สงครามครั้งสุดท้ายของ สว่าง เลาหทัย?


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

สว่าง เลาหทัย นำนาวาศรีกรุงวัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วในอัตราที่ธุรกิจไทยไม่มีใครทำได้ เขาเข้าสู่วงการธุรกิจไหน วงการนั้นสั่นคลอนและมักจะลงเอยด้วยศรีกรุงวัฒนาเข้ายึดครองอาณาจักรธุรกิจนั้นอยู่ในกำมือ แต่แล้วสงครามครั้งสุดท้ายของสว่างทะยานสู่ตลาดสินค้าพืชไร่นับเงินเป็นหมื่นๆ ล้านบาทนั้นไม่ง่ายเลย เขาต่อสู้อย่างสุดแรงเผชิญปัญหารอบด้าน วันนี้สงครามยังไม่สิ้นสุด…สว่าง ก็เกือบจะหมดแรง หากเขาไม่ตัดสินใจดึงมิตซุยเข้ามา

เหตุเกิดที่โคราช

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2527 ดูเหมือนเป็นวันที่ สว่าง เลาหทัย ประธานกรรมการบริหารกลุ่มศรีกรุงวัฒนาประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เป็นสงครามครั้งสำคัญอันยืดเยื้อและยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตทางธุรกิจของเขา

สว่างเปิดตัวครั้งแรกๆ จากเป็นคนที่ชอบชักใยอยู่ข้างหลัง (MANIPULATOR)

ในงานเปิดศูนย์อุตสาหกรรมการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ (เครือศรีกรุงวัฒนา) โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธาน (ไม่บ่อยนักที่ผู้นำประเทศคนนี้จะเป็นประธานเปิดบริษัทของเอกชน นอกจากงานใหญ่นี้แล้วก็เห็นมีการเยี่ยมชมโรงงานชะอำไพน์แอปเปิ้ล ของ พ.อ. พล เริงประเสริฐวิทย์ อย่างไม่เป็นทางการเมื่อกลางปี 2528) ท่ามกลางแขกเหรื่อทั้งในและต่างประเทศนับพันๆ คน อาทิผู้แทนจากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (อีอีซี) นายธนาคารใหญ่ รัฐมนตรี นักการเมือง ตลอดจนคู่แข่งทางการค้า มันเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากในโคราช อาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการค้าพืชไร่ก็ว่าได้

วันนั้น สว่าง เลาหทัยนั่งเคียงข้างชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ในระหว่างพิธีอย่างเป็นทางการ นักข่าวส่วนใหญ่ไม่รู้จักเขา กว่าจะรู้ว่าคือสว่าง เลาหทัยก็ต้องถามพนักงานบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ถึงหลายคน

ก่อนหน้านั้น 2-3 ปีศรีกรุงวัฒนาได้ซุ่มคืบคลานเข้าสู่วงการนี้อย่างเงียบๆ เริ่มต้นด้วยการตั้งบริษัทยูเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล ดำเนินธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศ และได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ พร้อมๆ กับการตั้งบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่เมื่อปลายๆ ปี 2522

บริษัทเจ้าพระยาพืชไร่เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท ต่อมาในปี 2525 ได้เพิ่มทุนรวดเดียวถึง 2 ครั้ง เป็น 160 ล้านบาท โดยร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจยุโรป KROHN & CO IMPORT EXPORT (GMBH & CO KG) ในอัตราส่วน 50/50 เป้าหมายแจ่มชัดอยู่แล้วคือการสร้างฐานไซโล และอุตสาหกรรมแปรรูปเบื้องต้นในขั้นนี้คือการอัดมันเม็ด ซึ่งสว่าง เลาหทัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างภาคภูมิใจว่าเขาเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาการผลิตมันอันเม็ดแข็ง

"มันอัดเม็ดอ่อนมีสภาพเป็นฝุ่น จึงเกิดละอองมากมายในระหว่างขนถ่าย ทางประชาชนที่อยู่เมืองท่ารอตเตอร์ดัม เองก็ร้องเรียนรัฐบาลว่าได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่น และยังมีปัญหาในเรื่องความชื้นอันเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อรา ต้องถูกผู้ซื้อเรียกค่าเสียหาย" เขากล่าวถึงแรงจูงใจในการลงทุนสร้างโรงงานผลิตมันอัดเม็ดขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 7,500 ตัน/วัน ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เป็นการประกาศว่าศรีกรุงวัฒนาพร้อมจะจู่โจมสู่วงการค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอย่างเต็มกำลัง ตามสไตล์ธุรกิจของเขา "ให้ผลประโยชน์แก่ผู้แทนการค้าให้มาก เอากำไรแต่น้อย และเป้าหมายสุดท้ายคือครองส่วนแบ่งตลาดไว้ในกำมือมากที่สุด" ผู้ใกล้ชิดสว่าง เลาหทัยพูดถึงยุทธวิธีการดำเนินธุรกิจของเขา ซึ่งเขาประสบความสำเร็จมาแล้วในธุรกิจค้าปุ๋ยเคมี

หรือ "ใช้วิธีทุ่มเงินตีตลาด ถลุงคู่แข่งที่มีเงินมีอำนาจด้อยกว่าให้พังเป็นแถบ แล้วเขาผูกขาดตลาดนั้นในที่สุด" ในทรรศนะของนักธุรกิจที่เคยเผชิญหน้าหรือกำลังเผชิญกับสว่าง เลาหทัย

พร้อมๆ กับการร่วมทุนกับโครห์น แห่งฮัมบรูกเมื่อปี 2525 สว่าง เลาหทัยก็ได้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลเหรียญทองและโล่สดุดี ในฐานะเป็นผู้ส่งเสริมสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันจากรัฐบาลเยอรมัน

การผนึกกำลังครั้งนั้นน่าเกรงขามที่สุดในวงการค้าพืชไร่!

ในเวลาเดียวกันนั้น วงการค้าพืชไร่หลักอื่นๆ ข้าว ข้าวโพดก็กำลังสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น เพราะการเข้ามาของศรีกรุงวัฒนาด้วยเช่นกัน ภายหลังกลุ่มนี้ได้ค่อยสร้าง "เครื่องไม้เครื่องมือ" (FACILITIES) ในย่านสมุทรปราการเพื่อรองรับธุรกิจเหล่านี้มาหลายปี ตั้งแต่การสร้างไซโลบรรจุ-อบข้าวโพดที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด ในระยะไล่เลี่ยกับการสร้างโรงงานผลิตมันอัดเม็ดที่โคราช ต่อมาคือแผนการผลิตข้าวสารบรรจุหีบห่อเล็กคัดคุณภาพ (บริษัท ยูเอ็มซีไร้ซ)

สว่าง เลาหทัยต้องเริ่มด้วยความพร้อม ด้วยมาดใหญ่ ใครๆ เห็นก็ต้องอกสั่นขวัญแขวนตั้งแต่ยกแรกแล้ว

ทำไมเขาต้องฮึกเหิมและบุกเข้ามาวงการนี้ด้วยเล่า?

"เศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับภาวะการส่งออกและระดับราคาของสินค้าเกษตรด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมุ่งลงทุนทางด้านนี้มาก" สว่าง เลาหทัยตอบคำถามาแบบทางการกับ "ผู้จัดการ"

หากขยายความง่ายๆ จะได้ว่าธุรกิจส่งออกสินค้าอันมีตลาดใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้านสำหรับประเทศไทยเป็นภาพที่หอมหวลไม่น้อย ยิ่งเป็นศรีกรุงวัฒนนาที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็ว และมีหลังพิงอันแข็งแกร่ง (ธนาคารกรุงเทพ) ด้วยแล้ว แรงขับดันจึงมากขึ้นมาก

มองลึกลงไป--ธุรกิจของศรีกรุงวัฒนาที่ผ่านมาเนื้อแท้คือการนำเข้า (IMPORTER) ข้อต่อจากนี้คือการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ เป็นทั้งนำเข้า-ส่งออก หรือบริษัทการค้าต่างประเทศที่สว่าง เลาหทัยมีความใฝ่ฝันนั่นเอง "จะพยายามพัฒนาบริษัทให้เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศเช่นเดียวกับญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้เพื่อจะได้มีอำนาจต่อรองกับต่างประเทศ"

แนวความคิดนี้ได้แรงกระตุ้นอย่างรุนแรงจากการลดค่าเงินบาทครั้งแรกเมื่อปี 2524 ถึง 8.9% ผู้ใกล้ชิดสว่างบอก "ผู้จัดการ" พบว่าประเสริฐ วสินสังวรได้ร่วมมือกับสว่าง เลาหทัย ตั้งบริษัทเซ็นทรัลไร้ซ เป็น "หนูตะเภา" ตามกลยุทธ์ลวงตาคู่แข่ง อันเป็นยุทธวิธีหนึ่งของสว่าง ซึ่งใช้เสมอมา

ว่ากันว่ากว่าตัวเลขจะออกมาสวยเช่นนั้น สว่างและศรีกรุงวัฒนาต้องบอบช้ำอย่างมากตามกลยุทธ์ทุ่มไปก่อน กำไรจะมาถึงภายหลัง ซึ่งความจริงยังมองไม่เห็นว่าจะมาถึงง่ายๆ

น่าเสียดาย…เจ้าพระยาพืชไร่มีอุปสรรคหลายประการ หลังจากเปิดตัวอย่างครึกโครมแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชักเย่อของฝ่ายต่อต้าน (ทางการค้า) ไม่ยอมให้โคราชเป็นเขตส่งออกและนับสต็อคผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังด้วย กว่าจะบรรลุเจตจำนง ศึกย่อยๆ นี้ยืดเยื้อพอประมาณจวบกระทั่งสถานการณ์อันเลวร้ายมาเยือนวงการนี้อย่างไม่คาดหวัง

สำคัญอย่างยิ่งคือการลดค่าเงินบาทในปลายปี 2527 นั่นเอง!

สว่าง เลาหทัยเป็น "กุญแจ" สำคัญในการสร้างตลาดของธุรกิจภายใต้ "เครื่องไม้เครื่องมือ" อันพร้อมมูล ด้วยยุทธวิธีดูเหมือนง่ายๆ แต่ยากเหลือกำลัง กล่าวคือเขาจะเป็นผู้หาตลาดหรือ ORDER ชิ้นมหึมาให้มาอยู่ในกำมือ "งานเล็กเขาไม่ชอบทำ" ลูกน้องคนหนึ่งของเขาขยายความ และนี่ก็คือโจทย์ที่ถูกตั้งขึ้นเสมอ โดยฟันเฟืองทุกอันจะต้องหมุนตามในเวลาต่อมา เพื่อระดมสินค้าเข้ามาอยู่ในมืออย่างรวดเร็วและจำนวนมากพอ

ในสายตาของพ่อค้าพืชไร่มองปรากฏการณ์การเข้าสู่ธุรกิจส่งออกพืชไร่ของศรีกรุงวัฒนาในปี 2526/27 อย่างน่าเกรงขาม นั้นเป็นเพียง "ลมพันดอกไม้ไหว" เพราะโครงการตลาดมิได้เป็นไปตามดีมานต์-ซัพพลายอย่างสมบูรณ์อย่างที่สว่าง เลาหทัยมีประสบการณ์มาแล้วในอดีต

ผู้คร่ำหวอดวงการค้าข้าวโพดกล่าวว่าตลาดข้าวโพดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่ง-ส่งออก สอง-สู่โรงงานอาหารสัตว์ ทางออกที่สองนี้มียักษ์ใหญ่วงการอาหารสัตว์ ซีพี. แหลมทองสหการ เทบาโก ฯลฯ ยืนตระหง่านอยู่ ศรีกรุงวัฒนาย่อมมิอาจเข้าแทรกแซงได้ง่ายๆ

ตลาดข้าวก็เช่นเดียวกัน มันอยู่ที่ "ใจ" ขึ้นกับการเก็งตลาดของผู้มีอำนาจในการควบคุมตลาด อันมีตัวแปรมากมาย สว่างยอมรับว่าวงการนี้ยากจะทะลวงเข้าไป เขามองว่ามีเพียงธุรกิจส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเท่านั้นที่เข้าข่ายแนวความคิดของเขาได้

ในทางตรงข้าม คู่แข่งศรีกรุงวัฒนามองว่า การที่เขาลดบทบาทการค้าข้าว-ข้าวโพด และเพิ่มน้ำหนักการค้ามันสำปะหลัง นอกจากเหตุผลทางธุรกิจที่ไม่ประสบผลสำเร็จในสินค้า 2 ชนิดแรก นับตั้งแต่ต้นปี 2529 เป็นต้นมาแล้วยังเป็นเพราะสินค้าชนิดหลังมีอำนาจการเมืองเข้าแทรกแซงตลาดได้อย่างมีกฎเกณฑ์ ตลาดมิได้เป็นไปตามธรรมชาติ อันสอดคล้องกับสไตล์การค้าของสว่าง เลาหทัย--อิงกลุ่มอำนาจ

สัจธรรมข้อหนึ่งในวงการค้าก็คือเมื่อเผชิญปัญหาทางการค้า อันเนื่องมาจากการบริหารผิดพลาดหรือปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ก็ดี ท้ายที่สุดจะนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมทุน อันเป็นอุปสรรคด่านสุดท้ายที่ยากจะข้ามพ้น สว่าง เลาหทัย หนีไม่พ้นสัจจะข้อนี้

ศรีกรุงวัฒนาต้องการขยายการลงทุนของบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ให้ครบถ้วนตามแผนเดิม 800 ล้านบาท เมื่อเผชิญวิกฤติการณ์ นอกจากโครห์นจะไม่เห็นด้วยแล้ว ข่าวยังกระเซ็นกระสายออกมาว่า โครห์นซึ่งรับผิดชอบหาตลาดส่งออกในอีอีซีในฐานะเป็นผู้ชำนาญตลาดส่วนนั้น ดำเนินการค้าอันไม่ชอบมาพากล กระหน่ำซ้ำเติมการขาดทุนของเจ้าพระยาพืชไร่หนักข้ออีก

ผู้รู้เล่าความขัดแย้งเริ่มปะทุราวๆ ต้นปี 2528

ครั้นโครห์นขอถอนหุ้น ก็ถอนไม่ออกเพราะบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ขาดทุนขนาดหนัก เขาตั้งข้อสังเกตว่าข้างฝ่ายศรีกรุงวัฒนาเล่นกลเชิงบัญชี

ณ สิ้นปี 2528 บริษัทเจ้าพระยาพืชไรขาดทุนสุทธิ 963 ล้านบาท และขาดทุนสะสมถึง 1,469.2 ล้านบาท หรือขาดทุน 601.88 บาท/หุ้น อันเป็นบริษัทที่ขาดทุนอย่างมโหฬาร มากที่สุดในบรรดาบริษัทกลุ่มศรีวัฒนา ชนิดที่โอกาสฟื้นตัวแทบจะปิดประตู

หากพิจารณากันให้ลึกซึ้งยังพบปมเงื่อนอีกว่า แท้ที่จริงบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ทำการซื้อขายสินค้ากับบริษัทในเครือศรีกรุงวัฒนากว่า 95% กล่าวคือซื้อสินค้าจากบริษัทศรีกรุงการเกษตร เข้าสู่โรงงานของตน แล้วส่งขายบริษัทยูเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนลเพื่อส่งออกต่อไป

เรียกได้ว่าทีมบริหารศรีกรุงวัฒนาสามารถควบคุมความเป็นไปของเจ้าพระยาพืชไร่อย่างเด็ดขาด

คู่แข่งของสว่าง เลาหทัยมองว่า ดัชนีนี้เป็นการ "ต่อสู้" อย่างถึงพริกถึงขิงระหว่าง ศรีกรุงวัฒนากับโครห์น ซึ่งในที่สุด สว่าง เลาหทัยเป็นผู้ชนะ โครห์นเป็นผู้บอบช้ำ

ธนาคารกรุงเทพผู้สนับสนุนทางการเงินพลอยฟ้าพลอยฝนร่วมกับโครห์นด้วย

เหรียญทองจากรัฐบาลเยอรมันที่สว่าง เลาหทัยได้รับเมื่อปี 2525 นั้น จะยังความภูมิใจทั้งผู้ให้และผู้รับอยู่ในความทรงจำหรือไม่!?

และสงครามธุรกิจครั้งใหญ่ของสว่าง เลาหทัย จะยุติลงพร้อมกับความพ่ายแพ้กระนั้นหรือ?

ความยิ่งใหญ่?

ศรีกรุงวัฒนาเป็นกลุ่มธุรกิจยุคใหม่ โดยคนหนุ่มอันเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย เริ่มต้นจริงๆ เมื่อปี 2517 ถึงวันนี้มีอายุเพียงประมาณ 12-13 ปีเท่านั้น

ศรีกรุงวัฒนาเป็นธุรกิจที่ถูกจับต้องมากที่สุด หนึ่ง-เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย (เท่าที่ "ผู้จัดการ" ค้นพบ) จากสินทรัพย์ไม่ถึงพันล้านบาทเมื่อ 10 ปีก่อน พุ่งชนเพดาน 2 หมื่นล้านในปัจจุบัน (ตามงบการเงินแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์) สอง-คนหนุ่มที่มีบทบาท "ชี้ขาด" กลุ่มธุรกิจนี้มีเพียงคนเดียว มีการศึกษาดี ไม่ได้เกิดขึ้นบนกองเงินกองทอง แต่สามารถสร้างโอกาสให้กับตนเองชนิดมิอาจเกิดขึ้นอีกแล้วในประเทศไทย สาม-สไตล์ของศรีกรุงวัฒนาดูลึกลับ รุนแรง และอิงอำนาจนิยมบนพื้นฐานของนักเสี่ยงโชคหยั่งรากลึก ย่อมปะทะกับแรงต้านและฐานของธุรกิจดั้งเดิมอย่างรุนแรง

ประวัติศาสตร์ศรีกรุงวัฒนาเปิดหน้าแรกเมื่อปี 2511 ต่อเนื่องจากบริษัทเต็กเฮงของเจ้าสัวลิ้มจือเม้ง เมื่อปี 2490 อันเป็นธุรกิจนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ สว่าง เลาหทัยเริ่มงานในเต็กเฮง ในฐานะผู้จัดการฝ่ายขาย ครั้งเมื่อเขาเป็นเจ้าความคิดผนึกกำลังบริษัทลักษณะเดียวกันอีก 2 บริษัทในนามศรีกรุงวัฒนาเขาได้เป็นกรรมการ

ความพยายามครั้งนั้นกว่าจะสำเร็จก็ล่วงเข้าปี 2517

2 บริษัทแรกเป็นของเจ้าสัวลิ้มจือเม้ง--เต็กเฮง และลิ้มเต็กหลี อีกบริษัทคือ ทียูนิเคมของ ประเสริฐ ตั้งตรงศักดิ์ นักเรียนร่วมห้องที่อัสสัมชัญ บางรักของสว่าง เลาหทัย การร่วมมือจึงไม่ยากเย็นและถือเป็นแบบฉบับที่ดำรงอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ (ประเสริฐ ปัจจุบันเป็นบุรุษหมายเลข 2 ของศรีกรุงวัฒนา รองจากสว่าง เลาหทัย เขาได้ชื่อว่า เป็นคนเดียวในศรีกรุงวัฒนาที่สว่างจะต้องขอความเห็น เมื่อทำงานใหญ่)

สว่าง จากพนักงานธรรมดาของเต็กเฮงได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เจ้าสัวจือเม้งพื้นเพเดิมอยู่สิงคโปร์ หลบภัยอั้งยี่เข้ามาดำเนินธุรกิจในเมืองไทย ครั้นประสบความสำเร็จก็กลับบ้านเกิดประกอบธุรกิจที่นั่นอีกครั้ง "ธุรกิจที่สิงคโปร์ประสบปัญหาจำเป็นต้องเอาเงินจากศรีกรุงวัฒนาในประเทศไทยไปหนุนไทย คุณสว่างดำเนินการให้โดยการรับซื้อหุ้นของเจ้าสัว เนื่องจากเจ้าสัวและทายาทประสบปัญหาดังกล่าว 2 ครั้ง สว่างจึงถือหุ้นมากขึ้นๆ เป็นลำดับ" พนักงานเก่าแก่ศรีวัฒนาเล่า

ยุคใหม่ของศรีวัฒนาภายใต้การบริหารงานสว่าง เลาหทัยเริ่มปี 2517

ในรายงานการประชุมเมื่อปลายปี 2517 สว่าง เลาหทัยในฐานะกรรมการผู้จัดการเสนอเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 10 ล้านเป็น 100 ล้านรวดเดียว เพราะธุรกิจกลุ่มนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

"บริษัทต้องลงทุนในบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี เป็นเงิน 72 ล้านบาท บริษัทเอ็นไอเอ็ม เป็นเงิน 24 ล้านบาท และลงทุนในบริษัทแผ่นดินธนาธร เป็นเงินประมาณ 10 ล้านบาท อีกทั้งลงทุนในกิจการค้าอื่นๆ อีกรวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท" สว่างให้เหตุผลแก่ผู้ถือหุ้นในการเพิ่มทุน

บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีเดิมคือบริษัทปุ๋ยเคมีแม่เมาะของรัฐบาล เนื่องจากการบริหารงานเละเทะ บริษัทศรีวัฒนาจากเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งเชื่อเชิญบริษัทเซ็นทรัลกล๊าสและนิชโช-อิวายแห่งญี่ปุ่นถือหุ้นด้วยอาศัยโนฮาวของญี่ปุ่นทำให้บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีดำเนินไปด้วยดี คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ คือสว่าง เลาหทัย ซึ่งช่วงนั้นเขาเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนี้

รายงานการประชุมตอนเปลี่ยนมือจากของรัฐบาลมาเป็นของศรีกรุงวัฒนาในปี 2517 ปรากฏบทบาทสว่างอย่างแจ่มชัด "ที่ประชุมมีมติรับหลักการข้อเสนอของคุณสว่าง เลาหทัย ที่จะตั้งแผนกงานใหม่ขึ้นในบริษัทฯ เพื่อที่จะทำให้โครงการของบริษัทฯ ให้สมบูรณ์ตามเป้าหมาย…" รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2517

"คุณสว่าง เลาหทัยรายงานต่อที่ประชุมว่ากำลังเจรจาขอกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพจำนวน 100 ล้านบาทเป็นแบบ CLEANLOAN ในอัตราดอกเบี้ย PRIMERATE บริษัทศรีกรุงวัฒนาจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้นี้สามส่วน และบริษัทนิชโช-อีวาย จะค้ำประกันอีก 2 ส่วนที่เหลือ" รายงานการประชุมคราวเดียวกันระบุอันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสว่าง เลาหทัยกับธนาคารกรุงเทพ

บริษัทเอ็มไอเอ็ม เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างศรีกรุงวัฒนากับนิชโชอิวาย--บริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งสว่าง เลาหทัยเคยทำงานในตำแหน่งพนักงานขายอยู่ 3 ปีเต็ม (2508-2511) ส่วนบริษัทแผ่นดินธนาธรคือบริษัทการลงทุนระหว่างสว่าง เลาหทัยกับญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันถือหุ้นในบริษัทนันทวัน (ไทย-โอบายาชิ) บริษัทก่อสร้างเชื้อสายญี่ปุ่นที่มีชาตรี-สว่าง และสมหมาย ฮุนตระกูล ถือหุ้น (โปรดอ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 37 ตุลาคม 2529 หน้า 84)

ปลายปี 2516 จนถึงปลายปี 2517 เป็นช่วงวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรกที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างแรง แต่ดูเหมือนจะเป็นตามคำพูดที่ว่า "สงครามเป็นที่มาแห่งความทุกข์เวทนาของคนส่วนใหญ่ แต่คนบางกลุ่มเหมือนฟ้าประทานโชค" สว่าง เลาหทัยได้แรงผลักดันของสถานการณ์เช่นนี้ทำให้เขาโลดแล่นในยุทธจักรธุรกิจ อันเนื่องมาจากสินค้าของเขาส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับน้ำมันเขาเก็งตลาดอย่างแม่นยำ รวมทั้งการหนุนช่วยแข็งขันของชาตรี โสภณพนิช ผู้ใหญ่จากธนาคารกรุงเทพ ศรีกรุงวัฒนาสามารถสต็อคสินค้าไว้จำนวนมาก เมื่อน้ำมันราคาพุ่ง ราคาสินค้าเหล่านั้นทะยานขึ้นอย่างแรงและรวดเร็ว ในที่สุดกลุ่มศรีกรุงวัฒนาสามารถยึดครองธุรกิจปุ๋ยไว้ในมือเกือบสิ้นเชิง

ศรีกรุงวัฒนาและสว่าง เลาหทัยรวยไม่รู้เรื่อง!!

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้น ศรีกรุงวัฒนาได้รุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่คือกิจการโรงงานผลิตแป้งสาลี ในครั้งแรกเข้าซื้อกิจการไซโล (ยูไนเต็ดไซโลแอนด์เซอร์วิส) และโรงงานของบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ (ยูเอฟเอ็ม) ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกัน--ยิดวาโฮแห่งไทยวาและสุริยน ไรวา 2-3 ปีต่อมา สว่าง เลาหทัยก็ซื้อโรงงานผลิตแป้งมันของชวน รัตนรักษ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อันเป็นจังหวะก้าวสำคัญของการเขมือบธุรกิจแป้งสาลี

แผนการดังกล่าวอาจจะเป็นจริง หากคู่แข่งขันของสว่าง ไม่ใช่แหลมทองสหการของยงศักดิ์ คณาธนาวนิชย์ เจ้าของกลุ่มธุรกิจกลุ่มใหญ่และฝังรากลึกมานานในเมืองไทยกลุ่มหนึ่ง (อุตสาหกรรมอาหารสัตว์-ปศุสัตว์ อุตสาหกรรมแป้งสาลี ไซโลพืชผลและโรงงานทอกระสอบ) จนในที่สุดธนาคารกรุงเทพต้องยื่นมือเข้ามายุติศึก เนื่องมาจากการบอบช้ำทั้งคู่ กลุ่มแหลมทองสหการเองก็เป็นลูกค้าเก่าแก่ของธนาคารกรุงเทพ (ยงศักดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพเมื่อต้นปี 2529) อย่างไรก็ดีกลุ่มศรีกรุงก็มีกำลังเหนือกว่าแหลมทองสหการ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2528 เสถียร อาชานิยุต ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและฝ่ายบริหารแถลงในที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ว่าปัจจุบันการค้าแป้งสาลี เขาครองส่วนแบ่งตลาด 55%

อีกครั้งของสงครามธุรกิจคือการรุกคืบเข้าไปสู่อุตสาหกรรมเหล็กเส้น ด้วยการชักนำของธนาคารกรุงเทพเข้าเทคโอเวอร์บริษัทกรุงเทพผลิตเหล็ก (บีเอสไอ.) จากกลุ่มศุภสิทธิ์ มหาคุณ กมล เอี่ยมสุกลรัตน์ โดยร่วมหุ้นกับกลุ่มผู้ค้ากระดาษรายใหญ่ "ฮั่วกี่" หรือตระกูลนิธิวาสิน (เจ้าของเดิม) ต่อมาบริษัทนี้ได้ร่วมทุนกับนิชโชอิวายกับโนมูระเทรดดิ้งแห่งญี่ปุ่น การเข้าอุตสาหกรรมเหล็กเส้นของศรีกรุงวัฒนาทำวงการนี้ปั่นป่วนพอสมควร และเนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ประสบวิกฤติการณ์ การเข้ายึดครองอุตสาหกรรมของศรีกรุงวัฒนาแทบไม่มีความหมาย

ชาตรี โสภณพนิช เริ่มรู้จักสว่าง เลาหทัยเมื่อเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่แล้ว ด้วยการแนะนำของหัวหน้าส่วนเงินกู้ (จงจิตต์ จันทมงคล) มีเรื่องเล่าว่า เมื่อธนาคารกรุงเทพมีแผนเดินหาลูกค้า เจ้าสัวลิ้มจือเม้ง เป็นเป้าหมายสำคัญคนหนึ่ง เนื่องจากเต็กเฮงมีเงิน ดำเนินธุรกิจแบบไม่ยอมใช้บริการของธนาคาร จงจิตต์ ยังภูมิใจจนทุกวันนี้ที่คอมปะโดร์คนหนึ่งของเขาสามารถชักชวนเจ้าสัวจือเม้งเป็นลูกค้าธนาคารได้

สว่าง เลาหทัยขณะนั้นเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ซึ่งต่อมามีบทบาทติดต่อธนาคารมากที่สุดของห้างเต็กเฮง จากจุดนี้เขาจึงรู้จักชาตรี โสภณพนิช

ครั้งแรกที่สว่างไม่ลืมบุญคุณชาตรีก็คือสนับสนุนทางการเงินอย่างแข็งขัน พลิกสถานการณ์อันเลวร้ายจากวิกฤติการณ์น้ำมันมาเป็นผลดี จากความสัมพันธ์นี้ได้ก่อรูปแน่นแฟ้นมากขึ้น เมื่อรัฐบาลเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2518 ธนาคารกรุงเทพก็เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทันที เมื่อตลาดหุ้นบูมครั้งใหญ่ในปี 2522 ชาตรี-สว่าง สนุกมากตามประวัติศาสตร์แล้วไม่มีครั้งใดที่หุ้นธนาคารกรุงเทพพุ่งเกิน 500 บาท เช่นกลางปี 2522 อีกแล้ว

ผู้สันทัดเรื่องหุ้นเล่าว่า เนื่องจากธนาคารกรุงเทพเป็นหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ การเล่นตลาด การสร้างดอกผล-กำไรต้องลงทุนอย่างมาก ว่ากันว่าขณะนั้นไม่มีใครใจใหญ่เท่าสว่าง จากความเชี่ยวชาญการเสี่ยงเป็นคุณสมบัติของเขา ในปีนั้นเขาทั้งสอง (ชาตรี-สว่าง) ได้กำไรไปอย่างมหาศาล

ในช่วงนี้สว่าง เลาหทัยได้ชื่อว่า "สิงโตลำพอง" อย่างแท้จริง อันเป็นพื้นฐานในการรุกคืบธุรกิจมากขึ้นๆ ทุกที หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ศรีกรุงวัฒนาและสว่าง เลาหทัยก็เข้าไปถือหุ้นใหญ่ ในธนาคารกรุงเทพ โดยเฉพาะศรีกรุงวัฒนาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 1 ใน 10 อันดับแรกตลอดมา

นอกจากนี้ "ผู้จัดการ" ค้นพบการผนึกกำลังตั้งบริษัทลงทุน-บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย เริ่มแรกเป็นของชาตรี โสภณพนิช และพวก (ก่อตั้งเมื่อปี 2517) ครั้นต่อมาประมาณปี 2522 สว่าง เลาหทัยได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ ซึ่งรวมทั้งบริษัทศรีกรุงวัฒนาด้วย (ศรีกรุงวัฒนา 27% สว่าง 4.97% ชาตรีประมาณ 28% ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 1,000 ล้านบาท)

ปัจจุบันที่ทำการบริษัทนี้อยู่ในอาคารยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ ถนนราชวงศ์นั่นเอง

เท่านั้นยังไม่พอธุรกิจที่ค่อนข้างจะเป็นส่วนตัวของชาตรี โดยเฉพาะบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจและสินเอเชีย บริษัทหลักทรัพย์เอเชียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่สว่างไม่เกี่ยวและบริษัทของสว่าง เลาหทัยที่ชาตรีไม่มีหุ้น

ความสัมพันธ์ทั้งสองเป็นความสัมพันธ์ทางธุรกิจและประวัติศาสตร์ที่แยกจากกันไม่ออก เมื่อศรีกรุงวัฒนาขยายกิจการออกไปสู่วงการค้าส่งออกพืชไร่ ธนาคารกรุงเทพก็ต้องเต้นตามเพลงหนุนช่วยระลอก หนี้สินที่กลุ่มศรีกรุงวัฒนามีกับธนาคารกรุงเทพในปัจจุบันกว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงเลย

โครงสร้างบริษัทต่างๆ ในกลุ่มศรีกรุงวัฒนามีลักษณะพิเศษ คือการดำเนินธุรกิจซ้ำซ้อน และต่อเนื่องแบบ "ส่งผ่าน" มากกว่าจะเรียกว่าอุตสาหกรรมครบวงจร

การก่อรูปเช่นนี้ดูจริงจังและมีผลต่องบการเงินนับจากปี 2523 เป็นต้นมา บริษัทศรีกรุงวัฒนาถือเป็นบริษัทแม่ดำเนินธุรกิจนำเข้าสินค้าชนิดต่างๆ มาขายและแปรรูปในประเทศ อาทินำเข้าปุ๋ยสูตรขายต่อให้บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีอันเป็นโรงงานปุ๋ยเคมีผสมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ จากนั้นก็ขายต่อให้บริษัทศรีกรุงวัฒนาเพื่อจำหน่ายต่อไป

ต่อมาปี 2525 โครงสร้างธุรกิจศรีกรุงวัฒนายิ่งซ้ำซ้อนและซ่อนเงื่อนมากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2528 มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการของ 2 บริษัท--ศรีกรุงวัฒนาและยูเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ อันปรากฏตำแหน่งงานซ้ำซ้อนกับรวมทั้งตัวบุคคลด้วย

"บริษัททั้งสองทำหน้าที่เหมือนๆ บริษัทเดียวกันในความเป็นจริง แต่ในทางกฎหมายหรือเกี่ยวข้องกับการเดินบัญชี ผู้บริหารจะเลือกตามความเหมาะสมและจำเป็น" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งแสดงทรรศนะ

ผู้ตรวจสอบบัญชีมีชื่อแสดงความเห็นว่า ธุรกิจในเมืองไทยมีลักษณะพิเศษเช่นนี้เสมอ แต่ศรีกรุงวัฒนาจัดรูปบริษัทเช่นนี้ดูเหมือนมีวัตถุประสงค์จะทำให้ยอดขายและสินทรัพย์โตขึ้นกว่าปกติ

ปลายปี 2527 ศรีกรุงวัฒนาประสบวิกฤติการณ์ครั้งรุนแรงในประวัติศาสตร์และยังอิทธิฤทธิ์มาจนทุกวันนี้ คือการลดค่าเงินบาท 17% บริษัทต่างๆ ในกลุ่มศรีกรุงวัฒนาขาดทุนทันทีจำนวนมาก ตัวเลขที่แน่นอนไม่เป็นที่เปิดเผย บ้างก็ว่า 1,600 ล้านบาท บ้างก็ว่ามากกว่านั้น ศรีกรุงวัฒนาและสว่าง เลาหทัยถูกแรงกดดันรอบข้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากธนาคารกรุงเทพ

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2527 ในที่ประชุมใหญ่วิสามันผู้ถือหุ้นบริษัทศรีกรุงวัฒนา สว่าง เลาหทัยกล่าวด้วยเสียงเครือถึงวิกฤติการณ์ครั้งนี้ เขายอมรับความผิดพลาด และประกาศพร้อมที่จะให้คนหนุ่มเข้ามาร่วมชะตากรรมในการบริหารกิจการมากขึ้น ในวันนั้นเองได้มีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการและจัดโครงสร้างของ 2 บริษัทหลักใหญ่คือบริษัทศรีกรุงวัฒนาและยูเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล มีคนหนุ่ม 8 คนเข้าร่วมในคณะกรรมการบริหารพร้อมทั้งโอนหุ้นของตนเองให้คนทั้ง 8 คนนั้น (ไม่ทราบชัดว่าขายหรือให้ฟรี) คนละ 1 พันหุ้น อันเป็นผลให้หุ้นของสว่าง เลาหทัยในบริษัทศรีกรุงวัฒนาลดลงจากเดิมประมาณ 34% เหลือเพียง 24%

สว่าง เลาหทัยประกาศนโยบายพลิกวิกฤติการณ์แบบบริษัทฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ให้พนักงานเข้าถือหุ้นในบริษัทโดยเฉพาะบริษัทยูเอ็มซี ยูเอฟเอ็ม (หลักทรัพย์จดทะเบียน) และธนาคารกรุงเทพ โดยทยอยตัดเงินเดือนพนักงานในแต่ละเดือนจนครบมูลค่าหุ้น

การกระทำของสว่าง ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่พนักงานของศรีกรุงวัฒนา ซึ่งนอกจากไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปี ไม่มีโบนัสปลายปี ยุบบางแผนกงาน ลดคนงานลงจำนวนหนึ่งแล้ว ยังตัดเงินเดือนไปถือหุ้นในบริษัทขาดทุนซึ่งยังมองไม่เห็นทางได้กำไร

แนวความคิดดังกล่าวถูกชักคะเย่ออยู่นาน "ผู้จัดการ" ทราบว่าเพิ่งจะมีผลปฏิบัติเมื่อไม่นานมานี้ บัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัทยูเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ เมื่อ 24 กรกฎาคม 2529 ได้มีพนักงานเกือบ 200 คนเข้าถือหุ้นรวมกัน 0.35% ของทุนจดทะเบียน (500 ล้านบาท) และในระยะไล่เลี่ยกันก็เข้าถือหุ้นมากถึง 34% ในบริษัทยูไนเต็ดไซโลแอนด์เซอร์วิส (ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท)

บริษัทแรกขาดทุนสะสม 347.2 ล้านบาท ส่วนบริษัทหลังกำไรสะสมถึงสิ้นปี 2528 เพียง 5.5 ล้านบาท

ส่วนบริษัทยูไนเต็ดหลาวมิลล์ (ยูเอฟเอ็ม) และธนาคารกรุงเทพ ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนพันนั้น "ผู้จัดการ" ไม่ได้เสียเวลาไปค้น

จากสมมติฐานข้างต้นที่ว่าการจัดรูปบริษัทในกลุ่มศรีกรุงวัฒนาตั้งแต่ประมาณปี 2523 ทำให้ดูสินทรัพย์และรายได้โตมากกว่าที่ควรจะเป็นนั้นแจ่มชัดมากขึ้น หากพิจารณางบการเงินบริษัทต่างๆ เหล่านี้ระหว่างปี 2527-2528

งบการเงิน ณ สิ้นปี 2528 พิจารณาจากบริษัทหลัก (ตามตาราง) จะพบว่ามีรายได้รวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์มากถึง 2.15 หมื่นล้านบาท โดยที่หนี้สินมีเพียง 1.68 หมื่นล้านบาท ดูอย่างเผินๆ เจ้าหนี้ก็ควรสบายใจได้พอประมาณหากไม่มีข้อสังเกตดังที่ "ผู้จัดการ" และผู้ตรวจสอบบัญชีบางท่านแสดงทรรศนะกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งจะว่าต่อไป

หนึ่ง-รายได้ของบริษัทหลายๆ บริษัทเป็นการส่งผ่านสินค้าจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง อาทิ บริษัทศรีกรุงการเกษตรรับซื้อสินค้าพืชไร่ ขายต่อให้บริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (VALUE ADDED) อีกพอประมาณขายต่อให้บริษัทยูเอ็มซี เพื่อทำการส่งออก หากรวมยอดขายทั้งสามบริษัทจะดูมากกว่าจำนวนเงินแท้จริงที่ส่งผ่านทั้งสามบริษัท เป็นต้น

สอง-ตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมาบริษัทในกลุ่มศรีกรุงวัฒนา ได้ถือหุ้นซึ่งกันและกัน (ดูแผนภูมิประกอบ) อันเป็นผลให้จำนวนสินทรัพย์มากขึ้นในทางบัญชีแต่ความจริงไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย หากได้รวมเงินลงทุนในบริษัทเกี่ยวข้องและเงินทดรองให้บริษัทเกี่ยวข้องกลับไปกลับมาแล้ว ยิ่งทำให้สินทรัพย์เพิ่มขึ้นชัดมาก ยกตัวอย่าง บริษัทยูเอ็มซีฯ มีสินทรัพย์ทั้งหมด 4,536 ล้านบาท ประกอบด้วย รายการลูกหนี้บริษัทเกี่ยวข้อง (เกี่ยวข้องโดยการถือหุ้น/กรรมการร่วม) 1,078 ล้านบาทและเงินลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องและบริษัทอื่น 430.1 ล้านบาท และรายการเงินทดรองจ่ายแก่บริษัทเกี่ยวข้องถึง 2,360 ล้านบาท เป็นต้น

จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าสินทรัพย์ของกลุ่มศรีกรุงวัฒนาทำไมสูงลิ่ว เป็นที่สบายใจของเจ้าหนี้เช่นนี้!!

"ผู้จัดการ" ตั้งคำถามเช่นนี้กับสว่าง เลาหทัยแต่ได้รับการปฏิเสธโดยบอกผ่านเจ้าหน้าที่ของเขามาว่า "ธุรกิจในประเทศไทย ยังไม่พร้อมจะชำแหละบริษัทของตนเช่นนั้นได้"

นี่คือมาตรการแก้วิกฤติการณ์สร้างภาพที่ดีโชว์เจ้าหนี้ของสว่าง เลาหทัยหรืออย่างไร?

THE DEAL OF THE YEAR

สว่าง เลาหทัยในปี 2528 เป็นปีที่เขาเหนื่อยมาก ต้องโชว์ฟอร์มทุกระดับ ทั้งลึก (กล่าวมาแล้วในตอนต้น) และกว้าง โดยทะยานออกหาตลาดสินค้าพืชไร่ (โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) อย่างกว้างขวางและไปไม่ท้อถอย มันเป็นสนามรบแห่งเดียวที่เขาคิดว่าโอกาสจะพลิกสถานการณ์เป็นไปได้กว่าทุกทาง ผลของความพยายามของเขานับได้ว่าไม่เหนื่อยเปล่า และยังความภูมิใจจนทุกวันนี้

"…เป็นผู้บุกเบิกขยายตลาดมันอัดเม็ดที่มีเพียงกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ออกไปยังตลาดอื่นๆ เช่น รัสเซีย อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น เป็นผลให้ผู้ส่งออกมันอัดเม็ดไทยมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น…" เป็นจุดเด่นของสว่าง เลาหทัยในประวัติของเขาซึ่งเขามอบให้ "ผู้จัดการ" อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2529 ที่ผ่านมา

"เป็นผู้บุกเบิกการค้าระหว่างประเทศด้วยการทำการค้าตอบแทน (COUNTER TRADE) กับประเทศในกลุ่มสังคมนิยม เช่น รัสเซีย โรมาเนีย เยอรมันตะวันออก ฮังการี เป็นต้น และประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ด้วยการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น แลกเปลี่ยนกับการนำเข้าปุ๋ยเคมี เม็ดพลาสติก…" อีกตอนหนึ่งของจุดเด่น

จากข้อมูลของศรีกรุงวัฒนาระบุว่ามูลค่าส่งออกที่เป็นการค้าต่างตอบแทน ปี 2527 มูลค่า 1,158.9 ล้านบาท ปี 2528 เพิ่มขึ้นเป็น 1,345.8 ล้านบาท และครึ่งปีแรกของปี 2529 ส่งออกได้ 939.2 ล้านบาท

โดยเฉพาะต้นปี 2528 สว่าง เลาหทัยเปิดตัวออกงานอย่างเต็มที่ ประชาสัมพันธ์ของศรีกรุงวัฒนาซึ่งไม่ค่อยมีงานทำนั้นต้องทำงานหนักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ดูเหมือนว่าการทำสัญญาค่าต่างตอบแทนจะกลบข่าววิกฤติการณ์ด้านการเงินของศรีกรุงวัฒนาเพียงชั่วคราวเท่านั้น

15 มีนาคม 2528 ลงนามทำสัญญาการค้าแลกเปลี่ยนระหว่างยูเอ็มซีฯ กับ SOYOZPROMEXPORT and EXPROTKHLEB ของรัสเซียตั้งแต่ 2526-2528 มีโกศล ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ และณรงค์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ มาร่วมงานด้วย เป็นสัญญาส่งออกข้าวโพด 2 แสนตัน/ปี แป้งมันสำปะหลัง 6 หมื่นตัน/ปี และมันเม็ดแข็ง 5 แสนตัน/ปี แลกเปลี่ยนการนำเข้าปุ๋ยเคมี

25 เมษายน 2528 ยูเอ็มซีฯ ลงนามสัญญากับ PHILIPPINE PHOSPHATE FERTILIZER CORPORATION และ NATIONAL FOOD AUTHORITY (NFA) ของฟิลิปปินส์ ส่งออกข้าวชนิด 55% 4.5 หมื่นตันแลกเปลี่ยนกับการนำเข้าปุ๋ยเคมี ณรงค์ วงศ์วรรณ กับประยูร จินดาศิลป์ (รมช. พาณิชย์) มาร่วมงาน

7 พฤษภาคม 2528 ยูเอ็มซีฯ ลงนามสัญญาการค้ากับโรมาเนียตั้งแต่ปี 2529-2533 ส่งออกข้าว 20,000 ตัน/ปี ยาง 20,000 ตัน/ปี ปลาป่น 15,000 ตัน/ปี โปแตซ 10,000 ตัน/ปี กาแฟ 5,000 ตัน/ปี ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 50,000 ตัน/ปี และกากน้ำตาล 15,000 ตัน/ปี แลกเปลี่ยนกับการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์ยาและปุ๋ยเคมี

เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้มีมิตซุย--บรรษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นอยู่ด้วยอย่างแยกไม่ออก ซึ่งคู่แข่งของสว่างมักจะกล่าวว่า ทั้งหมดคือ ผลงานของมิตซุย สว่างเป็นเพียงอีกขั้วหนึ่งที่มิตซุยจับขั้วลบขั้วบวกมาชนกัน

และนี่ก็เป็นที่มาของข่าวการร่วมทุนระหว่างศรีกรุงวัฒนากับมิตซุยเพื่อแก้ปัญหาทั้งขบวนของศรีกรุงวัฒนา ตั้งแต่ปลายปี 2528 การเจรจาอันยืดเยื้อยาวนานพอดูท่ามกลางการเร่งรัดหนี้สินของธนาคารใหญ่ 2 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เพียง 4-5 พันล้านบาทเท่านั้น อันเป็นช่วงที่เริงชัย มะระกานนท์ เข้าเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ใหม่ๆ

ศรีกรุงวัฒนาไม่พอใจการกระทำของธนาคารกรุงไทยพอประมาณ อันส่งผลต่อการเจรจาร่วมทุนระหว่างเขากับมิตซุยต้องล่าช้าออกไป ส่วนธนาคารกรุงเทพนั้นเงียบเชียบมาก แม้ว่าเจ้าหน้าที่อาวุโสบางคนของธนาคารแห่งนี้ซึ่งมีส่วนรับรู้และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "น่าหนักใจ" แต่ทุกคนไม่กล้าให้รายละเอียด "มัน EXCEPTIONAL จริงๆ"

ในที่สุดมิตซุยก็เข้ามาร่วมทุนกับศรีกรุงวัฒนาจนได้!

บริษัทเอ็มเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2529 เริ่มแรกด้วยทุนจดทะเบียน 27 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2529 ได้เพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นประกอบด้วยศรีกรุงวัฒนา 25% ยูเอ็มซี อินเตอร์เนชั่นแนลฯ 25% บริษัทมิตซุยแห่งประเทศญี่ปุ่น 25% และบริษัทมิตรสยามอินเตอร์เนชั่นแนล ตัวแทนการค้าของมิตซุยในประเทศไทยอีก 25%

"เนื่องจากว่าทางมิตซุยมีประสบการณ์ มีโนวฮาวทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งประเทศเราเอง ไม่มีผู้ประกอบการใดที่จัดได้ว่าเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศได้อย่างญี่ปุ่น บริษัท เอ็มเอ็มซี จะดำเนินการในลักษณะที่เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ทั้งทำการค้าแลกเปลี่ยน การค้าระหว่างประเทศที่สาม โดยอาศัยข่ายงานและความสามารถของมิตซุยในการส่งออกสินค้าต่างๆ ของไทยทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม" สว่าง เลาหทัยบอกเหตุผลกับ "ผู้จัดการ"

ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งสำหรับวงการธุรกิจก็คือคณะกรรมการบริษัทเอ็มเอ็มซี. มีทั้งสิ้น 9 คน ประกอบด้วยฝ่ายมิตซุยถึง 5 คน ทาอิโซ คิโยมิเน่ เป็นผู้บริหารคนสำคัญของบริษัทนี้ คนคนนี้มีประสบการณ์การค้าในเมืองไทยมานานพอสมควร ปัจจุบันเขาเป็นประธานของบริษัทมิตซุย (ประเทศไทย) และบริษัทมิตรสยามอินเตอร์เนชั่นแนลอยู่แล้ว

คิโยมิเน่ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเพียงผู้เดียวของฝ่ายมิตซุย สามารถลงนามร่วมกับฝ่ายศรีกรุงวัฒนาเพียงคนเดียวจาก 4 คน (สว่าง เลาหทัย ประเสริฐ ตั้งตรงศักดิ์ สุวิช สุวรุจิพร และจรรยง เจียรกุล)

แหล่งข่าวผู้รู้เรื่องดีกล่าวว่าบริษัทนี้จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทางออกของบริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ ที่ขาดทุนยับเยิน "เอ็มเอ็มซี เข้าซื้อโรงงานและไซโลของเจ้าพระยาพืชไร่ ซึ่งมีการผ่องถ่ายกันต่อไปทั้งทำหน้าที่เกือบทั้งหมดแทนบริษัทยูเอ็มซีฯ ไปด้วย"

การเกิดของเอ็มเอ็มซี เป็นบรรจบความต้องการของสว่าง เลาหทัยกับมิตซุยที่เหมาะเจาะของวิกฤติการณ์ หนึ่ง-สว่างมีทางออกไปอิงฐานการเงินแหล่งใหญ่แหล่งใหม่ ทั้งสามารถรักษาหน้ารักษาชื่อความยิ่งใหญ่ของเขาต่อไปได้ บางกระแสข่าวกล่าวว่า ด้วยเหตุผลนี้ สว่างกับชาตรีจึงไม่คุยกันอีกเลย สอง-มิตซุยซึ่งมีความพยายามคืบคลานเข้าสู่วงการสินค้าพืชไร่และอุตสาหกรรมบรรลุเป้าหมายมากขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จในการแทรกอุตสาหกรรมการเกษตรพื้นฐานของประเทศไทย--อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี โรงงานน้ำตาลบางโรงของกลุ่มบ้านโป่ง อันเป็นคลื่นลูกเดียวของญี่ปุ่นที่โหมการลงทุนสู่ประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งทางการไทยไม่สามารถกำหนดทิศทางได้นั่นเอง

สว่าง เลาหทัย สูงสุดสู่สามัญ

สว่าง เลาหทัย ชื่อเดิม กากัง แซ่เล้า ลูกมังกรพำนักอยู่บริเวณซอยวัดแขก ถนนสีลม บิดาของเขา-ย่งเฮง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวารี) มารดา--ซุกกุ่ย (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกัลยาณี) เขาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2485 ผ่านการเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก รุ่นเดียว (อายุเท่ากันด้วย) กับประเสริฐ ตั้งตรงศักดิ์ เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช (กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรการ บริษัทศรีกรุงวัฒนา) และรุ่นพี่ 2 ปีของสุวิช สุวรุจิพร (กรรมการผู้จัดการบริษัทศรีกรุงวัฒนา) จบแล้วก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยซิบายูระ (SHIBAURA UNIVERSITY) กรุงโตเกียว จบปริญญาตรีแล้วเดินทางกลับประเทศไทยเข้าทำงานบริษัทนิชโชอิวายทันทีเมื่ออายุได้ 23 ปี

ดวงพุ่งแรงงมาก 3 ปีต่อมาได้เข้าทำงานกับเต็กเฮง จึงเฮงมาตลอดจนทุกวันนี้!?

สว่าง เป็นคนโผงผาง พูดจากมักใช้ภาษาสมัยพ่อขุนรามคำแหง สไตล์การทำงานของเขาชอบงานท้าทายความสามารถเป็นงานใหญ่ๆ ผู้ใกล้ชิดและคู่แข่งทางการค้าลงความเห็นต้องกันว่าเขามีสไตล์การดำเนินธุรกิจแบบญี่ปุ่น แต่การบริหารงานแบบจีน

"วันดีคืนดีแกโทรศัพท์หาลูกน้องสัก 5 ราย สั่งให้ทำโครงการใหม่ ด้วยข้อความสั้นๆ หากลูกน้องไม่รู้จักนิสัยก็จะเหนื่อยกันทั้ง 5 คน แต่หากรู้จักแกดี ลูกน้องทั้ง 5 คนจะต้องควานหาจนได้ ว่าคุณสว่างสั่งงานใครบ้าง แล้วมาปรึกษาทำงานร่วมกัน" ลูกน้องคนหนึ่งที่มีประสบการณ์เช่นว่ายกตัวอย่าง

ว่ากันกว่ากลุ่มศรีกรุงวัฒนามีบริษัทในเครือประมาณ 40 บริษัท แต่การปฏิบัติจริงๆ พนักงานบางคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนอยู่บริษัทอะไร เพราะเจ้านายคนเดียวกัน สั่งให้ทำงานสารพัดในเวลาเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนนั้นขยันทำงานและทำงานประสบความสำเร็จ

ผู้ศึกษาวิชาบริหารธุรกิจสมัยใหม่ค่อนข้างจะงุนงงไม่น้อยที่โครงการสร้างการบริหารกลุ่มศรีกรุงวัฒนาไร้ระบบเช่นนี้ ทั้งที่ผู้นำธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ ทั้งโครงสร้างผู้ถือหุ้นมิใช่ระบบครอบครัวด้วย (สมควรจะค้นคว้ากันต่อไป)

ดังนั้นสุวิช สุวรุจิพร กรรมการผู้จัดการจึงเป็นคนที่เหนื่อยที่สุด ถือได้ว่าเขาเป็นคนวางระบบงานของทั้งกลุ่ม สุวิชเป็นคนละเอียดและฉลาดสามารถทำงานในเวลาเดียวกันได้หลายอย่าง ด้วยเหตุนี้กระมังไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ทุกคนจะต้องวิ่งเข้าหาเขา

สว่าง เลาหทัยไม่เคยเซ็นเช็ค มีคนพูดทีเล่นทีจริงว่าการส่งเสริมคนหนุ่ม 8 คน โดยตั้งตำแหน่งโก้หรูให้เมื่อต้นปี 2528 นั้น แท้ที่จริงไม่ได้ทำงานอะไรมากไปกว่าการเซ็นเช็คแทนนั่นเอง

หลายๆ คนเชื่อว่าสว่าง เป็นคนลึกลับ แต่สำหรับพนักงานศรีกรุงวัฒนาแล้ว มิได้เชื่อเช่นนั้น หากเขาอยู่ประตูห้องของเขาจะเปิดตลอดเวลา พนักงานเข้าพบได้ทุกเมื่อ ไม่มีเลขานุการคอยกัน เหมือนนักธุรกิจใหญ่คนอื่นๆ ห้องทำงานของเขาดูคับแคบกว่าทายาทของเจ้าสัวจือเม้ง (มนตรี บุญปิติ หรือสุมิตร เศรษฐพรพงศ์) ด้วยซ้ำ

สว่าง เลาหทัยมีความผูกพันกับญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งมากเป็นพิเศษ ครั้นเมื่อเขาย้ายตัวเองเข้าไปทะเบียนบ้านของภรรยา--สุจิตร ในซอยรางน้ำ ถนนพญาไท ปรากฏต่อมาว่าทะเบียนบ้านหลังนี้ปรากฏชื่อสมาชิกเป็นคนญี่ปุ่นหลายคน

เขาทำงานกับนิชโชอิวายครั้งแรก ถึงแม้จะย้ายมาอยู่ศรีกรุงวัฒนาก็เริ่มร่วมทุนครั้งแรกกับนิชโชอิวาย ตั้งบริษัทเอ็นไอเอ็ม ดำเนินธุรกิจคลังเคมีขนาดใหญ่สำหรับเก็บและจำหน่ายวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ในปี 2517 พร้อมๆ กับร่วมทุนในบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี ต่อมาในปี 2525 นิชโชอิวายก็เข้าร่วมทุนในบริษัทกรุงเทพผลิตเหล็กด้วย จนถึงปี 2528 ได้ร่วมทุนกับโกเบสตีล ตั้งบริษัทบีเอสไอ-โคเบดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษา และกับฟูจิซุปเปอร์มาร์เก็ตดำเนินธุรกิจร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต

การร่วมทุนระหว่างศรีกรุงวัฒนากับญี่ปุ่นไม่มีปัญหาขัดแย้ง แตกต่างจากกับซีกโลกตะวันตก เช่น กรณีโครห์นในเจ้าพระยาพืชไร่ เป็นต้น เมื่อปี 2527-8 ศรีกรุงวัฒนาโครงการใหญ่ร่วมทุนกับทางยุโรปบางโครงการ อาทิโครงการผลิตเม็ดพลาสติกพีพีกับยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเคมีของโลก--HERCULES และกับอังกฤษในอุตสาหกรรมโปแตซ แต่โครงการทั้งสองยังหยุดชะงักมาจนทุกวันนี้

ธุรกิจหลักๆ ของศรีกรุงวัฒนาทุกวันนี้ยังอยู่ที่การส่งออกสินค้าพืชไร่และอุตสาหกรรม (บางส่วน) ปัจจุบันกำลังอยู่ในการควบคุมค่อนข้างมากจากมิตซุย ธุรกิจปุ๋ยเคมี ที่มีบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีเป็นหัวใจ ซึ่งแต่เดิมนิชโชอิวายถือหุ้นเพียง 24% รายงานข่าวล่าสุดแจ้งว่านิชโชอิวายได้เป็นหุ้นใหญ่ในบริษัทนี้แล้วโดยเข้าถือหุ้นประมาณ 60%

แล้วศรีกรุงวัฒนาจะเหลืออะไรอันเป็นมรดกตกทอดมาจากเจ้าสัวจือเม้งบ้าง?

สว่าง เลาหทัยเคยเป็นพนักงานขายให้กับบริษัทการค้าของญี่ปุ่น เส้นทางวันนี้ของเขาจะย้อนกลับไปสู่อดีตเมื่อ 25 ปีก่อนหรืออย่างไร โดยยอมแลกกับการอยู่รอดเพื่อเอาชนะสงครามที่ไม่อาจภาคภูมิใจของเขา ของคนชื่อ สว่าง เลาหทัย!?!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.