|
ชุมทาง “ปากแบ่ง” สวรรค์ของแบ็กแพ็กเกอร์
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ขณะที่เส้นทางเข้าสู่หลวงพระบางจากด่านห้วยโก๋น ชายแดนจังหวัดน่าน ซึ่งถือเป็นเส้นทางทางบกที่ใกล้ที่สุดยังไม่เสร็จพร้อมสมบูรณ์ ผู้จัดการ 360 ํ ได้มีโอกาสมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองปากแบ่ง จุดพักระหว่างทางของนักเดินทางที่จะมุ่งหน้าเข้าหลวงพระบาง จากชายแดนภาคเหนือของไทย ทั้งจากทางน้ำและทางบกที่สามารถเติมเต็มบรรยากาศการท่องเที่ยวได้ไม่น้อย
ที่ "ปากแบ่ง" เมืองเล็กๆ ในแขวงอุดมไชย ตั้งอยู่เชิงเขาริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีผู้คนอาศัยอย่างสงบเงียบอยู่เพียงไม่กี่ร้อยหลังคาเรือนนั้นจะกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นทันที เมื่อถึงย่ำค่ำของแต่ละวัน เพราะที่นี่นอกจากจะมีเส้นทางห้วยโก๋น-ปากแบ่งที่กำลังจะเสร็จสมบูรณ์พาดผ่านแล้ว
ยังเป็นชุมทางสัญจรทางน้ำผ่านแม่น้ำโขง จาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทย ไปถึงเมืองหลวงพระบาง (ค่าโดยสารประมาณ 800 บาทต่อคน) ซึ่งทั้งเรือขาขึ้น-ขาล่องจะต้องแวะพักค้างคืนที่นี่ เพราะเมื่อล่องเรือมาถึงจุดนี้จะเป็นเวลาเข้าไต้เข้าไฟพอดี
ดังนั้น ช่วงเวลาตั้งแต่สายๆ ถึงบ่ายแก่ๆ ของแต่ละวัน ปากแบ่งเป็นเหมือนหมู่บ้านชนเผ่าในชนบทของ สปป.ลาว ทั่วไป แต่เมื่อย่ำค่ำ ที่นี่จะ "ตื่น" ขึ้นมาทันที ด้วยเพราะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากโลกตะวันตกที่มุ่งหน้าเข้าหลวงพระบางและกำลังกลับจากหลวงพระบางเข้าไทย
ที่นี่มีที่พักรับรองทั้งเกสต์เฮาส์ระดับราคา 500-800-1,000 กว่าบาท ไปจนถึงห้องพักระดับ 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืน โดยมีนักธุรกิจจากบังกลาเทศเข้ามาลงทุนสร้างไว้บนที่ดินเชิงเขาติดกับแม่น้ำโขง รวมถึงร้านอาหารหลากหลายสัญชาติ ตั้งแต่อาหารพื้นถิ่น-อินเดีย-ฝรั่ง-ไทย ฯลฯ
แต่ "ปากแบ่ง" จะมีชีวิตชีวา เพียงแค่จากย่ำค่ำไปจนถึง 4 ทุ่มครึ่งเท่านั้น
ปัจจัยหนึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งยังคงยึดวัตรปฏิบัติแต่ดั้งเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีคนต่างถิ่นเข้ามาท่องเที่ยวและนำเงินมาใช้จ่ายที่นี่เป็นจำนวนมาก
อีกปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะกระแสไฟฟ้าที่เพิ่งเข้าไปถึงยังเมืองนี้ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ทำให้ยังมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ จึงต้องปิดไฟกันตามกำหนด แม้ว่าบางร้านจะมีเครื่องปั่นไฟเองก็ตาม
แต่นั่นก็นับเป็นเสน่ห์ของ "ปากแบ่ง" ที่แม้จะครึกครื้นในยามย่ำค่ำ แต่ทันทีที่นาฬิกาบอกเวลา 4 ทุ่ม เริ่มมีเสียงร้านรวงที่ปิดประตู เสียงเพลงจากร้านอาหารค่อยๆเงียบลงไปทีละน้อยทีละน้อย
และทันทีหลัง 4 ทุ่มครึ่ง สภาพของเมืองดูไม่แตกต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้รับคำสั่ง shut down เงียบกริบ ไม่มีสรรพเสียงใดๆ นอกจากเสียงที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เมืองแห่งนี้กลับสู่ความเป็นเมืองชนบทของลาว เงียบสงบท่ามกลางขุนเขา โดยมีแม่น้ำโขงไหลผ่านได้ยินแต่เสียงน้ำไหล หรีดหริ่งเรไร เท่านั้น
อาจมีเสียงแปลกปลอมบ้าง คือเสียงของนักท่องเที่ยวฝรั่งที่อาจยังติดลม หรือไม่ก็หาทางกลับที่พักไม่เจอ เดินบ่นกับตัวเอง หรือบ่นกับกลุ่มเพื่อน แต่ก็ดังขึ้นเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
และเมื่อเริ่มเข้าสู่วันใหม่ ทุกผู้คนยังสามารถสัมผัสกับวิถีท้องถิ่นของปากแบ่ง เพราะจะมีชาวบ้านมายืนรอพระสงฆ์ที่จะเดินลงมาบินฑบาตตั้งแต่ก่อน 7 โมงเป็นระยะๆ และที่ตลาดเช้า พ่อค้าแม่ขายจะเริ่มขนสินค้าและตั้งแผงค้ากันให้ทันเริ่มขายในเวลา 7 โมง
พร้อมกับขบวนของนักเรียนที่มีทั้งเดินเป็นกลุ่มขี่จักรยานเดี่ยวๆ หรือเป็นคู่ๆ เพื่อไปให้ทันเข้าเรียนยังโรงเรียนที่ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนออกไปเกือบ 5 กิโลเมตร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|