|
500 ล้านกีบของสุวรรณี
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
จากคอลัมน์ "รายงานผู้จัดการ" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2532 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน www.gotomanager.com)
นับย้อนหลังไปประมาณ 4 เดือน ประเทศลาวเพิ่งจะมีนโยบายการธนาคารฉบับแรกที่เป็นรูปเป็นร่างออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด หลังจากที่ได้ใช้เวลาประชุมเครียดเหล่าธนาคารทั่วประเทศนานถึง 7 วัน จนได้ออกมาเป็นมติของสภารัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องหลัก 3 เรื่องด้วยกันคือ นโยบายสินเชื่อ และนโยบายว่าด้วยการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ
ความน่าสนใจของลาวไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีนโยบายทางกฎหมายออกมาแน่ชัด แต่ก่อนหน้าที่จะมีตัวบทกฎหมายออกมาอย่างที่ว่า ก็ได้มีบรรดานายธนาคารไทย ทั้งที่เป็นธนาคารยักษ์ใหญ่และไม่ใหญ่ ตั้งแต่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และอีกหลายธนาคาร พากันแวะเวียนข้ามโขงไปเยือนลาวครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อศึกษาลู่ทางในการทำธุรกิจภายใต้ระบบธนาคารกับลาว รวมทั้งเชื้อเชิญบรรดานายธนาคารของลาวให้มาเรียนรู้ระบบธนาคารไทย
แต่สุดท้าย ทางการของลาวกลับอนุมัติการเปิดธนาคารที่เป็นของไทยในลาวเพียง 2 แห่ง คือสำนักงานตัวแทนของธนาคารทหารไทยแห่งหนึ่ง กับอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้เป็นใบอนุญาตเปิดธนาคาร ทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์การทำธุรกิจธนาคารมาก่อน
"ทางแบงก์ชาติของลาวที่ไม่เห็นพูดถึงเลยว่าต้องผ่านการทำแบงก์มาก่อน จุดสำคัญอยู่ที่ว่าต้องมีทีมงานที่มีความรู้ความชำนาญต่างหาก" คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ เจ้าของใบอนุญาตแบงก์ต่างประเทศในลาวซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียว ในขณะนี้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ธวัช คันธเศรษฐี อดีตผู้จัดการ ธนาคารเมอร์แคนไทล์ สาขาอโศก ซึ่งมีความชำนาญในการทำธุรกิจธนาคารมาหลายสิบปี คือบุคคลหนึ่งที่คุณหญิงกล่าวถึง รวมทั้งการที่ได้พี่เลี้ยงที่ดีอย่างสหธนาคารเข้ามาให้คำปรึกษา ร่วมฝึกอบรมเจ้าหน้าที่จากลาวในหลักสูตรรวบรัด จนสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ภายใต้ชื่อของธนาคาร "ร่วมพัฒนา"
ธนาคารไทยสัญชาติลาวที่มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 70% ขณะที่ธนาคารแห่งรัฐของลาว (แบงก์ชาติลาว) เข้าถือหุ้นในส่วน 30% ที่เหลือ
ข้อแตกต่างของธนาคารร่วมพัฒนา ซึ่งถือเป็นธนาคารเอกชนแห่งแรกของลาวกับธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่มีอยู่ 2 แห่งในเมืองเวียงจันทน์ อันได้แก่ ธนาคารเชษฐาธิราช กับธนาคารนครหลวงกำแพงนครเวียงจันทน์ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องอัตราดอกเบี้ย
ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารร่วมพัฒนาจะอยู่ในเรทระหว่าง 8% สำหรับเงินฝากประหยัด (ออมทรัพย์) ส่วนเงินฝากประจำจะเริ่มตั้งแต่ 20% ขึ้นไปจนถึง 26% ขณะที่ธนาคารของรัฐ เงินฝากประหยัดจะตกประมาณ 24% และเงินฝากประจำตั้งแต่ 30%-36% ยกเว้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากรายวัน (กระแสรายวัน) ที่ธนาคารร่วมพัฒนาให้ถึง 2% แต่ธนาคารของรัฐให้เพียง 1.2% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารร่วมพัฒนาอยู่ในระดับ 28-30% ต่ำกว่าธนาคารของรัฐที่จะปล่อยกู้ให้กับธุรกิจต่างๆ ในอัตราเริ่มต้นจาก 24% ขึ้นไปสำหรับเงินกู้ระยะยาวจนถึงสูงสุด 42% สำหรับเงินกู้ระยะสั้น
แต่ทั้งๆ ที่ธนาคารร่วมพัฒนาให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารของรัฐ สิ่งที่ปรากฏในวันเปิดทำการของธนาคารวันแรกก็คือยอดเงินฝากทั้งที่เป็นเงินบาทและเงินกีบจากทั้งพ่อค้า นักธุรกิจชาวไทยและลาว กลับแซงหน้าระบบธนาคารของรัฐเสียอีก
ท่านเลื่อน เสนาขันธ์ รองประธานธนาคารแห่งรัฐของลาว เปิดเผยถึงปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้นว่า มีเงินฝากจากประชาชนเพียง 20 ล้านกีบเท่านั้น ขณะที่อีกกว่า 1,000 ล้านกีบนั้นมาจากยอดเงินฝากของรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่ยอดเงินฝากของธนาคารร่วมพัฒนาที่เป็นของเอกชนล้วนๆ นั้น มีถึง 300 ล้านกีบ กับอีก 7 ล้านบาทไทย (ประมาณเกือบ 200 ล้านกีบ) ซึ่งบรรดาแขกของคุณหญิงสุวรรณีที่ข้ามจากฝั่งไทยไปร่วมงาน พากันเปิดบัญชีเอาไว้
หมายความว่า เพียงวันเดียวธนาคารร่วมพัฒนาสามารถระดมเงินออมได้เท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินออมทั้งระบบในลาวเลย
ว่ากันว่า ความสำเร็จที่ธนาคารร่วมพัฒนาได้รับ เป็นจุดที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในวงการธนาคารพาณิชย์ของลาว เพราะนับแต่นี้ไป ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ซึ่งแต่เดิมไม่เคยทำเรื่องการตลาดเท่าไรนัก จะหันมาใช้การตลาดเป็นตัวนำร่องบ้าง โดยขณะนี้ทางธนาคารแห่งรัฐของลาวกำลังอยู่ในช่วงของการศึกษาเรียนรู้อยู่ โดยมีแบงก์ไทยอีกแห่ง คือธนาคารทหารไทย ทำหน้าที่เป็นกุนซือให้
แต่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันก็คือ เพียงธนาคารร่วมพัฒนาเปิดตัวได้ไม่นาน หนึ่งอาทิตย์คล้อยหลังเท่านั้น ธนาคารการค้าต่างประเทศของลาว ซึ่งแต่เดิมดำเนินงานในรูปแบบธนาคารเฉพาะกิจ ทางด้านอิมปอร์ต-เอ็กซปอร์ตเพียงอย่างเดียว เกี่ยวกับเรื่องแอล/ซี การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่ต้องติดต่อธุรกิจกับประเทศอื่น ขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้า หันมาทำธุรกิจรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไปกับเขาด้วยแล้ว
ที่สำคัญ ก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารการค้าต่างประเทศของลาวให้แก่ผู้มาฝากเงินนั้น เป็นอัตราเดียวกับที่ธนาคารร่วมพัฒนาใช้อยู่ในปัจจุบันเช่นเดียวกันทุกประการ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|