จีน-อเมริกา ตัดกันไม่ขาด


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าจีนกับสหรัฐฯ จะมีเรื่องขัดแย้งกันหลายเรื่องในช่วงนี้ แต่ทั้งคู่ต่างก็ตระหนักดีว่า ยังคงต้องร่วมมือกันต่อไป เหมือนกับตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แม้จีนจะแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาล Obama ขายอาวุธให้ไต้หวัน แต่ก็เป็นแค่ท่าทีในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ถ้าเทียบกับปี 1992 ที่จีนเคยตอบโต้รัฐบาลสหรัฐฯ อย่างรุนแรงในสมัยประธานาธิบดี Bush Sr. ซึ่งขายอาวุธให้ไต้หวันเช่นกัน ด้วยการขายขีปนาวุธให้ปากีสถาน และลงนามข้อตกลงความร่วมมือนิวเคลียร์กับอิหร่าน

แต่ในครั้งนี้คำขู่ที่แข็งกร้าวที่สุดของจีนคือ จะตอบโต้กลับไปที่บริษัทอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการขายอาวุธให้ไต้หวันอย่างเช่น บริษัท Raytheon แต่บริษัทดังกล่าวขายอาวุธให้ไต้หวันมานานแล้ว จึงไม่เคยทำธุรกิจกับจีนเลยและเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะลงโทษอีก 3 บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ที่เหลือ ที่เกี่ยวข้องกับการขายอาวุธ ครั้งนี้คือ Boeing, General Electric และ United Technologies

เช่นเดียวกัน การแสดงความไม่พอใจของจีนที่ประธานา ธิบดี Obama เข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะ ก็มีแค่เพียงท่าทางเช่นกัน เพราะไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เนื่องจากประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มักจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะ และ Obama เคยแจ้งเรื่องนี้ด้วยตนเองต่อประธานาธิบดี Hu Jintao ของจีน เมื่อครั้งที่เขาเยือนจีนเมื่อปีที่แล้ว

ทางฝ่ายสหรัฐฯ ก็เช่นกัน แม้จะใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าวกับจีนในกรณี Google โดย Hillary Clinton ตำหนิจีนที่ขัดขวางเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ต ส่วน Obama ก็ประกาศจะเอาจริงกับปัญหาค่าเงินหยวนของจีน แต่การกระทำคงจะไม่แข็งกร้าวเท่ากับคำพูดเป็นแน่ ความจริงแล้วทั้งจีนและสหรัฐฯ อาจกำลังเล่นเกมเดียวกัน นั่นคือ ทำเป็นโกรธแค้นเข้าใส่กัน เพื่อเอาใจประชาชนของตน

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้ม 2 อย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขึ้นมาจริงๆ ประการแรก ภายในจีนขณะนี้กำลังเริ่มมีความรู้สึกมากขึ้นๆ ว่า จีนไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ มากเท่าที่เคย เป็นมา ในอดีตช่วงทศวรรษ 1980 เติ้งเสี่ยวผิงนำจีน ออกจากความโดดเดี่ยวด้วยการอ้าแขนรับอเมริกา และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ นักวิชาการจีนระบุว่า นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนอุดมการณ์ของจีนไปสู่ระบบทุนนิยมตลาดเสรีแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะในขณะนั้นประเทศจีนกำลังย่อยยับ อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ทำให้จีนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรับความรู้ด้านการบริหารจัดการ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเงินทุนจากชาติตะวันตก เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ

แต่มาถึงทุกวันนี้ จีนกลับกลายเป็นประเทศที่มีเงินทุนท่วมท้น มีบริษัทชั้นนำมากมาย และปีนี้เป็นปีแรกที่เครื่องยนต์หลักในการผลักดันเศรษฐกิจของจีนให้เติบโตคือตลาดภายในประเทศ ไม่ใช่การส่งออกเหมือนเมื่อก่อน

ส่วนในด้านนโยบายต่างประเทศ ประธานเหมาฟื้นสัมพันธ์ กับสหรัฐฯ ในยุคนั้นก็เพื่อให้สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรต่อต้านสหภาพ โซเวียต ตั้งแต่นั้นมาจีนก็ต้องการให้สหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางการเมืองอีกหลายเรื่อง ในสมัยเจียงเจ๋อหมิน การกระชับสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของจีน ที่มีเป้าหมายชัดเจนคือ การได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) มาถึงวันนี้ จีนได้รับความนับถือจากทั่วโลก และเกิดความเชื่อมั่นและทรนงในฐานะของตน ทั้งในความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ และในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม จีนยังไม่ถึงขั้นพร้อมที่จะเล่นบทผู้นำโลกได้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกในเวทีต่างๆ จีนยังคงเน้นแต่การรักษาผลประโยชน์ในความหมายแคบๆ อย่างเช่นในการประชุม สุดยอดผู้นำ G20 เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว จีนสนใจเพียงประเด็น เดียว คือกันไม่ให้ฮ่องกงต้องตกอยู่ในรายชื่อประเทศที่เป็น tax haven ซึ่งจะต้องถูกสอบสวนในข้อหาช่วยบริษัทของประเทศอื่นเลี่ยงภาษี

ยังเร็วเกินไปที่จะคาดหวังว่า จีนจะเล่นบทผู้นำโลก ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในระเบียบโลก และต้องรู้จักเสียสละ เพื่อผลประโยชน์ที่กว้างกว่าเพียงผลประโยชน์ส่วนตน

ปัจจัยประการที่ 2 ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ เลวร้ายลงได้จริงๆ คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญ มีความกลัวกันมากว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะนี้กำลังเสื่อมลึกถึงโครงสร้างและกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากจีนเกิดมองว่า สหรัฐฯ กำลังจะสูญเสียความเป็นมหาอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็อาจถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากจริงๆ ก็เป็นได้

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.