เซฟ ที คัท เปิดศึกรอบทุกรูปแบบ ยุทธการอัดนักลอกเลียน หรือฆ่าผู้ค้ารายย่อยที่หาญกล้ามาต่อกร?


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เครื่องตัดไฟเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ตราบเท่าที่คนเรายังรักชีวิต มูลค่าตลาด 100 กว่าล้านบาท ที่กำลังโตวันโตคืนจะขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อโอกาสทางการตลาดมีมาก ใครๆ ก็อยากโดดเข้ามาร่วม คนสร้างตลาดอย่างเซฟ ที คัท จึงต้องงัดกลยุทธ์ทางการตลาดและอีกหลายมาตรการมาใช้อย่างเต็มที่ ทั้งเพื่อรักษาแชมป์และภาพพจน์ที่สร้างกันขึ้นมาด้วยระยะเวลานับสิบปี

ตลาดเครื่องตัดไฟสามารรถแบ่งออกได้หลายประเภท แต่ตลาดที่กำลังแข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ในขณะนี้เห็นจะไม่พ้น เครื่องตัดไฟที่ป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าที่จะเกิดกับคนและทรัพย์สินใน SEGMENT ป้องกันไฟดูด ไฟรั่ว ไฟช็อต ไฟเกิน จำพวกนั้น

เมื่อ 10 กว่าปีก่อนได้มีผู้พยายามสร้างตลาดนี้ขึ้นมา ทำให้เครื่องตัดไฟที่คนมองไม่เห็นความจำเป็นตลอดจนประโยชน์ใช้สอย กลายมาเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อความปลอดภัยภายในบ้านอีกชิ้นหนึ่ง จนกระทั่งทุกวันนี้บ้านไหนไม่ติดเครื่องตัดไฟรู้สึกว่าจะไม่ทันสมัยเอามากๆ

เครื่องตัดไฟที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับตลาดนี้หรือพูดอีกทีก็เป็นผู้บุกเบิกตลาดรายแรกนั้น ได้แก่ เซฟ ที คัท ซึ่งผลิตโดยบริษัท ซี.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล อีเล็คโทรนิค จำกัด เซฟ ที คัท เข้าตลาดเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยมีทีมงานวิศวกรไฟฟ้าคนไทยช่วยกันพัฒนาขึ้นมา ระยะแรกอาศัย KNOW HOW จากญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน ผสมผสานกัน และมีบริษัท ทวีภัณฑ์อีเล็คทริค เป็นตัวแทนจำหน่าย

"แรกๆ เราแทบตายเหมือนกัน จะขายได้ 3-4 บ้าน รอบๆ บ้านที่ไฟช็อตแล้วไฟไหม้บ้าน หรือบ้านที่มีคนถูกไฟดูดตายเท่านั้น" ภาคภูมิ โอภาศิริโฆษิต กรรมการรองผู้จัดการทวีภัณฑ์อีเล็คทริค กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงตลาดเครื่องตัดไฟในช่วงแรกๆ ที่เล็กมากและเพิ่งจะมีเซฟ ที คัท เกิดขึ้นมาเพียงยี่ห้อเดียว

ทวีภัณฑ์อีเล็กทริคมีส่วนสำคัญในการสร้างตลาดให้โตขึ้นในเวลาต่อมา ด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าควบคู่ไปกับประโยชน์ของเซฟ ที คัท การขายระบบเงินผ่อน การเจาะตลาดแบบ DIRECT SALE การเป็นสปอนเซอร์ในโครงการรณรงค์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ รวมทั้งการทุ่มโฆษณาในสมุดเลคเช่อร์ของนักศึกษา เซฟ ที คัท ก็เคยเทงบให้อย่างไม่อั้นมาแล้ว

เซฟ ที คัท จึงเป็นชื่อเครื่องตัดไฟใน SEGMENT ป้องกันไฟดูด ไฟรั่ว ไฟช็อต ไฟเกิน ที่คนรู้จัก จดจำ และซื้อไปใช้มากที่สุดตั้งแต่เมื่อ 6-7 ปีก่อนนั้นเรื่อยมา

ถึงตอนนี้ที่จริงเซฟ ที คัท ควรจะสบายได้แล้ว แต่บังเอิญไม่ใช่!!

ในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้เซฟ ที คัท ต้องงัดกลยุทธ์การตลาดมาใช้อย่างดุเดือดชนิดไม่เคยทำมาก่อน เพื่อรักษาตลาดเครื่องตัดไฟที่ตนเองสร้างขึ้นมาและเพื่อรักษาความเป็นเจ้าตลาดของตนเองไว้ด้วยพร้อมๆ กัน

สาเหตุสำคัญนั้นมี 2 ประการที่ทำให้เซฟ ที คัท ต้องรัวหมัดทางการตลาดครั้งนี้ คือ หนึ่ง ตลาดกำลังโตทำให้มีคู่แข่งเข้ามาในตลาดมากรายขึ้น และสอง มีนักลอกเลียนแบบและพวกหลอกลวงผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งพวกนี้จะเป็นเหตุให้ตลาดเครื่องตัดไฟที่จะโตขึ้นอีกต้องหดตัวหรือไม่ขยายออกไปเท่าที่ควร เนื่องจากคนเกิดความเข็ดขยาดกับสินค้าไร้คุณภาพ

อันที่จริงตลาดเครื่องตัดไฟ นอกจากการสร้างตลาดของเซฟ ที คัทแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่สนับสนุนให้ตลาดโตขึ้นอีกหลายประการ เช่น กลุ่มเป้าหมายเพิ่มจำนวนขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนมีการศึกษามากขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ความต้องการขั้นพื้นฐานด้านปัจจัย 4 ได้รับการตอบสนองแล้ว คนส่วนใหญ่ก็เริ่มแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยให้ชีวิตและทรัพย์สิน ประกอบกับการพัฒนาประเทศที่ทำให้สาธารณูปโภคในบริการด้านไฟฟ้าขยายออกไปมากขึ้นไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ในต่างจังหวัดด้วย

"ที่ไหนที่ไฟฟ้าไปถึง และยังมีคนกลัวตายละก้อ ที่นั่งเครื่องตัดไฟขายได้" ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับตลาดเครื่องตัดไฟมานานมั่นใจว่าตลาดโตขึ้นอีกแน่

และในขณะนี้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟฟ้าที่กำลังจะถูกนำมาใช้

"กฎหมายฉบับนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา โรงงานไหนมีลูกจ้างต้องมีเครื่องป้องกันอุบัติเหตุจากกระแสไฟฟ้า คุณคิดดูคนใช้ก็เป็นลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างถูกไฟดูดตาย นายจ้างก็มีความผิด ถ้ากฎหมายนี้ออกมาตลาดเครื่องตัดไฟโตขึ้นอีกเยอะ" แหล่งข่าวคนหนึ่งเผยกับ "ผู้จัดการ"

จากการที่ตลาดถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างประกอบกับมีปัจจัยต่างๆ มาสนับสนุนให้ตลาดโตขึ้น ก็เป็นที่คาดว่าตลาดเครื่องตัดไฟมูลค่า 100 กว่าล้านบาทในปัจจุบัน จะเพิ่มเป็น 400-500 ล้านบาทในอีก 1-2 ปี ข้างหน้านี้อย่างแน่นอนที่สุด

เมื่อวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง GROWTH ก็เป็นธรรมดาที่จะมีคู่แข่งทยอยเข้ามามีส่วนร่วมในตลาด เท่าที่มีตัวตนอยู่ในขณะนี้ก็มี เซฟตี้ เซน, ซูเปอร์ คัท, ไอ.ที.เซฟ., เซฟการ์ด และมีอีกหลายยี่ห้อที่เกิดแล้วตาย ตายแล้วก็เกิดอีกเวียนว่ายอยู่ในตลาดด้วยการเปลี่ยนชื่อใหม่ไปเรื่อยๆ

เป็นเรื่องธรรมดาอีกเช่นกันที่ในตลาดเกิดมีสินค้าตัวใดตัวหนึ่งกำลังเป็นผู้นำและได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคแล้ว สินค้าลอกเลียนแบบจะเกิดตามมาด้วย เซฟ ที คัท ก็หนีกรณีนี้ไม่พ้น

"ความจริงเครื่องตัดไฟพวกนี้ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน คนมีความรู้ทางอิเล็คโทรนิคนิดหน่อย ก็ประกอบได้แล้ว" วิศวกรไฟฟ้าคนหนึ่งให้ความเห็น

ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเครื่องตัดไฟที่ออกมาสู่ตลาดทุกวันนี้จะมีรูปร่างหน้าตาและส่วนประกอบภายในใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะผลิตจากโรงงานมูลค่านับล้านที่มีวิศวกรควบคุมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงดอกเตอร์ และมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ควบคุมคุณภาพอย่างดีเช่นของเซฟ ที คัท หรือจะเป็นเครื่องตัดไฟที่ประกอบโดยเด็กจบ ป. 4 จากชั้นสองของตึกแถวแห่งหนึ่งที่ชั้นล่างเป็นบริษัทจำหน่ายของพวกลอกเลียนแบบ

"จะต่างกันที่คุณภาพของส่วนประกอบที่ใช้ ใครจะใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบที่ได้มาตรฐาน ใครจะใช้ชิ้นส่วนถูกๆ แถวบ้านหม้อ ใครจะมีเครื่องไม้เครื่องมือตรวจสอบและควบคุมคุณภาพได้ดีกว่ากัน" นักวิชาการด้านไฟฟ้าคนหนึ่งชี้ถึงจุดที่เครื่องตัดไฟจะมีคุณภาพเหนือกว่ากันได้เกิดจากอะไรบ้าง

มีเครื่องตัดไฟหลายตัวที่เข้ามาในตลาดและใช้กลยุทธ์ที่คิดว่าเป็นไทแก่ตนเองแต่ก็ไปไม่รอด เมื่อมาเกิดใหม่การตลาดก็เลยต้องเลียนแบบ เซฟ ที คัทเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อให้ใกล้เคียง การสร้างความน่าเชื่อถือโดยอ้างสถาบันทดสอบและรับรองคุณภาพที่มีชื่อเสียง รวมไปถึงการสาธิตการขายที่คล้ายๆ กัน

การเข้ามาในตลาดของผู้ค้ารายย่อยซึ่งทยอยเข้ามาเป็นคู่แข่งในตลาด อาจทำให้เซฟ ที คัท หนักใจบ้าง แต่การเข้ามาของพวกลอกเลียนแบบและหลอกลวงผู้ซื้อ ยิ่งทำให้เซฟ ที คัท หนักใจยิ่งขึ้น ซึ่งการต้มตุ๋นผู้ซื้อนั้นทำได้หลายวิธี เช่น

การตั้งบริษัทลอยๆ ขึ้นมา ไม่มีตัวตนทั้งที่ทำการและหลักฐานการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ แต่มีเอกสารการโฆษณาและการรับประกัน เมื่อหลอกขายสินค้าได้เซลล์แมนก็หายตัวไป ผู้ซื้อจะติดต่อบริษัทก็หาสำนักงานไม่พบ เป็นการหลอกขายสินค้ากันอย่างหน้าด้านๆ

"บางรายไปขายชาวบ้าน ครั้งแรกใช้ชื่อยี่ห้อหนึ่ง พอยี่ห้อนั้นตายก็เปลี่ยนชื่อยี่ห้อใหม่แล้วกลับไปหลอก TURN ตัวเก่าที่ขายไปครั้งแรก ให้ลูกค้าเพิ่มเงิน ทั้งที่มันก็เป็นไอ้ตัวเก่าแต่เปลี่ยนชื่อใหม่เท่านั้นเอง" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าวถึงพวกหลอกลวงที่มักใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง คือหลอกขายชาวบ้านในต่างจังหวัด

"ไอ้พวกที่เอา BREAKER ตัวละ 50-60 บาทไปหลอกขายชาวบ้านก็มี หลอกเขาว่าเป็นเซฟ ที คัท ขาย 500 บาท ขอมัดจำ 100 เดียว ที่เหลือให้ผ่อน แค่นี้มันก็กำไรไม่รู้เรื่องแล้ว" ชวาล โสตถิวันวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ซี.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล อีเล็คโทรนิค กล่าวอย่างเกรี้ยวกราดถึงการกระทำของพวก 18 มงกุฎ

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ปัญหาของเซฟ ที คัท จึงอยู่ที่ว่าจะจัดการกับคู่แข่งที่เป็นผู้ค้ารายย่อยและพวกลอกเลียนแบบแลหลอกลวงได้อย่างไร จึงจะรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตนที่ครองอยู่ประมาณ 80% ไว้ได้

และแล้วกลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ ก็ถูกระดมออกมาใช้ ทำให้ผู้ค้ารายย่อยหลายรายต้องปรับยุทธวิธีของตนเพื่อความอยู่รอด แต่สำหรับพวกลอกเลียนแบบและหลอกลวงถึงกับซึมไปตามๆ กันทีเดียว

เซฟ ที คัท เริ่มด้วยกลยุทธ์หั่นราคาที่ทำให้พวกลอกเลียนแบบและผู้ค้ารายย่อยหัวปั่นไปตามๆ กัน ด้วยการออกรุ่นไมโครสำหรับบ้านที่ใช้ไฟไม่มากขายในราคา 2,250 บาท เป็นการ DUMP ราคาลงไป ขณะที่เครื่องตัดไฟขนาดเดียวกันของรายอื่นๆ ขายในราคาตัวละ 3,000-4,000 บาท ซึ่งคาดว่ารุ่นไมโครนี้จะทำให้เซฟ ที คัท เรียกส่วนแบ่งตลาด 80% ที่ถูกตอดเล็กตอดน้อยกลับคืนมาได้

ในขณะเดียวกันซูเปอร์ คัท จากค่ายหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ ที่เน้นตลาดเครื่องตัดไฟแรงสูงมานานเพิ่งมาพัฒนาเครื่องตัดไฟสำหรับป้องกันคนใน SEGMENT ไฟดูด ไฟรั่ว ไฟช็อต ไฟเกิน เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วก็ออกรุ่นประหยัดมาสู้

"สวิงแอนตี้ ช๊อต เป็นรุ่นเก่า แต่ซูเปอร์ คัทเป็นรุ่นใหม่ แบบประหยัดที่ใช้กับบ้านที่มีเครื่องไฟฟ้าน้อยเราขาย 1,990 บาท" พนักงานขายซูเปอร์ คัท คนหนึ่งคุย พร้อมๆ กับแจกแจงความน่าเชื่อถือของซูเปอร์คัทโดยอิงหลุยส์ ตี.เลียวโนเวนส์ ที่ก่อตั้งมาเกือบร้อยปี

การสู้กันด้วยกลยุทธ์ตัดราคานี้คงจะต้องเป็นรายใหญ่ที่มีฐานแน่นพอสมควรถึงจะ DUMP ราคาสู้กันได้ ส่วนรายย่อยก็คงได้แต่มองตาปริบๆ ดูยอดขายตกลงจนทำให้เซลล์แมนพากันแยกย้ายเปลี่ยนค่ายกันเป็นแถว

ไม่เพียงแต่การออกรุ่นใหม่มาหั่นราคาเท่านั้น เซฟ ที คัทยังทุ่มโฆษณาอย่างหนักตามสื่อต่างๆ ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ

"วันที่ 19 กันยายน เซฟ ที คัท โฆษณาไป 1 ล้านบาท เป็นการทุ่มโฆษณาชนิดที่วงการโฆษณาต้องบันทึกไว้เลยทีเดียว" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าวถึงงบโฆษณารุ่นไมโครของเซฟ ที คัท ภายใน 1 วัน

ยิ่งเมื่อแคมเปญออกสินค้าตัวใหม่ของเจ้าตลาดออกโฆษณามาเพื่อ IMPACT ชื่อ เซฟ ที คัท โดยเฉพาะ จึงทำให้เครื่องตัดไฟหลายตัวอยู่เฉยไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเซฟตี้เซนต์ ซึ่งเป็นเครื่องตัดไฟที่ออกจะหาที่ทำการบริษัทได้ยากกว่ายี่ห้ออื่นๆ และเคยออกเครื่องตัดไฟมาหลายตัวแล้ว ล่าสุดเพิ่งจดทะเบียนเป็นหลักฐานที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 โดยมีนายศักดิ์ชัย รัตนบัณฑิตสกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยใช้ชื่อบริษัทเซฟตี้เซนต์ รายนี้ขนาดไม่ค่อยเปิดตัวก็ยังต้องเผยโฉมออกโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์ให้เห็นตัวเห็นตนกันจะจะ

"ก็เพื่อนร่วมงานเก่าของเรานั่นแหละออกไปทำเอง" พนักงานเก่าแก่ของทวีภัณฑ์ อีเล็คทริคกล่าวพร้อมกับหัวเราะหึหึ

และอีกรายหนึ่งคือ ไอ.ที.เซฟ ของอินเตอร์เซฟอีเล็คโทรนิค ที่เคยออกยี่ห้ออินเตอร์เซฟมาแล้วครั้งหนึ่ง ผู้ผลิตเป็นหลานชายของสุมิตร เลิศสุมิตรกุล ประธานศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ที่ไม่ยอมไปทำงานที่ศรีไทยฯ กลับพิสมัยเครื่องตัดไฟมากกว่าถ้วยชามเมลามีน

"เราเน้นขายส่ง แต่พอเห็นคนอื่นเขาโฆษณากันมากๆ ผู้ผลิตเขาก็ให้งบมาโฆษณา โดยเน้นที่จุดขายที่จอแอล อี ดี ที่บอกระดับกระแสไฟรั่ว" วิสุทธิ์ อาชานุกูลรัตน์ ผู้จัดการแสงศิริ อีเล็คโทรนิค ตัวแทนจำหน่าย ไอ.ที.เซฟ. กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ที่เห็นยังอยู่เฉยโดยมุ่งขาย DIRECT SALE อย่างเดียวคือเซฟการ์ด

และสำหรับยุทธการที่ทางเซฟ ที คัท ออกมาเพื่อฆ่าพวกนักลอกเลียนแบบและหลอกลวง โดยเฉพาะคือการใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าจัดการกับพวกที่ผลิตเครื่องตัดไฟได้เหมือนเซฟ ที คัท อย่างกับฝาแฝด หรือพวกที่ขายด้วยการใช้วิธีการต่างๆ ที่ทำให้เซฟ ที คัท เสียหาย เพราะทางซี.เอส. อินเตอร์เนชั่นแนล อีเล็คโทรนิค ได้จดลิขสิทธิ์เซฟ ที คัท เรียบร้อยแล้ว

"เราจัดทีมขึ้นมาทีมหนึ่งเป็นพนักงานของบริษัทกับทนายความจากสำนักงานทนายมารุต บุนนาค ทีมนี้จะตระเวนไปทั่วประเทศ คอยจับพวกเลียนแบบ หรือพวกขายโดยกล่าวทับถมให้เซฟ ที คัท ได้รับความเสียหาย" ชวาล โสตถิวันวงศ์ บอกว่าคราวนี้เอาจริงแน่ หลังจากเชือดไก่ให้ลิงดูด้วยการแจ้งความจับเครื่องตัดไฟยี่ห้อ บี.บี.ซี. ในข้อหาไขข่าวแพร่หลายซึ่งมีข้อความเป็นเท็จเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสินค้าผู้อื่น ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนมาแล้วรายหนึ่ง

ในขณะที่ทางเจ้าตลาดและรายย่อยสู้กันอย่างสุดฤทธิ์ เชือดเฉือนกันด้วยกลยุทธ์การตลาดเท่าที่คิดกันขึ้นมาได้ แต่สำหรับผู้บริโภคแล้วกำลังอยู่ในภาวะสับสน ความต้องการเครื่องตัดไฟอาจมีอยู่ตลอดเวลา นอกจากข่าวสารที่ได้รับจากการโฆษณาแล้ว อะไรคือสิ่งที่สามารถนำมาพิจารณาเพื่อเลือกซื้อเครื่องตัดไฟที่มีคุณภาพดีคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่ต้องเสียไป

"ผมว่ามันน่าใช้อยู่หรอก แต่ราคานี่ผมว่าผลิตมากๆ ต้นทุนคงไม่เกินตัวละพันบาท" วิศวกรไฟฟ้าคนหนึ่งพูดถึงต้นทุนการผลิตเครื่องตัดไฟขนาดที่ใช้กับไฟ 15 แอมป์ที่ยังไม่รวมต้นทุนทางการตลาด ซึ่งขณะนี้ในตลาดขายกันราคาประมาณตัวละ 2,000-4,000 บาท

และในขณะที่แต่ละรายใช้กลยุทธ์การตลาดเข้าใส่กัน โดยเฉพาะการนำชื่อสถาบันที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้านครหลวงฯ หรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมีชื่อมาอ้างอิงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทั้งๆ ที่เป็นการรับรองว่าผ่านมาตรฐานที่กำหนดเพียงตัวที่ส่งไปทดสอบเพียงตัวเดียวเท่านั้น

"มีหลายรายมาให้เราทดสอบและเมื่อออกเอกสารการทดสอบแล้วจะประทับตราเสมอว่า "รายงานต่อไปนี้เป็นเพียงผลการทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ได้รับ มิใช่เป็นการรับรองคุณภาพของอุปกรณ์ที่มีตราหรือเครื่องหมายเช่นเดียวกับตัวอย่างนี้ ซึ่งอาจมีขายได้ในท้องตลาด และห้ามนำผลการทดสอบนี้ไปใช้ในการโฆษณา"

ในรายที่เอาสถาบันของเราไปอ้างอิงโฆษณา เราก็มีหนังสือเตือนไป เลิกไปสักพักก็เอาชื่อของเราไปโฆษณาอีก" สมบุญ ขาวสำอาง ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงระบบไฟการไฟฟ้านครหลวงเผยกับ "ผู้จัดการ"

หรือบางรายมีการโฆษณาว่ามีการประกันในรูปแบบต่างๆ กับบริษัทประกันภัยที่มีชื่อเสียง แต่ถ้าพิจารณากันถึงเงื่อนไขประกันจริงๆ แล้วผู้ซื้อมีโอกาสได้ประโยชน์น้อยมาก

"บางเจ้ารับประกันการทำงานของเครื่องว่าถ้าเครื่องไม่ตัดไฟแล้วก่อให้เกิดอุบัติเหตุให้แก่ผู้ใช้จนถึงแก่ชีวิต จะจ่ายให้ผู้เสียหาย 3 ล้านบาท" แหล่งข่าวคนหนึ่งสังเกตคำอ้างการประกันว่าไม่กำหนดระยะเวลาเอาประกันแน่นอน

และขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานราชการใดเข้ามากำหนดมาตรฐาน หรือดูแลควบคุมคุณภาพเครื่องตัดไฟเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม หรือสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค

ไม่ว่าผู้บริโภคจะคิดอย่างไร สถานการณ์ของนักลอกเลียนแบบหรือผู้ค้ารายย่อยจะเป็นอย่างไร ก็ดูเหมือนว่ายุทธวิธีทางการตลาดที่เซฟ ที คัท จะนำมาใช้เพื่อรักษาตลาดและส่วนแบ่งการตลาดของตนเอาไว้จะต้องดำเนินการต่อไป ในขณะเดียวกันรายย่อยๆ ก็ต้องหาทางประคองตัวเองให้รอดไปถึงวันที่ตลาดโตเต็มที่ เพื่อที่จะได้เข้าไปหยิบชิ้นปลามันในตลาด 400-500 ล้านบาทในอนาคตอันใกล้นี้บ้าง

อีก 1-2 ปีข้างหน้าใครจะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดมากน้อยเพียงไร เป็นสิ่งที่ต้องควรติดตาม

แต่ในยุคงานหายากอย่างทุกวันนี้ คงจะเคยเห็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี แต่งกายเรียบร้อย ท่าทางมีความมั่นใจสูงเพราะได้รับการฝึกอบรมการขายมาอย่างดี หิ้วกระเป๋าบรรจุเครื่องตัดไฟพร้อมอุปกรณ์สาธิตการขายไปทุกหนทุกแห่งที่ไฟฟ้าเข้าถึงพวกเขาจะตระเวนไปทุกตรอกซอกซอย และอาจไปเคาะประตูบ้านท่านในวันหนึ่ง "ผมมาแนะนำเครื่องตัดไฟครับ"

เตรียมต้อนรับพวกเขาให้ดีก็แล้วกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.