|

อย่าหาญต่อกรกับจีน
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ความพ่ายแพ้ของ Google ทำให้เห็นล่วงหน้าว่า โลกอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อถึงวันที่จีนครองโลก
ในขณะที่นักประวัติศาสตร์จากตะวันตกเชื่อว่า ประเทศที่ต้องการพัฒนาเพียงด้านเศรษฐกิจ โดยยังคงควบคุมเสรีภาพทางการเมืองอย่างเข้มงวด จะต้องล่มสลายไปเหมือนกับอดีตสหภาพโซเวียต หรือมิเช่นนั้นก็จะต้องเปิดเสรีทางการเมืองตามเศรษฐกิจไปเหมือนกับในชิลี แต่ Martin Jacques ผู้เขียนหนังสือ When China Rules the World กลับชี้ให้เห็นในสิ่งตรงกันข้ามว่า ความจริงแล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในชาติตะวันตก ล้วนแต่คาดการณ์ผิดเกี่ยวกับจีนมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา พวกเขาไม่เคยเชื่อเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีน โดยคิดว่าเป็นเรื่องเกินจริง และยังเคยทำนายว่าวิกฤติใหญ่จะต้องเกิดขึ้นในจีน รัฐบาลจีนจะต้องสูญเสียการควบคุมและสื่อระดับโลกอย่างเช่นอินเทอร์เน็ตจะค่อยๆ บ่อนทำลายอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่สิ่งที่พวกเขาคาดการณ์ทั้งหมดนี้ กลับไม่เคยเกิดขึ้น เพราะนักวิเคราะห์ตะวันตกมักจะนำโมเดลและประสบการณ์ของชาติตะวันตกมาอธิบายจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาด หากเราไม่พยายามจะเริ่มเข้าใจจีน ด้วยการทำความเข้าใจในความเป็นจีน และยังขืนจะมองจีนด้วยมุมมองของตะวันตก เราก็จะยังคงมองจีนอย่างผิดๆ อยู่ร่ำไป
Jacques ชี้ว่า กรณี Google ขัดแย้งกับจีนครั้งนี้ ทำให้เราได้รู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับจีน ทั้งในขณะนี้และในอนาคต ในขณะที่โลกตะวันตกมองว่าอินเทอร์เน็ต เป็นการแสดงออกของการแลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี และจะต้องไม่ถูกรัฐแทรก แซง และนับวันอินเทอร์เน็ตจะแผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก แต่รัฐบาลจีนกลับแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้น สามารถจะคัดกรองและควบคุมได้ นี่คือการประหมัดกันโดยตรง ระหว่างภารกิจเป้าหมายของ Google ที่ต้องการจัดระเบียบข้อมูลข่าวสารของโลก ทำให้เข้าถึงได้ทั่วโลกและมีประโยชน์เป็นสากล กับความเชื่อมั่นของผู้นำจีนที่เชื่อว่า เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่จะต้องควบคุมสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อสังคม
และศึกครั้งนี้จะต้องมีผู้ชนะ และผู้ชนะก็จะเป็นจีน
Google จะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ของจีนต่อไป หรือมิเช่นนั้นก็จะต้องออกไปจากตลาดอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีน ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการขยายธุรกิจทั่วโลกของ Google ในระยะยาว และไม่ใช่เพียงเท่านั้น เพราะการ พ่ายแพ้ของ Google ยังบอกอะไรมากกว่านั้น เพราะมีความหมายว่า แม้แต่บริษัทที่มีพลวัตมากที่สุดของสหรัฐฯ ในปัจจุบันอย่าง Google ก็ยังไม่อาจต่อกรและเอาชนะรัฐบาลจีนได้ แม้กระทั่งในประเด็นที่เกี่ยวกับเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของตะวันตกเอง
และด้วยเหตุที่จีนทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในการเป็นตลาดโลกและเป็นผู้เล่นในตลาด สิ่งที่เกิดกับอินเทอร์เน็ตในจีน จึงย่อมส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่ออินเทอร์เน็ตในโลกด้วย เป็นอัน ชัดเจนแล้วว่า โมเดลของ Google คืออินเทอร์เน็ตที่เปิดและเสรี อันเป็นแนวคิดของตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีต่อโลกอนาคตนั้น ไม่สามารถใช้กับทั่วโลกได้ อินเทอร์เน็ตในจีนจะยังคงถูกตรวจสอบและควบคุมต่อไป ข้อมูลข่าวสารจะถูกคัดกรอง เว็บหลายเว็บจะยังคงถูกห้ามเข้า เว็บ search engine ที่แข็งข้อจะต้องถูกตัดออกไป และการค้นคำที่อ่อนไหวก็จะยังคงทำไม่ได้ต่อไป และไม่ว่าจีนจะเดินหน้าไปทางไหน พร้อมๆ ไปกับการยึดถือในค่านิยมที่แตกต่างจากตะวันตก ก็มีอีกหลายคนที่พร้อมจะเดินตาม ผลก็คืออินเทอร์เน็ตจะไม่สามารถเป็นสถานที่อันยิ่งใหญ่ ที่รวมโลกให้เป็นหนึ่งเดียว อย่างที่ตะวันตกต้องการได้ แต่อินเทอร์เน็ตจะถูกแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า แนวคิดของตะวันตกเกี่ยวกับอนาคต กำลังจะล้มเหลวไปอีกแนวคิดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่สัญญาณที่บ่งบอกว่า จะถึงกาลอวสานของการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสารแต่อย่างใด ไม่ว่าอินเทอร์เน็ตจะถูกควบคุมมากเพียง ใดก็ตาม ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสารที่ชาว จีนสามารถเข้าถึง ทั้งในแง่ปริมาณ และคุณภาพไปแล้วจริงๆ แต่ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่จีนต้องการ ไม่ใช่อย่างที่ตะวันตกต้องการ
ยิ่งไปกว่านั้น จีนกำลังสามารถจะช่วงชิงตำแหน่งประเทศ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจากสหรัฐฯ มาครองได้ในอนาคต และนั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสมดุลอำนาจโลกที่จะเอียงไปทางจีนมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทที่ต้องการจะครองตลาดโลก จะต้องเริ่มด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ ให้ได้เสียก่อน แต่ในอนาคต บริษัทที่ต้องการจะก้าวขึ้นเป็นบริษัทระดับโลก จะต้องเปลี่ยนไปครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในจีนให้ได้ก่อน แทนที่จะเป็นตลาดสหรัฐฯ อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจีนต่อเศรษฐกิจโลกนี้ จะยิ่งส่งเสริมอำนาจของรัฐบาลจีนให้มากขึ้นไปอีก ดังเช่นที่รัฐบาลจีนสามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่ของอเมริกา อย่าง Google ได้ แถมยังแน่นอนว่าจะเป็นฝ่ายชนะด้วย
Jacques ชี้ว่า โลกตะวันตกล้มเหลวมาตลอดในการมองจีน และไม่เคยเข้าใจความแข็งแกร่งของรัฐจีน ซึ่งสามารถยืนหยัด ท้าทายการคาดการณ์ในแง่ลบทั้งหมดที่ตะวันตกทำนายไว้เกี่ยวกับรัฐจีนได้ รัฐบาลจีนยังคงเกี่ยวข้องกับทุกส่วนในชีวิตของชาวจีน ยังคงเป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด และยังคงเชี่ยว ชาญในการหาวิธีการใหม่ๆ มาต่อต้านอิทธิพลของสื่อระดับโลกของสหรัฐฯ รัฐบาลจีนไม่เพียงสามารถยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง แต่ยังได้รับความเคารพอย่างสูงในสังคมจีนและนี่ก็คือเหตุผลที่แท้จริง ซึ่งอยู่เบื้องหลังความแข็งแกร่งของรัฐจีน ที่ตะวันตกไม่เคยเข้าใจชาวจีนไม่เคยเห็นรัฐบาลเป็นสิ่งแปลกปลอมในชีวิตของพวกเขา ที่จะต้องถูกลดทอนอำนาจลง เหมือนอย่างในตะวันตกโดยเฉพาะ ในสหรัฐฯ แต่กลับมองว่า รัฐบาลเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้และเป็นผู้ที่ปกปักรักษาสังคม ความรู้สึกของคนจีนที่มีต่อรัฐบาลเป็นความรู้สึกสนิทชิดเชื้อ เหมือนว่ารัฐบาลเป็นหัวหน้าครอบครัว นี่คือสิ่งที่ตะวันตกยากจะเข้าใจ เพราะรัฐบาลจีนมีความผูกพันและใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าในสังคมตะวันตกมากนัก
เหตุผลเบื้องหลังความแข็ง แกร่งของรัฐบาลจีนอีกประการคือ จีนไม่ได้เป็นเพียง "ประเทศ" ประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่จีนคือ "อารยธรรม" อันยิ่งใหญ่ ที่มีอายุเก่าแก่ย้อนหลังไปได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี การรักษาความเป็นหนึ่ง เดียวของอารยธรรมจีน จึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ในทางการเมืองของจีน และถือเป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ของรัฐบาลจีน บทบาทของรัฐจีนในแง่นี้ ไม่เคยมีในรัฐบาลชาติตะวันตก
เมื่อความทันสมัยในสายตาของจีนไม่เหมือนกับความทันสมัยในสายตาของตะวันตก โลกในอนาคตที่จีนจะขึ้นครอง ก็ย่อมจะต้องแตกต่างไปจากโลกที่ตะวันตกเคยครอง ผลที่เกิดขึ้นและเห็นแล้วในชาติกำลังพัฒนาขณะนี้คือ บทบาทของรัฐได้กลับคืนมา และ Washington Consensus หรือเศรษฐกิจโลกที่นำโดยแนวคิด แบบอเมริกันกำลังจะถูกดับรัศมีในโลกใหม่นี้ วิธีคิดแบบจีนตั้งแต่ค่านิยมแบบขงจื๊อและการมองรัฐเป็นประดุจบิดรมารดา จะมีอิทธิพลต่อโลกเพิ่มขึ้น ชะตากรรมของ Google ในครั้งนี้ จึงเป็นสัญญาณว่าโลกในอนาคตที่กำลังจะมาถึงจะเป็นอย่างไร เมื่อจีนครองโลก ดังนั้น ยิ่งพยายามทำความเข้าใจกับโลกที่กำลังจะถูกครอบครองด้วยจีนได้เร็วเพียงใด เราก็จะยิ่งสามารถจัดการกับโลกใหม่ในอนาคตได้ดีเพียงนั้น
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|