บางกอกโพสต์นั้นเป็นหนังสือพิมพ์ที่ถ้าเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อย่างเดอะเนชั่นแล้ว
ก็จะพบว่าไม่ค่อยจะมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้ว่าในหลายยุคจะยังเหนือกว่าเดอะเนชั่นก็เถอะ
"ผู้จัดการ" ได้เคยพูดไว้แล้วว่าบางกอกโพสต์ยุคนี้ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
เพราะแรงกระทบจากภายนอกและภายใน ซึ่งก็เป็นจริงเพราะบางกอกโพสต์ในวันนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงและได้ตัวทายาทไปแล้ว
สำหรับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในไทย 2 ฉบับอย่าง "บางกอกโพสต์"
และ "เดอะเนชั่น" นั้น ก็น่าที่จะต้องแสดงความขอบใจซึ่งกันและกัน
"เดอะ เนชั่น" ควรจะขอบใจ "บางกอกโพสต์" ในการที่ "บางกอกโพสต์"
ช่วยเป็นเบ้าหลอมให้ในยุคก่อตั้งเมื่อ 15 ปีที่แล้วควรจะขอบใจที่ "บางกอกโพสต์"
ไม่มีนโยบายส่งเสริมคนไทยเจ้าของถิ่นขึ้นมานั่งในตำแหน่งบริหารระดับสูงและก็ควรขอบใจการที่
"บางกอกโพสต์" หยุดนิ่งไม่ยอมปรับตัวเอง อันเป็นช่องว่างที่ทำให้
"เดอะ เนชั่น" แทรกตัวเข้ามาในตลาดได้สำเร็จ
ส่วน "บางกอกโพสต์" เองก็ควรจะขอบใจ "เดอะ เนชั่น"
ด้วย
เพราะการปรับตัวอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดเวลาเพื่อแย่งชิงตลาดผู้อื่นของเดอะ
เนชั่น" นั้น ถ้าจะว่าไปก็คือแรงผลักดันอย่างรุนแรงที่ทำให้หนังสือพิมพ์ที่ยึดแนวการบริหารที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมมาก
ๆ เช่น "บางกอกโพสต์" จำเป็นต้องปรับตัวเองครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้
และสิ่งนี้ก็คงจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากจะเป็นผลพวงของการแข่งขันอย่างเสรีของระบบ
ก่อผลสะเทือนให้เกิดแรงบีบเค้นจากภายใน
จนในที่สุดต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง
"บางกอกโพสต์" ในช่วงเดือนมีนา-เมษา 29 นี้ เป็น "บางกอกโพสต์"
ที่ร้อนรุ่มเสียยิ่งกว่าอากาศของฤดูร้อนในช่วงนั้นเสียอีก
มีข่าวลือเกิดขึ้นกับ "บางกอกโพสต์" หลายเรื่อง ซึ่งเรื่องที่กระทบรุนแรงที่สุดก็คือเรื่องที่พูดกันว่า
"บางกอกโพสต์" กำลังจะถูกเทคโอเวอร์จากบางกลุ่ม
ส่วนคู่แข่งอย่าง "เดอะ เนชั่น" ก็กำลังรณรงค์ตัวเองอย่างหนัก
โดยใช้วาระการก่อตั้งครบรอบ 15 ปีเป็นหัวหอกของการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
"ช่วงนั้นเดอะ เนชั่น เขาทำโปรโมชั่นก่อนหน้าวันเกิดถึงเกือบ 3 เดือน
มีจัดนิทรรศการเรื่องกรุงเทพฯ ในอดีตตลอด 15 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ก็อัดโฆษณาทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ตัวเองตลอดจนโทรทัศน์อย่างหนัก
เป็นการครบรอบการก่อตั้งที่ทั้งพิเศษและพิกล แต่ก็ได้ผล เพราะคนก็ฮือฮามาก"
นักหนังสือพิมพ์รุ่นอาวุโสคนหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ"
สำหรับคนของ "บางกอกโพสต์" แล้ว ภาพการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของ
"เดอะ เนชั่น" เมื่อเปรียบเทียบกับอาการสงบนิ่งของ "บางกอกโพสต์"
ก็ดูเหมือนจะมีหลายคนที่ทนไม่ได้ เพราะถ้าจะเป็นการ "สงบเพื่อสยบทางการเคลื่อนไหว"
ก็คงจะไม่ใช่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้แน่ อีกทั้งก็ "สงบ" มานานเต็มที่แล้วยังไม่เห็น
"สยบ" ใครได้สักที
พนักงานระดับหัวหน้าฝ่ายหลายคนก็เลยต้องทำหนังสือถึงบรรณาธิการ-เท่ห์ จงคดีกิจ
เรียกร้องขอให้ "บางกอกโพสต์" ปรับปรุงตัวเอง
และจะเป็นด้วยหนังสือฉบับนี้หรือไม่ก็เหลือเดา การสับเปลี่ยนตำแหน่งภายในกองบรรณาธิการก็เกิดขึ้นอย่างไม่กระโตกกระตาก
พร้อมทั้งการตระเตรียมปรับโฉมหน้าใหม่ของหนังสือพิมพ์
ด้วยแรงกดดันทั้งจากคู่แข่งและคนภายในนั้น สำหรับผู้บริหารของ "บางกอกโพสต์"
ไม่ว่าจะเป็น เอียน ฟอเซท ตัวกรรมการผู้จัดการบริษัทโพสต์พับลิซซิ่ง เจ้าของ
"บางกอกโพสต์" ตลอดจนบรรณาธิการเท่ห์ จงคดีกิจ ก็ดูเหมือนจะต้องเลือกการตัดสินใจทำอะไรบ้างสิ่งบางอย่างแล้ว
เพราะในเดือนเมษายนทั้ง 2 คนก็จะต้องไปนั่งตอบคำถามให้กับคณะกรรมการบริษัทซึ่งจะจัดประชุมประจำปีโดยที่ผู้บริหารเองก็คงไม่อาจจะคาดเดาได้ว่า
ผลการประชุมจะออกมาในรูปใด
และบางสิ่งบางอย่างทั้งเอียน ฟอเซทและเท่ห์ จงคดีกิจ ได้ตัดสินใจทำก่อนหน้าการประชุมบอร์ดก็เห็นจะมี
2 สิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด
สิ่งแรก "บางกอกโพสต์" ได้เพิ่มเซ็คชั่นที่ 3 ขึ้นเป็นส่วนที่เรียกว่า
"OUT LOOK"
สิ่งต่อมาก็คือการรับผู้บริหารเพิ่มอีก 2 คน
ดร. ปรัชญาทวี ตะเวทิกุล ถูกรับเข้ามาประจำ "บางกอกโพสต์" ในตำแหน่งบรรณาธิการร่วม
(ASSOCIATED EDITOR)
และประสิทธิ เมฆวัฒนา เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแทนเดวิด โทมัส
ชาวอังกฤษ ที่ออกเพราะครบเกษียณ (เดวิด โทมัส อายุ 60 เริ่มงานกับ "บางกอกโพสต์"
ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเมื่อปี 2524)
"ใครจะพูดวิจารณ์อย่างไรก็ตาม แต่สำหรับคนที่พอจะรู้จักจารีตประเพณีของบางกอกโพสต์แล้ว
ก็จะทราบได้ว่า ทั้งการเพิ่มเซ็คชั่นใหม่และการรับผู้บริหารคนไทยไม่ใช่ฝรั่งเข้ามาในตำแหน่งหัวใจทั้ง
2 ตำแหน่งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควรแล้ว.." คนเก่าของโพสต์ให้ความเห็นอย่างเปิดอก
"แต่มันก็ฟ้องอยู่ในตัวว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น บางกอกโพสต์ไม่เคยนึกคิดถึงเรื่องตระเตรียมคนกันเลย
พอจะทำให้เรียกว่าจวนเจียนคือเอียน ฟอเซทอายุ 64 ส่วนเท่ห์ก็ 69 เข้าไปแล้ว..."
คนนอกหลายคนวิจารณ์
และที่แน่นอนคือ มิใช่ว่าเมื่อตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแล้วทุกอย่างจะลงเอยอย่างไรหอมหวานเสมอไป
เซ็คชั่นใหม่ที่เชื่อ "OUT LOOK" นั้นก็ยังต้องรอผลว่าผู้อ่านจะนิยมมากน้อยแค่ไหน
ส่วนทายาทใหม่ก็จะต้องพิสูจน์ฝีมือตัวเองให้ประจักษ์ชัด
ประสิทธิ เมฆวัฒนา นั้นปัจจุบันอายุ 37 ปีมีท่วงทำนองเป็น "มาร์เก็ตติ้ง
แมน" เต็มตัว
เพียงแต่ไม่เคยผ่านงานหนังสือพิมพ์มาก่อนเท่านั้น
ประสิทธิ์โดยประวัติส่วนตัวเรียนชั้นประถมที่อัสสัมชัญ บางรัก ไปเรียนชั้นมัธยมที่เซนต์
สตีเวน คอลเลจ ฮ่องกงเป็นเวลา 5 ปี แล้วไปอยู่สหรัฐอเมริกาอีก 10 ปี เต็ม
ๆ ซึ่งระหว่างที่อยู่ในสหรัฐฯ ประสิทธิได้ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นโอเรกอนสเตรท
และปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัยไอดาโฮ
เขากลับเมืองไทยเมื่อปี 2517 จับงานชิ้นแรกด้านการตลาดสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักกับบริษัทเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ดูแลสินค้าสบู่และตอนหลังก็มีหลอดไฟฟ้าเป็นหลัก
ในเดือนกันยายน 2519 เมื่อเบอร์ลี่ยุคเกอร์ซื้อกิจการนมอลาสกา ประสิทธิก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทอลาสกา
มิลค์ อินดัสทรีย์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงเดือนธันวาคม
2523 และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2524 ภายหลังการลาออกจากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์แล้ว
ประสิทธิได้เข้าไปรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัทฟูดส์ โปรเซสซิ่ง
กิจการร่วมทุนระหว่างไทยออสเตรเลียที่ปัจจุบันกลายเป็นของออสเตรเลียฝ่ายเดียวไปแล้ว
"ที่นี่ก็มีผลิตภัณฑ์จำพวกอาหารว่างอย่างพวกมันมัน เป็นต้น" ประสิทธิ
เมฆวัฒนา บอกกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับเล่าว่าทำงานอยู่ที่นี่จนถึง
2528 เท่านั้น
จากนั้นเขาเข้ารับตำแหน่ง VICE PRESIDENT ทางด้านการตลาดอีกช่วงสั้น ๆ กับธนาคารเอเชีย
ก่อนที่จะลาออกในเดือนมีนาคม
และเข้าร่วมงานกับโพสต์พับลิชชิ่งในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเมื่อเดือนเมษายน
2529 นี้เอง
"งานของผมก็จะเป็นงานทางด้านการตลาดของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเครือซึ่งนอกจากบางกอกโพสต์
ก็มีบางกอกเวิรล์ สติวเดนท์ เป็นต้น งานนั้น 2 งานใหญ่ ๆ ที่ต้องรับผิดชอบก็คือทางกลุ่มผู้อ่านที่เราจะต้องสำรวจศึกษาแล้วพยายามขยายจำนวนผู้อ่าน
แล้วอีกงานก็คือการขายโฆษณาซึ่งผู้จัดการโฆษณาจะขึ้นตรงกับผม.." ประสิทธิ
ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ"
สำหรับประสิทธิแล้ว งานที่โพสต์นี้เขารู้สึกว่า "มันเป็นงานที่ท้าทายมาก…"
"คุณก็ทราบใช่ไหมว่า มันเป็นงานที่จะต้องมีสินค้าออกสู่ตลาดทุกวัน
มีเดดลายน์ทุกวัน มันไม่เหมือนสินค้าอื่น ๆ ที่เดดลายน์อาจจะมีเวลาให้คุณได้เตรียมตัวหรือแก้ไขอะไรได้
แต่ไม่ใช่งานหนังสือพิมพ์และนี่คือสิ่งที่ท้าทายสำหรับผม" ประสิทธิเปิดใจ
และถึงจะเป็นงานแขนงใหม่ แต่ประสิทธิก็เชื่อว่าเป็นงานที่เขาสามารถเรียนรู้ได้
"ผมสบายใจที่ได้ทำงานร่วมกับมิสเตอร์เอียน ฟอเซท และผมคงจะได้เรียนรู้อย่างมากจากเขา
เอียน ฟอเซท เป็นคนที่หาได้ยากยิ่ง เขายืนอยู่บนจุด 1 จุด อย่างคนที่รู้จริง
คือธุรกิจและงานกองบรรณาธิการ" ประสิทธิ เปิดเผยพร้อมกับกล่าวยกย่องความสามารถของกรรมการผู้จัดการ
ซึ่งก็น่าจะต้องยกย่องเพราะเอียน ฟอเซท นั้นนอกจากจะเป็นคนที่เก่งจริง ๆ
แล้ว นอกเหนือสิ่งอื่นใด เขาก็คือผู้ตัดสินใจสำคัญในการเลือกประสิทธิเข้าร่วมงาน
ก่อนจะเสนอชื่อไปให้คณะกรรมการบอร์ดอนุมัติ
เอียน ฟอเซท ได้ตัดสินใจให้บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งสำรวจและส่งรายชื่อผู้บริหารที่จะเอาเข้ามาแทนเดวิด
โทมัสผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดตั้งแต่ช่วงต้นๆ ปีนี้แล้ว ซึ่งประสิทธิ เมฆวัฒนา
ก็เป็น 1 ในจำนวนไม่กี่คนที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอชื่อเข้าไปและหลังการสัมภาษณ์โดยเอียน
ฟอเซท ประสิทธิก็ได้ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแทนเดวิด โทมัส
"เอาเป็นว่าเราอย่าคุยกันในประเด็นนี้เลย..." ประสิทธ ออกตัวเมื่อ
"ผู้จัดการ" ขอให้พูดถึงขั้นตอนการเข้ามาในโพสต์
ส่วน ดร. ปรัชญาทวี ตะเวทิกุล ก็เข้ามาเพราะเอียน ฟอเซท จะต่างกับประสิทธิก็ตรงที่ผู้ที่ตัดสินใจร่วมกับเอียน
ฟอเซท ก็คือ เท่ห์ จงคดีกิจ ด้วยอีกคน
ดร. ปรัชญาทวี นั้นรู้จักถึงขั้นสนิทสนมกับทั้งเท่ห์และเอียน ฟอเซท มานับสิบปีแล้ว
โดยเฉพาะเท่ห์เองก็เห็น ดร. ปรัชญาทวีมาตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ด้วยซ้ำ
ดร. ปรัชญาทวี เป็นบุตรชายของ ทวี ตะเวทิกุล ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ร่วมกับ
แมค โดนัลด์ ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ และอีกหลายคนที่ส่วนใหญ่จะมีอดีตเป็นเสรีไทยหรือคนสนิทของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี
พนมยงค์)
ทวี ตะเวทิกุล เสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์ "กบฏวังหลวง" โดยถูกยิงที่จังหวัดสมุทรสงคราม
ขณะนั้นลูกชายของเขา-ดร. ปรัชญาทวี เพิ่มจะมีอายุได้เพียง 1 ขวบ
"ผมก็เพิ่งจะทราบเรื่องราวของท่านในภายหลัง เพราะก่อนหน้านั้นครอบครัวก็พยายามปิดบังและจากเรื่องราวที่หลาย
ๆ คนเล่าให้ฟัง ผมรู้สึกภูมิใจในตัวท่านมาก ท่านเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ เป็นนักการทูต
เป็นนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเสรีไทยที่ช่วยกู้ชาติ เป็นนักธุรกิจที่เคยทำธุรกิจนำเข้าส่งออก
เป็นนักการธนาคารเคยทำงานเป็นผู้บริหารธนาคารเอเชียและเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ชีวิตผมนั้นเป็นเหมือนท่านได้สักอย่างสองอย่างก็คงจะดีมากแล้ว" ดร.
ปรัชญาทวี กล่าวถึงบิดาด้วยน้ำเสียงชื่นชม
ดร. ปรัชญาทวี เป็นศิษย์เก่าเซนต์คาเบียลและโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ชีวิตวัยเด็กเป็นชีวิตที่ค่อนข้างจะระเหเร่ร่อน
อยู่กับญาติบ้างอยู่กับยายบ้าง ไม่ค่อยได้อยู่กับครอบครัว และด้วยการใช้ชีวิตที่ไม่อยู่ติดบ้านก็ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปเสี่ยงโชคที่สหรัฐฯ
ด้วยเงินในกระเป๋าเพียง 2,000 เหรียญ
ด้วยความมานะพยายามและการเป็นคนเรียนเก่งเป็นทุนเดิม เขากลายเป็นนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัยที่เรียนตั้งแต่ชั้นปริญญาตรีจนได้ปริญญาเอกโดยไม่ต้องควักเงินส่วนตัวเลย
"ผมเรียนที่นั่น 3 ปริญญา คือตรีด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่โอคลาโฮมาสเตรท
แล้วได้โททางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน เสร็จแล้วก็ไปเรียนที่เนบราสกา
ปริญญาเอกสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจ
โดยประเทศที่สนใจตอนนั้นก็คือจีนและญี่ปุ่น...." ดร.ปรัชญาทวี เปิดเผยให้ฟัง
ดร.ปรัชญาทวี เรียนและทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่สหรัฐฯ เป็นเวลา
11 ปี ก็เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปี 2519 พร้อมกับภรรยาที่เป็นหลานสาว พล.อ.ท.
ประหยัด ดิษยศริน) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลดิษยศริน
ก็เป็นการกลับมาอย่างไม่มีการเตรียมการล่วงหน้าว่าจะทำอะไร?
เขาตระเวนไปคุยกับหลาย ๆ คนที่เคยสัมพันธ์กับพ่อ
ดร. ป๋วย อึ้งภาภรณ์ ที่ช่วงนั้นเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์และเคยเป็นลูกศิษย์ของพ่อเขา
ก็ชักชวนให้มาสอนที่ธรรมศาสตร์ ระหว่างการตัดสินใจเขาไปเยี่ยมประสิทธิ ลุลิตานนท์กับเท่ห์
จงคดีกิจ ที่บางกอกโพสต์ ดร. ปรัชญาทวี ได้รับข้อเสนอให้เขียนบทความลงบางกองโพสต์ซึ่งเขาก็เขียน
จนกระทั่งพิชัย รัตตกุลที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอ่านพบข้อเขียนของเขาเข้า
ก็ทาบทามขอให้สมัครสอบเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ
เขาสมัครสอบและก็สอบเข้าทำงานในกรมการเมืองได้เป็นที่ 1 แต่ตอนที่บรรจุนั้นพิชัย
รัตตกุลก็ต้องพ้นตำแหน่งไปแล้วด้วยการยึดอำนาจของคณะปฏิรูประหว่างเกิดเหตุการณ์นองเลือดในวันที่
6 ตุลาคม 2519
ยุคนั้นเป็นยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร มีอุปดิษย์ ปาจริยางกูร เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
"ผมก็อยู่กรมการเมืองได้พักเดียวรัฐมนตรีก็เรียกตัวให้ไปทำงานข้างบนที่สำนักเลขาฯ
ผมก็ทำตั้งแต่ประจำสำนักงานจนเป็นเลขานุการรัฐมนตรี 3 ปีกว่ารัฐมนตรีอุปดิษย์พ้นไป
รัฐมนตรีสิทธิ เศวตศิลา เข้ามา รัฐมนตรีอรุณ ภานุพงษ์ เป็นรัฐมนตรีช่วย ซึ่งท่านก็เป็นลูกศิษย์พ่อผมคนหนึ่ง
ทีแรกผมก็คิดว่าจะลงไปอยู่ข้างล่างแล้วก็พอดีท่านรัฐมนตรีช่วยอรุณบอกว่าอยู่ช่วย
ๆ กันก่อน ผมก็เป็นเลขาฯให้ท่านซึ่งโดยตำแหน่งก็คือผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี
ก็ต้องอยู่อีก 3 ปี รวมเป็น 6 ปี ครึ่งไม่ได้ออกไปประจำต่างประเทศเลย.."
ดร. ปรัชญาทวี เล่าถึงช่วงชีวิตช่วงหนึ่งในกระทรวงต่างประเทศ
ภายหลังที่อรุณ ภาณุพงษ์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย ดร. ปรัชญาทวี ก็ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่เป็นเวลา
11 เดือน จากนั้นก็ขึ้นสู่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมสารนิเทศ
และก็เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนการตัดสินใจลาออกมาร่วมงานกับโพสต์เต็มตัว
"โดยที่ระหว่างทำงานกระทรวงการต่างประเทศก็เขียนบทความส่งมาลงที่โพสต์เป็นประจำ
มีนามปากกาว่า สวัสดี..." นักข่าวอาวุโสคนหนึ่งบอก
การเข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการร่วมของ ดร. ปรัชญาทวีนั้น ในแง่ความเป็นมาแล้วก็พูดกันไปหลายทาง
ซึ่งทางที่พูดกันมาก ๆ ก็ว่า เท่ห์กับเอียน ฟอเซท เป็นคนไปดึง ดร. ปรัชญาทวีมาด้วยสัญญาข้อตกลงบางประการที่เกี่ยวกับตำแหน่งบรรณาธิการในอนาคต
เมื่อเท่ห์ต้องวางมือจากวงการบวกกับค่าตอบแทนที่เกือบถึงหลักแสนบาท
แต่สำหรับ ดร. ปรัชญาทวีเอง "ผมลาออกมาก่อน คือผมคิดว่าจะหยุดพักผ่อนสักพักเนื่องจากเป็นโรคปวดหลังแล้วก็ตกลงไว้กับบริษัทหนึ่งว่าจะเขียนหนังสือให้เขาเล่มหนึ่ง
พอคุณเท่ห์ทราบว่าลาออกก็โทรมาคุย แล้วก็นัดทานข้าวกันมีคุณเอียนด้วยอีกคนเป็น
3 คน เราก็คุยกันแล้วผมก็ตัดสินใจมาซึ่งก็ไม่มีสัญญาอะไรอย่างที่ว่านั่นหรอก..."
"สำหรับผมเบื้องหลังการตัดสินใจก็คือ มันเหมือนกับเราได้กลับบ้านเก่ามากกว่า
ที่นี่มันไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับผมทางด้านวัตถุหากแต่เป็นทางด้านจิตใจคืออย่างคุณเท่ห์นั้น
ก็เห็นผมมาตั้งแต่ผมเล็ก ๆ เห็นแม้กระทั่งตอนที่พ่อผมตายเขาต้องล้มคลุกคลานมามาก
เขาเป็นหลักอันหนึ่งของโพสต์ และผมอยากจะพูดว่าเขาได้กลายเป็นสถาบันไปแล้ว"
ดร.ปรัชญาทวี กล่าวพร้อมกับยืนยันว่า
"การที่จะไปแทนที่คุณเท่ห์นั้นผมจึงไม่เคยคิด ผมคิดแต่ว่าจะต้องใช้ความสามารถของผมให้เต็มที่
และก็หวังว่าจะเป็นที่พอใจของคณะกรรมการทุกคน..."
ซึ่งก่อนที่จะถึงวันแห่งการแสดงออกซึ่งความสามารถอย่างเต็มที่ของ ดร. ปรัชญาทวีนั้น
สำหรับวันนี้ของเขาก็คือการเรียนรู้งานในหน้าที่ของบรรณาธิการจากเท่ห์ จงคดีกิจ
"ผมก็หวังว่าผมจะเรียนรู้ให้ได้เร็วที่สุด.." เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งเท่ห์และเอียน ฟอเซท ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้เพราะสำหรับเท่ห์และเอียนนั้น
จากการเปลี่ยนแปลงทั้งโฉมหน้าของหนังสือพิมพ์และการเสาะหาทายาทผู้จะมาสืบทอดการบริหารต่อไปในอนาคตเขาได้กระทำลงไปแล้ว
ซึ่งก็เป็นที่พออกพอใจของบอร์ดเพราะการประชุมบอร์ดก็ไม่มีกรรมการท่านใดติติงให้ทิศทางของการแก้ปัญหาต้องหันเหเป็นอื่น
อาจจะดูสายไปบ้าง แต่ทุกอย่างก็ได้เริ่มกันไปแล้ว
ที่จะต้องเฝ้ารอดูกันต่อไปก็คือผลของการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อภายนอกและภายในอาณาจักรแห่งนี้