|
จีน VS อเมริกา
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เหตุใดจีนจึงไม่สนใจที่จะเดินตามสหรัฐฯ อีกต่อไป
ในช่วงทศวรรษ 1980-90 จีนกระตือรือร้นสนใจอเมริกาอย่างมาก ในขณะนั้น ผู้นำจีนกำลังพยายามจะทำให้จีนปรับตัวเพื่อให้เข้ากับระบบโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และสิ่งที่พวกเขาสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษคือ สหรัฐฯ มองจีนอย่างไร แต่ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เลิกให้เงินทุนสนับสนุนนักวิชาการจีนทำการศึกษาวิจัยภาคสนามในสหรัฐฯ แล้ว ส่วนจีนเองนอกจากจะไม่สนใจอเมริกาเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ยังเอาแต่บ่นว่า ข่มขู่และปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในปัญหาของโลก
ความไม่พอใจสหรัฐฯ ล่าสุดของจีนคือการที่ประธานาธิบดี Obama พบกับองค์ดาไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบต และการที่สหรัฐฯ ขายอาวุธให้ไต้หวันเป็นมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีทั้งขีปนาวุธ Patriot และเฮลิคอปเตอร์ Blackhawk ทำให้จีนสั่งระงับการแลกเปลี่ยนระหว่างกองทัพจีนกับกองทัพอเมริกันทันที เป็นครั้งแรกที่ประกาศลงโทษบริษัทขายอาวุธของสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย แทนที่จะแอบคว่ำบาตรแบบเงียบๆ เหมือนในอดีต และที่สุดของการไม่ไว้หน้าสหรัฐฯ เลยก็คือเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี Wen Jiabao ของจีน กล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในการประชุม World Economic Forum ที่ Davos เมื่อ 1 ปีก่อน
สื่อทางการจีนบอกว่า อะไรๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว The Global Times (ในเครือของ People's Daily) ซึ่งมักจะวิพากษ์วิจารณ์ชาติตะวันตกบอกว่า มีเหตุผล 2 อย่างที่ทำให้ "น้ำเสียง" ของจีนเมื่อกล่าวถึงสหรัฐฯ เปลี่ยนไป ประการแรกคือ ความคิดเห็นสาธารณะของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไป และชาวจีนก็เบื่อหน่าย การเล่นเกมการเมืองของสหรัฐฯ มานานแล้ว ประการที่ 2 คืออำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีน
ท่าทีของจีนในระยะหลังอาจทำให้โลกตะวันตกคิดว่า จีนเย่อหยิ่งผยองเพราะความสำเร็จที่ได้รับในระดับโลก แต่แท้ที่จริงอาจเป็นเพราะผู้นำจีนรู้สึกถึงความไร้เสถียรภาพภายในประเทศ หาใช่เป็นเพราะผู้นำจีนเลิกสนใจว่า สหรัฐฯ กำลังคิดอะไรไม่
สิ่งที่กำลังทำให้ผู้นำจีนรู้สึกวิตก มากกว่าความคิดของคน อเมริกันที่มีต่อจีน คือความคิดของคนจีนธรรมดาทั่วไป ที่มีต่อรัฐบาลจีนเอง ความรุ่งเรืองมั่งคั่งของจีน และการที่จีนติดต่อสื่อสาร กับโลกภายนอกมากขึ้น กำลังทำให้รัฐบาลควบคุมประชากรที่มีมากกว่า 1.3 พันล้านคนของจีนได้ยากขึ้นกว่าเดิม ขณะนี้บรรดา แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่างต้องติดตามความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนอย่างใกล้ชิด Wang Jisi ผู้เชี่ยวชาญด้านสหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัย Peking ชี้ว่า ทุกวันนี้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องใส่ใจความรู้สึกชาตินิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน และเขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า สหรัฐฯ กำลังหมดความสำคัญกับจีน
ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่จีนทุ่มเททั้งเวลาและทรัพยากรจำนวนมากกับการติดตามความรู้สึกนึกคิดของประชาชน มีทั้งการทำผลสำรวจทางสังคม และแม้กระทั่งส่งนักวิจัยแฝงตัวเข้าไปหมู่ประชาชน เพื่อจะรู้ให้ได้ว่า พวกเขาคิดเห็นเรื่องอะไรอย่างไร และแหล่งข้อมูลอันดับ 1 ของรัฐบาลจีนในการที่จะรู้ความรู้สึก นึกคิดที่แท้จริงของชาวจีน ก็คือ อินเทอร์เน็ต
ความคิดเห็นต่างๆ ที่ผู้ใช้ อินเทอร์เน็ตชาวจีนเขียนลงในอินเทอร์เน็ตถูกรัฐบาลจีนมองว่า เป็นมาตรวัดความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนที่สำคัญมาก เพราะจีนมีประชากร "Netizen" ถึง 384 ล้านคน หรือมากกว่าในอเมริกาถึง 150 ล้านคน บรรดาผู้นำจีนจะติดตามและสนใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลกำลังจะตัดสินใจเรื่องสำคัญ
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนส่วนใหญ่เป็นคนในเมือง อายุน้อย และเป็นเพศชาย หรือเท่ากับเป็นคนกลุ่มที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่พร้อมจะใช้วาจาก้าวร้าวรุนแรง ตำหนิติเตียนความอ่อนแอของรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนไม่ผิดที่จะต้องวิตกว่าคนกลุ่มนี้คิดอย่างไร เพราะคนกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่เป็นไปได้มากที่สุด ที่จะออกไปสร้างปัญหายุ่งยากทางการเมืองตามท้องถนน
แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลจีนอาจละเลยความรู้สึกนึกคิดของคนในโลก ที่กำลังไม่พอใจการกระทำของจีนในเวทีระหว่างประเทศ หลายๆ ประเทศนึกอิจฉามากอยู่แล้ว ที่จีนสามารถจะฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้อย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 10.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งยิ่งทำให้ใครๆ ต่างคาดหวัง ให้จีนเล่นบทบาทที่สร้างสรรค์มากกว่านี้ในเวทีโลก แต่จีนกลับยังคงเป็นประเทศเดียวในหมู่ชาติมหาอำนาจโลกที่ยืนกรานคัดค้านการออกมาตรการลงโทษอิหร่าน และในการประชุมแก้ปัญหาโลกร้อนที่ Copenhagen เมื่อปีก่อน ผู้แทนของจีนถูกตำหนิที่ไม่มีส่วนช่วยอะไรเลย แถมยังแสดงท่าที เป็นเชิงดูหมิ่นประธานาธิบดี Obama และไม่สนใจเสียงเรียกร้องของนานาชาติให้ปรับค่าเงินหยวน ซึ่งจะต้องกลายเป็นประเด็น ร้อนแรงทางการเมืองแน่นอน ในเมื่อปัญหาคนตกงานยังคงเพิ่มขึ้นในชาติตะวันตก
คงไม่มีครั้งใดที่จีนกับสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ กันให้มากกว่านี้ มากไปกว่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนกับสหรัฐฯ เข้าใจกันน้อยลง ก็อาจต้องโทษสหรัฐฯ เองที่เลิกสนับสนุนเงินทุนให้แก่นักวิจัยของจีน เพื่อเข้าไปทำการศึกษาวิจัย เรื่องภายในของสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้จีนเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนอเมริกันมากขึ้น ขณะนี้นักวิจัยชาวจีนได้เปลี่ยนไปศึกษาเรื่องของสหรัฐฯ เพียงเฉพาะประเด็น ที่เห็นชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบ ต่อผลประโยชน์ของจีนเท่านั้น อย่างเช่น เศรษฐกิจโลก การแก้ ปัญหาโลกร้อนหรือปัญหาพลังงาน
Wang จากมหา วิทยาลัย Peking ชี้ว่าขณะนี้จีน ไม่ค่อยเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน ทำให้จีนไม่เชื่อว่า Obama จะชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากเขาเป็นคนผิวดำ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จีนอาจไม่ค่อยรู้สึกนับถือ Obama เท่าใดนัก
แม้ว่าจีนจะแสดงท่าทีหยิ่งทรนงในตนเองมากขึ้น แต่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกาในจีน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เชื่อมั่นว่า จีนไม่อาจตัดขาดจากอเมริกาได้ หากสหรัฐฯ โชคดี และจีนเกิดทำผิดพลาดขึ้นมา สหรัฐฯ ก็จะยังคงอยู่เหนือจีนต่อไป
Sun Zhe ผู้อำนวยการศูนย์จีน-สหรัฐฯ สัมพันธ์ มหาวิทยาลัย Tsinghua เปรียบจีนเหมือนกับ Yao Ming นักบาสเกตบอลร่างยักษ์ชื่อดังของจีน เมื่ออายุ 17 ปี "ร่างกายเขาเติบโตเต็มที่แล้ว แต่เพิ่งได้เริ่มเล่นกับ NBA ของสหรัฐฯ" Sun กล่าว ความแข็งกร้าวครั้งใหม่ของจีน อาจเป็นเพียงการวางโตของมหา อำนาจมือใหม่ที่ยังไม่ถึงขั้น แต่ก็อาจจะเป็นสัญญาณถึงช่วงเวลายุ่งยากที่กำลังจะมาถึงก็เป็นได้
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|