|
ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง กำลังเปลี่ยนแปลง!!!
โดย
เจษฎี ศิริพิพัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก กำลังเผชิญแรงท้าทายสำคัญต่อการผลิตข้าว เมื่อสภาพพื้นดินและวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงกำลังถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยหลายด้าน
เว็บไซต์ของสถานีวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ภาคภาษาเวียดนามรายงานเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (2553) ว่าที่ราบ ลุ่มแม่น้ำโขงกำลังได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน และการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากทางต้นน้ำกำลังทำให้กระแสน้ำแม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง
เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 27 แห่ง?
ความโค้งของทางเดินแม่น้ำโขงจะทำให้ปริมาณน้ำลดลง รวมทั้งลดปริมาณดินตะกอนซึ่งอุดมด้วยปุ๋ยที่น้ำพัดพามาทับถมบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แหล่งรายได้หลักจากการทำประมงก็ลดลงพอสมควร ขณะที่ปลาชนิดต่างๆ และสิ่งมีชีวิตในน้ำถูกปิดทางเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติ
หนังสือพิมพ์ต๋วยแตร๋ (แปลว่าวัยรุ่น) ออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่นครเกิ่นเทอ บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) จัดเวที "สิ่งแวดล้อมและแหล่งเลี้ยง ชีพในแม่น้ำโขง" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาหนทางแก้ไข กอบกู้แม่น้ำโขงจากสถานการณ์ที่คาดว่า จีน ลาว กัมพูชา จะก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำถึง 27 แห่งบนลำน้ำ
แม่น้ำโขงยาว 4,880 กิโลเมตร มีต้นน้ำมาจากทิเบต สาธารณรัฐประชาชนจีน ไหลผ่านลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเข้าเวียดนามด้วยลำน้ำ 2 สาย คือแม่น้ำเตี่ยน และแม่น้ำเหิ่ว คนเวียดนามเรียกชื่อ แม่น้ำโขงว่า "กื๋วลอง" แควต่างๆ ของแม่น้ำโขงเมื่อเข้าเวียดนาม สุดท้ายไหลออก ทะเลที่ปากน้ำ 9 แห่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับมังกร 9 ตัว
ในความเป็นจริงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 กระแสน้ำกื๋วลองไหลออกทะเลเหลือ เพียงปากน้ำ 8 แห่ง เนื่องจากปากน้ำบาทัก ในจังหวัดซอกตรังถูกถม
เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกื๋วลอง ประกอบ ด้วย 13 จังหวัดและนคร มีเนื้อที่เกือบ 40,000 ตร.กม. เป็นสถานที่หาเลี้ยงชีพของผู้คนกว่า 17 ล้านคน แต่ไม่มีใครคาดคิดว่า การเปลี่ยนแปลงใดที่กระทำต่อทางไหลของแม่น้ำโขงที่ด้านต้นน้ำ ต่างก็กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนตอนล่างแม่น้ำ
ดร.เล วัน บ๋าญ หัวหน้าสถาบันข้าว ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่าปัญหาน้ำสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศแปรปรวนและเรื่องการกระทำ ที่ขัดขวางทางเดินของน้ำ
เขากล่าวว่า "หวังว่าเวียดนามจะสามารถเป็นเอกภาพกับประเทศต่างๆ ที่ใช้ น้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันอย่างมีความสุข ตกลงกันตามวิธีการสากล แข็งขืนกับใครก็ตามที่ทำความเสียหายทุกอย่าง อันจะทำให้ที่ราบลุ่มแม่น้ำกื๋วลองเสียหายมากขึ้น"
น้ำเค็มแทรกซึม
หนังสือพิมพ์ต๋วยแตร๋ออนไลน์ ราย งานข่าวเวทีเกิ่นเทอเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและแหล่งเลี้ยงชีพในแม่น้ำโขง โดยเน้นย้ำ ถึงเหตุการณ์ที่ราบลุ่มกื๋วลอง ได้รับ "ผลกระทบ" จากอิทธิพลหนักหน่วงของสภาพ อากาศแปรปรวนในเวลานี้กับการก่อสร้าง เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในชาติใกล้เคียง โดยอ้างคำพูดของกี่ กวาง วิญ ผู้อำนวยการศูนย์สังเกตการณ์ทรัพยากรและสิ่งแวด ล้อม สำนักงานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเกิ่นเทอ ที่กล่าวว่าผลการตรวจสอบเมื่อปี 2552 แสดงให้เห็นการแทรกซึมของน้ำเค็ม ได้เข้ามาถึงอำเภอหวิญถ่าญ บริเวณต่างๆ ในเขตเมืองหวิเซวียน จังหวัดเหิ่วยาง และจังหวัดอานยาง ทำให้ประชาชนที่อยู่ที่นี่ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกได้
พร้อมกับปัญหาที่เกี่ยวข้อง ด่าวเซวิน ห็อก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเน้นย้ำกับสถานี วิทยุ RFA ว่า
"ถูกต้อง คือเดี๋ยวนี้น้ำเค็มได้แทรก ซึมรุนแรงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ผมข้องใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่นนครโฮจิมินห์น้ำท่วมบ่อย ส่วนนครเกิ่น เทอ เดี๋ยวนี้น้ำท่วมเนื้อที่เกิน 50% เมื่อปลายปี 2551 น้ำท่วมมากถึงระดับนั้น อีกตัวอย่างคือจังหวัดเบ๊นแตร สถานการณ์น้ำเค็มแทรกซึมถึงระดับน่ากลัว
หนังสือพิมพ์ต๋วยแตร๋ออนไลน์ ราย งานอีกว่าในการประชุมสัมมนาเกิ่นเทอ ดร.Carl Middleton จากองค์การแม่น้ำลำธารนานาชาติ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนไม่เพียงกระทบต่อทางเดินของสัตว์น้ำ แต่ยังคุกคามอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงด้านธัญญาหารในภูมิภาค
ตามคาดการณ์ของ ดร.Middleton น้ำตามลุ่มแม่น้ำโขงจะสูญเสียสัตว์น้ำปีละ 700,000-1,000,000 ตัน เนื่องจากผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน ในขณะที่ สัตว์น้ำเดิมเป็นอาหารหลักของประชาชนที่นี่
ด่าว เซวิน ห็อก ผู้ร่วมประชุมอีกคนหนึ่ง กล่าวว่าอิทธิพลจากการปิดกั้นกระแสน้ำในแม่น้ำโขงตอนบน นำมาซึ่งความหมายสำคัญเป็นพิเศษกับเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกื๋วลอง นอกจากแหล่งรายได้จาก สัตว์น้ำและอู่ข้าวส่งออกของเวียดนามจะถูกคุกคามเพราะขาดน้ำเพาะปลูก ตามวิธี การที่เสนอแนะ โดยพวกเขากล่าวถึงการลดเนื้อที่ปลูกข้าว แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอนี้ ไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากชาวนาต้องปลูกข้าว ยิ่งมากยิ่งดี เพื่อรับประกันความมั่นคงด้านธัญญาหารและการส่งออก
ดร.เล วัน บ๋าญ ประเมินกับสถานี วิทยุ RFA ว่า "หาทางแก้ไขด้วยการประหยัด น้ำ มีน้ำพอเพียงเพาะปลูก หาพันธุ์พืชทนแล้งหรือพันธุ์พืชทนน้ำเค็ม รวมทั้งยังแก้ไข ด้วยการใช้พันธุ์ข้าวทนแล้งเหมือนบนพื้นที่สูงหรือเสริมการปลูกมันฝรั่งหรือธัญญาหารอื่น เพื่อรับประกันความต้องการให้ประชาชนเหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะวิธีการแก้ไขต่างๆ"
ลดดินตะกอน-เพิ่มปุ๋ย
หนังสือพิมพ์ต๋วยแตร๋ออนไลน์ ยังได้ อ้างคำพูดของผู้บรรยายคนอื่นในที่ประชุม สัมมนาเกิ่นเทอ
เหงียน หืว เถี่ยน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับดินและน้ำเค็ม เตือนว่าถ้ามีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 11 แห่งในลาวและกัมพูชา การประสานกันของกระแสน้ำอุทกศาสตร์ของกระแสน้ำแห่งนี้จะขึ้นอยู่กับ "เจ้าของ" เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 11 แห่ง
เถี่ยนวิเคราะห์ว่า การปิดทางน้ำไหลจะทำให้ลดปริมาณดินตะกอนที่น้ำพัดพามา ประชาชนที่ราบลุ่มแม่น้ำกื๋วลองต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายสำหรับปุ๋ยและอุตสาหกรรมที่ต้อง "พึ่งพา" เกษตรกรรมเป็นวัตถุดิบ เช่น การแปรรูปสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์เกษตร ก็จะได้รับผลกระทบย่อยยับเป็นแถว
ตามการคำนวณของเถี่ยน ความเสียหายเกี่ยวกับสัตว์น้ำ และผลผลิตด้านเกษตรกรรม อาจจะมากกว่ากำไรที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ
ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเวียดนาม ที่อยู่ในแหล่งที่ลุ่มแม่น้ำโขง จึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด แต่ที่สำคัญ ชาติต่างๆ ที่มีโครงการก่อสร้างไฟฟ้าพลังน้ำ เช่นกัมพูชา ประชาชนดำรงชีพด้วยอาชีพจับปลาในบริเวณใกล้เคียง ต้องมีชีวิตใหม่อย่างไม่เต็มใจ
ผู้สื่อข่าวที่ตรวจสอบทางฝ่ายกัมพูชา แสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านประมงถูกโยกย้ายไปตั้งหลักแหล่งในเขตภูเขา ซึ่งคำถามคือ ค่าชดเชยจำนวนหนึ่ง และคนจับปลาในแม่น้ำโขงจะดำเนินชีวิตอย่างไรในพื้นที่สูง
หนังสือพิมพ์ต๋วยแตร๋ออนไลน์ อ้างคำพูดของด่าว ตร่อง ตื๊อ เลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงเวียดนาม ที่ประเมินว่าแม่น้ำโขงไหลผ่านพื้นที่ชาติใด การก่อสร้าง เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำก็เป็นสิทธิประโยชน์ของพวกเขา จึงต้องใช้กลไกทวิภาคีหรือพหุภาคี เพื่อขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่เตริ่น วัน ตือ จากสหพันธ์สมาคมวิทยาศาสตร์เทคนิคเวียดนามยืนยันว่าการทำลายวิถีชีวิตของแม่น้ำโขงโดยมนุษย์สร้างขึ้นก็ต้องหาทางแก้ไขจากมนุษย์
หนังสือพิมพ์ต๋วยแตร๋ออนไลน์ อ้างคำพูดของเขาว่า "ไม่อาจเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐของประเทศต่างๆ ที่ต้องใช้ประโยชน์ แต่ต้องชักจูงเพื่อให้พวกเขามีการตัดสินใจที่เป็นเอกภาพกับเวียดนามเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2552 ก่อนการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสภาพอากาศโลกที่กรุงโคเปนเฮเกน สถานีวิทยุ BBC นำผู้สื่อข่าวของ BBC ทั้งภาคภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย พม่า และปากีสถาน เดินทางบนเรือจากนครโฮจิมินห์ไปยังนครเกิ่นเทอ เพื่อหาความเข้าใจวิธีการที่ประชาชน หน่วยงานทางการและองค์กรการกุศลท้องถิ่น ได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมข้างลำน้ำแม่น้ำโขง
โดย BBC มีความตั้งใจเป็นพิเศษที่จะแลกเปลี่ยน พูดคุย และโต้วาทีกับอาจารย์ และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ เพื่อหาความเข้าใจทัศนะของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาทั่วโลก คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศพยายามปรับตัว
รายการบันทึกภาพ เสียง และข่าวในหน้าอิเล็กทรอนิกส์จะมีการส่งตรงถึงผู้ฟัง 223 ล้านคนทั่วโลก เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับบทเรียนและความพยายามของคนเวียดนาม ที่กำลังดำเนินการในภูมิภาคนี้
BBC รายงานเรื่องการต่อต้านน้ำท่วม การจัดการของทิ้ง แหล่งพลังงานสะอาดผ่านโครงข่ายเครื่องมือสื่อสารหลากหลาย (multimedia)
แม่น้ำโขงและเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ไม่เพียงเป็นสิ่งแวดล้อมของชีวิตและการคมนาคมสำหรับหลายชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังเป็นอู่ข้าวของเวียดนาม ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากอันดับที่ 2 ของโลก
เพราะฉะนั้นความมั่นคงทางธัญญา หาร ประสบการณ์ปลูกข้าว ปลูกป่า น้ำเค็ม การควบคุมและแก้ไขปัญหาผลจากน้ำท่วม ฯลฯ จึงเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ
ก่อนวันออกเรือในวันที่ 7 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวกลุ่มหนึ่งของ BBC ภาษาเวียดนาม และภาษาอังกฤษเดินทางล่วงหน้าไปยังบางท้องถิ่น เช่น เกิ่นเหย่อ เบ๊นแตร อานยาง และโด่งทาป เพื่อรวบรวมรูปภาพและการสัมภาษณ์ล่วงหน้า เพื่อช่วยการปฏิบัติภารกิจรายงานใน 3 วัน (7-9 ธ.ค. 2552) บนเรือ
การไปแม่น้ำโขงเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปยัง 8 จุดบนโลกของ BBC ที่มุ่งเปิดกว้างวิสัยทัศน์ของวงการการเมือง โลกสื่อสารสากลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ผู้อำนวยการโครงการ "เวียดนามและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ" James Sales กล่าวว่า "ความปลอดภัยของระบบนิเวศวิทยาลุ่มแม่น้ำโขงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความอยู่รอดสำหรับมนุษย์หลายล้านคน ในขณะที่ทั่วโลกเฝ้าดูการประชุมสหประชา ชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่โคเปนเฮเกน คณะผู้สื่อข่าว BBC จะเริ่มการเดินทางเพื่อช่วยเพิ่มเติมข่าวสาร ไปยังการอภิปรายทั่วโลกด้วยภาษาหลักของพวกเขาที่ผ่านประสบการณ์ดำเนินชีวิตและทัศนะที่หลากหลาย"
การเปลี่ยนแปลงสภาพของโลกกำลังกลายเป็นหัวข้อที่ครอบคลุมทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|