ธนาคารของคนไทยใน สปป.ลาว

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

วิสัยทัศน์ "จินตนาการใหม่" ที่ ไกสอน พมวิหาน นำมาใช้เป็นแนวทาง "เปิดประเทศ" ให้กับ สปป.ลาวเมื่อ 20 ปีก่อน กำลังแสดงผลให้เห็นเป็นรูปธรรมในวันนี้ แต่ใครบ้างจะทราบว่าเบื้องหลังความสำเร็จนี้มีกลุ่มทุนคนไทยกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปมีส่วนเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานให้กับวิสัยทัศน์นี้

หากพูดถึงตระกูลคนไทยที่เป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ เชื่อว่าแทบทุกคนต้องนึกถึงแต่ ตระกูลโสภณพนิช, ล่ำซำ หรือเตชะไพบูลย์คงไม่มีใครนึกถึงตระกูล "สิงห์สมบุญ"

และอีกเช่นกัน คนไทยที่ได้ไปเที่ยวนคร หลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมื่อได้ไปเดินตลาด เช้า หลายคนคงรู้สึกอุ่นใจเพราะเมื่อมองเยื้องไปทางถนนล้านช้าง สามารถมองเห็นตึกสีเหลืองอร่ามของธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขานครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งอยู่ไม่ไกล

ทุกคนรู้ดีว่า นั่น...เป็นธนาคารพาณิชย์ของไทย

แต่ถัดจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาเข้ามา อีกเพียง 3 คูหา คงมีไม่กี่คนที่จะทราบว่าอาคาร ขนาดใหญ่สีฟ้า-ขาว หัวมุมถนนล้านช้างตัดกับถนนหัดสะดี ซึ่งมีป้ายบอกชื่อว่า "ธนาคารร่วม พัฒนา" นั้น

เป็นธนาคารพาณิชย์ของคนไทยด้วยเช่นกัน

ธนาคารร่วมพัฒนาก่อตั้งและถือหุ้น ใหญ่โดยตระกูล "สิงห์สมบุญ"

คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ สิงห์สมบุญ คือผู้ที่ได้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2532

เป็นใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใบแรกของ สปป.ลาว!!!

ปี 2532 ถือเป็นปีแรกของการนำวิสัยทัศน์ "จินตนาการใหม่" เข้ามาใช้หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นปีแห่งการเริ่มเปิดประเทศของ สปป.ลาว

วิสัยทัศน์ "จินตนาการใหม่" ถูกนำเสนอโดย "ลุงไกสอน" หรือไกสอน พม วิหาน ผู้นำในการปฏิวัติกู้ชาติลาวและดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของ สปป. ลาว (2518-2534) และประธานประเทศคน ที่ 2 (2534-2535)

ไกสอนมองเห็นว่าถึงที่สุดแล้ว ในอนาคต สปป.ลาวไม่สามารถหลีกเลี่ยงระบบเศรษฐกิจแบบเปิด จึงเริ่มการปรับ ปรุงระบบ ระเบียบ กฎหมายต่างๆ เพื่อให้ทัดเทียมกับสากล เป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้ สปป.ลาวสามารถรองรับการลงทุนจากต่างประเทศได้

รากฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องเริ่มต้นวางคือระบบการเงินการธนาคาร แต่การจะวางรากฐานระบบการเงินการธนาคารได้นั้นจำเป็นต้องจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาให้เป็นกลไกสำคัญ

แม้ว่าใน สปป.ลาวขณะนั้นจะมีธนาคารอยู่แล้ว 3 แห่ง แต่ก็เป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาลยังไม่มีธนาคารที่ทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

ที่สำคัญคือตั้งแต่ลาวมีการเปลี่ยน แปลงการปกครองในปี 2518 จนถึงปี 2532 ภาพของลาวยังเป็นประเทศที่ปิด ดังนั้นการจะเชิญให้ใครเข้ามาตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาสักแห่ง จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดหนัก

คุณหญิงสุวรรณีเป็นนักลงทุนที่รัฐบาล สปป.ลาวเชิญชวนให้เข้าไปจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรกให้กับประเทศ

นิตยสารผู้จัดการเป็นสื่อฉบับแรกที่ ให้ความสำคัญต่อความเคลื่อนไหวในครั้งนั้น

"ผู้หญิงที่ถูกพูดถึง และมีข้อฉงนสนเท่ห์ต่อตัวเธอมากครั้งที่สุดในรอบสามเดือนแรกของปีนี้ เห็นทีจะต้องยกให้คนชื่อ "คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์" ซึ่งดังกระหึ่ม สุดขีดเมื่อเป็นคนไทยคนแรกซึ่งได้ร่วมลงทุนกับธนาคารแห่งรัฐของลาว จัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรกขึ้นในลาว"

เป็นเนื้อหาในตอนต้นของเรื่อง "คุณ หญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ น้ำนิ่งไหลลึก" ที่ ถูกนำเสนอในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือน เมษายน 2532 (รายละเอียดอ่านล้อมกรอบ "คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ น้ำนิ่งไหลลึก" ซึ่งได้นำเนื้อหาดังกล่าวมาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง ในเรื่องจากปกฉบับนี้)

คุณหญิงสุวรรณีถือเป็นนักธุรกิจหญิง ที่มีบทบาทสูงในวงสังคมมาช้านาน ปัจจุบัน เธอเป็นประธานมูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ และเป็นประธานคณะอำนวยการธนาคารร่วมพัฒนา

ก่อนปี 2532 คุณหญิงสุวรรณีทำธุรกิจมาแล้วหลายอย่าง กิจการดั้งเดิมคือบริษัทพรหมสุวรรณ อบพืชและไซโล และขยายมาทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยสร้างหมู่บ้านสหกรณ์ที่คลองกุ่ม และสยามคอนโดมิเนียมที่สี่แยก อ.ส.ม.ท. ฯลฯ

แต่ธุรกิจเดียวที่คุณหญิงสุวรรณีไม่เคยทำมาก่อนเลยคือ ธนาคารพาณิชย์

"นับย้อนหลังไปประมาณ 4 เดือน ประเทศลาวเพิ่งจะมีนโยบายการธนาคารฉบับแรกที่เป็นรูปเป็นร่างออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด หลังจากที่ได้ใช้เวลาประชุมเครียดเหล่าธนาคารทั่วประเทศนานถึง 7 วัน จนออกมาเป็นมติของสภารัฐมนตรี ว่าด้วยเรื่องหลัก 3 เรื่องด้วยกัน คือนโยบาย สินเชื่อ และนโยบายว่าด้วยการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

ความน่าสนใจของลาวไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีนโยบายทางกฎหมายออกมาแน่ชัด แต่ก่อนหน้าที่จะมีตัวบทกฎหมาย ออกมาอย่างที่ว่า ก็ได้มีบรรดานายธนาคาร ไทย ทั้งที่เป็นธนาคารยักษ์ใหญ่และไม่ใหญ่ ตั้งแต่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และอีกหลายธนาคาร พา กันแวะเวียนข้ามโขงไปเยือนลาวครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อศึกษาลู่ทางในการทำธุรกิจภาย ใต้ระบบธนาคารกับลาว รวมทั้งเชื้อเชิญบรรดานายธนาคารของลาวให้มาเรียนรู้ระบบธนาคารไทย

แต่สุดท้าย ทางการของลาวกลับอนุมัติการเปิดธนาคารที่เป็นของไทยในลาว เพียง 2 แห่ง คือสำนักงานตัวแทนของธนาคารทหารไทยแห่งหนึ่งกับอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งได้เป็นใบอนุญาตเปิดธนาคาร ทั้งๆ ที่ไม่มีประสบการณ์การทำธุรกิจธนาคารมาก่อน

"ทางแบงก์ชาติของลาวก็ไม่เห็นพูดถึงเลยว่าต้องผ่านการทำแบงก์มาก่อน จุดสำคัญอยู่ที่ว่าต้องมีทีมงานที่มีความรู้ความชำนาญต่างหาก" คุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ เจ้าของใบอนุญาตแบงก์ต่างประเทศในลาวซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวในขณะนี้ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เป็นอีกเนื้อหาหนึ่งของเรื่อง "500 ล้านกีบของสุวรรณี" ที่นิตยสารผู้จัดการได้นำเสนอในฉบับเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน (รายละเอียดอ่านจากล้อมกรอบ "500 ล้านกีบของสุวรรณี" ซึ่งได้นำเนื้อหาดังกล่าวมาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในที่นี้)

"ตอนนั้นในครอบครัวไม่มีใครมีประสบการณ์เรื่องแบงก์กันเลยสักคน ไม่มีใครเรียนจบแบงก์ สามีก็ไม่มีประสบการณ์ ถ้าจะรู้เรื่องแบงก์บ้าง ก็เพราะเคยกู้เงินจาก แบงก์" สิชา สิงห์สมบุญ ลูกสะใภ้ของคุณหญิงสุวรรณีที่ได้เข้าไปร่วมบุกเบิกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใน สปป.ลาวพร้อมกับสามี และคุณหญิงสุวรรณี เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ยืนยันกับผู้จัดการ 360 ํ

สิชาเป็นภรรยาของสาโรจน์ สิงห์สมบุญ ลูกชายของเล็ก สิงห์สมบุญกับคุณหญิงสุวรรณี

การเข้าไปเริ่มต้นจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใน สปป.ลาวของคุณหญิงสุวรรณี พร้อมกับลูกชายและลูกสะใภ้ในยุคนั้น ถือ ว่าเป็นงานที่ยากลำบากพอสมควร เพราะหนึ่ง-สปป.ลาวขณะนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้น การวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กฎหมาย กฎระเบียบโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการลงทุน ระบบการเงินการธนาคารยังไม่ทันสมัยและรัดกุมเพียงพอ

การเข้าไปตั้งธนาคารพาณิชย์ของทีมงานของคุณหญิงสุวรรณี จึงต้องทำไปพร้อมๆ กับการร่วมประสานงานกับรัฐบาล สปป.ลาว ในร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การธนาคารไปด้วยในตัว สอง-ระบบสาธารณูปโภคในนคร หลวงเวียงจันทน์ขณะนั้นก็ยังไม่พร้อม

"ตอนที่มาใหม่ๆ สะพานก็ยังไม่มี ต้องนั่งเรือข้ามฟากมาจากหนองคาย โทรศัพท์ทางไกล ก็มีอยู่แค่ 6 คู่สาย หากมีธุระต้องใช้ จองคู่สายไว้ตอนเช้า บางทีเย็น ยังไม่ได้โทรเลย ถ้ามีเรื่องด่วนก็ต้องตัดสิน ใจขับรถไปขึ้นเรือข้ามแม่น้ำโขง กลับไปใช้ โทรศัพท์ที่หนองคาย" สาโรจน์ สิงห์สมบุญ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารร่วมพัฒนาเล่า

แต่งานที่ถือว่าหินที่สุดคือทำอย่างไร จึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนลาวให้มีความเชื่อมั่นและเข้ามาใช้ระบบของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในด้านเงินฝาก...?

ซึ่งเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกของการวางรากฐานให้กับระบบเศรษฐกิจ

ธนาคารร่วมพัฒนาได้รับใบอนุญาต จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในวันที่ 21 มกราคม 2532 โดยเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท พรหมสุวรรณ อบพืชและไซโลของคุณหญิง สุวรรณีกับธนาคารแห่งรัฐ สปป.ลาว (ปัจจุบันคือธนาคารแห่ง สปป.ลาว หรือธนาคารชาติลาว) ในสัดส่วน 70:30 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไป ดูได้จากเว็บไซต์ของธนาคารร่วมพัฒนา-www.jdbbank.com)

แม้จะไม่มีประสบการณ์ด้านการทำธนาคาร แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่มีอย่างกว้างขวาง คุณหญิงสุวรรณีได้รับความช่วยเหลือจากบรรเจิด ชลวิจารณ์ ซึ่งขณะนั้นยังคุมอำนาจการบริหารงานอยู่ในสหธนาคาร นำทีมงานของสหธนาคารเข้ามาช่วยวางระบบให้กับธนาคารร่วมพัฒนา

"ตอนนั้นเครื่องไม้เครื่องมือก็ยังไม่มี ก็ได้คุณลุงบรรเจิด คุณหญิงสวลี (ภรรยาของบรรเจิด) รวมทั้งคุณปิยะบุตรลูกชาย ยกทีมทั้งสหธนาคารมาช่วยคุณแม่ ทรานสเฟอร์เทคโนโลยีให้ เพราะเราไม่เคยทำแบงก์มาก่อน ไม่รู้เรื่องแบงก์เลย" สิชาเสริม

(หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สหธนาคารถูกทางการบังคับให้ควบรวมกิจการกับบงล.กรุงไทยธนกิจ และสถาบันการเงินอีก 10 แห่ง จัดตั้งเป็นสถาบันการเงินใหม่ ชื่อไทยธนาคาร ซึ่งต่อมาไทยธนาคารก็ได้ถูก CIMB Group จากมาเลเซียซื้อกิจการไปและเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552)

ที่ตั้งของธนาคารร่วมพัฒนาอยู่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นอาคารพาณิชย์ 4 คูหา หัวมุมถนนล้านช้างตัดกับถนนหัดสะดี ห่างจากประตูชัยไม่ถึง 1 กิโลเมตร และห่างจากตลาดเช้าเพียงชั่วข้ามถนน

พิธีเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการได้จัดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคมปีเดียวกัน (2532)

"การกำเนิดธนาคารร่วมพัฒนา ธนาคารหุ้นส่วนระหว่างธนาคารแห่งรัฐ สปป.ลาว กับบริษัทพรหมสุวรรณ ไซโลอบพืชจากไทย ซึ่งมีคุณหญิงสุวรรณี พัวไพโรจน์ เป็นประธาน นี่เป็นเหตุการณ์อันสำคัญยิ่งในการขยายตัวของกิจการธนาคารของลาว อันเป็นผลของการปฏิบัติตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน และความร่วมมือกับต่างประเทศในเรื่องการเงินการธนาคาร โดยใช้กำลังแรงของทุกภาคส่วนเศรษฐกิจในการเสริมสร้างให้ภาคการเงินการธนาคารขยายตัวไปสู่ก้าวใหม่ ทำให้เศรษฐกิจแห่งลาวมีความเจริญก้าวหน้า"

เป็นช่วงต้นของสารแสดงความยินดีที่ไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว มอบให้ในพิธีเปิดกิจการธนาคารร่วมพัฒนาอย่างเป็นทางการ (รายละเอียดเพิ่มเติมดูจาก "สารจากลุงไกสอน")

ปรากฏการณ์ที่ถือว่าฮือฮามากอย่างหนึ่ง คือในวันแรกของการเปิดดำเนินงาน ธนาคารร่วมพัฒนาสามารถระดมเงินฝากได้ถึง 500 ล้านกีบ

ตัวเลขนี้สูงถึงเกือบครึ่งหนึ่งของเงินออมที่มีอยู่ในระบบของ สปป.ลาวขณะนั้น

แต่เงินฝากจำนวนดังกล่าวมาจากแขกที่คุณหญิงสุวรรณีเชิญมาจากฝั่งไทย ให้ข้ามแม่น้ำโขงไปร่วมในพิธีเปิดกิจการมาช่วยกันเปิดบัญชีให้ (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านเรื่อง "500 ล้านกีบของสุวรรณี" อีกครั้ง) ยังไม่ใช่เงินฝากที่ระดมได้จากคนลาวภายในประเทศลาวเอง

การมีที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดเช้า ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างหนึ่งของธนาคารร่วมพัฒนาในการระดมเงินฝาก

ตลาดเช้าในช่วงนั้นยังมีลักษณะตลาดแบบโบราณ ไม่เป็นอาคารถาวรเหมือนในทุกวันนี้

พ่อค้าแม่ค้าที่ขนสินค้าไปจำหน่ายในตลาดเช้า ก็คือชาวบ้านที่หอบผัก ผลไม้ ใส่กระด้งมาขาย เมื่อขายได้เงินมาแล้ว ก็นำเงินสดไปเก็บไว้ที่บ้าน

ธนาคารร่วมพัฒนาเริ่มต้นทำการตลาดเงินฝากกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเช้านี่เอง

"เราก็ไปนั่งเฝ้าเขา บอกกับแม่ค้าว่า คุณป้าเงินที่ขายได้แล้ว อย่าเอากลับบ้านเลย มาฝากหนูเถอะ เรานั่งอยู่ตรงนั้น คุณป้านั่งขายผัก เรียกว่าเราก็นั่งขายผักกับคุณป้า เลย เข้ามาเวียงจันทน์ทีไรก็ต้องไปที่ตลาด เพราะว่าลูกค้าจะอยู่ตรงนั้น 20 ปีที่แล้ว คุณจะหวังให้ลูกค้าเดินเข้ามา ไม่มีทาง ทุกคนเก็บเงินไว้ในไห หรือฝังดินไว้ เพราะเขากลัว แม้แต่รัฐบาลเขาก็กลัว กลัวว่าฝากไว้ แล้วไม่ได้คืน แล้วเราเป็นใครล่ะ ยิ่งหนักเข้าไปอีก" สิชาเล่าถึงบรรยากาศการทำตลาดเงินฝากช่วงเริ่มต้นกิจการใหม่ๆ

"เขากลัวว่าเอาเงินมาฝากไว้กับเรา แล้วรุ่งขึ้นเราจะหนีกลับเมืองไทย" สาโรจน์ ยืนยันข้อมูลเดียวกัน

การที่เจ้าของธนาคารไปปรากฏตัวให้พ่อค้าแม่ค้าเห็นหน้าทุกวัน สามารถสร้างความเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง เริ่มมีคนนำ เงินมาฝากกับธนาคารร่วมพัฒนา แต่เมื่อนำเงินมาฝากแล้วก็ยังไม่มั่นใจเต็มที่

"เราบอกกับเขาว่าเราไม่หนีไปไหน มาดูได้ เราอยู่ที่นี่ตลอด เรียกว่าตอนนั้น ต้องมีคนอยู่ที่ธนาคารตลอด 24 ชั่วโมง เพราะถ้าเกิดลูกค้าไม่เชื่อ มาดูตอนกลางคืน ก็ยังเห็นเรานั่งอยู่" สิชาเล่าต่อ

ขณะที่ทีมงานของคุณหญิงสุวรรณีสามารถทำตลาดเงินฝากกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเช้าได้ผลไประดับหนึ่ง จึงเริ่มมอง หาตลาดใหม่

ด้วยความที่มีประสบการณ์ในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปจากเมืองไทย วิธีการขยายฐานเงินฝากของธนาคารร่วม พัฒนา ก็คือการไปสร้างตลาดสดแห่งใหม่ขึ้น เพื่อรวบรวมพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายอย่างกระจัดกระจายรอบๆ นครหลวงเวียงจันทน์ ไปอยู่ในที่เดียว

คุณหญิงสุวรรณีสร้างตลาดที่ชื่อว่า ตลาด "ทุ่งขันคำ" อยู่ทางนอกตัวเมือง เวียงจันทน์ขึ้นไปทางทิศตะวันออก และก็ใช้กลยุทธ์การหาเงินฝากแบบเดียวกันกับที่ทำกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเช้า

ความจำเป็นในการเร่งระดมเงินฝาก ในช่วงเริ่มต้นกิจการของธนาคารร่วมพัฒนา ถือเป็นแนวทางหนึ่งของการวางรากฐานทางด้านการเงินการคลังของรัฐบาล สปป. ลาว เพราะเป็นการรวบรวมเงินที่กระจัด กระจายอยู่นอกระบบ จากความไม่เชื่อถือของประชาชนให้กลับมาอยู่ในระบบ และสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบ การเงินการธนาคารของประเทศให้เกิดขึ้น

"เมื่อชาวบ้านเริ่มเชื่อ ขนเงินมาฝาก ไว้กับเรา บางคนหอบใส่กระสอบปุ๋ยมาเป็นกระสอบ มาถึงก็โยนโครม ฝุ่นฟุ้งกระจาย เราก็เอามานับ นับเสร็จก็มอบสมุดบัญชีเงินฝากให้กับเขา เขาก็ทำหน้างงๆ ว่า ขน เงินมาเป็นกระสอบ ได้สมุดเล่มเดียวกลับคืนไป เราก็ต้องอธิบาย ส่วนเงินที่ได้ เราก็นำส่งให้กระทรวงการคลัง เพื่อนำไปพิมพ์ ธนบัตรออกมาใช้ใหม่ ถือเป็นการรีครูทเงิน จากที่กระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ อยู่นอก ระบบให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ"

5 ปีแรกของการดำเนินงานของธนาคารร่วมพัฒนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่หลังจากมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 เชื่อมจากจังหวัด หนองคายมายังนครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเดือนเมษายน 2537 ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ระบบการเงินการธนาคารของ สปป.ลาว เริ่มลงตัวขึ้น รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบต่างๆ เริ่มมีความทันสมัยมากขึ้น

ที่สำคัญ เริ่มมีนักลงทุนทั้งจากภาย ในประเทศและต่างประเทศกล้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น ธนาคารร่วมพัฒนาจึงสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น

จากวันแรกที่เริ่มดำเนินงาน ธนาคารร่วมพัฒนามีพนักงานเพียง 30 คน ทั้งตัวคุณหญิงสุวรรณี สาโรจน์ และสิชา ต้องทำงานอย่างตัวเป็นเกลียว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนให้มีต่อระบบธนาคาร

"เราต้องไปนั่งอยู่ที่ตลาดทุกวันจน เขาจำหน้าได้ ส่วนสามีก็นั่งอยู่ในแบงก์คอยบริหารจัดการ คุณแม่สามีก็ดูนโยบายช่วยกันคนละไม้คนละมือ ลำบาก แต่ก็สนุก"

การดำเนินงานของธนาคารร่วม พัฒนาเริ่มมีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ

ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจครบวงจร ทั้งรับเงินฝาก ปล่อยสินเชื่อ บริการด้านต่างประเทศ และธุรกิจรายย่อย (retail banking)

จำนวนพนักงานเริ่มขยายเพิ่มขึ้น อาคารสำนักงานก็ขยายจาก 4 คูหามาเป็น 8 คูหา

วันที่ 25 ธันวาคม 2545 ธนาคารร่วมพัฒนาเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่นำบัตรเครดิตเข้าไปให้บริการใน สปป.ลาว โดยเป็นตัวแทนของวีซ่าและมาสเตอร์ ให้บริการทั้งธุรกิจธนาคารผู้ออกบัตร (Issuer Banking) และธุรกิจธนาคารผู้รับบัตร (Acquirer Banking)

รวมถึงการนำเครื่อง ATM ไปให้บริการเป็นรายแรกในปี 2547 และเริ่มให้บริการบัตรเดบิตในปี 2548

"อันนี้ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลในการนำบริการในรูปบัตรพลาสติกเข้ามาใช้ให้มากขึ้น เขาอยากให้เป็นอย่างนั้น คือไม่อยากให้มีเงินสดเข้ามาอยู่ในตลาดมากเกินไป เพราะถ้ามากเกินไปมันก็เฟ้อ แล้วอีกอย่างมันก็ไม่ค่อยปลอดภัย" สาโรจน์อธิบาย

การนำบริการบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตร ATM เข้ามาใน สปป.ลาวเป็นช่วง ที่ลาวกำลังเริ่มเปิดประเทศอย่างเต็มที่ รัฐมนตรีของ สปป.ลาว เริ่มเดินทางออกไป เจรจาการค้ากับหลายๆ ประเทศ นักธุรกิจ ลาวเริ่มเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหาคู่ค้า หรือผู้ร่วมทุน

คนเหล่านี้จำเป็นต้องพกบัตรเครดิต ติดตัวเพื่อความสะดวก จากเดิมที่ต้องพกแต่เงินสด

ที่สำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดิน ทางเข้ามายัง สปป.ลาว เริ่มมีมากขึ้น มากขึ้น

ธนาคารร่วมพัฒนาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ในฐานะผู้นำเสนอบริการบัตรเครดิตเป็นรายแรก

แต่การเปิดประเทศของ สปป.ลาว ซึ่งหมายถึงการเปิดเสรีธุรกิจการเงินด้วยนั้น กลับไม่ได้ทำให้การทำธุรกิจของธนาคารร่วมพัฒนา สบายขึ้น...?

จากวันแรกที่เปิดดำเนินการเมื่อปี 2532 เงินออมในระบบของ สปป.ลาวมีอยู่เพียง 1 พันกว่าล้านกีบ แต่จากตัวเลขล่าสุดของธนาคารแห่ง สปป.ลาวในไตรมาส 2 ของปี 2552 เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ของ สปป.ลาวมีถึง 10,629.1 พันล้านกีบ

จำนวนธนาคารใน สปป.ลาวจากที่มีไม่ถึง 10 แห่งในปี 2532 ปัจจุบันใน สปป.ลาวมีธนาคาร (ทุกรูปแบบ) ทั้งสิ้น 23 แห่ง และหากไม่มีอะไรผิดพลาด มีการคาดการณ์กันว่าปีนี้ (2553) รัฐบาล สปป.ลาวอาจจะให้ใบอนุญาตธนาคาร พาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 5-6 แห่ง

นอกจากนี้ยังมีผู้ยื่นแสดงเจตจำนงจะขอเปิดบริษัทลิสซิ่งอีก 14 รายที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาตจากรัฐบาล

และในเร็วๆ นี้ สภาแห่งรัฐของ สปป.ลาวก็กำลังจะผ่านร่างกฎหมายให้มีการจัดตั้งบริษัทเงินทุนได้อีก

"ประชากรลาวมีอยู่ไม่ถึง 7 ล้านคน มีแบงก์ให้บริการถึง 23 แบงก์ แล้วยังจะมีบริษัทลิสซิ่ง บริษัทเงินทุนเข้ามาอีก การแข่งขันนับวันสูงมาก ทำให้การทำงานของเราลำบากมากขึ้น" สาโรจน์ยอมรับ

ลาวเริ่มเปิดเสรีธุรกิจการเงินอย่างเต็มรูปแบบประมาณ 2 ปีที่แล้ว มีการให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งธนาคารพาณิชย์เอกชนของลาวเอง และธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ รวมทั้งธนาคารของรัฐเดิมที่เป็นธนาคารเฉพาะกิจก็ปรับบทบาทมาเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มตัว (รายละเอียด ดูจากตาราง "ธนาคารใน สปป.ลาว")

บนถนนล้านช้างและหัดสะดีจากเดิมที่เคยมีธนาคารร่วมพัฒนาโดดเด่น อยู่เพียงแห่งเดียว ปัจจุบันถนนทั้ง 2 สายเป็นยิ่งกว่าถนนสีลม หรือถนนสาทรของไทย

เฉพาะถนนล้านช้าง มีธนาคารพาณิชย์ตั้งอยู่ติดๆ กันถึง 6 แห่ง และถนนหัดสะดี มีธนาคารพาณิชย์ตั้งอยู่อีก 5 แห่ง

การแข่งขันเฉพาะแค่การแย่งเงินฝากอย่างเดียวสูงมาก

ใน สปป.ลาว ธนาคารพาณิชย์สามารถรับเงินฝากได้ถึง 3 สกุลเงินคือ สกุลกีบ สกุลบาท และสกุลดอลลาร์สหรัฐ

ในไตรมาส 2 ปี 2552 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เฉลี่ย เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการลดลงทุกสกุลเงิน ดังนี้

สกุลเงินกีบ เงินฝากออมทรัพย์ลดจาก 3.60% เป็น 2.97% เงินฝากประจำ 12 เดือน ลดลงจาก 10.99% เป็น 8.04% สกุลเงินบาท เงินฝากออมทรัพย์ลดลงจาก 0.72% เป็น 0.68% เงินฝากประจำ 12 เดือน ลดลงจาก 1.97% เป็น 1.96% และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินฝากออมทรัพย์ลดลงจาก 0.86% เป็น 0.84% เงินฝากประจำ 12 เดือน ลดลงจาก 2.50% เป็น 2.27%" เป็นข้อมูลสรุป ภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ที่ประกาศโดยธนาคารแห่ง สปป.ลาว

แต่ในความเป็นจริงมีการให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงถึงเฉลี่ย 6% ในสกุลเงินที่ไม่ใช่กีบ

นอกจากนี้ยังมีการสร้างแรงจูงใจในการระดมเงินฝาก โดยธนาคารพาณิชย์บางแห่งถึงกับมีการจัดรายการจับฉลาก โดยมีรถยนต์ราคาแพงเป็นของรางวัลมอบกับผู้ที่มาเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารแห่งนั้น

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลับมีแนวโน้มที่ลดลงในสัดส่วนที่สูงกว่า

"อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เฉลี่ย เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีแนวโน้มลดลงทุกสกุลเงิน ดังนี้

สกุลเงินกีบ ระยะ 1 ปี ลดลงจาก 17.30% เป็น 12.72% สกุลเงินบาท ระยะ 1 ปี ลดลงจาก 11.19% เป็น 8.01% และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ระยะ 1 ปี ลดลงจาก 9.84% เป็น 7.79%" ข้อมูลสรุปภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ฉบับเดียวกันระบุ

การเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของ สปป.ลาว ไม่ได้สร้างความได้เปรียบให้กับธนาคารร่วมพัฒนาในจุดนี้ แต่ธนาคารร่วมพัฒนาก็มีแต้มต่อในแง่ความเชื่อมั่นของกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมที่ใช้บริการกับธนาคารยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน

ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2552 ธนาคารร่วมพัฒนาได้ย้ายที่ทำการชั่วคราว เพื่อลงทุนก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่บนพื้นที่เดิม

"เราคิดว่าตอนย้ายสำนักงานชั่วคราว เงินฝากของเราอาจลดลงไปบ้าง แต่ความเป็นจริงกลับเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้เสียอีก" สาโรจน์ยืนยัน

เขามองว่าการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่เข้มข้นขึ้นมานั้น เป็นแรงผลักดันให้ธนาคารร่วมพัฒนาจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการให้บริการ

"เราคงลงไปแข่งขันในเรื่องดอกเบี้ยกับเขาไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความรู้สึกประทับใจ อยากจะเข้ามาใช้บริการกับเรามากกว่า"

สาโรจน์ย้ำว่า "ธนาคารร่วมพัฒนาถือเป็นธนาคารของที่นี่ เป็นธนาคารท้องถิ่น เราต้องสปีดอัพตัวเราขึ้นมา เพราะเรามองแล้ว ยังไงเราก็อยากจะโตในนี้ เพราะเราเริ่มอะไรหลายอย่างเป็นรายแรก ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตมาสเตอร์ วีซ่า หรือการนำตู้เอทีเอ็มเข้ามาให้บริการ แต่เราก็ชะลอการขยายงานไปเกือบปีครึ่ง ตอนเริ่มสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ใหม่ เราไม่ได้พัฒนาเต็มที่ เพราะถ้าตึกไม่เสร็จ ก็ไม่รู้จะทำยังไง"

ความจริงธนาคารร่วมพัฒนาเริ่มมีการขยายงานไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างอาคาร สำนักงานใหญ่แห่งใหม่แล้ว

ปี 2551 เป็นปีแรกที่ธนาคารร่วมพัฒนามีการขยายสาขา โดยการเปิดสาขาพระธาตุ หลวงขึ้นเป็นแห่งแรก และในปีถัดมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ก็ได้เปิดสาขาหลวงพระบางขึ้นเป็นสาขาที่ 2

ตามแผนในปีนี้ธนาคารร่วมพัฒนาตั้งใจจะเปิดสาขาขึ้นอีก 3 แห่ง ที่ถนนทางไปสนามบิน ในนครหลวงเวียงจันทน์ 1 แห่ง กับที่วังเวียงและเมืองปากเซอีกที่ละ 1 แห่ง

จำนวนตู้เอทีเอ็มที่ปัจจุบันธนาคารร่วมพัฒนามีตู้เอทีเอ็มให้บริการอยู่แล้ว 24 ตู้ มีการสั่งซื้อเพิ่มเข้ามาอีก 7 ตู้ รวม ถึงเครื่องรูดบัตรเครดิต (EDC) ที่ติดตั้งให้บริการตามร้านค้าต่างๆ 400 กว่าจุด มีการสั่งเพิ่มเข้ามาเพื่อติดตั้งเพิ่มเติมอีก 150 จุด

ฐานผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคารร่วมพัฒนาปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3,000 กว่าใบ

กลางเดือนพฤศจิกายน 2552 มีการเปิดอาคาร สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ ซึ่งจัดขึ้นหลังจากการดำเนินงานของธนาคารร่วมพัฒนาใน สปป.ลาว มีอายุครบ 20 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2552

ตระกูลสิงห์สมบุญได้เจรจาซื้อหุ้นในส่วน 30% ที่ถืออยู่โดยธนาคารแห่ง สปป.ลาวกลับมาทั้งหมด

"อย่าเรียกเป็นการซื้อคืนเลย เพราะเราทำธุรกิจ ร่วมกันมานานแล้ว เพียงแต่หุ้นในส่วน 30% นั้นเดิมถือในนามของแบงก์ชาติของลาว ซึ่งตามหลักสากลแล้วแบงก์ชาติไม่ควรเข้าไปถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์" สาโรจน์อธิบาย

ปัจจุบันโครงสร้างการบริหารงานในธนาคารร่วมพัฒนา นอกจากคุณหญิงสุวรรณีที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะอำนวยการแล้ว ก็มีเพียงสาโรจน์ที่บริหาร งานประจำในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่

ส่วนคนอื่นๆ ในตระกูลมีบทบาทอยู่ในคณะกรรมการบริหาร ไม่ได้ลงมาขลุกกับการดูแลกิจการแบบวันต่อวัน

จำนวนพนักงานของธนาคารร่วมพัฒนา ปัจจุบัน มีอยู่ประมาณ 150 คน ในจำนวนนี้ประมาณ 10 คน เป็นคนไทยเป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ในฐานะนักบริหาร มืออาชีพ

จุดน่าสนใจอยู่ที่คนในตระกูลสิงห์สมบุญรุ่นที่ 3 ซึ่งจบการศึกษามาจากต่างประเทศ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น

สาโรจน์และสิชา มีลูก 5 คน 3 คนแรกเรียนจบแล้ว กำลังเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือกิจการของครอบครัว ส่วนคนที่ 4 กำลังจะเรียนจบ

เหมโชค สิงห์สมบุญ ลูกชายคนโตจบปริญญาเอกทางด้านการเงินจากอังกฤษ เข้ามาช่วยดูในเรื่องการวางยุทธศาสตร์ขยายกิจการของธนาคารร่วมพัฒนา ให้สอดรับกับธุรกิจอื่นๆ ของครอบครัว ทั้งใน สปป.ลาว และไทย (อ่านเรื่อง "นาคราชนคร โครงการเชื่อมสัมพันธ์ 3 ชาติ ที่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรค" ประกอบ)

ศรัณย์ลภัส สิงห์สมบุญ คนที่ 2 จบปริญญาโททางด้านกฎหมาย นอกจากกำลังหาประสบการณ์อยู่ในบริษัทมิตซุยออยล์ ในกรุงเทพฯ แล้วยังมีบทบาทในการดูแลด้านการตลาดต่างประเทศให้กับกิจการของที่บ้าน

เหมบุตร สิงห์สมบุญ จบนักบินมาจากอเมริกา กำลังเข้ามาช่วยสาโรจน์ในด้านการวางระบบไอที และระบบโมบายแบงกิ้ง รวมถึงการขยายตลาดบัตรเครดิตให้กับธนาคารร่วมพัฒนา

พัชรวรัมอร สิงห์สมบุญ กำลังศึกษาด้าน Entertainment Media อยู่ที่มหาวิทยาลัย มหิดล อินเตอร์ เมื่อจบแล้ว สิชาได้วางตัวไว้ว่าจะให้ดูแลด้านการประชาสัมพันธ์

"เราสอนลูกทุกคนให้ติดดิน เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนจบ ต้องเข้ามาช่วยกันพัฒนาในลาว เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยกิจการของที่บ้านแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยกันพัฒนา ประเทศของเขาด้วย" สิชาขยายแนวคิด

คนในตระกูลสิงห์สมบุญรุ่นที่ 3 กำลังจะเป็นกำลังสำคัญในการบุกเบิก ขยายกิจการของธนาคารร่วมพัฒนา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์เกิดใหม่ทั้งจากของลาวเอง และธนาคารต่างประเทศ

นอกจากการเสริมกำลังคน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ จบการศึกษามาจากต่างประเทศแล้ว อีกแนวทางหนึ่งในการขยายงานเพื่อรับกับการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ใน สปป.ลาวของสาโรจน์ คือการหาพันธมิตรทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อเดือนตุลาคม 2550 ธนาคารร่วมพัฒนาได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับธนาคาร พัฒนาลาว ธนาคารพาณิชย์ของรัฐบาล สปป.ลาว ที่มีสาขาอยู่ทุกแขวงทั่วประเทศ

ตามความร่วมมือดังกล่าว ธนาคารร่วมพัฒนาได้นำเครื่อง EDC ไปติดตั้งไว้ตามสาขาของธนาคารพัฒนาลาวทุกแห่ง ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารสามารถนำบัตรไปรูดเงินสด ผ่านทางเครื่อง EDC ที่ติดตั้งเอาไว้ในสาขาของธนาคารพัฒนาลาวได้ โดยแบ่งค่าบริการกันคนละครึ่ง

ความร่วมมือนี้เป็นตัวอย่างที่สาโรจน์ยกขึ้นมาให้เห็นถึงรูปแบบการขยายงานในลักษณะการหาพันธมิตรของธนาคารร่วมพัฒนา

แต่พันธมิตรที่กำลังจะเข้ามาเพิ่มขึ้น จะมีความร่วมมือกับธนาคารร่วมพัฒนาในรูปแบบใดบ้าง คงต้องรอดูในอนาคต

เพราะในตลาดการเงินที่กำลังเปิดกว้างอย่างใน สปป.ลาว นั้น แม้จะเป็นประเทศ เล็กๆ ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land lock) แต่การวางยุทธศาสตร์ชาติภายใต้วิสัยทัศน์ "จินตนาการใหม่" ที่เริ่มมาแล้ว 20 ปี ได้สร้างบทบาทใหม่ให้กับ สปป.ลาว ในการเป็นจุดเชื่อมโยง (Land Link) ประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เข้าด้วยกันซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับทุกประเทศในภูมิภาคนี้

หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกกำลังให้ความสนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมแบ่งเค้ก ความเจริญเติบโตก้อนนี้กับ สปป.ลาว

ธนาคารร่วมพัฒนา ธนาคารพาณิชย์สัญชาติลาวที่เป็นของคนไทยและมีส่วนเป็นกลไกสำคัญในการขยายบทบาท ตามยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์ "จินตนาการใหม่"

น่าจะเป็นอีกธนาคารหนึ่งที่ต้องมีนักลงทุนจากหลายๆ ชาติ ให้ความสนใจอยากจะเข้ามาร่วมทำธุรกิจด้วยเช่นกัน

ในเรื่องนี้ ผู้จัดการ 360 ํ คงต้องติดตามความคืบหน้ามานำเสนออย่างต่อเนื่อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.