Well-Dying เทรนด์ใหม่ของชาวเกาหลี


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สองทศวรรษก่อนในยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตถึงจุดสูงสุด อัตราการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นกลับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการกระทำอันเนื่องมาจากความเครียดของผู้คนในสังคมเมื่อความกดดันของความเจริญทางเศรษฐกิจมาเยือน รวมทั้งวัฒนธรรมการแข่งขันกันสูงที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างต้องเผชิญ

ณ วันนี้ ขณะที่กระแส "เกาหลีฟีเวอร์" กำลังมาแรงและแซงหน้าความนิยมในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่าชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยกำลังเจริญรอยตามพี่ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น ในเรื่องพฤติกรรมด้านหนึ่ง นั่นก็คือการฆ่าตัวตาย

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ข่าวการฆ่าตัวตายของดารา นักแสดงชาวเกาหลีหลายรายได้ถูกตีแผ่โดยสื่อต่างๆ ของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้ง วู เซ็ง ยอน ดารานางแบบสาววัย 26 ปีที่ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง เพียงเพราะสอบบทภาพยนตร์ไม่ผ่าน หรือดาราหนุ่ม อาห์น แจ-ฮวาน ที่ฆ่าตัวตายภายในรถของตน เพื่อหนีปัญหาหนี้สินที่พอกพูน ตามมาด้วยการผูกคอตายของนักแสดงสาว ชอย จิน ชิล ที่เครียดจากการถูกกระหน่ำประณามทางอินเทอร์เน็ต ว่าเป็นเจ้าหนี้โหดของอาห์น แจ-ฮวาน และเป็นต้นเหตุให้ดาราหนุ่มปลิดชีวิตตนเอง อีกทั้งการฆ่าตัวตายของจาง แช วอน นักแสดงสาวประเภทสองที่ช้ำรักจากแฟนหนุ่ม การปลิดชีพตนเองของนักแสดงนายแบบ คิม จี ฮู ที่ออกมาเปิดเผยว่าตนเป็นเกย์ แต่กลับถูกสังคมประณามเพราะไม่สามารถ รับความเป็นเกย์ของตนได้ รวมทั้งการผูกคอตายของนักแสดงสาว จาง จา-ยอน จากละครซีรีส์ชื่อดัง Boys over Flowers ภาคภาษาเกาหลี ซึ่งตัดสินใจลาโลกเพราะทนต่อการคุกคามทางเพศจากคนในวงการบันเทิงไม่ได้

ที่น่าจะเป็นข่าวดังที่สุดในรอบปี 2009 ก็คือข่าวการกระทำอัตวินิบาตกรรมโดยการกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายของอดีต นายกรัฐมนตรีเกาหลี โรห์ มู ฮยอน เนื่อง จากความเครียดที่ต้องเผชิญกับคดีคอร์รัปชั่นที่ตนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

สถิติจากองค์กร World Health Organisation ปี 2008 กล่าวว่าการฆ่าตัวตายของชาวเกาหลีนั้นคิดเป็นอัตราที่สูง ที่สุดในหมู่ประเทศ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว โดยในบรรดาประชากรเกาหลีทุกๆ 100,000 คนจะมีคน ฆ่าตัวตาย 26.1 คน เพิ่มขึ้นจาก 11.8 คน ในปี 1995 และ 19.9 คนในปี 1998 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติทางการเงินของโลก หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง

ไม่เฉพาะประเทศเกาหลีเท่านั้น แต่จำนวนชาวเกาหลีในต่างแดนที่กระทำการอัตวินิบาตกรรมก็มีจำนวนไม่น้อย จาก การสำรวจบริษัทจัดงานศพสัญชาติเกาหลี 3 แห่งในนิวยอร์ก โดยหนังสือพิมพ์ Korea Times พบว่าระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2009 นั้นมีชาวเกาหลีในนิวยอร์ก ปลิดชีพตัวเองถึง 31 คน ภายในระยะเวลา เพียง 6 เดือน คิดเป็นอัตราเฉลี่ยถึงเดือนละประมาณ 5 คนเลยทีเดียว

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า นอกจากปัญหาแรงกดดันจากสังคมที่ผู้มีชื่อเสียงในเกาหลีต้องเผชิญอยู่ อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาปลิดชีพตนเองแล้ว สำหรับประชาชนทั่วไปวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงสอง ปีที่ผ่านมา อันนำไปสู่ความอัตคัดขัดสนด้านการเงิน ก็อาจเป็นแรงกดดันให้ชาวเกาหลีมากมายตัดสินใจอำลาโลกก่อนเวลาอันควรได้

แต่ในความเห็นของ ดร.Erminia Colucci นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพประชากรที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นในออสเตรเลียแล้ว วัฒนธรรมเอเชียก็มีส่วนในการสนับสนุนการปลิดชีพตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการกระทำเพื่อแสดง ถึงความรับผิดชอบ หรือรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลของชนเผ่า หรือของประเทศ จะเห็นได้จากวัฒนธรรมการคว้านท้องของตนเอง หรือฮาราคีรี (Harakiri) ในหมู่ซามูไรของญี่ปุ่นในสมัยก่อน โดยหวังว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยเรียก ชื่อเสียงและความนับถือในวงศ์ตระกูลของตนกลับคืนมาได้บ้าง ดังในกรณีของอดีตประธานาธิบดีโรห์ มู ฮยอน เป็นต้น

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การที่ผู้คนในสังคมเกาหลีต่างยอมทิ้งชีวิตของตัวเองลงอย่างง่ายดาย โดยไม่เห็นคุณค่าของการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ทำให้กลายเป็นปัญหาเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมของเกาหลี และเป็นประเด็นที่จุดประกายให้ชายเกาหลีรายหนึ่งได้ริเริ่มความคิดที่จะปลุกเร้าความอยากมีชีวิตอยู่ของผู้คน โดยการให้บริการที่แปลกแต่มีคุณค่าและได้ผล

บริการที่ว่านั่นก็คือ บริการการลอง ตายและจัดงานศพให้แก่ตัวเอง

จากประสบการณ์การสูญเสียพี่ชาย อันเป็นที่รักของตนเองถึงสองคน โดยที่ตน ยังไม่ได้มีโอกาสปรับความเข้าใจกับพี่ชายคนโต ก่อนที่พี่ชายจะไปออกรบและเสียชีวิต ในสนามรบ รวมทั้งการเสียชีวิตของคุณพ่อ ทำให้โค มิน ซุ (Ko Min su) เคยหมด อาลัยตายอยากและไม่อยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

แต่มาวันหนึ่งเขากลับรู้สึกสำนึกได้ว่า ชีวิตนั้นมีค่ายิ่งนัก และเขาเองยังมีคุณแม่ที่ต้องคอยดูแล รวมทั้งมีความรับผิดชอบ ต่อชีวิตของตนเองอีก กอปรกับการได้พบ เห็นข่าวการฆ่าตัวตายของคนเกาหลีไม่เว้น แต่ละวัน ทำให้โค มิน ซุมีความคิดที่จะกระตุ้นการอยากมีชีวิตอยู่ของคนเกาหลีด้วย การให้บริการพิเศษที่ว่านี้

บริษัท Korea Life Consulting ของโค มิน ซุ ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2004 ให้บริการจัดงานศพแก่คนเป็น ด้วยความคิดที่ว่า คนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย และไม่ได้คำนึงถึงว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมีคุณค่าเพียงใด หลายคนจึงคิดปลิดชีวิตของตนเองอย่างง่ายดาย ดังนั้น หากผู้คนได้มีโอกาสลองตายดูสักครั้ง หรือหากได้มีความรู้สึกว่า ตนเหลือเวลาบนโลก ใบนี้อีกไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น บางครั้งพวกเขาอาจจะเริ่มมองเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ขึ้นมาบ้าง และจะพยายามใช้ ชีวิตอย่างคุ้มค่าที่สุด ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่

บริการดังกล่าวอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานในสังคมเกาหลีคือ "การตายอย่างมีคุณค่า" หรือ "Well-Dying" ซึ่งกำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในเกาหลีที่อาจจะมาทดแทนกระแสรักชีวิต รักสุขภาพ หรือ "Well-Being" ของชาวเกาหลีและคนทั่วโลก

ด้วยสนนราคาเพียง 325 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ที่อยากลองตายสามารถเข้าร่วมพิธีศพของตนกับบริษัท Korea Life Consulting ได้ ทางบริษัทจะถ่ายรูปใบหน้าของผู้เข้าร่วมพิธีเพื่อใช้เป็นรูปประกอบงานศพของแต่ละคน จากนั้นทุกคนจะต้องแต่งชุดขาวอันเป็นชุดที่แต่งให้ศพจริงเพื่อเข้าพิธี ทุกคนจะเดินลงไปยังห้องใต้ดินของบริษัท เพื่อไปประจำตำแหน่งข้างๆโลงศพไม้ของตนที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว

ภายใต้บรรยากาศที่จำลองเหมือนสุสาน ซึ่งมีรูปภาพของคนดังที่เสียชีวิตก่อนเวลาอันสมควร เช่น เจ้าหญิงไดอาน่า แขวนไว้รอบๆ ให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้ระลึกถึง และปลงถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต เจ้าหน้าที่ประกอบพิธีจะเริ่มบรรยายถึงคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ ก่อนจะให้เวลาผู้เข้าร่วม พิธีแต่ละคนอ่านบทอำลาพ่อแม่พี่น้องหรือคนอันเป็นที่รักของตนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนตาย หลายคนหลั่งน้ำตาอย่างหยุดยั้งไม่ได้ เมื่อได้มีโอกาสมองย้อนกลับไปว่า ที่ผ่านมา ตนใช้ชีวิตอย่างไร้คุณค่าเพียงใด ได้ตอบ แทนพระคุณพ่อแม่แล้วหรือไม่ และยังไม่ได้ทำอะไรต่างๆ อีกมากมายที่ตนอยากจะทำ ช่วงเวลา 2-3 นาทีนี้เป็นช่วงเวลาอัน มีคุณค่าอย่างยิ่ง ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีเริ่มมองเห็นคุณค่าแห่งชีวิตของตน

หลังจากที่ทุกคนอ่านบทอำลาโลกของตนจบลง เจ้าหน้าที่จะบอกให้ทุกคนก้าวเดินเข้าไปนอนในโลงศพที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ และเมื่อทุกคนนอนในโลงศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะปิดฝาโลง และใช้ค้อนทุบฝาโลงเบาๆ สามสี่ครั้ง เปรียบเสมือนการตอกปิดฝาโลงแล้วจึงใช้เสียมขุดดิน โกยดินและกรวด เพื่อโรยไปบนฝาโลง 1 ครั้ง เป็นการสร้างความรู้สึกให้คนที่นอนอยู่ในโลงรู้สึกว่า ตนกำลังถูกฝังจริงๆ จากนั้นห้องใต้ดินทั้งห้องก็จะตกอยู่ในความมืดเป็นเวลากว่า 10 นาที ซึ่งสำหรับผู้เข้าร่วมบางรายแล้ว มันช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาว นานและน่าสะพรึงกลัว แต่สำหรับคนอื่นๆ เวลา 10 นาทีนี้ กลับเป็นเวลาที่เงียบสงบ ทำให้พวกเขามีโอกาสได้ตรึกตรองชีวิตของตนที่ผ่านมา และการวางอนาคตของตนว่าจะใช้ชีวิตที่เหลือต่อไปให้มีคุณค่าอย่างไรบ้าง

หลังจาก 10 นาทีผ่านไป ฝาโลงทุกโลงจะถูกเปิดออก ผู้เข้าร่วมพิธีแต่ละคนจะเดินออกจากโลงศพของตน และรู้สึก อิ่มเอิบเหมือนได้ตายแล้วเกิดใหม่ ได้ละทิ้ง ความกังวลและปัญหาที่ตนเคยเผชิญอยู่ และกลับมีความรู้สึกปลอดโปร่ง พร้อมที่จะเผชิญและต่อสู้กับปัญหาชีวิต ด้วยสติที่มั่นคงและจิตใจที่แจ่มใส

เพื่อเป็นการช่วยให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายและสนุกกับชีวิตใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นของตน ทางบริษัทจะจัดกิจกรรม การละเล่น เกม หรือกีฬาต่างๆ ให้ทุกคนได้สนุกร่วมกันหลังจากพิธีศพของตน ซึ่งทุกคนต่างก็ยินดีที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวอย่างเต็มใจ

ปัจจุบันบริษัทชั้นนำของเกาหลีทั้งซัมซุง และฮุนได ต่างก็ได้ส่งพนักงานของตนเข้าคอร์ส "ลองตาย" ของบริษัท Korea Life Consulting แล้ว โดยบริษัทเหล่านั้นเชื่อว่าหลังจากที่พนักงานเหล่านี้ได้พบกับประสบการณ์ใกล้ความตายแล้ว แต่ละคนจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เห็นคุณค่าในการใช้ชีวิตแต่ละวันของตนมากขึ้น ช่วยลดปัญหาการฆ่าตัวตายของพนักงานและจะช่วยให้พนักงานแต่ละคนตั้งใจทุ่มเทกับการทำงานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบริษัท

โรงงานของบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอ นิกส์ ในเมือง Gumi ส่งพนักงานโรงงานไปเข้าคอร์สของโค มิน ซุแล้วถึง 900 คน ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงงานกล่าวว่า หลังจากผ่านประสบการณ์ลองตายมาแล้ว พนักงานแต่ละคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โค มิน ซุกล่าวว่า ตั้งแต่บริษัทเริ่มดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน มีลูกค้าถึง 50,000 คน ที่ได้ผ่านประสบการณ์ "ลองตาย" กับบริษัทของเขามาแล้ว และไม่ใช่เฉพาะแต่ลูกค้าชาวเกาหลีเท่านั้น แต่มีพนักงานแถบละตินอเมริกาอีกนับพันคนของบริษัทเกาหลีที่ไปตั้งโรงงานในแถบนั้น ส่งมาเข้าคอร์สของเขา

ความสำเร็จของธุรกิจการจัดพิธีศพ หลอกๆ ของโค มิน ซุที่ปัจจุบันมีถึง 8 สาขาทั่วประเทศ ทำให้มีบริษัทอีกหลายแห่งเริ่มลอกเลียนแบบธุรกิจของเขา จนทำให้เขาต้องจดสิทธิบัตรบริการที่แปลก แต่ได้รับความนิยมอย่างสูงนี้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของเกาหลี สิทธิบัตรดังกล่าวระบุถึง รายละเอียดต่างๆ ของบริการของบริษัท ทั้งขนาดของโลงไม้ ลำดับขั้นตอนการทำพิธีศพ เวลาของการให้ผู้เข้าร่วมพิธีนอนในโลงศพ การใช้ค้อนเคาะฝาโลงอันเป็นการสร้างบรรยากาศให้เหมือนกับการตอกฝาโลง การโรยดินโรยกรวดบนโลงศพแต่ละโลงให้เหมือนกับการฝังศพจริงตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ

นอกจากนี้ โค มิน ซุยังมีแผนที่จะพัฒนาบริการของเขาต่อไป จากการให้บริการฝังศพหลอกๆ เท่านั้น มาเป็นการจัดพิธี "เผาศพ" ให้กับลูกค้า โดยการสร้างโลงศพชนิดพิเศษ บุฉนวน และการสร้างเตาเผาจำลองที่ไม่ได้ใช้ไฟ แต่มีปุ่มปรับอุณหภูมิความร้อน ซึ่งลูกค้าที่ตัดสินใจจะเข้าร่วมพิธี "เผาศพ" ของตัวเอง จะต้องเข้าไปนอนในโลงศพดังกล่าวเป็นเวลากว่า 10 นาที ขณะที่นำโลงเข้าเตาเผาศพจำลอง และอุณหภูมิภายในโลงศพจะถูกปรับให้ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้างประสบการณ์การถูกย่างในโลงศพ โดยที่ลูกค้าจะไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

แต่จากการลองหยั่งเสียงกับลูกค้าหลายราย โค มิน ซุพบว่าบริการดังกล่าวไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าใดนัก เพราะความเหมือนจริงมากเกินไปของประสบการณ์การ "ถูกย่างสด" ทำให้ลูกค้าหลายรายรู้สึกอึดอัดและตกใจขณะนอนในโลงศพที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจนทนไม่ไหว

แม้บริการ "ลองตาย" ของโค มิน ซุ จะกลายเป็นธุรกิจทางการค้าไปสักนิดแล้วก็ตาม หากแต่วัตถุประสงค์ดั้งเดิมคือการสร้างสถานการณ์และบรรยากาศให้ผู้คนหันมาพิจารณาถึงวิถีการดำเนินชีวิตของตน ที่ผ่านมา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจที่ตั้งต้นใช้ ชีวิตใหม่ให้คุ้มค่า ก็เป็นกุศโลบายที่แยบยล ในการโน้มน้าวให้ผู้คนมองชีวิตของตนอย่างมีคุณค่า อันเป็นประโยชน์มากต่อสังคมของคนเกาหลีในขณะนี้ที่นับวันผู้คนจะตัดสินใจ ทิ้งชีวิตอันมีค่าของตนไปอย่างง่ายดายเสียจนไม่น่าเชื่อ

ความจริงในสังคมไทย การนอนในโลงศพเพื่อสะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุนั้น เป็นพิธีกรรมที่ชาวไทยได้กระทำกันมานานแล้ว แต่แทนที่จะรู้สึกสังวรในสังขาร อันไม่เที่ยงของมนุษย์และมองเห็นถึงคุณค่า ในการดำรงชีวิตมากขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าวกลับมองว่านั่นเป็นเพียง พิธีกรรมเพื่อต่อชีวิตของตนให้ยืนยาวขึ้นเท่านั้น โดยตนไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการมองโลกและการดำรงชีวิตของตนเสียใหม่

หลังจากพิธีกรรมจบลง หลายคนยังคงใช้ชีวิตอย่างขาดสติ ขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการเกิดมาเป็นมนุษย์ และไม่ได้พยายามที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามากขึ้น

บริษัทของไทยที่ต้องการจะสร้างแรงจูงใจในการดำรงชีวิต และการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่พนักงานของตน อาจนำไอเดียของโค มิน ซุไปใช้ได้ โดยจัดกิจกรรมนอนโลงศพ สะเดาะเคราะห์ให้แก่พนักงาน แต่ควรจะเสริมกิจกรรมที่ทำให้พนักงานหันมาพินิจพิเคราะห์การใช้ชีวิตที่ผ่านมาของตนอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น

แทนที่จะได้แต่เพียงทำบุญสะเดาะเคราะห์แล้วกลับบ้านและใช้ชีวิตดังเดิม โดยเพียงแต่หวังว่า ต่อจากนี้ไปชีวิตของตน จะยืนยาวและประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยที่ตนเองมิได้ออกแรงสร้างปัญญาให้เกิดแก่ตนเลย

เพราะหากเป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะนอนโลงศพสักกี่ครั้ง ชีวิตของตนก็คงจะไม่มีคุณค่ามากกว่าแต่ก่อนได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.