|
TPMA กับกฎหมายผูกขาดตลาดยา
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
การเสวนาในหัวข้อ "สิทธิในการเข้าถึงยา ปัญหาที่รอการแก้ไข" ซึ่งสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ นักวิชาการและนักกฎหมายจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เปิดเผยให้เห็นข้อเท็จจริงว่าด้วยการสาธารณสุขไทยอย่างน่าสนใจ เพราะเนื้อหาหลักของเวทีเสวนาดังกล่าวมุ่งเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 13 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 61 และ 62 ที่ล้วนแต่มีลักษณะเอื้อต่อการผูกขาดตลาดยาขององค์การภาครัฐ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตเอกชนหมดโอกาสพัฒนา และส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาคุณภาพของประชาชนในวงกว้าง
ภก.เชิญพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เห็นได้จากที่หลายรัฐบาลนำนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพมาใช้ในการหาเสียง แต่สิ่งที่จะสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงยาอย่าง ถ้วนหน้าในเชิงของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกำลังเดินไปสู่ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
"มูลค่าของการพึ่งพาและนำยาเข้าจากต่างประเทศสูงขึ้นทุกปี ไม่ใช่เพียงยาสิทธิบัตรที่เราไม่สามารถผลิตได้เองเท่านั้น ยังหมายความรวมถึงยาหมดสิทธิบัตรด้วยที่ต้องนำเข้า แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศในการพึ่งพาตนเองทางด้านยาด้อยลงทุกวัน"
ตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตยาในประเทศมากถึง 165 โรงงาน และมีการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกี่ยวข้องอยู่มากกว่า 20,000 คน
"ปัญหาเกิดจากการผูกขาดของภาครัฐ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 13 ซึ่งให้สิทธิพิเศษแก่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการผลิตและจำหน่ายยาโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 61 และ 62 ที่โรงพยาบาลรัฐบาลจำเป็นต้องซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมก่อน ถือเป็นความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดยุคการค้าเสรี"
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือผู้ประกอบการผลิตยาในประเทศบางรายสามารถผลิตยาที่ดีมีคุณภาพได้ในราคาที่ถูกกว่าองค์การเภสัชกรรม โดยที่ยาบางชนิดมีราคาถูกกว่า 20-30% การที่องค์การเภสัชกรรมอ้างว่ามีภาระในการตรึงราคาและขายยาในราคาถูกบางรายการ
แต่ผลประกอบการขององค์การเภสัชกรรมในปี 2550 กลับปรากฏว่ามีกำไรมากกว่า 1,100 ล้านบาท และในปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมยังคงมีการวางตลาดผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ ตามบัญชียาหลักแห่งชาติออกมา แข่งขันกับผู้ประกอบการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สิทธิพิเศษไม่ต้องขึ้นทะเบียนยากับกระทรวงสาธารณสุข ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถออกวางตลาดได้เร็ว กว่าผู้ประกอบการฯ ประมาณ 2 ปี ซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการฯ จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาสูตรตำรับ และขอขึ้นทะเบียนก่อนวางจำหน่ายประมาณ 4-5 ปี
ภายใต้เหตุผลดังกล่าวทำให้จำนวนผลิตภัณฑ์ยาของผู้ประกอบการฯ ที่วางจำหน่ายและขายให้กับหน่วยงานภาครัฐอยู่ก่อนแล้วถูกองค์การเภสัชกรรมผูกขาดและแย่งตลาดไปโดยไม่มีการแข่งขันจึงทำให้ภาคเอกชนได้รับความเสียหาย
"องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรที่มีศักยภาพและมีความสำคัญมากแต่ควรดำเนินงานในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เช่น การเข้าถึงยาวัคซีน ยาเอดส์ หรือการผลิตยา CL เพราะผู้ประกอบการภาคเอกชนไม่สามารถผลิตได้ แต่บทบาทขององค์การ เภสัชกรรมกลับพัฒนาศักยภาพโดยมุ่งเน้นการผลิตยาแข่งกับภาคเอกชน เพื่อสร้างผลกำไรเป็นหลัก" ภก.เชิญพรกล่าวย้ำ
ขณะที่เจษฎ์ โทณะวณิกประธานสถาบันเพื่อความเป็นเลิศ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า การเข้าถึงยาควรหมายถึงการเข้า ถึงยาเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ส่วนยาแผนปัจจุบัน ที่พูดถึงตาม พ.ร.บ.2510 ถ้ารัฐผลิตได้เพียงพอ ภาคเอกชนก็ไม่สามารถแข่งขันได้ ที่สำคัญคือข้อกำหนดที่โรงพยาบาลรัฐบาลจะต้องซื้อยาจากหน่วยงานของภาครัฐก่อน ซึ่งข้อกำหนดนี้ถ้ามองในทางเศรษฐศาสตร์ ก็คือการจำกัดการแข่งขัน ดังนั้นการที่จะให้ภาคเอกชนเติบโตเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ยังมีข้อกฏหมายที่เอื้อต่อผู้ผลิตยา ในต่างประเทศอีกด้วย
"ถ้าต้องการทำให้อุตสาหกรรมเจริญเติบโตและต้องการให้ประชาชนเข้าถึงยาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ยา CL บาง ประเภทที่องค์การเภสัชกรรมใช้วิธีนำเข้า อาจเปลี่ยนมาให้เอกชน เป็นผู้ผลิตตามคำสั่งของรัฐ เพราะผู้ประกอบการไทยหลายรายก็มีศักยภาพ บริษัทยาข้ามชาติมีขนาดใหญ่มีเงินทุนมหาศาล เทคโนโลยีสูงมาก แต่ถ้าบริษัทในประเทศไทยรวมตัวกันหลายบริษัท ก็อาจจะพอแข่งขันกับต่างชาติได้"
ปัญหาในลักษณะดังกล่าว ดูเหมือนจะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับอุตสาหกรรมยาเท่านั้น เพราะ อุตสาหกรรมที่สามารถทำกำไรได้ หน่วยงานภาครัฐมักจะใช้หน่วยงานเหล่านี้เป็นกลไกในการแสวงหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งองค์การ เภสัชกรรมก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้รับการกำหนดให้มีบทบาทตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ไว้ที่การผลิตยาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยา และแสวงหาเงินเข้ารัฐ
"หน้าที่ของรัฐควรปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ควรแข่งขันกับเอกชน ถ้าเอกชนเอากำไรกับประชาชนมากเกินไป รัฐถึงเข้าแทรกแซง ไม่ควรทำการค้าแข่งกับเอกชน" ดร.เจษฎ์ กล่าว
ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของจิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ นักวิจัยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ชี้ว่า ปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมยาไทยคือ กฎระเบียบของภาครัฐที่ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ในทางเศรษฐศาสตร์ การผูกขาดทางการค้า จะส่งผลในหลายด้าน เช่น ผู้บริโภคต้องซื้อยาแพงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะไม่มีกลไกในการควบคุมราคา ผู้ผูกขาดเองขาดแรงจูงใจในการพัฒนาจากการ แข่งขัน และส่งผลต่ออุตสาหกรรมโดยรวม
ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์ระดับ 11 อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า ปัญหาใหญ่ในแง่ของแพทย์คือการที่ประชาชน ถูกผูกขาดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม นับเป็นมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้รัฐบาลกำลังจะล้มละลาย สาเหตุหลักมาจากยาหลาย ประเภท เช่น ยาจำเป็นต่อชีวิตที่มีปัญหาเป็นยากลุ่มที่พัฒนาจาก ยาต้นตระกูลที่หมดสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งแพงกว่ายาต้นตระกูลที่สามารถผลิตเองได้ภายในประเทศหลายสิบเท่า แต่คนไทยไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วให้ผลแทบไม่ต่างกัน
ปัญหาประการต่อมาคือยาบรรเทาอาการที่ไม่ได้ชะลอและรักษาโรค หลายชนิดราคาแพงมาก ยาตระกูลนี้เป็นยาสำคัญ ที่ทำให้งบของประเทศล้มละลาย โดยเฉพาะงบการรักษาของข้าราชการ อีกส่วนหนึ่งคือยาบางชนิดที่อยู่ในบัญชียาหลักของชาติ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลในการรักษา บางชนิดก็มีพิษ แต่ก็ยังถูกใช้อยู่ สุดท้ายคืออาหารเสริมที่เทียบเท่ากับยา หลายชนิดที่ถูกพิสูจน์ว่ามีประโยชน์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่กลับเอางานวิจัยจากวารสารที่ผลิตเองมาอ้างอิง
"การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องเริ่มจากการจำกัดว่ายาอะไร ที่จำเป็นต่อประเทศ หมอในประเทศไทยมีอิทธิพลต่อการใช้ยาของประชาชน แต่กลับเสียรู้ต่างประเทศ ซึ่งเกิดจากการไม่หา ความรู้ของหมอ เชื่อผู้แทนยา หรือมีผลประโยชน์สีเทา ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวการควบคุมระบบการใช้ยาของประเทศไทย" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
แม้ว่าบทบาทขององค์การ เภสัชกรรมจะตกเป็นเป้าที่ถูกกล่าวหาในเวทีเสวนา แต่ดูเหมือน ทุกฝ่ายยังเชื่อว่าประเทศไทยยังคงต้องมีองค์การเภสัชกรรม เพราะ สำคัญมากต่อการยกระดับการพึ่งพาตนเองทางด้านสาธารณสุขและมาตรฐานอุตสาหกรรมยาไทย
"เอกชนผู้ผลิตยาในประเทศพร้อมจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนี่คงเป็นเวลาที่แต่ละฝ่ายต้องมาหารือกันว่าจะเดินไปในทิศทางใด เพราะเป็นสิ่งสำคัญต่อประชาชน สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมสะท้อน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรม แต่จะสะท้อนในด้านนโยบายเพื่อประชาชน ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไข" เชิญพรสรุป
ถึงที่สุดแล้ว ข้อเรียกร้องของภาคอุตสาหกรรมการผลิตยาคงไปไกลเกินกว่าการแก้ไขกฎหมาย หากแต่กำลังแสวงหากลไกที่จะกำหนดทิศทาง มาตรฐานและนโยบายสาธารณสุข เพียงแต่จะมีหน่วยงานใดออกมาขานรับข้อเสนอเหล่านี้หรือไม่เท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|