ศึกช้างชนช้าง Google-China


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

Google เว็บสืบค้นข้อมูลยักษ์ใหญ่สุดของโลกขอประลองกำลังกับยักษ์ใหญ่อย่างจีน

การที่ Google ลุกขึ้นมาท้าทายระบบเซ็นเซอร์ของจีน และขู่จะถอนตัวออกจากจีน ไม่ใช่เป็นเพียงการที่บริษัทหนึ่งจะถอนตัวออกจากจีนเท่านั้น หากแต่การตัดสินใจของ Google สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของจีน และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกทั้งโลก

Eric Schmidt CEO Google กล่าวว่า จีนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่เพียงประเทศเดียวในโลกที่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร จีนเป็นประเทศเดียวที่มีระบบเซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการและบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารจะต้องยอมอยู่ภายใต้ระบบดังกล่าว หากคุณพิมพ์คำว่า "จตุรัสเทียนอันเหมิน" หรือ "Dalai Lama" ลงไปในเว็บ Google ในจีน หรือในเว็บ Baidu เซิร์ชเอ็นจิ้นอันดับหนึ่งของจีนเอง คุณจะเจอแต่เว็บที่ถูกห้ามเข้า

จีนยังกำลังง่วนอยู่กับการพัฒนาเครื่องมือที่ดีที่สุดในโลก ในการเจาะระบบและล้วงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ทำให้การเจาะระบบล้วงข้อมูลในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป้าหมายการถูกเจาะล้วงข้อมูล มีทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ธุรกิจและรัฐบาลของต่างชาติ จนถึงกับ William Studeman อดีตผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยกให้ปัญหาการเจาะล้วงข้อมูลที่เกิดจากจีนเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของปัญหาความมั่นคงแห่งชาติที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญ

จีนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากที่ไม่เคยกล้าล้วงความลับของสหรัฐฯ อย่างโจ่งแจ้งมาก่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากจีนเริ่มไม่ค่อยจะเอาใจใส่การรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ รวมถึงชาติตะวันตกอื่นๆ เหมือนเช่นในอดีต ในช่วงทศวรรษ 1980-90 ยุทธศาสตร์การสร้างความทันสมัยของจีน ทำให้จีนมีนโยบายต่างประเทศที่ง่ายๆ คือ จงดีกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพราะจีนต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ทั้งในฐานะแหล่งเงินทุน ตลาดสำหรับ สินค้าส่งออกของจีน และแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและ know-how การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ยังช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายทางการเมืองต่างๆ เช่นการได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) ดังนั้น ตราบยุคเติ้งเสี่ยวผิงจนถึงเจียงเจ๋อหมิน ผู้นำจีนล้วนแต่เดินตามเส้นทางดังกล่าว

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเริ่มรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสหรัฐฯ มากเท่าในอดีตอีกต่อไป ในการประชุมแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อปลายปีที่แล้ว จีนแสดงท่าทีไม่เคารพสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นท่าทีใหม่ที่จีนไม่เคยทำมาก่อน จีนส่งเพียงเจ้าหน้าที่ระดับรองไปเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำประเทศ เจ้าหน้าที่จีนคนหนึ่งถึงกับกล้าตะโกนใส่หน้าและชี้หน้าประธานาธิบดี Barack Obama ทั้งๆ ที่ปกติแล้ว จีนเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยพิธีรีตองและมารยาท ทางการทูตมากมาย และไม่เคยปฏิบัติต่อผู้นำประเทศอื่นด้วยท่าที เช่นนั้นมาก่อน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดภายในของจีนเติบโตขึ้นอย่างมากและการส่งออกไปยังประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน ส่วนเงินทุนก็ไม่ต้องพึ่งพาใครอีกต่อไป เพราะจีนมีเงินทุนส่วนเกินจำนวนมหาศาล ทั้งหมดนี้อาจทำให้จีนไม่ต้องการจะประนีประนอมกับความคิดแบบตะวันตกที่แตกต่าง รวมไปถึงบริษัทและรัฐบาลชาติตะวันตกอีกต่อไป จีนได้แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า จะไม่ยอมให้บริษัทตะวันตกเข้าถึงตลาดของจีนได้อย่างอิสระอีกแล้ว

ขนาดที่ใหญ่โตของจีน ทำให้จีนไม่เหมือนชาติเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าอย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะเติบโตก้าวหน้าแต่ ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับโลกภายนอก แต่สำหรับจีนยิ่งเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจมากเท่าใด ก็ยิ่งหันกลับไปยึดติดกับตัวเอง และสนใจโลกภายนอกน้อยลง วัฒนธรรมจีนเองก็มีแนวโน้มที่จะสนใจแต่ตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อบวกกับระบบการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมักจะรู้สึกว่าถูกคุกคามจากโลกภายนอก ก็ยิ่งส่งเสริม ให้จีนมองโลกแบบคับแคบมากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างของจีนคือ การกลับมาของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐ ในช่วงทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 90 การเติบโตของจีนนำโดยภาคเอกชนในชนบท แต่ไม่กี่ปีมานี้ การเติบโตของจีนกลับถูกผลักดันโดยภาครัฐที่อยู่ในเมืองแทน ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจของภาครัฐในการนำเศรษฐกิจ อำนาจของภาครัฐ ยังเพิ่มมากขึ้นอีกในปีที่แล้ว เมื่อรัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณมหาศาลถึง 12.3% ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนท่าทีใหม่ของจีนดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลกระทบ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนหรือไม่ นักวิชาการหลายคนยืนยันว่า ยิ่งเศรษฐกิจและสังคมจีนก้าวเข้าสู่ความทันสมัยมากขึ้นเท่าใด ความตึงเครียดระหว่างระบอบการปกครองแบบเผด็จการของจีนกับความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของจีน ก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น ส่วน Schmidt CEO Google เชื่อว่า การที่จีนจำกัดการใช้ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารจะทำให้จีนไม่สมหวัง ในความปรารถนาที่จะทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตในระยะยาว รวมไปถึงไม่สามารถสร้างการเติบโตในด้านประสิทธิ ภาพการผลิต และการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระยะยาวได้

แต่ที่แน่ๆ และเห็นได้ชัดเจนคืออินเทอร์เน็ตกำลังเปลี่ยน แปลงจีน และจีนก็กำลังเปลี่ยนแปลงอินเทอร์เน็ตเช่นกัน ในขณะที่ โลกาภิวัตน์ช่วยเสกสรรปั้นแต่งจีน จีนก็มีอิทธิพลต่อโลกาภิวัตน์ด้วยเช่นกัน

หลายคนเคยเชื่อว่า การเจริญเติบโตของจีนจะตามมาด้วย กระบวนการสร้างความทันสมัย ซึ่งจะทำให้จีนเปลี่ยนเป็นชาติที่เราจะติดต่อได้ง่ายขึ้น แต่การณ์กลับเป็นว่า ยิ่งเจริญเติบโตก้าว หน้ามากเท่าใด กลับยิ่งตอกย้ำความรู้สึกชาตินิยม และการเป็นตัวเองของจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้จีนยิ่งยากจะกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับระบบของโลกได้

การเปลี่ยนแปลงจากยุคอังกฤษเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกมาถึงยุคที่สหรัฐฯ เข้ามาแทนที่ เป็นไปอย่างราบรื่นไร้รอย ต่อ เนื่องจาก 2 ประเทศนี้มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ทั้งในด้านแนวคิดเกี่ยวกับระเบียบโลกและค่านิยมสากลที่ยึดถือร่วมกัน รวมถึงแนวคิดในด้านศาสนาและการค้าเสรี แต่การขึ้นสู่ทำเนียบ มหาอำนาจโลกของจีน กลับปรากฏว่า จีนแทบจะพูดกันคนละภาษากับอังกฤษและอเมริกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้สหรัฐฯ และอังกฤษรู้สึกวิตกเท่านั้น แต่ประเทศอย่างญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ต่างก็รู้สึกกระอักกระอ่วนใจเช่นกัน เมื่อคิดถึงโลก ที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และค่านิยมแบบจีน ที่จะมาบงการชีวิตของคนทั้งโลก หากจีนต้องการจะเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างแท้จริง จีนควรจะให้ความสำคัญกับโลกภายนอกและเปิดกว้างรับกระแสความทันสมัยของโลก การที่จีนจะตัดสินใจทำอย่างไรเกี่ยวกับความขัดแย้งที่มีต่อ Google ก็คือบททดสอบความสามารถครั้งสำคัญของจีนว่าจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกได้หรือไม่

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.