Mekhong Stream


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

จีน
กระทรวงการเกษตรจีนกำลังดำเนินการออกใบประกาศนียบัตรรับรองความปลอดภัยของสายพันธุ์ข้าวตัดแต่งยีนที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านศัตรูพืช ใช้ระยะเวลาถึง 5 ปี ผลักดันกระบวนการต่างๆ เพื่อจดทะเบียนสายพันธุ์พืชตัดแต่งยีนจากการทดลองของนักวิจัยมหาวิทยาลัยการเกษตรแห่งหัวจง ที่ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวบีที โดยนำโปรตีนจากแบคทีเรียใส่เข้าไปในพันธุ์ข้าวนี้ทำให้มีการใช้พันธุ์ข้าวจีเอ็มโออย่างกว้างขวาง สามารถช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลงถึงร้อยละ 80 และยังช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 8 แต่เกิดกระแสการต่อต้านจากกลุ่มรณรงค์ด้านการเกษตรและอาหารของกรีนพีซ เตือนจีนว่าการรับรองข้าวจีเอ็มโออาจสร้างความเสี่ยงต่อมนุษยชาติ


พม่า
คณะกรรมการระดับรัฐบาลกลางในกรุงนิวเดลีชุดหนึ่งได้เข้าเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาและตัดถนนสายทางหลวงสาย 44 ขนาด 4 ช่องทางจราจร จากเมืองชิลลอง (Chillong) ไปยังชายแดนภาคใต้ของรัฐตรีปะรุ เชื่อมยังรัฐมิซอรัม (Mizorum) ไปยังพรมแดนพม่า เป็นระยะทางราว 100 กม. คาดว่าต้องใช้งบประมาณราว 140 ล้านดอลลาร์ หลังจากสร้างแล้วเสร็จในปี 2555 รัฐมิซอรัมจะเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบาย "มองตะวันออก" (Look East Policy) ของรัฐบาลพรรคคองเกรส (Congress Party) โดยนายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิง (Manmohan Singh) โดยรัฐบาลอินเดียเซ็นสัญญาช่วยรัฐบาลพม่าก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเมืองสิตต่วย (Sittwe) ในรัฐยะไข่ (Rakhine) บริเวณปากแม่น้ำกาลาดัน (Kaladan) ในพม่า แม่น้ำสายนี้เชื่อมต่อไปถึงรัฐมิซอรัม


ลาว
สปป.ลาวได้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษจากรัฐบาลจีน เพื่อสร้างสนามบินใหม่ที่หลวงพระบาง ซึ่งจะรองรับเครื่องบินโดยสารขนาด 400 ที่นั่ง เครื่องบินโบอิ้งได้ 4 ลำ และเครื่องบิน ATR อีก 7 ลำในปี 2556 พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะสร้างขึ้นในบริเวณพื้นที่เดียวกันกับสนามบินเดิมที่ใช้ในขณะนี้ โดยบริการต่างๆ ในบริเวณสนามบินเดิมยังคงเปิดทำการต่อไปในระหว่างการก่อสร้างด้วย สนามบินหลวงพระบางได้รับการฟื้นฟูบูรณะมาก่อนหน้านี้ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ทั้งในรูปเงินให้เปล่าและเงินกู้ผ่อนปรน ปัจจุบันยังสามารถรองรับได้แค่เครื่องบินโดยสาร ATR72 หรือ MA60 หรือ AN-24


กัมพูชา
รัฐบาลกัมพูชาพัฒนาระบบชลประทานและสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกข้าวแก่เกษตรกรเพิ่ม 3 ล้านเฮกตาร์ ภายในปี 2558 จากพื้นที่นา 2.6 ล้านเฮกตาร์ ให้สามารถทำนาได้ 2 ฤดูกาล โดยเฉพาะพื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกของประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาได้เงินกู้จากคูเวต 546 ล้านดอลลาร์ สร้างระบบชลประทานและเขื่อนอเนกประสงค์ 1 แห่ง ตลอดจนทำถนนเข้าที่นาใน จ.กัมปงจาม และพระตะบอง นอกจากนี้คูเวตยังมีแผนลงทุนราว 200 ล้านดอลลาร์ เพื่อปลูกข้าวในกัมพูชา รวมทั้งจีนจะขยายเงินกู้สนับสนุนการก่อสร้างระบบชลประทานในแหล่งเพาะปลูกข้าวเขตเปรย์แวง (Prey Veng) กับจังหวัดโพธิสัตว์ (Pursat) และจังหวัดอุดรมีชัย (Oddor Meanchey) หากเป็นไปตามแผนพัฒนาจะสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ถึง 12.25 ล้านตันต่อปี


เวียดนาม
รัฐสภาเวียดนามมีมติอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เป็นแห่งแรก โดยวางแผนให้ประกอบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 4 เครื่อง มีกำลังการผลิตรวม 4,000 เมกะวัตต์ เตาปฏิกรณ์อย่างน้อยหนึ่งเครื่องจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2563 หลังจากการเดินทางเยือนมอสโกอย่างเป็นทางการ จากการรับเชิญของทางการรัสเซียในเดือนธันวาคม 2552 โดยบริษัท EVN และ Rosatom ได้ลงนามในบันทึก "เพื่อความร่วมมือในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังปรมาณูแห่งแรกในเวียดนาม" บันทึกดังกล่าวมาพร้อมกับข้อตกลงของรัฐบาลเวียดนามในการซื้อเรือดำน้ำ และเครื่องบินรบจากรัสเซีย นอกจากนั้น จีน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ต่างแสดงความสนใจในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของเวียดนามเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.