Apple: จาก iPod มา iPhone จนถึง iPad

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เคยไปเดินตลาดนัดแล้วเจอเสื้อล้อเลียนสินค้า iPod ของ Apple ไหมครับ เป็นเสื้อสีสันฉูดฉาด มีรูปคนทั้งชายและหญิงกำลังปฏิบัติภารกิจส่วนตัวในห้องน้ำ แล้วมีข้อความว่า iPood (ฮา) ผมหวังไว้ว่า iPood จะเป็นเจเนอเรชั่นที่กลายเป็นจุดหักเหที่สำคัญอีกครั้งของผลิตภัณฑ์ของ Apple ในอนาคตอันใกล้นี้ เหมือนที่ iPod เคยทำไว้ และ iPhone มาตอกย้ำจุดหักเหอีกครั้งหนึ่งแต่สำหรับ iPad ที่เพิ่งเปิดตัวมาอาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เท่าไรนัก แอปเปิลต้องการอะไรกันแน่จาก iPad คุณสงสัยเหมือนผมไหมครับ

ผมมองว่าแอปเปิลจะเป็นเทรนด์หนึ่งในสามเทรนด์สำคัญที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนไหวในแวดวงอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ในปีนี้ นอกเหนือจากกูเกิ้ลและ Facebook ที่พูดถึงมาก่อนหน้านี้ ทำไมต้องแอปเปิลนั้น ผมว่า หลายๆ คนก็น่าจะพอรู้คำตอบเลาๆ ว่า เพราะผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลที่ออกมาในแต่ละครั้งล้วนส่งผลสะเทือนต่อวงการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เริ่มต้นจาก iPod ที่มา เปลี่ยนแปลงวิถีการฟังเพลงและดูมิวสิก วิดีโอ iPod และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเดียวกันนี้เข้ามาแทนที่โซนี่วอล์กแมนที่ยึดครองหูผู้คนทั่วโลกมาเนิ่นนาน iPod ทำให้อุตสาหกรรมเพลงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากร้านขายเพลงออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ iPod นี้ วงการผลิตเพลงปั่นป่วนไปพอสมควรก่อนที่จะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ หลังจากนั้น iPod ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต กลายเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายคนทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่รักเสียงเพลง

จากนั้นแอปเปิลก้าวเข้าสู่วงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยก้าวสำคัญกับผลิตภัณฑ์ iPhone โดย iPhone เป็นการต่อยอด iPod ที่เข้าครอบครองอุตสาหกรรม เพลงเรียบร้อยแล้ว iPhone ทำให้โทรศัพท์ มือถือเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงอย่างเต็มตัว โดยมีฟังก์ชันหลายๆ อย่างที่สามารถต่อยอดจากการใช้ iPhone ไปได้ อีกไม่รู้จบ นอกจากนี้การนำเสนอเทคโนโลยีทัชสกรีนก็ทำให้วงการมือถือก้าวเข้าสู่หน้าจอแบบทัชสกรีนแบบเต็มตัวด้วยเช่นกัน iPhone เข้ามาสั่นสะเทือนวงการโทรศัพท์มือถือและเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้เป็นมากกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และถือเป็นการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดโทรศัพท์มือถือของยักษ์ใหญ่จากวงการอื่นและช่วยกระตุ้นให้แบล็กเบอร์รี่เข้ามาแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ใช้งานทั่วไปมากขึ้นในทุกวันนี้ด้วย เมื่อรวมกับเว็บไซต์แนวคอมมูนิตี้ด้วยแล้ว โทรศัพท์มือถือทุกวันนี้จึงเป็นเครื่องมือที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คนบนโลกใบนี้อย่างเต็มตัว

ปีนี้แอปเปิลเริ่มต้นแต่หัววันด้วยการเปิดตัว iPad เพื่อต้อนรับการเข้าสู่โลก ของ e-Book อย่างเต็มตัว อย่างไรก็ดี iPad แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของแอปเปิล แต่กลับไม่ได้สร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับโลกเทคโน โลยี ที่สำคัญ หลายๆ คนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมแอปเปิลต้องรีบเปิดตัว iPad ตั้งแต่ต้นปีทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรใหม่มากนักและเพิ่งผ่านพ้นเทศกาลซื้อของขวัญวันปีใหม่กันมาเอง มีคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการเปิดตัว iPad สองสามประการครับ

หนึ่ง ในแง่ต้นทุนการพัฒนา iPad เมื่อมองตัวฮาร์ดแวร์ของ iPad แล้ว จะเห็นว่านี่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่แต่อย่างใดเลย เราอาจจะเรียกว่าเป็น iPhone เวอร์ชั่น Maxi หรือเอา iPhone มาส่องด้วยแว่นขยาย ก็จะได้ iPhone ที่อันใหญ่ขึ้นแต่ความสามารถไม่ต่างจากเดิมสักเท่าไร ถ้า iPad เป็น iPhone เวอร์ชั่น Maxi แล้วล่ะก็ iPad ก็เป็นแค่ iPhone ที่ทำไมเนอร์เชนจ์ (Minor change) เท่านั้น หรืออาจจะกล่าวว่า เป็นการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ของ iPhone ขึ้นมาเท่านั้น สำหรับการไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้ทางแอปเปิลเองก็ไม่ได้ต้องการจะขายให้ได้มากมายแบบถล่มทลายเหมือนที่เคยขาย iPod และ iPhone ก่อนหน้านี้ เนื่องจากต้นทุนในการพัฒนาสินค้า iPad ต่ำมากๆ ซึ่งทำให้แอปเปิลไม่ต้องการรายได้มากมายด้วยเช่นกัน

นั่นหมายความว่าแอปเปิลประหยัด งบประมาณ R&D ไปได้มากมายมหาศาลในการค้นคว้าเกี่ยวกับตัวฮาร์ดแวร์ของ iPad แล้วงบประมาณเหล่านี้แอปเปิลน่าจะเอาไปลงทุนกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้กับตัว iPad ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ว่านี้ก็สามารถใช้กับ iPhone รวมถึง MacBook ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราควรจะให้ความสำคัญและจับตามองการเปิดเกมรุกของผลิตภัณฑ์ iWork ของแอปเปิลมากกว่า

iWork เป็นชุดโปรแกรมออฟฟิศของแอปเปิลสำหรับใช้งานบนเครื่องแมคและ iPhone นอกจากนี้ยังมี iWork.com ซึ่งเป็นบริการสำหรับแบ่งปันไฟล์ที่สร้างจาก iWork สำหรับใช้งานร่วมกันบนอินเทอร์เน็ต การลงทุนค้นคว้าและพัฒนา iWork ของแอปเปิลน่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวและมีเป้าหมายตั้งแต่ต้นที่จะให้มันสามารถใช้งานได้บนผลิตภัณฑ์เกือบทุกตัวของแอปเปิลเอง โดยไม่จำกัดอยู่กับ MacBook เท่านั้น ซึ่ง iPad ก็คงไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียวอย่างแน่นอน

การเข้าสู่อุตสาหกรรมหนังสือของแอปเปิลน่าจะต้องประเมินแล้วว่า การที่กูเกิ้ลเดินหน้าสแกนหน้าหนังสือทุกหน้าทุกเล่มเท่าที่จะเป็นไปได้ไปพักใหญ่แล้วนั้น พวกเขาจะต้องเผชิญกับกระดูกชิ้นโตอย่างแน่นอน ที่สำคัญการเปลี่ยนพฤติกรรมคนไปอ่านหนังสือบน iPad คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืนอย่างแน่นอน

ดังนั้น อีบุ้คจึงเป็นแค่ข้ออ้างของการออกผลิตภัณฑ์ iPad เท่านั้น พวกเขามองถึงการไมเนอร์เชนจ์ตัว iPhone มากกว่า ส่วนการเข้าสู่อุตสาหกรรมหนังสือเป็นเพียงการลองแหย่เท้าลงไปก่อนในช่วงต้นเท่านั้น

สอง เป็นเรื่องของ Price Discrimination ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเก็บเงินลูกค้าที่แตกต่างในราคาที่ไม่เท่ากันสำหรับสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกัน เรากำลังกล่าวถึงราคาที่เราพึงจ่ายสำหรับสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มีปัจจัยในการตัดสิน ใจมากมายที่คาดไม่ถึง บางครั้งเรายอมจ่ายมากกว่าสองเท่าสำหรับสินค้าที่มีความสามารถเท่าๆ กันเพียงเพราะรูปลักษณ์การออกแบบ รวมถึงเพราะเป็นยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้

สตีฟ จ็อบเข้าใจเรื่องนี้ดีและรู้ดีว่า มีสาวกแอปเปิลกระจายอยู่มากมายบนโลกใบนี้ iPad คือการตกผลึกความเข้าใจนี้ แอปเปิลจึงเอา iPhone มาไมเนอร์เชนจ์ให้กลายเป็น iPod ทำให้แอปเปิลสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์แอปเปิล มีเงินมากพอ และเสพติด สินค้าแอปเปิล โดยเฉพาะแอปเปิลได้แสดง ให้เห็นถึงว่า พวกเขาเน้นกลุ่มลูกค้าที่เสพติดสินค้าของแอปเปิลมากมายเพียงใด ซึ่ง iPad ก็น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีทีเดียว

สุดท้าย แอปเปิลทำตามกฎ 80/20 ของ Pareto นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยแอปเปิลมองว่า รายได้ 80% ของพวกเขามาจากกลุ่มสาวกแอปเปิลเพียง 20% เท่านั้น นั่นทำให้แอปเปิลพัฒนา iPad โดยให้ตอบสนองกลุ่มลูกค้า iTunes ของพวกเขาเป็นหลัก นั่นคือ แอปเปิลต้องการให้กลุ่มสาวก ที่ใช้ iTunes, App Store และ iBookStore เป็นลูกค้าหลักของ iPad นั่นเอง

App Store เป็นบริการสำหรับ iPhone และ iPod Touch (รวมถึง iPad ด้วย) ซึ่งแอปเปิลพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถค้นหาและดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่นใดๆ รวมถึงเพลงต่างๆ จาก iTunes Store โดยสามารถดาวน์โหลดเข้าสู่อุปกรณ์นั้นๆ ได้โดยตรง ซึ่งเหตุผลพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้แอปเปิลทำ iPad ให้เป็น iPhone เวอร์ชั่น Maxi แทนที่จะเป็น MacBook Mini หรือเน็ตบุ๊กแมคก็คือพวกเขาสามารถสร้างรายได้จาก App Store เพิ่มขึ้นผ่าน iPad โดยที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นน้อยมากๆ นั่นเอง

สำหรับปีนี้ผมยังมองว่า แอปเปิลเป็นเทรนด์ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงในวงการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต แต่ในอนาคตปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ เหล่าสาวกแอปเปิลก็คงรอการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ แล้วถ้าแอปเปิลไม่สามารถตอบสนองความต้องการเสพสินค้าแอปเปิลได้ทันท่วงที หรือสินค้ายาแรงไม่พอ กับความต้องการแล้ว เหล่าสาวกอาจจะลงแดงตายได้

ที่สำคัญ มุกของแอปเปิลจะแป้กเมื่อไรก็ไม่รู้


อ่านเพิ่มเติม:
1. Stone, B. (2010), 'With Its Tablet, Apple Blurs Line Between Devices,' Jan 27, 2010, http://www.nytimes.com/2010/01/28/technology/companies/28apple.html
2. Gans, J. (2010), 'The iPad Evolution,' Feb 2, 2010, http://economics.com.au/?p=5052
3. "AT&T Says Economics of iPad Deals will be 'Very Positive,'" http://www. nasdaq.com/aspx/company-newsstory.aspx?storyid=201001281159 dowjones djonline000625&title=att-says-economics-of-ipad-deal-will-be-very-positive
4. Thomson, P. (2010), 'The economics of innovation (abridged),' Jan 27, 2010, http://peterthomson.posterous.com/the-economics-behind-the-new-ipad
5. iWork, http://www.apple.com/iwork/


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.