|
PTTEPทุ่มงบ1.5หมื่นล.ในออสเตรเลีย
ASTV ผู้จัดการรายวัน(24 กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP ) กล่าวว่า บริษัทฯได้ค้นพบชั้นหินกักเก็บก๊าซธรรมชาติซึ่งมีความหนารวม 81 เมตร จากขุดเจาะหลุมสำรวจโอลิเวอร์-2 ประเทศออสเตรเลีย การพบก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันศักยภาพของแหล่งก๊าซฯทำให้มีโอกาสการขยายการลงทุนต่อเนื่องในออสเตรเลีย รวมถึงการพัฒนาธุรกิจ Floating LNG ( FLNG ) ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้เข้าซื้อสิทธิทั้งหมดในแปลงสำรวจปิโตรเลียม AC/P33 หรือแหล่งโอลิเวอร์ (Oliver field) เมื่อปีที่แล้ว และในเดือนกุมภาพันธ์ 53 นี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้อนุมัติการซื้อขายดังกล่าวแล้ว แปลงสำรวจ AC/P33 หรือแหล่งโอลิเวอร์ (Oliver field) ตั้งอยู่นอกชายฝั่งในทะเลติมอร์ ทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย ครอบคลุมพื้นที่ 421 ตารางกิโลเมตร ห่างจากแหล่ง จาบิรูและชาลลิส ซึ่ง ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 30 กิโลเมตร และอยู่ใกล้แหล่ง ออเดเชียสและแหล่งเทเนเชียส รวมถึงแปลงสำรวจอื่น ๆ ของ ปตท.สผ.ด้วย ซึ่งผู้ถือสัมปทานในอดีตของแหล่งโอลิเวอร์ได้เคยสำรวจพบก๊าซธรรมชาติจากหลุมสำรวจโอลิเวอร์-1 มาแล้วในปี 31
สำหรับแผนงานปี 53 ปตท.สผ.มีแผนจะลงทุนในออสเตรเลีย ประมาณ 15,600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งมอนทารา ขุดเจาะหลุมสำรวจและหลุมประเมินผล 2 - 3 หลุมในแปลงสำรวจ ต่าง ๆ และทำการศึกษารายละเอียดทางด้านวิศวกรรมเบื้องต้นของ FLNG
นายอนนต์ กล่าวต่อไปว่า CPOC ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17 ได้เริ่มการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งมูด้า และแหล่งเจงก้าแล้ว โดยขณะนี้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตจนถึงระดับตามที่ตกลงไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ ปตท. ที่ 135 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีการผลิตคอนเดนเสทที่ประมาณ 4,900 บาร์เรลต่อวัน
โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มระดับการผลิตก๊าซฯเป็น 335 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ภายในไตรมาส 4 ปี 53 นี้ ซึ่งคิดเป็น 10% ของความต้องการก๊าซฯ ภายในประเทศ โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี-17 ประกอบด้วย แปลงบี-17 แปลงซี-19 และแปลง บี-17-01 มีพื้นที่รวมประมาณ 8,000 ตารางกิโลเมตร โดย บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) และบริษัท ปิโตรนาส ชาลิการี (เจดีเอ) เซนเดอเรียน เบอร์ฮาด (พีซี เจดีเอ) ของมาเลเซีย ได้เข้ารับสิทธิในสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงดังกล่าวจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ในปี 37 โดยได้ตั้งบริษัทร่วมทุน Carligari-PTTEPI Operating Company Sdn. Bhd. หรือ CPOC ซึ่งเป็นการร่วมทุนในสัดส่วนฝ่ายละ 50 % เพื่อเป็นผู้ดำเนินการโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17 โดยโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17 จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานให้กับประเทศได้อีกอย่างน้อย 16 ปี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|