สาขาท้องถิ่นแห่งแรกของไอบีเอ็ม ประเทศไทย

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอบีเอ็ม ยักษ์ใหญ่สีฟ้าจากสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจเลือกเชียงใหม่เพื่อเปิดเป็นสาขาแรกในประเทศไทย อะไรทำให้ไอบีเอ็มตัดสินใจอย่างนั้นหลังจากเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยร่วม 58 ปี

บรรยากาศในงานเปิดตัวสาขาไอบีเอ็มแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคลาคล่ำไปด้วยพันธมิตรทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ กว่า 200-300 คน

ในวันนั้นยังมีเอริค จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เป็นประธาน และมีผู้ร่วมงานอื่นๆ เช่น ณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ไมเคิล เค.มอร์โรว์ กงสุล ใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ และรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

หลายๆ คนพูดว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่สองที่เจริญเติบโตรองจากกรุงเทพฯ เมื่อวัดจากการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจโดยรวม

ทำให้บริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศเลือกเชียงใหม่เป็นสถานที่ลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว

แต่ในปัจจุบันเชียงใหม่ไม่ได้เจริญเติบโตเฉพาะการท่องเที่ยวด้านเดียว จะสังเกตเห็นได้จากการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ สถาบันการศึกษา รวมถึงการแพทย์ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด

ณรงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และไมเคิล เค. กงสุลใหญ่ที่ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เชิญมาร่วมรับประทานอาหารกลางวันได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเชียงใหม่ว่า

จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรราว 1.6 ล้านคน และมีคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงาน 2-3 แสนคน มีรายได้ต่อหัว 70,000 บาทต่อปี จากที่ผ่านมามีรายได้ 55,000 บาทต่อปี

การเจริญเติบโตของเชียงใหม่เกิดขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกษาที่มีมหาวิทยาลัย 7 แห่ง มีนักศึกษาราว 4 แสนคน มีโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางการแพทย์

ในปีหน้า เชียงใหม่มีเป้าหมายเป็นศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ใช้งบประมาณร่วมกว่า 1,800 ล้านบาทจะทำให้เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนและนักธุรกิจ และเชียงใหม่ยังมีสถานกงสุลจำนวน 17 แห่ง

หากมองในยุทธศาสตร์ของพื้นที่ เชียงใหม่กลายเป็นประตูทองที่สามารถเชื่อมโยงธุรกิจการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงไปยังประเทศจีนตอนใต้ ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม

ส่วนธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีกำลังเติบโตขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งไมเคิล เค. กงสุลใหญ่เชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลว่าเชียงใหม่จะกลายเป็นศูนย์ไอทีในระดับภูมิภาคของภาคเหนือ

มีเหตุผล 4 ประการที่กำหนดให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางไอที คือ 1. รัฐบาล ไทยส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองไอทีและซอฟต์แวร์

2. หน่วยงานซิป้า และซอฟต์แวร์พาร์ค ไทยแลนด์ เข้ามาตั้งอยู่ในเชียงใหม่ 3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วางแผนเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในรูปแบบ one stop service centre เพื่อทำหน้าที่วิจัยและพัฒนา โดยมีงบวิจัยปีละ 40 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ ในขณะที่มหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ผลิตบัณฑิตสาขาไอทีปีละ 1,500 คน

และ 4. มีบริษัทเอกชน 2 ราย วางแผนก่อตั้งซอฟต์แวร์ พาร์ค บริษัทแรก เป็นบริษัทในท้องถิ่นคือ บริษัท วี กรุ๊ปของวัชระ ตันตรานนท์ ส่วนอีกบริษัทหนึ่งมาจากต่างจังหวัด

นโยบายการจัดสัมมนาด้านเทคโน โลยีในเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งในแผนการกระตุ้นของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ธุรกิจ ไอทีในเชียงใหม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

อย่างเช่นล่าสุดที่ผ่านมา มีการประชุมนานาชาติเรื่อง "เศรษฐกิจสร้าง สรรค์ภาคเหนือประเทศไทย โอกาสและความท้าทายในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ" มีสถานกงสุลใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ

สิ่งหนึ่งที่เห็นจะพบว่าผู้เข้าร่วมแสดง ความคิดเห็นมาจากหน่วยงานของภาครัฐ และเอกชน จากภาครัฐ เช่น อลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนจากเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ส่วนภาคเอกชน เป็นบริษัทที่ก่อตั้งทำธุรกิจไอทีอยู่ในเชียงใหม่ เช่น น.พ.ภาณุทัต เตชะเสน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทจิมมี่ซอฟต์แวร์ จำกัด หรือ Eduardo Robles CEO บริษัท Creative Kingdom Animation จำกัด และพรรณสิรี อมาตยกุล ผู้จัดการประเทศไทย บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจและธุรกิจไอทีในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใช่อยู่ในช่วงเริ่มก่อตัว แต่เป็นเมืองที่กำลังขยายการเจริญเติบโตมากขึ้น

จึงทำให้ไอบีเอ็มตัดสินใจเลือกเชียงใหม่เป็นสาขาแรก หลังจากที่บริษัทเข้ามาดำเนินธุรกิจเป็นเวลา 58 ปีในประเทศไทย ขณะที่ไอบีเอ็มบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกามีอายุครบ 99 ปี

นโยบายการเปิดสาขาของไอบีเอ็ม เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของบริษัทแม่ที่ต้องการให้บริษัท 170 สาขาทั่วโลก เข้าไปเปิด สาขาระดับภาคในแต่ละประเทศให้มากขึ้น เพื่อเรียนรู้ตลาดใกล้ชิดมากขึ้น

ก่อนที่ไอบีเอ็มตัดสินใจก่อตั้งสาขาในเชียงใหม่ บริษัทจำหน่ายสินค้าและเทคโนโลยีผ่านพันธมิตร ปัจจุบันไอบีเอ็มมีพันธมิตรจำนวน 20 ราย และลูกค้าร่วม 100 รายที่กระจายอยู่ในภาคเหนือ

หน้าที่ของพันธมิตรคือขายสินค้า ส่วนไอบีเอ็มมีหน้าที่ให้บริหารหลังการขาย ทำหน้าที่เกี่ยวกับซ่อมแซม ดูแลระบบไอทีเมื่อเกิดปัญหา โดยพนักงานบริการหลังการขายส่วนหนึ่งจะทำงานที่บ้านเป็นหลัก

แต่หลังจากที่ก่อตั้งสาขาอย่างเป็นทางการ จะมีพนักงานอยู่ประจำออฟฟิศทำงานเต็มเวลาประมาณ 11 คน เป็นพนักงานขาย 4 คนและพนักงานบริการ 7 คน

บริษัทไอบีเอ็มเช่าห้องขนาด 70 ตารางเมตร ชั้น 2 อาคาร The office อยู่บนถนนเชียงใหม่-หางดง ในอำเภอเมือง แบ่งพื้นที่ทำงานเป็น 3 ส่วน ส่วนการขายและการตลาด ส่วนวิศวกร และห้องประชุม

สาขาจังหวัดเชียงใหม่จะดูแลลูกค้า ในเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน แต่สาขาจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมคู่ค้าในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด เพื่อลดการเดินทางไปกรุงเทพฯ

พรรณสิรีบอกว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไอบีเอ็มตัดสินใจตั้งสาขาในเชียงใหม่ เป็นเพราะว่าสินค้าที่ผ่านมาของไอบีเอ็มส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ขายแยก ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แต่เป้าหมายของบริษัทต้องการพัฒนาให้ระบบทั้งสองทำงานร่วมกันให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้การทำงานมีประสิทธิผลที่สูงขึ้น สอดคล้องกับแผนของธุรกิจไอบีเอ็มที่หันมาเป็นผู้ให้บริการเทคโน โลยีในรูปแบบโซลูชั่น จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งระบบ และบริการให้คำปรึกษา

กลุ่มเป้าหมายของไอบีเอ็มจะเน้นไปที่สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันที่เน้นโครงการการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต หรืออี-เลิร์นนิ่ง โรงพยาบาล และธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขาดความรู้ในการนำเทคโนโลยี ไปใช้ในธุรกิจ

ไอบีเอ็มยังไม่เปิดเผยตัวเลขรายได้หลังจากที่เข้ามาเปิดสาขาในเชียงใหม่ เพราะเป็นปีแรกของการเข้าไปในพื้นที่อย่างเต็มตัว เพราะต้องใช้เวลารอดูระยะหนึ่ง แต่จังหวัดที่จะเปิดสาขาใหม่ต่อไปที่ไอบีเอ็มมองไว้ คือจังหวัดขอนแก่น

ก้าวย่างใหม่ของไอบีเอ็มกำลังเริ่มอีกครั้งในปีนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.