายปี จนต้องถึงกาลอวสานจนได้

ส่วนศรีไทยเดิม ณ บดท. หลานหลวง มีอันต้องจากไปเช่นกัน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาเยือน

เมื่อเล่าถึงศรีไทยเดิมแล้วจะไม่คุยถึงภัตตาคารจีนขนาดใหญ่ สำหรับคนกรุงเทพฯ ในยุคนั้นเช่นกันก็อาจทำให้กลายเป็นคนตกเทรนด์ ตกยุคไป ซึ่งภัตตาคารนี้มาเปิดหลังศรีไทยเดิมสัก 10 ปี

โดยสร้างเป็นรูปเรืออยู่กลางน้ำ มีสะพานเชื่อมกับริมฝั่งบริการแก่ลูกค้า แต่ผู้คนนิยมที่จะนั่งเรือจากฝั่งไปภัตตาคาร เพื่อสัมผัสลมเย็นที่พัดผ่านอย่างมีอรรถรส ดังเช่นภัตตาคารในต่างประเทศ

ชื่อภาษาอังกฤษคือเพนนินซูลา หรือกินรีนาวาในชื่อภาษาไทย โด่งดังมากในเรื่องของศิลปะตกแต่ง

เป็นรูปนางกินรีครึ่งตัวเชิดหน้าที่หัวเรือ ดูโดดเด่นสะดุดตาประชาชีในลักษณะปทุมถัน 2 เต้าเปลือยเปล่า ทำให้เกิดข้อครหาว่าเป็นงานศิลปะหรือการเข้าข่ายอนาจารกันแน่

แม้ว่าเจ้าของกิจการจะนำผ้า (บางๆ) มาห่ม เพื่อไม่ให้อุจาดตาแล้วก็ตาม แต่กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่หมดไป เพราะแค่รูปวีนัสโนบราของฝรั่งมังค่า ชาวไทยก็แทบจะรับไม่ได้อยู่แล้ว พอมาเจอวีนัสไทย "กินรี" เข้า ทำเอาจังงังไปเลย แถมยังมีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียเพิ่มปมขึ้นมาอีก ส่งกลิ่นเหม็นโชยไปทั่วบริเวณ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่โทษว่าเป็นการกระทำของภัตตาคารทิ้งขยะทิ้งน้ำลงไป โดยขณะนั้นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมยังเอื้อมมือไปจัดการไม่ถึง ทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงเป็นเท่าทวีคูณ แต่เมื่อมีเกิดแล้วมีดับได้อย่างไม่คาดคิด เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้นที่ห้องครัว ทำให้ภัตตาคารกินรีวอดไปทั้งลำ ภัตตาคารแห่งนี้จึงเหลือ เพียงตำนานและความทรงจำเท่านั้น ในสมัยนั้นคนบางกลุ่มเรียกและขนานนามภัตตาคารกินรีแห่งนี้ว่า "ภัตตาคารจ้ำบ๊ะ"

"จ้ำบ๊ะ" เป็นการแสดงอย่างหนึ่ง คนในสมัยโบราณบอกว่า ดูแล้วอุจาดตา ซึ่งจะมีการแสดงตามงานประจำปี งานเทศกาลต่างๆ ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด โดยจะมีการแสดงสารพัด เช่น รำวงรอบละบาท มีนางรำใส่กระโปรงสุ่มสั้น มีคนเชียร์ รอบนี้ จังหวะสามช่า รอบหน้าตลุง เต้นกันไป รำกันไปรอบๆ เวที จะได้ยินสัญญาณนกหวีดเป็นอันหมดรอบ หรือการแสดงเมียงู รถไต่ถัง สาวน้อยตกน้ำ ยิงปืน ปาเป้า เป็นต้น

การลีลาศ สมัยก่อนเพื่อเป็นการสมาคมของคนในกลุ่มหนึ่ง ปัจจุบันการลีลาศถือว่าเป็นกีฬาซึ่งได้มีการบรรจุไว้ในการแข่งขันประเภทหนึ่งอีกด้วย ซึ่งมีอยู่ยุคหนึ่งที่ผู้คนนิยมเต้นรำใช้เพลงในจังหวะลาติน ไปไหนมาไหนจะได้ยินแต่เสียงเพลง โดยเฉพาะเพลง ของชาวคณะสุนทราภรณ์ทั้งวี่ทั้งวันปรากฏบนคลื่นวิทยุ

สวนลุมพินีจะมีเวทีลีลาศเป็นเวทีหมุนที่ทันสมัยไว้สำหรับ ให้ประชาชน แม้แต่นิสิตนักศึกษาสมัยนั้น โดยเฉพาะทุกวันศุกร์ ถ้าบ้านใครอยู่ใกล้ เพื่อนๆ จะนัดรวมพลเหล่าบรรดาหนุ่มสาวเพื่อจะพากันไปเต้นรำที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี จะไปซ้อมเต้นในจังหวะต่างๆ ของเหล่าบรรดานักเต้นรำ หลังกลับจากการเรียนในช่วงค่ำๆ

เพื่อไว้สำหรับงานบอลในวันเสาร์ โดยเฉพาะหญิงสาวจะได้แต่งตัว ชุดราตรีสั้นแบบมินิสเกิร์ต ปักเลื่อมหรูหราแวววาว ชุดแมกซี่ กางเกงแปด ชิ้นหลากสีสันรูปแบบกรุยกราย ควงเพื่อนชายไปเต้นรำ โชว์ลีลาลวดลายบนฟลอร์กันเต็มอัตราศึกด้วยวงดนตรีวงใหญ่อย่างวงสุนทราภรณ์ นำโดยขุนพลเพลงครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ที่เป็นเจ้าพ่อแห่งเวทีลีลาศสวนลุมพินี ซึ่งยังคงมีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่หน้าอาคารปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

ด้วยเพลงจังหวะที่รุ่มร้อนเร้าใจ สนุกสนาน มีทั้งจังหวะบีกิน รุมบา ชะชะช่า ควิกสเต็ป ออฟบิท วอลท์ ตลุง แทงโก แม้แต่สโลว์ ด้วย เพลงฮิตติดหู หิมพานต์ ริมฝั่งน้ำ อุษาสวาท นางฟ้าจำแลง ขอให้เหมือนเดิม หรือประเภทเพลงประจำสถาบันการศึกษาที่แต่งโดยครูเอื้อ เสียงร้องคุณภาพและบรรเลงโดยชาวคณะสุนทราภรณ์ ทั้งสิ้น โดมในดวงใจ ขวัญใจจุฬา ลาแล้วนนทรี จักรดาว รั้วแดงกำแพงเหลือง แดนนภา สนสามพราน อำลามหาเมฆ เอื้องขวัญ และอีกมากมาย

บางครั้งก่อนกลับ สาวๆ ในกลุ่มอาจจะมีตำแหน่งขวัญใจของงานติดไม้ติดมือกลับบ้านอีกด้วย

ปัจจุบันสวนลุมพินีจึงเป็นสถานที่ออกกำลังกาย เป็นสวนสุขภาพอย่างแท้จริง โดยห้ามนำรถเข้า ห้ามขายอาหาร ห้ามสูบบุหรี่ แต่จะมีซุ้มเครื่องดื่มและของว่าง ผู้คนนิยมไปออกกำลังกายและพักผ่อนตลอดทั้งวัน

คลับผู้น้องของสปอร์ตคลับ
โปโลคลับ เดิมคือสโมสรสำหรับนักขี่ม้า ต่อมาสปอร์ตคลับได้เข้ามาดำเนินกิจการปรับปรุงโดยสร้างคลับเฮาส์ สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สควอทช์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนวิทยุ ซอยใกล้ๆ กับสถานี ตำรวจนครบาลลุมพินี

เหตุที่ชื่อว่าถนนวิทยุ (Wireless) สันนิษฐานว่าเมื่อก่อนเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุที่ชื่อ "ศาลาแดง" อยู่บริเวณหัวถนนตัดกับถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งสวนลุมไนท์บาซาร์ในปัจจุบัน

รั้วของชาติ
ฝั่งตรงข้ามสวนลุมพินี หัวมุมถนนวิทยุกับพระราม 4 นั้น เมื่อก่อนจะเป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหาร เป็นสถาบันศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นศูนย์รวมเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรือ อากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

กระทรวงกลาโหมได้ตั้งโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2501 ด้วยการรวมโรงเรียนเตรียมนายร้อย โรงเรียนเตรียมนายเรือ และโรงเรียนเตรียมนายเรืออากาศ เพื่อให้นายทหาร นายตำรวจ ได้รับการศึกษาอบรมและการฝึกในเบื้องต้นร่วมกัน ได้รู้จักคุ้นเคยเพื่อความสามัคคีกลมเกลียวแต่เยาว์วัย ซึ่งจะส่งผลให้ทั้ง 3 เหล่าทัพ และกรมตำรวจ ประสานงานกันได้ดี ปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในระยะแรกนั้นอาศัยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนราชดำเนิน เป็นที่ทำการชั่วคราว

จำได้ว่าสมัยยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษานั้นจะมีผู้คนนิยม เข้าศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมทหารกันมาก โดยเฉพาะถ้าจังหวัดไหน เป็นจังหวัดทหารบก จังหวัดที่มีกองบัญชาการทหารอยู่ด้วยแล้ว จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ทำให้สมัยนั้นโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมทหารเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เช่นปัจจุบัน ที่มีโรงเรียนกวดวิชาเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีชื่อ หรือมหาวิทยาลัยมีชื่อเกิดขึ้นจนชินตา

และสิ่งที่ผู้คนร่วมสมัยจดจำได้ไม่ลืมอีกเรื่อง คือประเพณีที่คนในวัยหนุ่มสาวพากันไปชมการแข่งขันกีฬาประเพณี กีฬารักบี้ของสี่เหล่า เหล่านักเรียนจะนัดหมายเด็กหญิงสาวโดยเฉพาะโรงเรียนสตรีชื่อดัง นักเรียนพยาบาล ช่างศิลปะ ฯลฯ หรือขอนัดพี่ เพื่อน น้องเพื่อน เพื่อนพี่ เพื่อนน้อง เพื่อควงสู่สนามการแข่งขันกีฬาอย่างมีความสุขและสนุกสนาน เป็นการสร้างสีสันให้แก่การแข่งขันในนัดนั้นๆ เป็นอย่างยิ่ง

มีเพื่อนคู่หนึ่ง เรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ฝ่ายหญิง เรียนอยู่ศึกษานารี สะพานพุทธฝั่งธนบุรี ทั้งคู่เป็นคนรักเรียน เมื่อโรงเรียนเลิกจะป้วนเปี้ยนอยู่ที่ร้านหนังสือดังหน้าโรงเรียนชาย "สมใจ" ทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกัน

ต่อมาฝ่ายชายไปเรียนต่อเตรียมทหาร ฝ่ายหญิงเรียนมัธยมปลาย สายสัมพันธ์ยังต่อเนื่องจนกลายเป็นความรัก และยังแนะนำเพื่อนรักจนกลายเป็นคุณหญิง คุณนาย ไปแล้วหลายคู่

เมื่อเพื่อนชายได้เป็นนายร้อยห้อยกระบี่ สาวเจ้าสำเร็จมหาวิทยาลัยมีงานทำมั่นคง แต่งงานมีลูกมีหลานไปหลายคน

ช่วงที่ลูกๆ เริ่มเป็นวัยรุ่น ลูกเริ่มมีคำถามซอกแซกอยู่เสมอ โดยเฉพาะพ่อแม่รู้จักกันได้อย่างไร รักกันตอนไหน มีความรักตอน อายุเท่าไร ซึ่งคำตอบต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ จึงแต่งประวัติศาสตร์ในเรื่องของความรักใหม่ ว่าพบกันตอนเรียนใกล้จบ แล้ว ซึ่งประวัติศาสตร์ของความเป็นจริงนั้น อย่างไรต้องถูกเปิดเผยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในที่สุดลูกๆ รู้ความจริงจนได้จากเพื่อนๆ พ่อแม่นั่นเอง

ฉะนั้น การทำอะไรต้องคิดไตร่ตรอง ความผิดความถูกและความเหมาะสม แล้วค่อยกระทำลงไป

ขนาดคบกัน พากันเรียน พากันเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีงามถูกต้อง ทำให้นึกถึงวัยรุ่นขณะนี้ คิดแล้วกลุ้มจริงๆ

การเข้าเรียนเตรียมทหารปัจจุบันจะมีการสอบคัดเลือกภาค วิชาการ การตรวจร่างกาย สัมภาษณ์ ท่วงทีวาจา ไหวพริบ ทัศนคติ ตลอดจนการทดสอบสมรรถภาพ และพลศึกษา เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะเป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือก และมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนเตรียมทหารเป็นเวลา 3 ปี

หลังสำเร็จหลักสูตร นักเรียนเตรียมทหารจะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเหล่าทัพตามที่สมัครและผ่านการสอบคัดเลือกต่อไป

ไนท์บาซาร์และโจหลุยส์
โรงเรียนเตรียมทหาร ณ พื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันเป็นสถานชอปปิ้งที่มีชีวิตชีวาในยามค่ำคืน "สวนลุม ไนท์บาซาร์" เป็นตลาดนัดกลางคืน จุดเด่นของตลาดไนท์บาซาร์ มีพื้นที่กว้างขวาง มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะดวกสบาย ไม่แออัดยัดเยียด มีความหลากหลายของสินค้าให้เลือกชม เลือกซื้อได้อย่างจุใจ มีทั้งร้านอาหารกลางแจ้ง ลานกิจกรรม Hall เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตการแสดงต่างๆ โดยเฉพาะมีโรงละครหุ่น "โจหลุยส์"

อาจารย์สาคร ยังเขียวสด และครอบครัวจัดให้มีการแสดง หุ่นละครเล็ก เมื่อปี พ.ศ.2528 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะการแสดง และการทำหุ่นของไทย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระราชทานนามโรงละครโจหลุยส์ว่า "นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก" และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ "มูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก" เรื่องที่จัดแสดงรามเกียรติ์ตอนต่างๆ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าชมเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ และสวยงาม ทั้งยังได้ชมความสามารถของชาวคณะนี้ที่แสดงการเชิดหุ่นอย่างยอดเยี่ยมและน่าชื่นชมในศิลปะของไทย

สำหรับครูสาครเกิดเมื่อปี 2465 สมัยเด็กๆ ป่วยหนัก บิดามารดาจึงยกให้เป็นลูกพระ ชื่อว่า "หลิว" เพื่อการแก้เคล็ด

เมื่อโตขึ้น ฝึกโขน ละคร ลิเก จนไปออกแสดงกับบิดา ซึ่งนิยมแสดงเป็นตัวตลก และมีการเรียกชื่อเพี้ยนจากหลิว กลายเป็นหลุยส์ ต่อมามีผู้มาเติมจนกลายเป็น "โจหลุยส์" เหมือนชื่อนักมวย แชมป์โลกในช่วงนั้น ต่อมาโรงละครของคณะแสดงหุ่นกับครอบครัว จึงชื่อ "โจหลุยส์เธียเตอร์"

กีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้ไทย
ใกล้ๆ กันนั้นจะมีสนามมวยระดับชาติตั้งอยู่คือ สนามมวย ลุมพินี สนามมวยระดับมาตรฐาน ก่อตั้งและเปิดดำเนินการเมื่อ 8 ธันวาคม 2499 โดยพลตรีประภาส จารุเสถียร ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองทัพบก มีการจัดการชกแข่งขันทั้งมวยไทยและมวยสากล ซึ่งเคยจัดนัดที่สำคัญและโด่งดังมากมาย การชิงแชมป์ โลกครั้งแรกของนักชกขวัญใจชาวไทย โผน กิ่งเพชร กับเปเรซ เมื่อปี พ.ศ.2503 มีการชิงแชมป์ทั้งในแบบไทยและสากล ผู้ที่เป็นแชมป์ในเวทีนี้เสมือนกับว่าได้เป็นแชมป์ของประเทศไทย กีฬาแม่ไม้ มวยไทย ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทยนี้เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่าง ชาติ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้าชมนั้นจะต้องขอจองชั้นริงไซด์ของเวทีทีเดียว โดยบอกว่าดูแล้วมันส์สะใจ ถึงพริกถึงขิงจริงๆ

สำหรับการแข่งขันชกมวยชิงแชมป์โลกในครั้งนั้น เป็นที่ฮือฮามาก ประชาชนคนไทยทุกคนจดจ้องอยู่หน้าจอตู้กันหมด โดยเฉพาะผู้คนในพระนคร ทำเอาการจราจรหยุดเคลื่อนไหวตลอด แมทช์นั้น

นอกจากนี้ การชิงแชมป์ครั้งนั้นทุกคนในยุคนั้นจะท่องจำ กันอย่างติดปากในประโยคที่ผันผวนกลายเป็นคำกลอน เป็นประโยค ว่า "โผน กิ่งเพชร เปเรชชิงชัย โผนมือไวจับ '?' เปเรช" จดจำกัน ได้ทั้งบ้านทั้งเมือง จนถึงทุกวันนี้ สำหรับผู้ที่มีวัยห้าสิบอัพ

ทำไมจึงเป็น "จันทร์เพ็ญชายทะเล"
หลังจากชมการแลกหมัดมวยกันอย่างเมามัน ออกจากสนามมวย มองไปฝั่งตรงข้ามถนน จะเห็นแสงไฟส่องสว่างจากร้านอาหารเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองไทย คึกคักไปด้วยผู้คนที่นิยมมารับประทานอาหารที่นี่ คนเฒ่าคนแก่ที่ยังระลึกถึงความหลังความทรงจำ ลูกหลานจะพามารับประทาน หรือคนต่างจังหวัดเก่าแก่เข้ามากรุงเทพฯ มักจะถามถึงภัตตาคารเก่าๆ บรรยากาศเก่าๆ ที่เคยสรวลเสเฮฮากัน ขอให้พามาสัมผัสบ้างเช่นกัน

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานตรา "ครุฑ" ให้แก่ภัตตาคารจันทร์เพ็ญ ซึ่งเป็นเกียรติยศอันสูงสุด

เนื่องจากได้มีโอกาสรับใช้พระองค์ท่านเกี่ยวกับงานสำคัญต่างๆ งานเลี้ยงส่วนพระองค์ เนื่องในวันพระราชสมภพ หรือวันอภิเษกสมรส เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และยังรับใช้สังคมและด้านการกุศลต่างๆ อีกมากมาย

ปัจจุบันภัตตาคารจันทร์เพ็ญเปิดดำเนินกิจการรับช่วงมาถึงขณะนี้ โดยคนรุ่นที่ 4 ของตระกูลแล้ว

ภัตตาคารนี้ก่อตั้งโดยจรัสและจันทร์ เริ่มจากร้านเล็กๆ อยู่หน้าโรงงานน้ำส้มสายชู "ชายทะเล" ซึ่งจรัสสามีเป็นผู้จัดการโรงงานอยู่ จันทร์ได้คิดสูตรไก่ย่าง ลูกค้าติดใจขายดิบขายดี ซึ่งพอดีกับโรงงานน้ำส้มสายชูต้องการเลิกกิจการ สองสามีภรรยาจึงถือโอกาสขยับขยายกิจการเป็นภัตตาคาร และยังรับช่วงทำโรงงานน้ำส้มสายชูต่อด้วย ลูกค้าจึงติด ปากเรียก "จันทร์เพ็ญชายทะเล ไก่ย่างชายทะเล" ซึ่งอาหารของทางภัตตาคารยังคงรักษาสูตรดั้งเดิมจากเมืองจีนเอาไว้อยู่ เมนูที่ลูกค้าเรียกหาเสมอ ไก่ย่าง สลัดกุ้ง ปูจ๋า ปูผัดผงกะหรี่ ทอดมันปลากราย ทอดมันกุ้ง หมูหันจันทร์เพ็ญ ปอเปี้ยะทอด กุ้งแชบ๊วยผัดพริกเกลือ และสุกี้แห้ง

พระบรมราชานุสาวรีย์
บริเวณด้านหน้าสวนลุมพินี สี่แยกถนนราช ดำริตัดกับถนนพระราม 4 จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว

สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยดำริสร้างตั้งแต่ปี 2475 ต่อมาพสกนิกรชาวไทยได้ร่วมบริจาคเงินสมทบทุน และเทศบาลนครกรุงเทพฯ ดำริจะบูรณะสวนลุมพินีไว้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจจึงร่วมมือกัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานบรมราชานุญาตให้ก่อสร้างได้ โดยรัฐบาลได้มอบให้กรมศิลปากรออกแบบและอำนวยการก่อสร้าง โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้นแบบด้วยปูนปลาสเตอร์

ทรงเครื่องแบบจอมทัพบกเต็มยศทรงยืนบนแท่นฐานสูง ขนาดพระองค์ใหญ่หนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยสัมฤทธิ์ พระหัตถ์ขวาทรงคทา พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงกระบี่ แท่นฐานมีโครงภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายนอกเป็นหินล้าง ด้านหน้าพระแท่นมีเครื่องหมายตรามหาวชิราวุธ เปล่งรัศมี ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตร 7 ชั้นประดับสองข้าง ด้านซ้ายขวามีพุ่ม ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ฐานด้านหลังมีจารึกข้อความว่า "พระบาท สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"

คณะกรรมการได้ดำเนินการมาจนกระทั่งปี พ.ศ.2482 ได้มีการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์เป็นครั้งแรกที่สวนอัมพร ซึ่งระดมเงินสมทบทุนได้อีกประมาณ 100,000 บาท จึงเริ่มการก่อสร้างด้วยการปรับปรุงสถานที่ที่จะก่อสร้างให้เรียบแน่น ปั้นหล่อพระบรมรูปโดยช่างกรมศิลปากร เริ่มหล่อส่วนพระเศียรก่อน โดยประกอบพิธี ณ สวนดิวาลัยในพระบรมมหาราชวังเมื่อ 1 มกราคม 2484 การหล่อพระบรมรูปเสร็จเมื่อ 7 มิถุนายน 2484

นับว่าเป็นการหล่อรูปใหญ่ขนาดนี้ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ส่วนการทำแท่นฐาน และบัลลังก์พระบรมรูป การตกแต่งประดับสิ่งต่างๆ ในบริเวณ เป็นทุนเทศบาลนครกรุงเทพฯ เป็นเงิน 220,957.20 บาท มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2485 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต เป็นวันรัฐพิธีถวายบังคมพระบรมรูป เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระองค์

ถนน "ราชดำริ"
ถนนที่จะตัดขึ้นใหม่นั้นควรจะได้วินิจฉัยเสียก่อนว่าจะเป็นถนนขนาดใด แล้วให้ปักเขตถนนไว้ ห้ามมิให้สิ่งปลูกสร้างตึกเรือน ที่ถาวรลงไปในเขตถนนที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นการเตรียมการไว้ตั้งแต่แรก

เจ้าหน้าที่จะได้ไม่ลำบากใจในการรื้อถอนเมื่อต้องการขยาย ถนน โดยคำนึงถึงความสำคัญของถนนในอนาคตด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเริ่มตั้งแต่สี่แยกศาลาแดง ถนนพระราม 4 ไปตัดกับถนนพระราม 1 ตรงสี่แยกราชประสงค์ไปสิ้นสุดที่สะพานเฉลิมโลก ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองแสนแสบ โดยพระราชทานนามว่า "ถนน ราชดำริ"

พระองค์ทรงกำหนดขนาดถนนที่จะสร้าง เพื่อว่าเมื่อธุรกิจก้าวหน้าขึ้น ประชาชนมีมากขึ้น และนิยมเดินทางด้วยถนนมากขึ้น จะทำให้ถนนคับแคบไปดังเช่นถนนเจริญกรุง

เมื่อแรกสร้าง ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ว่ากว้างเกินไป ปัจจุบันจัดได้ว่าถนนราชดำรินี้เป็นถนนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงมีต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ตลอดแนวถนน ทำให้ดูร่มรื่นสะอาดตา ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเท้า

น้ำพระทัยอันงดงาม
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สร้างขึ้นโดยพระราชดำริในรัชกาลที่ 6 พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนก

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ทรงพระชนม์อยู่นั้นได้ทรงพระราชดำริ จัดตั้งสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาด) เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ตามมตินานาชาติที่เจริญแล้ว แต่สภากาชาดไทยยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ถ้าจะบริจาคทรัพย์สร้างโรงพยาบาลสภากาชาด ขึ้นก็จะเป็นพระราชกุศล

บรรดาพระราชโอรส พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 จึงทรงบริจาคร่วมกันสมทบทุนกับทุนของสภากาชาดสร้างโรงพยาบาลนั้นและพระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" ตามพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2487 เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลที่ดีจริง ต้องตามวิทยาศาสตร์ และแผ่เกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังทรงให้บริการรักษา ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในยามปกติและสงคราม โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง

สถานเสาวภา
สภากาชาดไทยบนถนนพระราม 4 สถาปนาโดยพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชดำเนินประกอบ พิธีเปิดเมื่อ 7 ธันวาคม 2465 เกือบ 90 ปีที่สถานเสาวภาได้ให้บริการแก่ประชาชนในการค้นผลิตวัคซีน เซรุ่ม และน้ำยาฉีด มีการวิจัยและพัฒนาค้นคว้าสนับสนุนการผลิตและคิดค้นผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ เปิดให้บริการทางคลินิก การฉีดวัคซีนและเซรุ่ม ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งในคนและสัตว์ การให้ความรู้ในการสร้างภูมิ คุ้มกันโรค การตรวจผู้ถูกสุนัข แมว และสัตว์อื่นกัด การรักษาบาดแผล และยังบริการรับฝากสัตว์เลี้ยงเพื่อดูอาการและตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้า การให้บริการด้านสวนงู โดยให้ความรู้เรื่องงูและพิษงู มีการสาธิตการรีดพิษงูและป้อนอาหารงูอีกด้วย ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ผลิตชีววัตถุตามมาตรฐานสากล โดยห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้รับรองมาตรฐานในการผลิตที่ดี (GMP) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2546

แหล่งบันเทิงเริงรมย์ที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวต่างประเทศ
ถนนพัฒนพงศ์ เชื่อมถนนสีลมกับสุริวงศ์ แต่เดิมบริเวณนี้เป็นสวนกล้วยที่รกร้างว่างเปล่าอยู่ในความครอบครองของทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมาเมื่อปี 2489 ตระกูลพัฒน์พงศ์พาณิชย์ได้ซื้อที่ดินมาพัฒนา สร้างอาคารพาณิชย์และตัดถนน เมื่อปี พ.ศ.2511 เริ่มมีบาร์ ไนต์คลับ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อรองรับทหารอเมริกันที่เข้ามาร่วมรบในสงครามเวียดนาม

จำได้ว่ามีร้านที่ชื่อ "ทิปทอป" มีขนมครกขายลือชื่อมาก

ปัจจุบันพัฒนพงศ์กลายเป็นแหล่งบันเทิงชื่อดังของกรุงเทพฯ ในยามค่ำคืนที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องเซ็กซี่โชว์ แหล่งชอปปิ้ง ย่านแผงลอยจำหน่ายสินค้าข้าวของเครื่องใช้ สินค้าเลียนแบบมากมาย ซีดี วีซีดี ในช่วงเวลากลางคืน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการตอบรับทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ

มีร้านอาหารทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น อิตาเลียน เม็กซิกัน ฝรั่งเศส อาหารสไตล์ตะวันตก

เมื่อปี 2547 รัฐบาลประกาศให้พัฒนพงศ์เป็นย่านบันเทิงพิเศษอีกด้วย

หนุ่มสาวในยุคนั้นชวนกันไปท่องราตรีแถวพัฒนพงศ์เช่นกัน หรือบางครั้งไปเดินดูผู้คน ความสว่างไสว ตื่นตาตื่นใจ แล้วจะชวนกันไปหาบรรยากาศในมุมส่วนตัวที่แอน แอน โรงแรมมณเฑียร หรือนั่งที่ห้องเทียร่า โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน เพื่อชมวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ โดยรอบ โดยไม่มีอาคาร สูงบดบังทัศนียภาพให้รำคาญใจ

ยุคที่ผ่านมาการมีคู่ควงนอกจากผู้ใหญ่จะรับรู้รับทราบแล้ว เพียงได้เห็นหน้ากัน คุยกัน ชวนกันไปดูหนัง เชียร์กีฬา แล้วส่งกลับบ้าน ถือว่าสุขสุดยอดแล้ว

แต่ปัจจุบันเห็นแล้วปวดศีรษะจริงๆ ต้องปลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.