ไชย ณ ศีลวันต์ ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องมาทำงานธนาคารกรุงเทพ และยิ่งไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้เป็นลูกเขยของ
ดร. อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ เสียด้วย
ไชยฯ ปีนี้อายุ 28 ปี เมื่อเด็ก ๆ เป็นคนไม่มีวินัยในการเรียนเท่าไหร่นัก
เลยถูกพ่อจับให้ออกจากสาธิตจุฬา ตอน ป. 5 และไปเข้าเรียนต่อที่วชิราวุธวิทยาลัย
จนจบมัธยมปลาย
"ผมเป็นคนไม่ค่อยมีวินัยในการเรียนอยู่สาธิตจุฬา เพราะระบบเขาเปิดโอกาสให้รับผิดชอบเองก็เลยเละ
คุณพ่อเลยต้องจับให้เข้าไปอยู่โรงเรียนประจำ" ไชยเล่าให้ฟัง
ไชยจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาฯ รั้วสีเดียวกับ ดร. เชาวน์
ณ ศีลวันต์ ผู้พ่อ เพียงแต่ว่าพ่อจบสองสาขาคือ เครื่องกลและไฟฟ้า ส่วนไชยจบแค่ไฟฟ้าเท่านั้น
"จริง ๆ แล้วตอนนั้น ผมเรียนวิศวฯ เพราะต้องการตามรอยเท้าของพ่อเท่านั้น
พอเรียนไปได้แค่ 2 ปี ผมก็รู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ เพราะเผอิญผมได้มีโอกาสไปร่วมจัดทำเทปสายใจไทยให้กับทูลกระหม่อมท่านก็เลยรู้สึกว่าธุรกิจการค้านี้สนุกก็เลยอยากเรียน
MBA" ไชยสาธยายต่อให้ฟัง
ไชยเคยฝึกงานกับ ดร. โอฬาร ไชยประวัติที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงที่จบวิศวฯ
มาใหม่ ๆ พอคุณแม่เสียชีวิตก็บวชเกือบปีที่วัดป่าบ้านตาด จ.ว. อุดรธานี อยู่กับท่านอาจารย์มหาบัว
ในขณะนั้น Wharton School of Finance&Business แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกได้รับไชยเข้าไปเป็นนักศึกษาโครงการ
MBA
ไชยตกลงใจเรียนที่ Wharton และในช่วงปิดภาคฤดูร้อนก็ทำงานที่ธนาคาร Chase
Manhatton ที่นิวยอร์ค เป็นผู้วิเคราะห์และสร้างระบบวิเคราะห์กำไรของลูกค้าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค
พอเปิดเทอมไชยก็ยังทำต่อเพราะเขาจ้างเป็นรายวัน ๆ ละ 127 เหรียญ
"ผมไปทำเฉพาะวันที่ไม่ต้องเรียน นั่งรถไฟจากเพนซิลเวเนียไปนิวยอร์คใช้เวลา
1 ชั่วโมง 50 นาที" ไชยเล่าให้ฟังถึงช่วงชีวิตขณะนั้นอย่างไม่มีวันลืมเลือน
ก่อนจะเรียนจบ ไชยได้รับการเสนองานจาก Citi Bank และ Chase ที่กรุงเทพฯ
แต่เผอิญ ดร.อำนวย วีรวรรณ ซึ่งสนิทกับ ดร. เชาวน์ ณ ศีลวันต์ ได้บอกผ่าน
ดร. เชาวน์มาว่าให้กลับมาดูที่เมืองไทยก่อนตัดสินใจ
พอกลับมาถึงไชยได้รับการทาบทามทั้งธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ เพราะ
"ผมประทับใจในตัว ดร. อำนวย และ ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัยมาก และอีกอย่างการได้มาทำงานกับ
ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัยนั้นเป็นโอกาสที่หาไม่ค่อยได้"
ไชยอยู่สำนักจัดสรรเงินอยู่ 8 เดือน ก็โดนย้ายไปช่วยวิชิต สุรพงษ์ชัยสายกิจการต่างประเทศสาม
ซึ่งเป็นตำแหน่ง country officer ของมาเลเซีย ระหว่างนั้นก็ยังได้รับ Assignment
ให้ทำเรื่องปุ๋ยและสัมปทานเจาะน้ำมันที่พิษณุโลก ซึ่งรายการหลังนี้ ชาตรี
โสภณพนิช เป็นคนมอบงาน
"คุณไชยเขาทำงานอยู่หน้าห้อง ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย บนชั้น 26 ของธนาคารและเขารายงานโดยตรงกับคนสั่งงานสุดแล้วแต่ใครสั่ง
เช่น คุณชาตรี หรือ ดร. วิชิต หรือ ดร. อำนวย โดยไม่ต้องไปผ่านใคร"
เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพพูดให้ฟัง
คงจะเป็นด้วยลักษณะงานเช่นนี้ก็เลยทำให้มีน้อยคนที่จะรู้ว่าไชยได้ทำอะไรและมีความสามารถเช่นไร?
"ไชยเขาเป็นคนเก่ง และผมเองก็เป็นคนเสนอชื่อเขาเข้าบอร์ดให้เป็น AVP
(ผู้ช่วยผู้จัดการ) ตอนผมคิดเสนอเข้าไป ดร. อำนวยยังไม่รู้เลย ผมมาบอกท่านตอนจะเข้าบอร์ด"
ชาตรี โสภณพนิช พูดกับ "ผู้จัดการ"
ความจริงไชยจะได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการหรือเปล่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรจะมากวนใจ
ดร. อำนวย แต่ประการใด!
แต่ที่ต้องเป็นเรื่องกวนใจในภายหลังเพราะไชย ณ ศีลวันต์ในเวลานั้นกำลังจะแต่งภรรยาที่ชื่อรศนาภรณ์
ซึ่งเผอิญเป็นลูกสาวคนโตของอำนวยและ สมรศรี วีรวรรณ
"ไชยก็เลยถูกเพ่งเล็งหนักจากคนแบงก์และสหภาพแรงงานก็ออกข่าวโจมตี
ดร. อำนวยว่าส่งเสริมราชบุตรเขย ซึ่งผิดหมดเพราะคนอย่างไชยออกจากที่นี่เมื่อไหร่ก็มีคนอ้าแขนรับทันทีและการที่โจมตีไชยว่ามาอยู่ได้ไม่นานก็เป็น
AVP นั้นก็ผิดเพราะมีคนในแบงก์หลายคนที่ทำงานไม่ถึงเท่าไชยแต่ก็ได้ AVP ไป"
ชาตรีพูดถึงเรื่องให้ฟังอย่างเซ็ง ๆ
ไชยอยู่ธนาคารกรุงเทพมาสองปีกว่าก็ได้รับแต่งตั้งเป็น AVP ซึ่งในประวัติแล้วมีคนอยู่หลายคนที่อายุงานบางทีแค่ปีกว่า
ๆ ก็ได้เป็นแล้ว เช่น บันลือ ฉันทาดิศัย ซึ่งจบวิศวฯ จุฬาฯ และ MBA จาก U.
of Chicago ได้เป็น AVP เมื่ออายุ 28 ทำงานมาเพียงปีครึ่งเท่านั้นเอง หรือชาญศักดิ์
เฟื่องฟู ที่ปัจจุบันอยู่นิวยอร์คและกำลังจะถูกเรียกตัวกลับมาแทนวิเศษ ศรีจันทร์ที่เสียชีวิตไป
ก็จบเศรษฐศาสตร์จากธรรมศาสตร์และได้ MBA จาก AIM เข้าทำงานเพียงเกือบ 2 ปี
ก็ได้เป็น หรือจิต จิตตวรานนท์ หรือกุลธิดา ศิวยาธร แม้แต่วิชิต สุรพงษ์ชัย
ก็ได้เป็น AVP ทันทีที่เข้าทำงานกับธนาคาร
นี่ถ้าไชยไม่ได้มาแต่งงานกับรศนาภรณ์ ลูกสาว ดร. อำนวย ก็คงจะไม่โดนหวยเช่นนี้หรอก!
"จริง ๆ แล้วผมไม่รู้สึกอะไรหรอก เพราะรู้ว่าเป็นการแกล้งหาเรื่องโจมตีท่านประธาน
(ดร. อำนวย) โดยเอาผมเป็นหางเครื่อง" ไชยพูดอย่างอารมณ์ดีเมื่อถูกถามเรื่องนี้
ไชยอยู่สายต่างประเทศได้สักปีก็ถูกดึงตัวมาด้านวานิชธนกิจ (Merchant Banking)
มีหน้าที่ดูแลโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการปุ๋ยแห่งชาติ โครงการเปโตรเคมิคอล
โครงการชายฝั่งทะเลตะวันออก ฟินิกซ์พัลพ์ และหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐบาล
"ในหลายโอกาสผมจะต้องทำงานด่วนที่ถูกสั่งตรงจาก ดร. อำนวย คุณชาตรี
และ ดร. วิชิต เสมอ ก็คงจะเช่นนี้มั้ง เลยไม่ค่อยมีใครรู้ว่าผมทำอะไรบ้าง"
ไชยพูดต่อให้ฟัง
ก็น่าเห็นใจที่เกิดเป็นลูกคนใหญ่โตแล้วไปแต่งงานกับลูกคนใหญ่คนโตก็มักจะมีคนเข้าใจผิดเสมอ
ถ้าตัวเองเกิดก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเองด้วยฝีมือตนเอง
เหมือนอย่างที่พูด คนไม่ผิด ผิดที่มีหยกอยู่ในครอบครอง!
รศนาภรณ์หรือเจี๊ยบนั้นก็จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แล้วไปจบปริญญาโททางด้านภาษาจาก
U. of Oregon ขณะนี้สอนอยู่คณะอักษรศาสตร์ ที่จุฬาฯ
ไชยกับรศนาภรณ์รู้จักกันเพียงเพราะไชยเคยเห็นรูปรศนาภรณ์ที่บ้าน ดร. อำนวย
"ผมรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้ดูแล้วเย็นตาเย็นใจดูแล้วลักษณะมีคุณธรรมสูง"
ไชยเล่าให้ฟังอย่างเปิดเผย
อีกหนึ่ง Summer ที่ทั้งสองได้เจอกันตอนหยุดเทอม ไชยก็มั่นใจว่ารศนาภรณ์คนนี้คนที่เขาต้องเอามาใช้นามสกุล
ณ ศีลวันต์ให้ได้
ทั้งคู่ได้รับพระราชทานสมรสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และได้ทำพิธีเลี้ยงฉลองสมรสไปเมื่อ
11 สิงหาคม 2529 ที่ผ่านไปแล้ว