น้ำผึ้งพระจันทร์ระหว่างเอื้อชูเกียรติ-ภัทรประสิทธิ์ จะรักษาความหวานได้นานแค่ไหน?


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารเอเชียนั้นได้ชื่อว่าเป็นธนาคารที่ต้องผ่านยุคแห่งความยากลำบากมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องระหว่างเจ้าของด้วยกัน ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ นี้ก็ระหว่าง เอื้อชูเกียรติกับคัณธามานนท์เป็นต้น แต่ยุคใหม่ที่เป็นการร่วมกันระหว่างเอื้อชูเกียรติกับภัทรประสิทธิ์ ดูเหมือนเรื่องวุ่นๆ ได้จบไปแล้ว และทุกอย่างกำลังตั้งต้นเดินไปข้างหน้าอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขที่ล้วนฝากความหวังว่าประวัติศาสตร์ศึกระหว่างตระกูลจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก

ถ้าจะกล่าวว่า ธนาคารไหนมีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นตัวหลักมากกว่าตระกูลหนึ่งแล้ว มักจะมีปัญหางัดข้อกันจนได้

การตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ คงมิใช่เป็นการมองโลกธุรกิจในแง่ร้ายเกินไปกระมัง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายธนาคาร ล้วนเป็นเรื่องของการต้องการเป็นใหญ่ ต้องการอำนาจในการจัดการ ต้องการสิทธิและผลประโยชน์ รวมทั้งการปกป้องผลประโยชน์ฝ่ายตน อันเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งและปะทะกันขึ้น

และอันที่จริง การที่นักธุรกิจหรือคนกระเป๋าหนักจะเข้าถือหุ้นในธนาคารแม้จะถือเป็นการลงทุน แต่การจะหวังแค่เงินปันผลปีละครั้งหรือ 2 ครั้ง ดูจะไม่สำคัญเท่ากับการได้อำนาจในการบริหาร หรือการมีอำนาจบารมีในฝ่ายจัดการ

การได้เป็นกรรมการ หรือกรรมการบริหาร จึงมิใช่แต่เป็นเกียรติ แต่มันหมายถึงผลประโยชน์ตอบแทนในเชิงธุรกิจที่คุ้มค่าไม่น้อยเลย

การเกิดศึกระหว่างตระกูล ในวงการธนาคารเป็นสิ่งยืนยันข้อสังเกตที่ว่า ธนาคารใดมีโครงสร้างของผู้ถือหุ้นในลักษณะที่ผู้ถือหุ้นหลักมีหลายตระกูล และมีสัดส่วนในการถือหุ้นที่มากพอจะถ่วงดุล หรือใกล้เคียงกัน โอกาสที่จะเกิดปัญหาขัดแย้งถึงขั้นใช้จำนวนหุ้นโค่นล้มกัน ก็อาจเกิดขึ้นได้

ในขณะที่ธนาคารซึ่งมีกลุ่มหรือตระกูลใดถือหุ้นมากกว่ากลุ่มอื่น หรือผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ อย่างเด็ดขาด ปัญหาขัดแย้งในระดับผู้ถือหุ้นมักจะไม่ปรากฏ เพราะฝ่ายที่ลงเงินมากกว่าย่อมเสียงดังกว่าเป็นธรรมดา

แม้ว่าตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์จะมีเจตนารมณ์ที่จะผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์กลายเป็นกิจการมหาชน โดยมีข้อสังเกตที่หวังป้องกันมิให้คนใดคนหนึ่งผูกขาดหรือถือหุ้นไว้มากๆ จึงได้ระบุว่า "บุคคลใดจะถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ใดเกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์นั้นมิได้"

แต่คนที่มีความเป็นเจ้าของแบงก์เต็มที่มาก่อนหรือปลุกปั้นกิจการมาแต่ต้น ไหนเลยจะยอมกระจายส่วนความเป็นเจ้าของออกไปง่ายๆ จึงมีการตั้งบริษัทในลักษณะ Holding Company บ้าง หรือกระจายหุ้นสู่ชื่อบุคคลที่เป็นวงศาคณาญาติ หรือคนของตระกูลที่ไว้ได้ เมื่อรวมจำนวนหุ้นจากรายชื่อเป็นทิวแถวแล้ว กลุ่มของตนก็ยังยิ่งใหญ่ในแบงก์อยู่นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้เอง โดยจำนวนรายชื่อผู้ถือหุ้นจะดูราวกับว่าหุ้นของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ถูกกระจายออกจากบุคคลเพียงไม่กี่คนไปสู่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นจำนวนมากแล้ว

ยิ่งในปัจจุบันนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 16 แห่ง ก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึง 11 แห่งแล้ว และในปี 2530 ก็คงจะมีธนาคารอีกอย่างน้อย 2 แห่ง นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงดูภาพพจน์ว่า ธนาคารพาณิชย์มีมาดของธุรกิจมหาชน

ทั้งที่โดยเนื้อแท้ธนาคารเหล่านี้ก็ยังครองความเป็นใหญ่โดยคนของตระกูลดังๆ ซึ่งพวกนี้มักจะไม่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น

เอ่ยชื่อก็เป็นที่รู้กัน เช่น ธนาคารกรุงเทพ โดย "โสภณพนิช" ธนาคารกสิกรไทย โดย "ล่ำซำ" ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดย "รัตนรักษ์" ธนาคารศรีนคร โดย "เตชะไพบูลย์" ธนาคารนครธน โดย "หวั่งหลี" เป็นต้น

หรืออย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 36 ของหุ้นทั้งหมด และธนาคารทหารไทย ซึ่งถือหุ้นโดย 3 กองทัพรวมแล้วร้อยละ 39.67 โดยกองทัพบกมีหุ้นมากที่สุดถึง 26.09 เปอร์เซ็นต์ นี่ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการถือหุ้นใหญ่จากสถาบัน

แบบนี้ก็ไม่มีปัญหาการงัดข้อกันของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เช่นกัน

ซึ่งผิดกับธนาคารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่สัก 2-3 ตระกูล ที่มักจะมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นบ้างก็ยังรอคุมเชิง หากฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำหรือหาพันธมิตรจากผู้ถือหุ้นที่มีจำนวนมากพอ ก็พร้อมเปิดศึก ส่วนรายที่ทนกันไม่ได้หรือประเมินกำลังว่า ฝ่ายตัวเหนือกว่าก็ถล่มอีกฝ่ายจนเรื่องปูดออกมาให้รู้กันทั่ว

ยกตัวอย่างก็ยังไหว ธนาคารแหลมทอง ขนาดใช้นามสกุล "นันทาภิวัฒน์" เหมือนกันแท้ๆ แต่ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ หมายเลขหนึ่งของแบงก์ก็ยังนั่งเก้าอี้ไม่สุข เมื่อ เล็ก นันทาภิวัฒน์ พี่สะใภ้คนโตของตระกูล กลับไปเป็นแนวร่วมกับ สุระ จันทร์ศรีชวาลา ผู้เป็นทั้งผู้ถือหุ้นและลูกหนี้ของแบงก์นี้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเปิดเกมการต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่ และตามมาด้วยการฟ้องร้อง เพื่อเป็นการแก้เผ็ดกันทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งถึง 4 คดี เป็นข่าวเล่นงานกันตั้งแต่ปี 2525 เรื่อยมา

เพิ่งจะได้ ชาตรี โสภณพนิช จากค่ายธนาคารกรุงเทพ ออกหน้ามาไกล่เกลี่ย ให้ทำสัญญาสงบศึกลงได้ตอนปลายปี 2527 ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะปะทุขึ้นมากอีกเมื่อใด

ส่วนที่ ธนาคารสหธนาคาร แม้จะไม่มีการชักธงรบอย่างชัดเจนเหมือนอย่างรายแหลมทอง แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูล "ชลวิจารณ์" และ "เพ็ญชาติ" ก็ใช่ว่าจะหัวใจดวงเดียวกันซะเมื่อไร

ความที่บรรเจิด ชลวิจารณ์ ครองอำนาจสูงสุดมาไม่น้อยกว่า 30 ปีแล้ว ในขณะที่ ชำนาญ เพ็ญชาติ ก็จ่ออยู่แค่ตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการมานานจนเกือบจะปลง

ตอนหลังนี้ฝ่ายเพ็ญชาติอุตส่าห์ดึงกลุ่มแสงทองค้าข้าวของ อวยชัย อัศวินวิจิตร มาซื้อหุ้นจนมีในมือประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ และได้เก้าอี้กรรมการแบงก์เพิ่มขึ้นอีก 1 ก็ตาม แต่ฝ่ายชลวิจารณ์ ก็ยังดำรงสถานะที่เหนือกว่า

และหากคำปรารถของบรรเจิด ชลวิจารณ์ ที่ว่าเตรียมจะลงจากเก้าอี้หลังจากสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ สร้างเสร็จตอนนี้ก็คงใกล้จะถึงโอกาสนั้นแล้ว พร้อมๆ กับปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ทายาทผู้มีแววเป็นนายแบงก์ได้ดีถูกหล่อหลอมในตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการมาพอสมควรแล้ว ถ้าถามใจบรรเจิด ก็คงอยากให้ลูกชายรับช่วงงานต่อ

สำคัญอยู่ที่ฝ่ายเพ็ญชาติ จะยอมง่ายๆ เชียวหรือ เพราะทั้งตัว ชำนาญ เพ็ญชาติเองก็คงเล็งอยู่เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงอยู่เหมือนกัน

สำหรับกรณีของ ธนาคารเอเชีย ความขัดแย้งและเกมการต่อสู้ระหว่างผู้ถือหุ้นหลัก 2 ตระกูล อันได้แก่ เอื้อชูเกียรติ และคัณธามานนท์ เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ก็ดุเด็ดเผ็ดมันเป็นที่ฮือฮากันทั่วไป

สาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของหนี้สินที่กลุ่มคัณธามานนท์อาศัยความเป็นกรรมการบริหารสนับสนุนการปล่อยเงินไปให้กับธุรกิจในเครือข่ายของตน จนเป็นหนี้ติดค้างที่ทวงยาก

ความขัดแย้งที่ก่อตัวอยู่แล้วในภาวะร่วมธุรกิจของ 2 ตระกูล ประกอบกับการจี้จากฝ่ายกำกับและตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องการปล่อยหนี้ที่เรื้อรังของแบงก์นี้ เป็นเหตุให้ ยศ เอื้อชูเกียรติ ซึ่งมีอำนาจบริหารเต็มตัว เมื่อขึ้นนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่แทนเสฐียร เตชะไพบูลย์ ที่ถอนตัวกลับไปธนาคารศรีนครก็ดำเนินการฟ้องเรียกหนี้คืน

ฝ่ายคัณธามานนท์เมื่อถูกเล่นงานจากอีกฝ่ายโดยไม่เห็นแก่หน้ากัน ก็มีการตอบโต้ทั้งการฟ้องกลับ และการโจมตีกันทางหน้าหนังสือพิมพ์อุตลุด

แต่ฐานกำลังและความเป็นมวยหลักมากกว่าของฝ่ายเอื้อชูเกียรติ จึงเป็นฝ่ายกำชัยชนะในที่สุด

ความเหน็ดเหนื่อยจากการประลองกำลังที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มเอื้อชูเกียรติซึ่งเป็นแกนนำการบริหารธนาคารเอเชียจะต้องสรุปบทเรียนและป้องกันมิให้ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นอีก

เพราะทุกวันนี้ กลุ่มที่มาแทนที่ คัณธามานนท์ ก็คือ ภัทรประสิทธ์ และการประสานกำลังกันในการสกัดกั้นคนของตระกูลคัณธามานนท์ไม่ให้มีเก้าอี้ ในชุดปัจจุบันก็เป็นการแสดงเอกภาพในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

ส่วนเรื่องของอนาคตไม่มีใครรับประกันได้ว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่?

คราวนี้เรามาดูลักษณะการร่วมทุนของตระกูล เอื้อชูเกียรติ และตระกูล ภัทรประสิทธิ์ ในธนาคารเอเชีย โดยศึกษาจากโครงสร้างของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก ณ วันที่ 1 เมษายน 2529 จะเห็นภาพของการสรุปบทเรียนความขัดแย้งอย่างชัดแจ้ง

รายชื่อฝ่ายของเอื้อชูเกียรติล้วนๆ คือ

1. บริษัทเอเชียถือหุ้นจำกัด ถือหุ้น 595,749 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 9.93 ของทุนจดทะเบียน

2. บริษัทสินสมบัติทวี จำกัด ถือหุ้น 101,618 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 1.69 ของทุนจดทะเบียน

3. บริษัทจรูญ และครอบครัว จำกัด ถือหุ้น 101,147 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 1.69 ของทุนจดทะเบียน

เมื่อรวมหุ้นที่มีลักษณะ Holding Company ทั้ง 3 รายการนี้ ตระกูลเอื้อชูเกียรติ จะมีหุ้นถึง 798,514 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 13.31 ของทุนจดทะเบียน

ส่วนกลุ่มของภัทรประสิทธิ์ ถือหุ้นในธนาคารเอเชีย ในชื่อของ 2 บริษัท คือ

1. บริษัท ภัทรธุรกิจ จำกัด ถือหุ้น 285,002 หุ้น หรือร้อยละ 4.75 ของทุนจดทะเบียน

2. บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด ถือหุ้น 108,106 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 1.80 ของทุนจดทะเบียน

ทั้ง 2 กิจการในสายธุรกิจของภัทรประสิทธิ์นี้ ถือหุ้นรวมกัน 393,108 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 6.55 ของทุนจดทะเบียน

ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นทั้งหมดจึงสรุปได้ว่า ตระกูลเอื้อชูเกียรติ ถือหุ้นในธนาคารเอเชีย มากกว่าตระกูลภัทรประสิทธิ์อยู่ 6.76 เปอร์เซนต์

แม้เมื่อมีการเพิ่มทุนใหม่อีก 300 ล้านบาท โดยเปิดให้ผู้ถือหุ้นเก่าจองซื้อ ในอัตรา 2 หุ้นเก่าต่อ 1 หุ้นใหม่ ปรากฏว่ามีผู้จองมา 150 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็ได้จัดสรรขายให้กรรมการจนหมด

เงื่อนไขนี้ก็เป็นประโยชน์กับฝ่ายเอื้อชูเกียรติ ซึ่งมีหุ้นในมือมากกว่าอยู่แล้ว ก็คงจะต้องซื้อเพิ่มเพื่อรักษาสัดส่วนที่มากกว่าต่อไป

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งจากข้อมูลผู้ถือหุ้นในธนาคารเอเชีย ก็คือ

มีการตั้งบริษัทในลักษณะร่วมทุนของกลุ่มเอื้อชูเกียรติ และภัทรประสิทธิ์ คือ

1. บริษัท เสถียรทรัพย์ จำกัด

2. บริษัท ภาคินี จำกัด

3. บริษัท จารุสถิต จำกัด

4. บริษัท เอื้อประสิทธิ์

บริษัททั้ง 4 มีลักษณะที่เหมือนกันคือ

- หุ้นของบริษัทจะถือโดยบุคคลหรือกิจการจากทั้งสองตระกูลในจำนวนหุ้นที่เท่าๆ กัน

- บริษัทเหล่านี้กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งว่าเพื่อเข้าถือหุ้นในบริษัทต่างๆ รวมทั้งกู้ยืมเงิน และให้กู้ยืมเงินโดยมีหรือไม่มีบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นประกัน

- ในข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดว่า "ผู้ถือหุ้นคนใดประสงค์จะโอนหุ้นของตนจะต้องโอนให้บุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทนี้อยู่แล้ว จะโอนให้บุคคลภายนอกไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ"

- 3 บริษัทแรก จะมีการกู้เงินจากต่างประเทศ บริษัทละ 500,000 เหรียญสหรัฐ ยกเว้นบริษัทเอื้อประสิทธิ์ ที่กู้มา 7,500,000 ฟรังสวิส ทั้งหมดจะมีระยะการจ่ายคืนประมาณ 3 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ย LIBOR+1 ต่อปี

จากงบการเงินงวด 30 พ.ย. 2528 ของทั้ง 4 บริษัทพบว่า 3 บริษัทแรกมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงิน 550,000 บาท แต่บริษัท เอื้อประสิทธิ กลับขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินถึง 17,287,500 บาท

- บริษัทเหล่านี้ ล้วนแสดงผลขาดทุนทั้งสิ้น ขณะเดียวกันรายได้และรายจ่ายที่เป็นหลักคือ ดอกเบี้ย ได้แก่

1. บริษัทเสถียรทรัพย์ จำกัด (ขาดทุนสุทธิ 108,224 บาท) มีดอกเบี้ยรับ 3,575,470 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 3,984,779 บาท

2. บริษัท ภาคินี จำกัด (ขาดทุนสุทธิ 124,742 บาท) มีดอกเบี้ยรับ 3,595,588 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 4,020,682 บาท

3. บริษัท จารุสถิต จำกัด (ขาดทุนสุทธิ 110,016 บาท) มีดอกเบี้ยรับ 3,575,470 ดอกเบี้ยจ่าย 3,984,779 บาท

4. บริษัท เอื้อประสิทธิ์ จำกัด (ขาดทุนสุทธิ 20,708,336) มีดอกเบี้ยรับ 7,830,947 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 10,477,531 บาท

นอกจากนี้แม้แต่บริษัทที่เป็น Holding Company ของทั้งสองตระกูล ก็มีงบการเงินของงวด 2528 ที่แสดงตัวเลขขาดทุนทั้งสิ้น ดังนี้

ฝ่ายเอื้อชูเกียรติ บริษัทเอเชียถือหุ้น (ขาดทุน 23,460,459 บาท) บริษัท สินสมบัติทวี (ขาดทุน 2,795,464 บาท) บริษัทจรูญและครอบครัว (ขาดทุน 4,040,871 บาท)

ฝ่ายภัทรประสิทธิ์ บริษัท ภัทรธุรกิจ (ขาดทุน 1,468,470 บาท)

ดังนั้นหากตัวเลขเหล่านี้จริงแท้แน่นอนแล้วไซร้ ก็นับว่าแนวทางในการลงทุนต่างๆ ของบริษัทเหล่านี้คงเกิดผิดพลาดอยู่ไม่น้อย และยังเป็นเรื่องเสียเหลี่ยมพอดูในการที่ปล่อยให้บริษัทส่วนตัวของกลุ่มมีการขาดทุนกันทั้งยวงเช่นนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อมองเฉพาะบทบาทของกลุ่มเอื้อชูเกียรติ และภัทรประสิทธิ์ขณะนี้ จะเห็นได้ว่าแม้เอื้อชูเกียรติจะยังกุมคะแนนเสียงด้วยจำนวนหุ้นมากกว่าก็ตาม ก็ใช่ว่าจะยิ้มได้เต็มที่นัก

เพราะไหนจะต้องเผชิญกับการแข่งขันของยุทธจักรธุรกิจธนาคารปัจจุบันแล้ว ยังต้องหาทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยหนี้สินที่มีมาในอดีต โดยเฉพาะการเร่งรัดของธนาคารชาติที่เน้นให้จัดการกับภาระสินเชื่อที่ผ่านให้กับบริษัทในเครือของตระกูล

ในขณะที่ฝ่ายภัทรประสิทธิ์ ยามนี้ได้แต่วางเฉย หรืออาจคิดว่า "อดเปรี้ยวไว้กินหวาน" เนื่องจากคนของตระกูลนอกจากมีน้อยแล้ว ยังมีประสบการณ์ในธุรกิจการธนาคารไม่มากพอ จึงดูไม่มีบทบาทมากในธนาคาร

ยุคนี้จึงเป็นโอกาสของ "เอื้อชูเกียรติ" ในการแสดงบทบาทการบริหารธนาคารเต็มที่ และจากโครงสร้างการถือหุ้นในธนาคารเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีการที่เป็นผลดีกับกลุ่มเอื้อชูเกียรติมาก เพราะในจำนวนหุ้นที่ถือไว้ก็มากกว่าอยู่แล้ว และภายใต้กฎเกณฑ์การให้กระจายหุ้นออกไป การตั้งบริษัทร่วมทุนของ 2 ตระกูลนี้ขึ้นมา นอกจากจะเกิดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่สามารถรวมจำนวนหุ้นที่มากขึ้นโดยไม่ต้องห่วงว่าจะตกไปเป็นของกลุ่มอื่น (เนื่องจากถือหุ้นฝ่ายละเท่ากัน) ก็ยังเป็นการกันกลุ่มใหม่ที่เผลอๆ อาจแทรกเข้ามาได้

โดยที่เอื้อชูเกียรติควักเงินเพียงครึ่งเดียว เพราะอีกครึ่งหนึ่งนั้น ฝ่ายภัทรประสิทธิ์ก็ต้องลงเงินเท่ากันด้วย

ขณะเดียวกันถ้าจะเกิดขัดแย้งระหว่าง 2 ตระกูลในอนาคต หุ้นใน 4 บริษัทนี้ซึ่งมีถึง 16% ก็ไม่มีทางไปทุ่มไปช่วยฝ่ายใดได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างฝ่ายต่างคุมกันอยู่ด้วยคะแนนเสียงเท่ากัน

นี่อาจจะเป็นการป้องกัน 2 ชั้น เพื่อมิให้เกิดศึก 2 ตระกูล อย่างรายอื่นในอดีต และถ้าได้ผลดีจริงอย่างถาวร ก็คงจะดีสำหรับธนาคารที่พยายามสร้างภาพพจน์ให้เป็นธนาคารที่ทันสมัย แม้แต่ตัวตึกสำนักงานใหญ่ยังออกแบบเป็นอาคารรูปหุ่นยนต์กันทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.