โกดักอีกแล้ว คราวนี้ขมขื่นกว่ากรณี "สุวัฒน์" หลายเท่า

โดย นพ นรนารถ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

หากสถานประกอบการสักแห่งหนึ่งมีความจำเป็น เพราะแรงบีบรัดทางธุรกิจให้ต้องดำเนินนโยบายลดค่าใช้จ่ายด้วยการบอกเลิกจ้างพนักงานสักจำนวนหนึ่ง เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้นั้น แม้จะเป็นปัญหาที่ท้าทายมนุษยธรรมอยู่บ้าง แต่ถ้าทำอย่างเปี่ยมด้วยคุณธรรมและความถูกต้องอย่างเสมอภาคแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่การตัดสินใจของผู้บริหารบริษัทโกดักประเทศไทยที่เลิกจ้างคนอย่าง วรวัฒน์ ปั้นจิตร นี้ เป็นปัญหามนุษยธรรมเป็นเรื่องที่คิดคำนึงกันมากน้อยแค่ไหน วรวัฒน์ ปั้นจิตร ทุกวันนี้กำลังเผชิญกับปัญหาที่ใครไม่โดนกับตัวก็อาจจะไม่รู้ซื้อเขาตกเป็นเหยื่อของนโยบายการบริหารที่ปราศจากจิตสำนึกหรือเปล่า....?

คนเรานั้นมีบางครั้งต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างไม่คาดฝันเป็นเคราะห์กรรมหนักเบาต่าง ๆ กันไป

วรวัฒน์ ปั้นจิตร ผู้ชายวัย 34 ปี คนนี้ก็เพิ่งจะประสบเคราะห์กรรมมาหมาด ๆ

เป็นเคราะห์กรรมที่หนักหนาสาหัสทีเดียว

วรวัฒน์ มีบ้านที่ผ่อนส่งยังไม่หมดหลังเล็ก ๆ ครอบครัวเขาประกอบด้วยภรรยาที่ไม่ได้ประกอบอาชีพพร้อมกับบุตรชายวัยกำลังกินกำลังนอนอีก 2 รถยนต์สภาพกลางเก่ากลางใหม่ 1 คัน เป็นครอบครัวชั้นกลางที่กำลังสร้างเนื้อสร้างครอบครัวหนึ่งโดยแท้

วรวัฒน์ การศึกษาไม่สูงส่งมากนัก เขาจบชั้นมอศอ 3 แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะก็ทำให้ได้งานที่มั่นคง เงินเดือนสูงและมีแนวโน้มว่าจะก้าวหน้าไปได้อีกไกล

"เขาเป็นคนฉลาด คล่องแคล่ว เรียนรู้เร็วและเจ้านายรัก ลูกน้องก็เคารพ..." เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

วรวัฒน์ ทำงานเป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัทโกดักประเทศไทย

นับอายุงานตั้งแต่วันเริ่มต้นจนถึงวันนี้ก็ไม่น้อยกว่า 17 ปีแล้ว

เรียกได้สนิทปากว่าเป็นคนเก่าแก่คนหนึ่งของโกดัก

"ผมเริ่มงานกับโกดักเมื่อปี 2512 ก็เริ่มจากการเป็นพนักงานล้างฟิล์มในห้องแล็ปธรรมดา ๆ จากความชำนาญงานก็ได้รับการโปรโมทหน้าที่ให้รับผิดชอบงานในห้องแล็ปที่ต้องใช้ฝีมือมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงนั้นผมก็ได้รับคำชมเชยมากว่าเป็นคนทำงานละเอียดประณีต มีผลงานดี" วรวัฒน์ เล่าให้ฟัง

ปี 2518 จากพนักงานห้องแล็ป วรวัฒน์ ได้รับการส่งเสริมให้ได้เข้าไปทำงานในแผนกออกของ หรือที่เรียกกันว่า "ชิปปิ้ง" ของโกดัก

ช่วงนั้นแผนกนี้มีพนักงานทำงานอยู่ 2 คน หัวหน้าแผนกที่ชื่อ ศิริชัย สุริสีหเสถียร คนหนึ่ง และวรวัฒน์ เป็นผู้ช่วยของศิริชัยอีกคนหนึ่ง

วรวัฒน์ ใช้คุณสมบัติความละเอียดรอบคอบและเรียนรู้เร็วของเขาพัฒนาตัวเองจนมีผลงานถึงขั้นที่ศิริชัย ยกย่องให้เป็นมือขวาได้อย่างสนิทใจ

และภายหลังเมื่องานขยายขึ้นแผนกต้องรับพนักงานเพิ่มอีกหลายคน วรวัฒน์ก็อยู่ในฐานะพนักงานอาวุโสคนหนึ่งของแผนก

"แผนกนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายจัดจำหน่ายมีผู้จัดการฝ่ายซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่เหมือนกันชื่อ กวีกร เอี่ยวศรีวงศ์ วรวัฒน์รักเคารพกวีกรมาก ส่วนกวีกรก็ให้ความสนิทสนมเมตตาวรวัฒน์มาโดยตลอด เขารักใคร่กลมเกลียวกันขนาดที่วรวัฒน์เรียกกวีกรว่า เฮียทุกคำ.." คนในโกดักเล่ากับ "ผู้จัดการ"

จากเด็กจบเพียงชั้นมัธยมต้น (ม.ศ. 3 )ของโรงเรียนปทุมคงคา มาเป็นเด็กฝึกงานในห้องแล็ป เงินเดือนเริ่มต้นไม่ถึง 900 บาท ไต่เต้าจนสามารถทำงานเป็น "ชิปปิ้ง" เงินเดือนล่าสุด 12,500 บาท สำหรับคนอย่างวรวัฒน์ ปั้นจิตรแล้ว ก็คงจะคู่ควรอยู่หรอกกับคำกล่าวที่ว่า "เขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่อาจจะหาได้ไม่ง่ายนัก"

ช่วงชีวิตในวัยเริ่มต้น 30 ของวรวัฒน์เป็นช่วงชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์มาก ๆ งานกำลังดำเนินไปด้วยดี ครอบครัวกำลังเป็นปึกแผ่นและด้วยนิสัยส่วนตัวที่ดี วรวัฒน์กลายเป็นคนที่ไม่เคยเหงาเพื่อนมาโดยตลอด

เพียงแต่คนเรานั้นมีบางครั้งต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างไม่คาดฝัน!

ราวปลายเดือนมิถุนายนปี 2528 หรือปีกว่า ๆ มานี้ ชายผู้มีเรือนร่างสูง 175 เซนติเมตรน้ำหนักตัว 70 กว่ากิโลกรรมสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงไม่เคยเจ็บป่วยหนัก ๆ อย่างวรวัฒน์จู่ ๆ ก็เกิดอาการเป็นลมชักกระตุกอย่างปัจจุบันทันด่วนบริเวณท่าเรือคลองเตยขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่

"ผมนึกว่าตายเสียแล้ว มันเกร็งไปหมดทั้งตัว กัดลิ้น หายใจไม่ออก เพื่อนที่ไปด้วยก็ช่วยกันโกลาหล คนหนึ่งจับผมแหกปาก ผมกัดมือเขาจนรู้สึกได้ยินเขาร้องเจ็บปวด อีกคนจับขา นวด ผม ขณะที่ผมกำลังจะหมดลม ถีบเพื่อนคนที่อยู่ปลายเท้ากระเด็นไปเลย แล้วก็หายใจได้เฮือกใหญ่อาการเกร็งและกระตุกก็คลาย รอดชีวิตมาได้หวุดหวิด" วรวัฒน์เปิดเผยด้วยน้ำเสียงที่ยังเหนื่อยหอบไม่หาย

เขาตัดสินให้แพทย์ตรวจร่างการอย่างละเอียด ซึ่งจากการเข้ารับการตรวจสมองที่โรงพยาบาลประสาทแพทย์ก็สั่งให้เขาเข้ารับการผ่าตัดสมองทันที

แพทย์ที่นั่นบอกสั้น ๆ ว่า วรวัฒน์ เป็นเนื้องอกในสมอง

วันที่ 8 กรกฎาคม 2528 วรวัฒน์ได้รับการผ่าตัดและภายหลังการผ่าตัดก็ต้องทำการฉายแสง (รังสีโคบอล) ติดต่อกัน 36 ครั้ง

มันเป็นความเจ็บป่วยที่สำหรับวรวัฒน์แล้วก็ไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนเลย เขาตกใจมาก แต่ก็อบอุ่นใจและมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้ายเพราะคนโกดักแห่มาเยี่ยมไข้ให้กำลังใจกันแทบหมดบริษัท "ผมมีสมุดเยี่ยม คุณเชื่อไหมคนโกดักทั้งผู้บริหารและเพื่อน ๆ พนักงานมาเยี่ยมผมกว่า 200 คน ดอกไม้เต็มห้องไปหมด วัน ๆ แทบไม่ต้องนอนพัก เอาแต่รับแขกก็หมดเวลาเป็นวัน ๆ แล้ว วรวัฒน์ พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

และนั่นเป็นภาพประทับใจครั้งสุดท้ายที่พนักงานผู้มีอายุการทำงานกับโกดักนานถึง 17 ปีได้รับจากโกดักและเพื่อน ๆ พนักงานด้วยกัน

เพราะหลังจากผ่าตัดแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างได้เริ่มกลับตาลปัตรอย่างช้า ๆ แต่ต่อเนื่องสำหรับวรวัฒน์

ถ้าเชื่อถือในเรื่องโชคลางก็คงต้องบอกว่าโชคชะตาเล่นตลกกับวรวัฒน์เข้าแล้ว!

คนในโกดักหลายคนซุบซิบกันว่าวรวัฒน์อาจจะเป็นมะเร็งในสมอง และเขาคงจะไม่สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวนักนับแต่นี้

ยิ่งวรวัฒน์ต้องเวียนเข้ารับการตรวจเช็คอยู่เนือง ๆ ด้วยแล้วก็ดูเหมือนจะยิ่งเชื่อกันมากขึ้น

ส่วนวรวัฒน์เอง แรก ๆ ก็กังวลใจเหมือนกันว่าตนเป็นโรคอะไรแน่! เขาคิดถึงเรื่องการต้องจบชีวิตของเขาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่รู้สึกห่วงกังวลครอบครัวเท่าไหร่? เนื่องจากถ้าเขาต้องเสียชีวิตไปจริง โกดักก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวเขา 48 เดือนจากเงินเดือนสุดท้าย อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่ระหว่างต้องผ่าตัดฉายแสง และรักษาตัวนี้ก็สามารถเบิกได้จากโกดัก เนื่องจากโกดักได้ทำประกันสุขภาพให้กับพนักงานทุกคน

"ตอนนั้นผมเป็นห่วงแต่เฉพาะเรื่องงานมาก พอออกจากโรงพยาบาลผมก็รีบไปทำงานทันที หลายคนพูดอย่างเป็นห่วงผมบอกว่าถ้ายังไม่ไหวก็พักผ่อนก็ได้ หรือถ้าอยากมาทำงานก็ไม่ต้องตอกบัตรหรอกคุณกำลังป่วย ตอนนั้นผมก็ไม่คิดอะไรแต่ก็มีคนเตือนผมเหมือนกันว่า ถ้าไม่ตอกบัตรทำงาน ก็หมายถึงขาดงานและถ้าขาดติดต่อกันโดยไม่แจ้งสาเหตุ บริษัทมีสิทธิบอกเลิกจ้างได้ ผมก็เลยตอกบัตร" วรวัฒน์ เล่าให้ฟัง

ช่วงที่วรวัฒน์กำลังเผชิญกับเคราะห์กรรมจากความเจ็บป่วยนั้น ก็เป็นช่วงเดียวกับที่โกดักกำลังมีปัญหาถูกพนักงานระดับบริหารอย่างสุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล ฟ้องร้องคดีแรงงาน

วรวัฒน์ กับสุวัฒน์ ไม่ได้สนิทสนมกันมาก่อนแต่ประการใด แต่ในขณะที่สุวัฒน์ถูกโดดเดี่ยวไม่มีคนในโกดักกล้าพูดคุยเสวนาด้วยนั้น วรวัฒน์กลับตรงกันข้ามเขาแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจสุวัฒน์อย่างโจ่งแจ้ง

ในวันที่สุวัฒน์ถูกแจ้งการเลิกจ้างและต้องเก็บของออกจากโกดักโดยมีคนเดินคุมตัวลักษณะประกับกันมา 3 คน มาส่งถึงรถนั้นวรวัฒน์ก็เหตุการณ์เข้าโดยบังเอิญ เขาพูดอย่างไม่สบอารมณ์ทันทีว่า "คนเก่าคนแก่ต้องคุมตัวออกไปกันขนาดนี้เชียวหรือ...?

วรวัฒน์ไม่ทราบว่าสิ่งที่เขาได้แสดงออกไปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างโกดักกับสุวัฒน์นี้จะมีใครพอใจหรือไม่อย่างไร เพราะวรวัฒน์เพียงแสดงความเห็นอกเห็นใจธรรมดา ๆ เท่านั้น

เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปัญหาระหว่างโกดักกับสุวัฒน์นั้นมันลึกซึ้งแค่ไหน?

สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุล ที่ "ผู้จัดการ" เคยเขียนถึงเรื่องราวของเขากับโกดักไปเมื่อฉบับเดือนพฤษภาคม 2529 นั้น ได้รับการบอกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 ช่วงนั้นวรวัฒน์ยังมีอาการเจ็บป่วยเป็นพัก ๆ

และช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่โกดักทั่วโลกซึ่งรวมทั้งโกดักในประเทศไทย มีนโยบายที่จะลดค่าใช้จ่ายด้วยการปลดพนักงานลง 10 % อยู่พอดี

ผู้บริหารระดับสูงของโกดักประเทศไทยกำลังประชุมกันอย่างเคร่งเครียดว่าแผนกใดหรือฝ่ายไหนที่จะต้องลดคน ซึ่งในที่สุดก็ตกลงว่าห้องแล็ปกับแผนกเล็ก ๆ อย่าง "ชิปปิ้ง" เป็นหน่วยงานที่จะต้องจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

"ก็เตรียมการกันวุ่นวายทีเดียว เพราะบางคนที่เผอิญทำงานอยู่ในฝ่ายที่จะต้องลดคน ถ้ามีญาติพอจะบอกกล่าวให้ช่วยได้ก็จะมีการช่วย ๆ กันให้ย้ายไปอยู่ในฝ่ายที่ปลอดภัย คือฝ่ายที่ยังไม่ต้องลดคนเรียกว่าหาทางลงหลุมหลบภัยกันละครับ... " แหล่งข่าววงในคนหนึ่งสาธยายถึงบรรยากาศอลเวงในช่วงนั้น

"ถ้าว่ากันตามหลักการเฉพาะการลดคนในฝ่ายแล็ปก็มีเหตุผลอยู่ เพราะงานตอนหลัง ๆ เข้ามาน้อย ส่วนมากลูกค้าก็จะไปใช้บริการตามศูนย์ล้างอัดขยายต่าง ๆ และน่าจะทยอยลดคนได้ตั้งนานแล้ว แต่ดูเหมือนก่อนหน้านี้โกดักเขาต้องการควบคุมคุณภาพ ก็เลยให้มีไว้เผื่อคนที่ไม่พอใจคุณภาพของศูนย์ก็ส่งมาที่ห้องแล็ปโกดัก ส่วนแผนกชิ้ปปิ้งไม่เข้าใจว่าเขามีแหตุผลอะไร?" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

นโยบายลดคนนี้ถูกจัดทำขึ้นเป็นโครงการด้วยฝีมือของที่ปรึกษากฎหมายอย่างแยบยลมาก !

เจ ซี สมิธ กรรมการผู้จัดการโกดักประเทศไทยได้ออกหนังสือเวียนไปตามแผนกต่าง ๆ ที่อยู่ในเป้าหมายต้องลดจำนวนคนเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2529 มีข้อความว่า...

"เรียนเพื่อนพนักงานโกดัก เมื่อเราได้พิจารณาดูถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันก็ได้พบว่าบริษัทกำลังประสบกับภาวะท้าทายด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ค่าประกอบการในการดำเนินธุรกิจยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ภาวะการตลาดได้มีการแข่งขันเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกระทบต่อปริมาณการขายและผลกำไรของบริษัทภาวการณ์ที่ท้าทายทางด้านเศรษฐกิจและการตลาดที่เรากำลังประสบอยู่นี่ ได้บังคับหเราต้องหันมาศึกษาการดำเนินธุรกิจของเราโดยมุ่งไปในทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในอันที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของธุรกิจในระยะยาวต่อไป เราตระหนักดีว่าหากเราจะต้องแข่งขันกับภาวะการตลาดปัจจุบัน เราต้องเพิ่มความพยายามในการก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายในการประกอบการให้รัดกุมด้วยเช่นกัน..."

"โครงการลดกำลังคนโดยความสมัครใจ" ก็เลยต้องเป็นเรื่องที่โกดักจะต้องแจ้งให้พนักงานทุกคนในแผนกที่ต้องลดกำลังคนได้ทราบ

หนังสือเวียนของ เจ ซี สมิธ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า "โครงการลดกำลังคนนี้สำหรับพนักงานในแผนกบริการลูกค้า แผนกบริการสินค้าเข้า แผนกขนส่ง แผนกช่างซ่อมบำรุง และห้องแล็ปโกดัก พนักงานใดที่เลือกจะร่วมในโครงการนี้มีเวลาในการตัดสินใจถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2529 โปรดกรอกข้อความแจ้งผลการตัดสินใจถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2529 โปรดกรอกข้อความแจ้งผลการตัดสินใจของท่านลงบนจดหมายที่แนบมาในส่วนล่างของจดหมายนี้ และส่งคืนให้แก่กรรมการผู้จัดการภายในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 4 มิถุนายน 2529 ทั้งนี้ฝ่ายจัดการขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาจะรับหรือไม่รับผลการตัดสินใจของผู้เข้าร่วมโครงการ..." นัยหนึ่งก็คือบางคนที่สมัครใจลาออกโกดักอาจจะไม่ให้ออกก็ได้หรือคนไม่ยอมลาออก (แจ้งไม่ร่วมโครงการฯ) โกดักก็สามารถให้ออกได้เช่นกัน

"เป็นมาตรการที่มัดมือชกชัด ๆ คุณไม่มีทางออกเลยถ้าโกดักไม่ต้องการคุณแล้ว..." พนักงานคนหนึ่งระบายออกมาด้วยท่าทีอึดอัด

"การตัดสินใจของผู้ร่วมโครงการซึ่งได้รับการยอมรับโดยฝ่ายจัดการจะได้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในตารางผลประโยชน์ในกรณีลาออกเองบวกกับส่วนที่เพิ่มอีก 50% ของผลประโยชน์ที่ได้รับ" หนังสือเวียนฉบับเดียวกันกล่าวถึงแรงจูงใจพิเศษที่ผู้สมัครใจลาออกจะได้รับเพิ่มขึ้นอีก 50% ของผลประโยชน์ขั้นต่ำทั่ว ๆ ไป (คือ 6 เดือนของเงินเดือนงวดสุดท้ายรวมกับเงินเดือนที่จ่ายให้อีกหนึ่งเดือนแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าชดเชยสำหรับวันลาพักร้อนที่ยังไม่ได้ใช้ในปี 2529) คือ สำหรับพนักงานที่ทำงานให้กับบริษัทฯ ตั้งแต่ 1-10 ปี จะได้รับเท่ากันทั้งหมด หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นปีละ 0.4 เดือนของเงินเดือนสุดท้าย

"ความหมายก็คือถ้าคุณไม่ยอมลาออกเองแต่เขาจะเอาคุณออกคุณก็จะได้แค่ผลประโยชน์ขั้นต่ำดังกล่าว แต่ถ้าคุณยอมร่วมโครงการลาออกด้วยความสมัครใจนอกจากผลประโยชน์ขั้นต่ำแล้วโกดักก็จะจ่ายเพิ่มให้อีก 50% ของผลประโยชน์ขั้นต่ำอีก แทนที่จะได้ 100 ก็ได้ไป 150..." นักกฎหมายคนหนึ่งอธิบายให้ฟัง

ถ้าจะว่าไปก็เป็นเรื่องที่พนักงาน ซึ่งได้รับหนังสือเวียนนี้จะต้องรู้แจ้งแทงตลอดว่า ตนเป็นที่ต้องการของบริษัทหรือไม่? หากทราบว่าบริษัทไม่ต้องการตนอีกต่อไปแล้ว (คืออย่างไรเสียก็จะต้องโดนให้ออกแน่ ๆ) หลายคนก็อาจจะต้องเลือกทางที่จะได้ผลประโยชน์มากขึ้นเอาไว้ก็เป็นได้

วรวัฒน์ ปั้นจิตร ก็ได้รับหนังสือเวียนนี้ด้วยคนหนึ่งและเขาก็ไม่แน่ใจว่าผู้บริหารคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวเขา ? แต่จากท่าทีของหัวหน้าหลาย ๆ คน เขาค่อนข้างจะเชื่ออยู่บ้างว่า เขาอาจจะเป็นคนหนึ่งที่จะถูกให้ออกในฐานะพนักงานที่กำลังถูกโรคร้ายคุกคามและไม่มีใครแน่ใจว่าจะหายขาดหรือไม่ ?

พนักงานที่ได้รับหนังสือเวียนของเจ ซี สมิธ นั้น จะต้องแจ้งคำตอบให้ฝ่ายบริหารทราบก่อนเที่ยงตรงของวันที่ 4 มิถุนายน และฝ่ายบริหารจะประกาศแจ้งผลว่าใครจะโดนให้ออกบ้างในวันที่ 5 มิถุนายน ที่เป็นวันรุ่งขึ้น

ทุกคนมีเวลาตัดสินใจเพียง 10 วันในการกำหนดวิถีชีวิตจากวันนี้ไปจนถึงวันสิ้นลมหายใจ สำหรับวรวัฒน์แล้วเขากลัดกลุ้มเอามาก ๆ

ด้วยความสามารถแล้ว วรวัฒน์ ก็คงจะหางาน "ชิปปิ้ง" ที่อื่นทำได้ไม่ยากหรือจะรับงานอิสระก็ยังได้ แต่นั่นน่าจะเป็นก่อนหน้าการล้มป่วย

"คนป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง ต้องโกนหัวจนโล้นเพื่อผ่าตัดและเมื่อรับการฉายแสงแล้วบางส่วนของศีรษะผมก็จะไม่ขึ้นอีกต่อไป ไปที่ไหนคนก็รู้ว่าเป็นคนป่วยสุขภาพไม่ดี ร่างกายยังเคลื่อนไหวไม่สะดวก ใครเขาจะรับเข้าทำงาน ขอถามหน่อย..." คนที่ได้พบเห็นสภาพภายหลังการผ่าตัดของวรวัฒน์แสดงความเห็น

วรวัฒน์ปรึกษาหัวหน้าของเขาอย่างน้อย 2 คน ว่าเขาควรจะทำอย่างไร? ทุกคนก็พูดให้กำลังใจแต่ก็แฝงไปด้วยน้ำเสียงที่ต้องการให้วรวัฒน์ลาออกไปเสีย จะได้เอาเงินไปรักษาตัวให้หายและจะได้พักผ่อนอย่างจริง ๆ จัง ๆ

ก็ไม่มีใครหวนคิดว่าวรวัฒน์นั้นทำงานอย่างทุ่มเทและซื่อสัตย์มาให้โกดักแล้วกว่า 17 ปี และเป็นเพื่อนร่วมงานที่เคยรักใคร่กลมเกลียวกันขนาดไหน ?!

"เมื่อหลายคนแสดงท่าทีเช่นนั้นผมก็สวนไปอย่างเหลืออดว่า ผมขอเอาผลงานพิสูจน์ว่าผมยังมีคุณค่าสำหรับบริษัทหรือไม่ ผมจะไม่ร่วมโครงการ ผมประกาศเลย...." วรวัฒน์กล่าว

และก็ไม่แต่เท่านั้น ด้วยความคับแค้นใจที่ถูกเสนอเงื่อนไขชนิดที่ "มัดมือชก" กัน วรวัฒน์ก็ยังพูดกับผู้ใหญ่ในโกดักที่เขารับและเคารพอีกด้วยว่า เห็นทีจะต้องมีการเคลื่อนไหวก่อตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของลูกจ้างเสียแล้ว

พูดไปได้ไม่กี่วัน เรื่องที่วรวัฒน์จะตั้งสหภาพก็พูดกันให้แซ่ดไปทั้งโกดัก

วรวัฒน์พบว่า ท่าทีที่หลายคนต้องการให้เขาลาออกแจ่มชัดขึ้น

วันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ราว ๆ บ่าย 3 โมง วรวัฒน์ก็โทรศัพท์ไปคุยกับผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่ชื่อรชนี วนกุล สอบถามว่าเขาควรจะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับโครงการลดกำลังคนโดยความสมัครใจนี้

รชนี ก็พยายามพูดโน้มน้าวให้เขาลาออก เพื่อจะได้เอาเงินไปรักษาตัว

"ผมก็ถามว่าผมจะได้รับผลประโยชน์เท่าไหร่หากเข้าร่วมโครงการ คุณเชื่อไหมขนาดผมโทรศัพท์ไปโดยไม่ได้นัดหมายอะไรกันเลยนะ คุณรชนีตอบได้ทันทีเลยว่าผมจะได้เงินราว ๆ แสนแปด ผมฟังแล้วก็ตกใจว่า ทำไมแฟ้มเรื่องของผมจึงสามารถค้นได้เร็วขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่โกดักมีพนักงานเป็นร้อย ๆ" วรวัฒน์เล่ากับ "ผู้จัดการ"

แน่นอน....วรวัฒน์ย่อมอดคิดไม่ได้ว่าโกดักนั้นได้เตรียมเรื่องที่จะเอาเขาออกไว้พร้อมแล้วไม่ว่าเขาจะเลือกร่วมโครงการหรือไม่ร่วมก็ตาม

วรวัฒน์ วางหูโทรศัพท์ด้วยอาการที่น้ำตาลูกผู้ชายอย่างเขานองไปทั้งหน้า เขาคิดถึงอนาคตตัวเอง คิดถึงครองครัว คิดถึงอนาคตของลูก ๆ 2 คนที่กำลังเรียนเพียงชั้นประถม และก็คิดว่าทำไมเวลา 17 ปี ในโกดักมันช่างลงเอยอย่างไร้ค่าเช่นนี้

แล้ววรวัฒน์ก็ล้มป่วยอย่างแรงอีกครั้งเพราะต้องคิดมาก

วรวัฒน์เข้าโรงพยาบาลวันที่ 10 มิถุนายน ภายหลังการตัดสินใจไม่ส่งการแจ้งผลใด ๆ ทั้งสิ้นไปให้กับฝ่ายบริหารของโกดัก

การเข้าพักรักษาตัวคราวนี้ สำหรับคนป่วยอย่างวรวัฒน์นั้นมันต่างจากครั้งแรกหน้ามือเป็นหลังมือ

ไม่มีคนโกดักคนใดมาเยี่ยมไข้ ไม่มีกระเช้าดอกไม้ ไม่มีคำปลอบใจ ไม่มีเพื่อนคงมีแต่ความเงียบเหงาและความสลดหดหู่ของคนที่กำลังตกอับที่สุดในชีวิต

สุวัฒน์ แดงพิบูลย์สกุลเมื่อครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับผู้บริหารของโกดักต้องประสบกับการถูกโดดเดี่ยวที่ว่าขมขื่นมากแล้ว ก็ดูเหมือนว่ากรณีของวรวัฒน์ ปั้นจิตรนี้จะยิ่งขมขื่นกว่ากันหลายเท่า

วรวัฒน์ ออกจากโรงพยาบาลวันที่ 24 มิถุนายน

วันเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลชื่อมนัญญากับหัวหน้าของเขาที่ชื่อศิริชัยก็มาถึงบ้านพร้อมจดหมายหนึ่งฉบับลงนามโดยกรรมการผู้จัดการ-เจ ซี สมิธ

มันเป็นจดหมายบอกเลิกจ้างวรวัฒน์ !!

"ตามที่ท่านทราบดีอยู่แล้วว่า บริษัทได้เริ่มใช้โครงการการลาออกจากงานทั้งโดยสมัครใจและไม่สมัครใจตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้วและเมื่อต้นเดือนนี้นั้น บริษัทขอแนบบันทึกการตัดสินใจของบริษัทขอเลิกจ้างท่านฉบับ ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2529 ตามรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในเอกสารแนบมาพร้อมนี้ ขอได้โปรดทราบว่า ทางฝ่ายจัดการของบริษัท หลังจากที่ได้ทราบว่า ท่านต้องเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ได้เลื่อนการส่งบันทึกคำบอกกล่าวนี้ให้กับท่านออกไปเพื่อขอให้ท่านออกจากโรงพยาบาลก่อน และเนื่องจากบริษัทต้องชำระเงินให้กับท่านภายในเดือนนี้เพื่อให้ตรงกับรอบระยะเวลาของเงินเดือนทั้งเดือนที่บริษัทตกลงจ่ายให้สำหรับเดือนมิถุนายนเต็มเดือน บริษัทจึงจำเป็นต้องบอกกล่าวมายังท่านในวันนี้โปรดทราบด้วยว่า การคุ้มครองเกี่ยวกับการประกันสุขภาพของท่านจะยังมีอายุไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 ดังนั้นถ้าท่านมีค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่จะเบิกได้ตามกรมธรรม์ดังกล่าวแล้ว ขอได้แจ้งให้บริษัททราบด้วย บริษัทยินดีที่จะช่วยเหลือท่านในเรื่องนี้..." จดหมายแจ้งการเลิกจ้างแสดงความมีน้ำใจไว้เสร็จสรรพ

แต่ถึงจะแสดงน้ำใจกว้างขวางแค่ไหน วรวัฒน์ก็รับจดหมายนั้นมาอ่านด้วยอาการทรุดไปทั้งร่าง เขาถามศิริชัยหัวหน้าของเขาว่า มีเหตุผลอะไรที่ต้องเอาเขาออก ศิริชัยก็บอกกับเขาว่า "คุณบอกทำไมว่าจะตั้งสหภาพ ฝรั่งมันไม่ชอบ.."

วรวัฒน์ก็ยังไม่เชื่อนัก

รุ่งขึ้นวันที่ 25 มิถุนายน วรวัฒน์โทรศัพท์ไปสอบถามกวีกร เอี่ยวศรีวงศ์ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่ายที่เป็นเจ้านายสูงขึ้นไปอีกขั้น กวีกรก็พูดจาบ่ายเบี่ยงไม่ยอมชี้แจงอะไรให้ชัดเจน ได้แต่พร่ำว่า "มีคนมาบอกผมว่า คุณโวยวายว่าผมไม่ยุติธรรม ผมช่วยอะไรคุณไม่ได้แล้ว.." และขอให้วรวัฒน์สอบถามไปที่ผู้จัดการฝ่ายบุคคล-รชนี วนกุล

รชนี วนกุล ก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาของวรวัฒน์เสนอขึ้นมาเพราะจำนวนคนผู้สมัครใจตามโครงการไม่พอแต่ไม่ใช่เรื่องที่วรวัฒน์จะตั้งสหภาพใด ๆ ทั้งสิ้น

"ผมก็ถามเขาว่าในแผนกผมมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งผมทราบว่าเขาสมัครใจลาออก ทำไมไม่ให้เขาออกกลับเป็นผมที่ไม่ได้ระบุว่าสมัครใจคุณรชนีก็ตอบอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ.." วรวัฒน์ บอกกับ "ผู้จัดการ"

ทุกคนที่วรวัฒน์คุยด้วยก็พยายามจะบอกว่า เรื่องมันได้เกิดขึ้นแล้วและเป็นเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้ ขอให้วรวัฒน์ปลงเสียให้ตก!

แต่เรื่องเช่นนี้ประสบเข้ากับใครแล้ว ก็ลองปลงดูเถอะว่าจะปลงได้หรือไม่ ?

วรวัฒน์ แม้ว่าจะเพิ่งออกจากโรงพยาบาลมาหมาด ๆ เมื่อต้องเจอกับมรสุมลูกใหญ่เข้าเช่นนี้ เขาต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยอาการที่หนักขึ้น

วันที่ 9 กรกฎาคม 2529 แพทย์ลงมือผ่าตัดสมองวรวัฒน์ เป็นครั้งที่สองจากนั้นก็ฉายแสงติดกันอีก 12 ครั้ง

บริษัทโกดักจ่ายเงินชดเชยให้วรวัฒน์ 106,480 บาท โดยไม่ได้รับเงินจำนวนอีก 50% ตามที่พนักงานคนอื่นที่ออกไปโดยร่วมกับโครงการดังกล่าว ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่พนักงานที่ทำงานมา 17 ปี แล้วลาออกเองตามปกติก็ได้รับเงินจำนวนนี้อยู่แล้ว

และเมื่อรวมกับเงินชดเชยวันหยุดประจำปี 2529 อีก 5,780 บาทแล้ว พนักงานที่มีอายุงานกว่า 17 ปีอย่างวรวัฒน์ก็ถูกเลิกจ้างไปด้วยเงิน 137,260 บาท

"เป็นโรคอย่างแก รักษาตัวพักเดียวก็หมดแล้ว ทีนี้ลูกเมียจะอยู่กันอย่างไรล่ะ...?" คนที่รู้เรื่องมาโดยตลอดพูดด้วยความเป็นห่วง

ไม่มีใครรู้ได้ว่าหนทางในภายภาคหน้าของวรวัฒน์ ปั้นจิตรจะลงเอยอย่างไร?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.