|

“หนังขงจื๊อ” ในฐานะเครื่องมือทางการเมือง
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ผมถือโอกาสวันตรุษจีนหลบคลื่นผู้คนในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์เข้าโรงภาพยนตร์ไปดูหนังเรื่อง "ขงจื๊อ (Confucius)"
กลางเดือนมกราคม 2553 ก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน "ขงจื๊อ" ตกเป็นกรณีโด่งดังไปทั่วโลกเพราะสื่อมวลชนทั่วโลกตีข่าวว่า รัฐบาลจีนได้สั่งให้โรงภาพยนตร์มากกว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศหยุดฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดเรื่อง "อวตาร (Avatar)" เพื่อเตรียมรับ "ขงจื๊อ" ที่จะเข้าฉายในวันที่ 22 มกราคม
สำหรับสื่อมวลชนตะวันตกและชาวต่างชาติบางส่วนอาจมองว่าการกีดกันภาพยนตร์ต่างชาติเช่นนี้เป็นเรื่องแปลก แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องการ จำกัดโควตาภาพยนตร์ต่างชาติที่ฉายในโรงภาพยนตร์ จีนนั้นมีมานานแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดว่าภาพยนตร์เกี่ยว กับปราชญ์เมธีผู้ยิ่งใหญ่และสร้างให้เป็นสัญลักษณ์ของจีนใหม่เรื่องนี้ รัฐบาลปักกิ่งเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ที่ร่วมลงขันในต้นทุนสร้างและโฆษณารวมกว่า 150 ล้านหยวน หรือกว่า 750 ล้านบาท (ขณะที่ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าใช้ทุนสร้างเพียง 22 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือราว 100 ล้านบาท)1
ซึ่งเมื่อลงโรงในจีนแล้ว "ขงจื๊อ" ก็ไม่ทำให้รัฐบาลจีนต้องผิดหวัง เพราะเพียงแค่ 2 สัปดาห์หลังเข้าฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำรายได้กว่า 70 ล้านหยวน (350 ล้านบาท) และอีกไม่กี่วันถัดมาก็ทำรายได้ทะลุร้อยล้านหยวน (ราว 500 ล้านบาท) ได้สำเร็จ ทั้งส่งให้ผู้กำกับคือ หู เหมย ( ) ถูก จารึกชื่อว่าเป็นผู้กำกับหญิงชาวจีนคนแรกที่สร้าง ภาพยนตร์ซึ่งทำรายได้มากกว่าร้อยล้านหยวน
แม้รายได้ของ "ขงจื๊อ" จะไม่คุ้มทุนและเทียบไม่ได้แม้สักนิดกับ "อวตาร" หนังไซไฟทุบสถิติ บอกซ์ออฟฟิศที่ทำรายได้ทั่วโลกมากกว่า 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 77,000 ล้านบาท แต่ความสำเร็จดังกล่าวก็ส่งผลให้มีข่าวออกมาว่า ภาพยนตร์ขงจื๊อกำลังจะมีภาคต่อตามมาอีก โดยเนื้อหาของภาคต่อคาดการณ์กันว่าจะเป็น "ภาคปฐมบทขงจื๊อ ( ) ซึ่งจะกล่าวถึงต้นกำเนิด การเติบใหญ่ของปราชญ์จีนผู้นี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง ขงจื๊อกับสานุศิษย์ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างขงจื๊อ กับครอบครัวด้วย โดยบทภาพยนตร์ของปฐมบทขงจื๊อนั้นเขียนเสร็จแล้วและน่าจะเปิดกล้องได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้2
ผมคงไม่ใช้คอลัมน์นี้เพื่ออธิบายถึงประวัติของขงจื๊อ อิทธิพลคำสอนของขงจื๊อและลัทธิขงจื๊อ ( ) ที่มีต่อประเทศจีน ชาวจีนและชาวโลกให้ยืดยาวนักเพราะท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงพอทราบมา บ้างแล้ว และจริงๆ ตามร้านหนังสือหรือในอินเทอร์ เน็ตก็หาข้อมูลเรื่องนี้ได้ไม่ยากเย็นนักทั้งภาษาไทย ภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ ผมเพียงขอกล่าวถึงอิทธิพลของลัทธิขงจื๊อสั้นๆ ว่า เกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เวียดนาม รวมถึงประเทศที่อยู่ในคาบสมุทรมลายู นั้นต่างถูกจัดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื๊อ ( ) ด้วยกันทั้งสิ้น
แล้ว "หนังขงจื๊อ" เป็นเครื่องมือ ทางการเมืองได้อย่างไร?
เป็นที่ทราบกันในแวดวงสื่อสาร มวลชนทั่วโลกว่า หลังสงครามโลกครั้ง ที่สองเป็นต้นมา อาณาจักรของการ สื่อสารระหว่างประเทศนั้นถูกครอบครองโดยสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนมาก จนกลายเป็นส่วนเสริมของจักรวรรดินิยมอเมริกันไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยี เนื้อหา การศึกษาและอุดมการณ์ทางวิชาชีพ จนมีผู้เปรียบเทียบว่าระบบการสื่อสารมวลชนยุคใหม่ที่ถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในแต่ละประเทศในปัจจุบันนั้น เป็นเพียงส่วนขยายของความเป็นอเมริกันเท่านั้นเอง3
ด้วยเหตุนี้ การที่จีนจะปูทางให้ตัวเองสามารถ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกทัดเทียมกับสหรัฐ อเมริกาได้อย่างเต็มตัวนั้น จีนต้องบ่อนเซาะแนวคิด แบบอเมริกันและเข้าไปกินพื้นที่ทางการสื่อสารระหว่างประเทศให้ได้เสียก่อน ด้วยเหตุนี้เองเราจึงสังเกตเห็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสำนักข่าวซินหัว ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานมากกว่าหนึ่งหมื่นคน (เทียบกับสำนักข่าวรอยเตอร์ที่มีเพียงไม่กี่พันคน) และตีพิมพ์สิ่งพิมพ์กว่า 8 ภาษา การขยายตัวและเปิดช่องใหม่ๆ ของสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศ จีน (ซีซีทีวี) ที่ปัจจุบันมีช่องกว่า 20 ช่องและแพร่ภาพทั้งในภาษาจีน อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส อารบิก รวมถึงภาษารัสเซีย รวมไปถึงความพยายามแทรก ซึมเข้าไปควบคุมและครอบงำสื่อในจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างเช่น ฮ่องกง และไต้หวันอีกด้วย
เมื่อดูภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่องนี้และพิจารณา จากองค์ประกอบหลายๆ ประการ ทำให้ผมเชื่อได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนคงไม่ได้สนับสนุนการสร้างและการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยจุดประสงค์ในการสั่งสอนประชาชน เสริมสร้างอิทธิพลทางความคิดภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว
ทว่า มีความต้องการที่จะใช้ "ภาพยนตร์ขงจื๊อ" เป็นหัวหอกในการเผยแพร่วัฒนธรรมและแนวคิดของจีน เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจีนสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนผ่าน "สถาบันขงจื๊อ" ในต่างประเทศ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั่นเอง
การหยิบใช้โจว เหวินฟะ (Chow Yun-Fat) หรือชื่อในภาษาจีนกลางคือ "โจว รุ่นฟา" ดาราจีนฮ่องกง ซึ่งก้าวขึ้นไปมีชื่อเสียงในระดับฮอลลีวูดแล้วมาแสดงเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เช่นนี้นั้น (ทั้งที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่า โจวติดภาพลักษณ์ของการเป็นนักแสดงหนังกังฟู อีกทั้งพูดภาษาจีนกลางไม่ค่อยชัด โดยเฉพาะการถ่ายทอดภาษาจีนโบราณของขงจื๊อที่ค่อนข้างซับซ้อน) แน่นอนว่าผู้คัด เลือกนักแสดงย่อมคิดแล้วคิดอีกว่า ในเชิงการสื่อสาร ให้มีประสิทธิภาพที่สุดแล้วควรจะใช้ใคร เพราะหากเลือกดารานักแสดงในประเทศ ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักในระดับสากลมาสวมบทเป็นขงจื๊อแล้ว คงเป็นเรื่องยาก ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างผลสะเทือนหรือการจดจำ ต่อโลกภายนอกและชาวต่างชาติได้
ประเด็นต่อมา นับจากการหันหลังกลับแบบ 180 ฅงศาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสังคมจีน ที่แต่ไหนแต่ไรมาประณามวัฒนธรรมและคำสอนของขงจื๊อว่าเป็นวัฒนธรรมที่ล้าหลัง เพราะโอนอ่อนให้กับการกดขี่โดยผู้ปกครองในยุคศักดินา ถึงวันนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กลายเป็นผู้ปกครองเสียเอง ดูเหมือนตกผลึกแล้วว่านักปราชญ์เมธีผู้นี้นอกจากจะเป็นตัวแทนด้านจิตวิญญาณของสังคมจีนแล้ว ขงจื๊อก็น่าจะเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ที่ดูจะสมบูรณ์ พร้อมที่สุดในการปรากฏแก่สายตาชาวโลกได้
นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 ศาสนา/ลัทธิที่ฝังรากหยั่งลึกในแผ่นดินจีนคือ ศาสนาพุทธและลัทธิเต๋าแล้ว สิ่งที่ขับให้ "ขงจื๊อ" โดดเด่นขึ้นมา ก็คือลัทธิขงจื๊อเป็นลัทธิ ที่ถือกำเนิดเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินจีน แต่ผิดกับลัทธิเต๋าตรงที่ขงจื๊อไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ร่วมกันของชุมชนของสังคม และประเทศ ชาติ โดยในตอนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถ่ายทอดความเชื่อมโยงของสองลัทธิ โดยระหว่างตกระกำลำบาก ขงจื๊อได้พบและสนทนากับเล่าจื๊อ (เหลาจื่อ ศาสดาของลัทธิเต๋า) โดยขงจื๊อได้ตอบปฏิเสธทัศนคติแบบมุ่งการละวางและแสวงหาหนทางกลับคืนสู่ธรรมชาติของเล่าจื๊อ
ด้วยเหตุนี้ หลักปรัชญาของลัทธิขงจื๊อจึงเน้น เกี่ยวกับการจัดการสังคมให้เป็นระเบียบ เน้นเรื่องศีลธรรมส่วนบุคคลและศีลธรรมในการปกครอง โดยมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมและการเมืองในยุคชุนชิว ซึ่งเป็นสภาพสังคมจีนก่อนยุคศักดินาเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว โดยย้ำว่าขุนนางต้องเชื่อฟังผู้ปกครอง บุตรต้องเชื่อฟังบิดา และภรรยาต้องเชื่อฟังสามี โดยความสัมพันธ์ทั้งหลายเหล่านี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของสัมพันธภาพ 5 ประการ ได้แก่ มนุษยธรรม เหริน ( ) ทำนองคลองธรรม อี้ ( ) จารีตประเพณี หลี่ ( ) ปัญญาธรรม จื้อ ( ) สัตยธรรม ซิ่น ( ) สังคมและประเทศชาติจึงจะร่มเย็นเป็นสุข
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปรัชญาของลัทธิขงจื๊อและภาพสะท้อนที่ถ่ายทอดผ่านออกมาทางภาพยนตร์ เรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะสามารถตีความได้ว่าเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และความชอบธรรมในการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้กาละของเรื่องราวในภาพยนตร์จะแตกต่างจากปัจจุบันยาวนาน กว่าสองพันห้าร้อยปีก็ตามที
หมายเหตุ :
1 ข่าวจาก http://english.sina.com/entertainment/2010/0124/301465.html
2 ข่าวจาก http://ent.sina.com.cn/m/c/2010-02-11/18462874785.shtml
3 บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา, ฐานันดรที่สี่ จากระบบโลกถึงรัฐไทย, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พับลิคบุเคอรี, พ.ศ.2552 หน้า 52-53.
อ่านเพิ่มเติม :
บทความเกี่ยวกับความพยายามสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมของประเทศจีนได้ดังนี้
- หลังฉากพิธีเปิด Beijing Olympics (กันยายน 2551)
- อำนาจละมุนของจีน (สิงหาคม 2551)
- ขงจื๊อ+จางจื่ออี๋=? (กุมภาพันธ์ 2550)
- "จีน"กับการขาดดุลวัฒนธรรม (พฤษภาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|