GDP เติบโต 6% เศรษฐกิจฟื้น?


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( มีนาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยพบว่า จีดีพีของไทย ในไตรมาสที่ 4/2552 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) ขณะที่มูลค่าจีดีพีที่ปรับฤดูกาลก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonal Adjusted Quarter-on-Quarter) สูงกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้

การปรับตัวขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากการเติบโตของการใช้จ่ายของรัฐบาล การผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งทิศทางดังกล่าวสะท้อนถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2552 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสถานการณ์ข้าง หน้ายังมีความไม่แน่นอนในหลายด้าน โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจ ที่ส่งสัญญาณบวกชัดเจนนี้ อาจเพิ่มความมั่นใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านนโยบายเศรษฐกิจ และเป็นตัวแปรสำคัญต่อการ กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะการเริ่มทยอยถอนมาตรการพิเศษเพื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจได้ เพราะปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศยังมีความอ่อนไหวและมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สถานการณ์ไม่พึงประสงค์ได้

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2553 อาจมีการเติบโตที่ชะลอลงเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ, SA) แต่อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีโอกาส ที่จะขึ้นไปอยู่ในระดับสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 จากฐานของมูลค่า จีดีพีที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาด ประกอบกับเป็นการเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1/2552 ซึ่งเป็นช่วงต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ ถดถอยของไทยในรอบที่แล้วที่จีดีพีหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1 (YoY)

ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้นดังกล่าวจะเป็นฐานสำหรับ การเติบโตในไตรมาสถัดๆ ไป ที่น่าจะสูงขึ้นกว่าระดับที่เคยคาดการณ์ไว้และจะส่งผลให้กรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ที่ สศช.ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 3.5-4.5 มีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศ แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ที่ทิศทางเศรษฐกิจ จีน ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังให้เป็นการชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) หลังจากจีนเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาฟองสบู่และทางการจีนออกมาตรการควบคุมสินเชื่อมาเป็นระยะ แต่ยังคง ต้องติดตามว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และฐานะของสถาบันการเงินในจีนเช่นใด

ขณะเดียวกันปัจจัยว่าด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด อาจมีผล ต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทของไทย

ทั้งนี้ การส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเฟด จากร้อยละ 0.50 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.75 นั้น สะท้อนว่าเฟด มีความมั่นใจพอสมควรว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแรง เพียงพอที่จะขับเคลื่อนต่อไปได้ภายใต้กลไกปกติ

ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศในยุโรป ซึ่งหลายฝ่าย กังวลว่าแผนการควบคุมการขาดดุลการคลังและระดับหนี้สาธารณะของกรีซ สเปน โปรตุเกส และประเทศอื่นที่มีระดับสูงจนน่าวิตก อาจจำกัดศักยภาพในการฟื้นตัวของภูมิภาคยุโรปโดยรวม และอาจมีผลกระทบกลับมาที่ธนาคารและสถาบันการเงินในเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ประเทศดังกล่าว

นอกจากนี้ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ในตลาดโลกและปัจจัยด้านสภาพอากาศ โดยเฉพาะภาวะแล้งในประเทศที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้า เกษตรพุ่งสูงขึ้น และเร่งภาวะเงินเฟ้อของไทย ซึ่งจะกลายเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่การคาดการณ์ว่า GDP ไทยจะเติบโตถึง 6% ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ควบคุมได้บ้างไม่ได้บ้างมากมายเหลือเกิน ซึ่งถึงที่สุดแล้วเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงมายาภาพจากมาตรการชั่วคราวคงได้พิสูจน์กันในไม่ช้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.