เบื้องหลังชนวนแตกหัก เอื้อชูเกียรติปะทะ คัณธามานนท์


สุวัฒน์ ทองธนากุล( มกราคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อครั้งที่เสฐียร เตชะไพบูลย์ ยังเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารเอเชียก่อนหน้า ยศ เอื้อชูเกียรติ จะมานั่งเก้าอี้นี้ในปัจจุบัน ตอนนั้นตระกูลเตชะไพบูลย์ก็มีหุ้นในธนาคารแห่งนี้ด้วย

ผู้ถือหุ้นใหญ่จึงมีด้วยกัน 3 กลุ่ม คือกลุ่มเอื้อชูเกียรติที่มี จรูญ เอื้อชูเกียรติ เป็นตัวแทน กลุ่มเตชะไพบูลย์ มีเสฐียร เตชะไพบูลย์ เป็นตัวแทน และกลุ่มคัณธามานนท์มี เจียม คัณธามานนท์ เป็นตัวแทน

แต่ยศ เอื้อชูเกียรติบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ความจริงแล้วผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบงก์เอเชียจะถือว่าเป็น 3 กลุ่มไม่ได้หรอก ความจริงคือ 2 กลุ่ม เพราะทางเตชะไพบูลย์กับทางเอื้อชูเกียรตินั้นต้องถือว่าเป็นกลุ่มเดียวกันเพราะเป็นญาติกัน" (เสถียร เตชะไพบูลย์ แต่งงานกับลูกสาวจรูญ เอื้อชูเกียรติที่ชื่อ ลาวัลย์)

ผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารเอเชียตอนนั้นจึงมีเพียงกลุ่มเอื้อชูเกียรติและคัณธามานนท์

และยุคสมัยการบริหารของเสฐียร มีการพัฒนาธนาคารเอเชียไปพอสมควร อย่างน้อยก็พยายามปรับโฉมจากธนาคารที่เคยพัวพันกับบุคคลทางการเมืองให้มีความเป็นธนาคารอาชีพมากขึ้น

แต่ปัญหาสั่งสมในแง่หนี้สินที่ติดค้างโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ยังเป็นสิ่งที่แก้ไม่ตก

สำหรับกลุ่มคัณธามานนท์สมัยที่มีหุ้นในธนาคารเอเชียมากที่สุดนั้นมีถึงประมาณ 30% ส่วนกลุ่มเอื้อชูเกียรติเมื่อรวมกับเตชะไพบูลย์แล้วจะมีประมาณ 50-60% จากตัวเลขการถือหุ้นของฝ่ายเอื้อชูเกียรติซึ่งมีเหนือกว่าเช่นนี้ก็ย่อมจะทำอะไรได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวถูกศอกกลับ

จากการตรวจสอบพบว่ากลุ่มคัณธามานนท์เป็นหนี้ธนาคารเอเชียเกือบ 200 ล้านบาท โดยที่ยังทวงถามกันไม่สำเร็จนั้น

เสฐียรเองเคยเลิกเกรงใจถึงขนาดยื่นโนตีสและฟ้องกลุ่มคัณธามานนท์อยู่ครั้งหนึ่ง จนมีการจ่ายหนี้ให้แบงก์ส่วนหนึ่งแต่ก็ยังค้างอีกส่วนหนึ่ง

การที่ต้องอยู่ในภาวะเผชิญหน้าและความขัดแย้งของกลุ่มผู้ถือหุ้นเช่นนี้ คงจะสร้างความอึดอัดใจให้แก่เสฐียรพอควร ประกอบกับได้รับไฟเขียวจากทางตระกูลเตชะไพบูลย์ เขาจึงตัวสินใจถอนตัวกลับไปช่วยงานพี่ชายคือ อุเทน เตชะไพบูลย์ ที่ธนาคารศรีนคร

ส่วนยศ เอื้อชูเกียรติ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องภรรยา ซึ่งเสฐียรขอให้มาช่วยงานด้วย โดยตอนแรกเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษา และต่อมาก็เข้ามาเต็มตัวในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ

เมื่อเสฐียรลุกจากเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมกับการขายหุ้นส่วนใหญ่ที่ถือไว้แก่กลุ่มใหม่ที่เข้ามาคือ "กลุ่มภัทรประสิทธิ์" ยศ เอื้อชูเกียรติจึงได้ขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดแทน

"ที่คุณเสฐียรออกจากแบงก์ไปนั้น ที่จริงเป็นความต้องการของตระกูลเขามากกว่า มีข่าวว่าทางกลุ่มเตชะไพบูลย์กำลังถูกคนจังตาว่าเข้าไปผูกขาดธุรกิจมากเกินไป ทางเตชะไพบูลย์ไม่ต้องการให้คนมองภาพเป็นอย่างนี้ จึงให้คุณเสฐียรถอนตัวออกไป เพราะช่วงนั้นคนมองว่าแบงก์เอเชียก็เป็นแบงก์ของกลุ่มเตชะไพบูลย์ด้วย" ยศ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในช่วงที่ยศ เอื้อชูเกียรติ ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็เป็นจังหวะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าตรวจสอบ และพบว่าผู้บริหารธนาคารในยุคที่กลุ่มคัณธามานนท์มีอำนาจอยู่ได้ปล่อยสินเชื่อจนเกินสัดส่วนต่อเงินกองทุน และยังมีการปล่อยกู้ให้กลุ่มธุรกิจในเครือของตนด้วย จึงให้เร่งรัดหนี้สินคืน

เมื่อพูดกันดีๆ ไม่ได้ผล การฟ้องร้องก็เกิดขึ้นอีก และการชักธงรบครั้งใหม่ของเอื้อชูเกียรติก็โดยการที่จรูญร่วมกับยศ ลงชื่อมอบอำนาจให้ พ.ต.ต. สวัสดิ์ ทุมโฆสิต ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทในเครือของคัณธามานนท์ 3 บริษัท รวมทั้งผู้ค้ำประกัน คือ เจียม คัณธามานนท์ สุมิตร คัณธามานนท์ และสุวิทย์ คัณธามานนท์

และย่อมเป็นการแน่ที่ฝ่ายคัณธามานนท์ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ จึงสู้คดีในประเด็นที่ว่า 2 พ่อลูกค่ายเอื้อชูเกียรติไม่มีอำนาจมอบหมายให้ฟ้อง เพราะกรรมการบริหารทั้งหมด (ซึ่งมีฝ่ายคัณธามานนท์ร่วมอยู่ด้วย) ยังไม่ได้รับรู้ด้วย

คดีนี้สู้กันถึง 3 ศาล โดยศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่อีก 2 ศาล ฝ่ายเอื้อชูเกียรติเป็นฝ่ายชนะเด็ดขาด

เมื่อมันเป็น "ความแค้นที่ต้องชำระ" วันที่ 4 ต.ค. 2526 ฝ่ายคัณธามานนท์ จึงให้สุวิทย์ คัณธามานนท์ ดำเนินการฟ้องฝ่ายเอื้อชูเกียรติบ้าง โดยหาว่าฝ่ายนี้ก็ปล่อยหนี้เละเทะเหมือนกัน โดยปล่อยกู้ให้พวกตนเองอย่างไม่มีหลักประกัน และบริหารงานทำให้ธนาคารเสียหายประมาณ 3,000 ล้านบาท และอ้างว่ามีหลักฐาน 13 รายการ ที่ทำความเสียหายถึง 390 ล้านบาท

แม้ว่าในที่สุดการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความจริงจะปรากฏว่าฝ่ายเอื้อชูเกียรติเป็นฝ่ายชนะก็ตาม แต่ศึก 2 ตระกูลที่ประลองกำลังกันนี้ก็เป็นที่ฮือฮากันไปทั้งวงการ

เพราะไม่เพียงแต่จะต่อสู้กันในขั้นศาลเท่านั้น ยังมีการใช้หน้าหนังสือพิมพ์เป็นเวทีโจมตีและแฉโพยกันเป็นที่เอิกเกริกอีกด้วย

"เรื่องส่วนตัวเราคงไม่มีอะไรกันแล้ว เวลานั้นตระกูลคัณธามานนท์ก็คงโกรธที่ธนาคารไปฟ้องเขา ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ให้เวลาเขาเยอะ แต่ทางแบงก์ชาติก็บีบมาให้ทำอะไรซักอย่างหนึ่ง มันก็ต้องทำ"

"มันก็เหมือนกับเรามีเพื่อนเป็นตำรวจอยู่คนหนึ่ง เวลาเราทำผิดอะไร เพื่อนก็มาเตือน แล้วเราจะโกรธว่าแหม…เพื่อนฝูงกันแค่นี้ยอมกันไม่ได้หรือ" ยศกล่าวถึงความรู้สึกที่ต้องฟ้อง

เรื่องนี้ยศเองก็ยอมรับว่าภาพพจน์ของธนาคารตอนนั้นเสียไปมาก เพราะคนเข้าใจผิดว่านอกจากจะเป็นการตีกันเองในระหว่างผู้ถือหุ้นแล้ว ยังเข้าใจผิดว่าคัณธามานนท์ถือหุ้นมากถึง 50% คนก็เลยห่วงว่าจะบริหารกันได้อย่างไร

"คุณต้องรู้ว่าปัญหาของผู้บริหารธนาคารนั้นก็คือแบงก์ชาติ แบงก์ชาติจะเพ่งเล็งที่หนี้สินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของธนาคาร เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงตกหนักแก่ผู้บริหาร คือตัวผู้จัดการเอง ซึ่งทางคัณธามานนท์ก็ไม่เชื่อ คิดว่าคุณเสฐียรหรือผมไปกลั่นแกล้ง" ยศกล่าว

จนถึงวันนี้ กลุ่มเอื้อชูเกียรติจับมือกับกลุ่มภัทรประสิทธิ์ครองความเป็นใหญ่อย่างเต็มที่ เพราะในการประชุมใหญ่ประจำปีครั้งที่ผ่านมา เจียม คัณธามานนท์ และสุวิทย์ คัณธามานนท์ ครบวาระการเป็นกรรมการ และที่ประชุมก็ไม่เลือกกลับเข้ามาอีก

นอกจากนี้แม้แต่หุ้นของกลุ่มคัณธามานนท์ ฝ่ายเอื้อชูเกียรติก็กำลังหาทางยึดเพื่อนำออกขายทอดตลาดเพื่อล้างหนี้

เป็นอันว่าอิทธิพลและบทบาทของคัณธามานนท์ ได้ถูกเบียดออกจากธนาคารเอเชีย จนหมดสิ้นแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.