|
Telangana ในคำถามเรื่องการแยกรัฐ
โดย
ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัจจุบันอินเดียมีรัฐทั้งหมด 28 รัฐ กำลังจะมีรัฐน้องใหม่ที่ 29 ชื่อว่า Telangana ซึ่งจะแยกตัวออกจากรัฐอานธรประเทศ แต่นับจากคำประกาศของรัฐบาลกลางเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา อานธรประเทศโดยเฉพาะเมืองหลวงไฮเดอราบัดก็แทบจะลุกเป็นไฟ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
อานธรประเทศเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าของอินเดีย ทั้งในแง่จำนวนประชากรและขนาดพื้นที่ ประกอบด้วยเขตที่มีปูมหลังทางประวัติ ศาสตร์ต่างกัน แต่ใช้ภาษาเตลากูร่วมกัน 3 เขต ได้แก่ อานธรา เตลังคณา และรยาลาเสมา เรื่องการรวมและแยกรัฐของอานธรประเทศนั้นเป็นปัญหา มาตั้งแต่สมัยอินเดียประกาศเอกราชจากอังกฤษ เดิม เตลังคณาซึ่งสมัยนั้นชื่อว่ารัฐไฮเดอราบัด มีสถานะเป็นรัฐอิสระ ตั้งเป็นรัฐขึ้นจากเขตใต้การปกครองเดิมของราชวงศ์นิซามแห่งไฮเดอราบัดส่วนที่ประชากรใช้ภาษาเตลากู ขณะที่อานธราเป็นเขตที่คนใช้ภาษา เตลากูแต่รวมอยู่ในรัฐทมิฬนาฑู หรือที่สมัยนั้นเรียกเป็น Madras Presidency ซึ่งมีทมิฬเป็นภาษาทางการ
ในปี 1952 Potti Sriramulu นักเคลื่อน ไหวสายคานธีประกาศอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้แยกอานธรา ออกเป็นรัฐอิสระ และเสียชีวิตหลังอดอาหารอยู่เป็นเวลา 58 วัน ทำ ให้รัฐบาลกลางจัดตั้งคณะกรรมการ States Reorganisation Commission ขึ้นและนำไปสู่ การจัดแบ่งรัฐแบบใช้ภาษาเป็นเกณฑ์หลัก (Linguistic States) โดยรวมอานธราเข้ากับรัฐไฮเดอราบัด ในปี 1956 ภายใต้กรอบที่ว่าเขตทั้งสองมีเตลากูเป็นภาษาร่วม
แต่เนื่องจากความแตกต่างทางพื้นวัฒนธรรม ปัญหาสัดส่วนตัวแทนในภาคการเมืองซึ่งเตลังคณามีน้อยกว่าเพราะเป็นเขตที่เล็กกว่า อันมีผลต่อนโยบายการพัฒนาและการจัดสรรงบประมาณ โดยเมื่อเทียบกับเขตอานธราที่เป็นพื้นที่ชายฝั่งเตลังคณาโดยรวมยกเว้นเมืองหลวงไฮเดอราบัด มีปัญหา แหล่งน้ำและด้อยพัฒนาทางด้านสาธารณูปโภคกว่ามาก ขณะเดียวกันในเมืองไฮเดอราบัด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเมืองไอทีและแหล่งลงทุนสำคัญของอินเดียยังมีปัญหาการแย่งงาน ซึ่งชาวไฮเดอราบัดไม่พอใจที่ประชากรจำนวนมากจากอานธราและรยาลาเสมา อพยพเข้ามาแย่งงานและจับจองที่ดิน ความคับข้อง ใจเหล่านี้ทำให้ประเด็นการแยกรัฐเตลังคณาคุมาตลอดหลายทศวรรษ และเคยลุกลามเป็นเหตุวุ่นวาย ในช่วงปี 1969-1972 มาแล้ว
การแยกรัฐกลับมาเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อ K. Chandrasekhara Rao ผู้นำพรรค Telangana Rashtra Samithi (TRS) ชูเรื่องรัฐเตลังคณาเป็นธงนำมาแต่แรกตั้งพรรคในปี 2002 และอาศัยหลุมอากาศทางการเมืองหลังการเสียชีวิตของผู้ว่าการรัฐจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อกันยายนปีก่อน ประกาศอดอาหารประท้วงเรียกร้อง การแยกรัฐ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
รัฐบาลกลางภายใต้การนำพรรคคองเกรส อาจเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยและนำไปสู่ความวุ่นวาย ได้เรียกประชุมแกนนำพรรคและแถลงในวันที่ 9 ธันวาคม ถึงมติที่จะให้มีการแยกรัฐเตลังคณาออกจากอานธรประเทศ หลังแถลงการแบบสายฟ้าแลบสมาชิกพรรคคองเกรสจำนวนไม่น้อยมีปฏิกิริยาต่อต้าน ด้วยมองว่าเป็นการประชุมและตัดสินใจฝ่ายเดียว ในรัฐอานธรประเทศอลหม่านไปด้วยการสไตรค์ปิดเมืองทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สองวันหลังจากนั้นสมาชิกสภาท้องถิ่นของรัฐจากหลายพรรครวมทั้งคองเกรส ประท้วงด้วยการลาออกถึง 130 คน ถือเป็นร้อยละ 44 ของ ส.ส. ทำให้เกิดภาวะวิกฤติสภาท้องถิ่นขึ้น
สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อรัฐบาลกลางแสดงท่าทีลังเลโดยไม่ยอมประกาศกรอบเวลาการแยกรัฐที่ชัดเจน ทำให้กลุ่มนักศึกษาในเมืองไฮเดอราบัดซึ่งสนับสนุนการแยกรัฐ ชุมนุมประท้วงและเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทางการ ในเช้าวันที่ 19 มกราคม มีผู้พบศพไหม้เกรียมของนักศึกษาผู้หนึ่งพร้อมด้วยจดหมายถึงนางโซเนีย คานธี ประธานพรรคคองเกรส เรียกร้องให้มีการแยกรัฐโดยทันที ทำให้เชื่อกันว่าเป็นการเผาตัวตายเพื่อประท้วงแม้ว่าจะไม่มีประจักษ์พยานก็ตาม
โดยภาพรวมแล้วการตัดสินใจของรัฐบาลหรืออันที่จริงโดยพรรคคองเกรสครั้งนี้ถูกมองว่าผลีผลาม มองการณ์สั้น รวมศูนย์ หวังผลเรื่องคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยยอมกลับคำพูดที่แถลงไว้ในนโยบายคราวหาเสียงหนก่อน ซึ่งพรรคสัญญาว่าจะเดินหน้าตั้งรัฐเตลังคณาผ่านกระบวนการหารือร่วมและทำประชามติ ขณะที่สมาชิกพรรคคองเกรส และพรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ นำร่องสำหรับการแบ่งรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งราหุล คานธี เลขาธิการพรรคคองเกรส บุตรชายของนางโซเนีย กำลังเร่งมือผลักดัน ทำให้คาดหมายกันว่าจะมีการประกาศแบ่งอุตตรประเทศออกเป็น 3 รัฐในเร็ววันนี้
นอกเหนือจากความขัดแย้งภายในรัฐอานธรประเทศเอง ซึ่งดูเหมือนไม่ได้มีการเตรียมการณ์รับมือแต่อย่างใด รัฐบาลกลางยังดูจะลืมผลกระทบที่อาจมีต่อข้อเรียกร้องเรื่องการแยกรัฐทั้งที่เป็นประเด็นร้อนเย็นในรัฐอื่นๆ นับจากกรณีร้อนๆ อย่าง Gorkhaland ในเขตดาร์จีลิงและกาลิมปง Kamtapur ทางตอนเหนือของรัฐเบงกอลตะวันตก Vidarbha ที่ต้องการแยกตัวจากรัฐมหาราษฏระ ไปจนถึงเรื่องเย็นที่อาจกลับมาร้อนอย่างกรณีข้อเรียกร้องก่อตั้งรัฐ Bundelkhand ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่คาบต่อระหว่างรัฐอุตตรประเทศและมัธยประเทศ กรณี Mithilanchal ทางตอนเหนือของพิหาร Maru Pradesh เขตทะเลทรายของรัฐราชสถาน ไปจนถึงการแยกรัฐชัมมูและแคชเมียร์ออกเป็นสองรัฐ โดยที่ดินแดนส่วนลาดักจะมีสถานะเป็นดินแดนสหภาพ
ประเด็นเรื่องการแยกรัฐนี้ บ้างเกรงว่าจะทำให้อินเดียแตกออกเป็นเสี่ยงๆ มีสภาพเหมือนอดีตกลุ่มประเทศบอลข่าน บ้างก็เห็นดีเห็นงาม เช่นที่ N. J. Kurian นักวิชาการประจำสถาบันพัฒนาสังคมในเดลีมองว่าอินเดียน่าจะแบ่งออกเป็น 50 รัฐ และขนาดของรัฐในอุดมคติควรจะมีประชากรระหว่าง 10-40 ล้าน
ขณะเดียวกันมีผู้ให้ความเห็นว่า รัฐควรให้ความสำคัญและปรับแก้แผนการพัฒนาส่วนภูมิภาคให้ตรงต้องต่อปัญหาเฉพาะในแต่ละพื้นที่ แทนที่จะการแยกรัฐเป็นตัวแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะการแยกรัฐมักจะตามมาด้วยความขัดแย้งเรื่องการแบ่งทรัพยากร ข้างฝ่ายนักประวัติศาสตร์อย่าง Gyanesh Kudaisya มองว่ารัฐใหม่น่าจะถือกำเนิดพร้อมกับรูปแบบการบริหารปกครองแบบใหม่ ไม่ควรเดินตาม รอยรูปแบบเก่าที่ล้มเหลวจนเป็นเหตุแห่งการแยกรัฐ นัยหนึ่งไม่ควรเป็นแค่การแบ่งเหล้าเก่าออกเป็นขวดเล็กๆ
ประเด็นคำถามและความเห็นเหล่านี้คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางที่จะต้องเร่งทำการบ้าน เพื่อรับมือสถานการณ์ของว่าที่รัฐเตลังคณาและดินแดนเขตอื่นที่กำลังพากันตั้งคำถามง่ายๆ ว่า เมื่อมีรัฐเตลังคณาได้ ทำไมจึงจะมีกูรข่าแลนด์ โบโดแลนด์ วิดาร์ภา ฯลฯ ไม่ได้
คู่มือเล่มสำคัญที่รัฐบาลน่าจะใช้อ่านประกอบ คือ Thoughts on Linguistic States เขียนโดย ดร.ภิม ราว อัมเบดการ์ เมื่อปี 1955 แนวคิดหลาย ประการที่นักคิดผู้ร่างรัฐธรรมนูญอินเดียท่านนี้เสนอไว้ ล้วนเป็นจริงในเวลาต่อมา อาทิ ข้อเสนอให้แบ่งรัฐมัธยประเทศและพิหาร ซึ่ง 45 ปีต่อมาได้ กำเนิดเป็นรัฐฉัตรติสครห์และฌาร์ขัณฑ์ ข้อแนะนำให้แบ่งบอมเบย์เป็นรัฐย่อย ซึ่งขณะนั้นบอมเบย์เป็นรัฐใหญ่รวมไว้ด้วยรัฐมหาราษฏระและคุชราตปัจจุบัน ทั้งแนะว่าเมืองบอมเบย์หรือมุมไบควรมีลักษณะการปกครองพิเศษแบบ 'City State' เพราะหลอมรวมอยู่ด้วยคนหลากชาติพันธุ์และภาษา ส่วนอุตตรประเทศที่กำลังเป็นประเด็นในปัจจุบัน ท่านก็เสนอไว้เมื่อกว่า 50 ปีก่อนว่าควรแบ่งออกเป็น 3 รัฐ
ท้ายสุด ดร.อัมเบดการ์ได้เตือนสติไว้ว่า การแบ่งรัฐโดยใช้ภาษาถิ่นเป็นกรอบ แม้จะถือว่าสำคัญก็ไม่ควรตัดสินใจโดยอำนาจบาตรใหญ่ หรือทำเพื่อสนองประโยชน์พรรคหนึ่งพรรคใด หากควรไตร่ตรองด้วยเหตุผลอย่างรอบคอบ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|