|
จับตา 'ไทยแอร์เอเชีย' ชิงผู้นำตลาดหลัง 'อาฟตา' มีผลบังคับใช้
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
กว่า 6 ปีเต็มที่การต่อสู้บนเส้นทางธุรกิจของสายการบินต้นทุนต่ำในเมืองไทยเริ่มจะ มีความชัดเจน สำหรับการเป็นผู้นำทางการตลาดของ 'ไทยแอร์เอเชีย' คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่ากลยุทธ์ที่นำมาใช้อย่างต่อเนื่องของไทยแอร์เอเชียจะ ส่งผลให้เป็นสายการบินที่ประสบความสำเร็จในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนแบบนี้ แม้แต่ในช่วงปีแรกๆ ของการเปิดให้บริการของคู่แข่งขันที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น นกแอร์ หรือวันทูโก ก็ตามต่างก็เคยบอกเอาไว้ว่าการทำตลาดแบบใช้สงครามราคามาสู้กันจะชนะคู่แข่ง ขันได้ก็เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
แต่ทว่าภาพของการแข่งขันไม่เป็นอย่างที่สองสายการบินคู่แข่งคิด เมื่อบทพิสูจน์การแข่งขันเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นหลังจากที่ไทยแอร์เอเชีย ประกาศฉลองครบรอบ 6 ปี ด้วยการขยายฝูงบินป้ายแดงแอร์บัส A320 มากถึง 20 ลำ รวมมีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และสามารถตั้งเป้าทำรายได้จากการขายตั๋วและบริการขั้นต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2552 ราว 4,000 ล้านบาททีเดียว
ขณะเดียวกัน การขานรับกับการเปิดเสรีภาคบริการอาเซียน (AFTA) ที่เชื่อได้ว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ทั้ง 10 ประเทศสามารถเดินทางเครื่องบิน (โลว์คอสต์) ด้วยความถี่และจำนวนมากขึ้นเช่นกัน ว่ากันว่าการนำเครื่องแอร์บัส A320 เข้าแทนที่โบอิ้ง B737-400 จำนวน 6 ลำ ที่จะนำออกจากฝูงบิน พร้อมกับรับเครื่องใหม่เข้าฝูงอีก 2 ลำ เมื่อเปลี่ยนแบบเครื่องบินแล้วนั้นจะทำให้ปริมาณที่นั่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งเป้ารายได้ของไทยแอร์เอเชียที่วางไว้ประมาณกว่า 12,000 ล้านบาท
โดยหลังจากเปิดเสรีทางการบินแถบอาเซียน ทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ยอมรับว่าเป็นโอกาสทองของไทยแอร์เอเชีย ในการเตรียมวางแผนตลาดเพื่อรองรับลูกค้าและเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันใน ธุรกิจการบิน แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มเปิดใช้อาฟตาในส่วนของภาคบริการในปี 2555 ก็ตาม
ว่ากันว่า ไทยแอร์เอเชียเริ่มเตรียมแผนเปิดเส้นทางการบินเพิ่มทันที เพราะเมื่ออาฟตามีผลบังคับใช้แล้ว ส่งผลทำให้ไทยแอร์เอเชียสามารถเตรียมเปิดเส้นทางการบินตรงระหว่างประเทศได้ โดยเส้นทางที่ถูกมองไว้คือกรุงเทพฯ สู่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาสองเส้นทางบินดังกล่าว ไทยแอร์เอเชียมีความสนใจเปิดให้บริการมานานแล้ว แต่ทั้งนี้ยังติดปัญหาเรื่องการจำกัดสิทธิการบินซึ่งปัจจุบันสายการบินไทย เป็นผู้รับสิทธิดังกล่าวเอาไว้ หากเปิดเสรีทางการบินมีผลบังคับใช้จึงเชื่อว่าการแข่งขันของธุรกิจการบินโดย เฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำในเส้นทางระหว่างประเทศจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ
ประเทศไทยเองสำหรับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ อาจจะมีเพียงไทยแอร์เอเชียเท่านั้นที่ส่งเข้าประกวดการแข่งขันในเส้นทางบิน ระหว่างประเทศ เพราะแม้แต่ พาที สารสิน ซีอีโอนกแอร์ ยังออกมายอมรับว่าได้ปรับกลยุทธ์นกแอร์ใหม่เป็นโลว์คอสต์ของการบินไทยไปแล้ว โดยยึดเส้นทางการบินในประเทศเท่านั้น หากไม่แข็งแรงจริงจะไม่ยอมขยายเส้นทางไปต่างประเทศแน่นอน เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ขาดทุนมาแล้วสมัยเปิดบินตรง กรุงเทพฯ-โฮจิมินห์ และบังคาลอร์ (อินเดีย) ดังนั้นจึงปล่อยให้สายการบินไทยให้บริการในเส้นทางระหว่างประเทศ โดยนกแอร์จะรับผู้โดยสารบินต่อภายในประเทศทุกเส้นทาง
ขณะที่ อุดม ตันติประสงค์ชัย ซีอีโอ สายการบิน วันทูโก เริ่มเปลี่ยนเกมการแข่งขัน โดยใช้วิธีชูกลยุทธ์บริการโลว์คอสต์ด้วยการเปิดจุดบินใหม่ๆ ที่สายการบินอื่นให้ความสนใจน้อยที่สุด ล่าสุดมีการเปิดบินประจำ กรุงเทพฯ-นราธิวาส ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ รวมถึงภาคใต้ที่มีศักยภาพและความต้องการอีกหลายแห่ง ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศใช้ศักยภาพของเครื่องบินที่มีอยู่อย่าง โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์สเป็นหัวหอกในการทำตลาด แต่ก็มุ่งเน้นการบินในลักษณะเช่าเหมาลำเป็นหลัก โดยมีเส้นทางยอดนิยมคือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และทวีปไกลๆ ในบางฤดูกาล
เมื่อเป็นอย่างนี้การวางแผนยุทธศาสตร์ของไทยแอร์เอเชียจึงเริ่มขึ้น ด้วยแผนการบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการบินจังหวัดภูเก็ตให้มีความแข็งแกร่ง จากปัจจุบันที่เป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) เชื่อมต่อไปยัง 3 จังหวัด และ 6 เมืองในต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน การเตรียมขยายเส้นทางบินและเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในปีนี้ เพื่อให้สอดรับกับจำนวนฝูงเครื่องบินป้ายแดงแอร์บัส A320 รับเข้าประจำฝูงให้ครบ 20 ลำ ซึ่งปัจจุบันมีประจำการอยู่เพียง 16 ลำ โดยประจำอยู่ที่ภูเก็ต 2 ลำ กรุงเทพฯ 14 ลำ เท่านั้น โดยในปีนี้ไทยแอร์เอเชียประกาศมุ่งการขยายเส้นทางบินไปยังประเทศอินเดียใน 4 เส้นทางหลัก ได้แก่ มุมไบ นิวเดลี กัลกัตตา และไฮเดอราบาด ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการแห่งแรกที่เมืองมุมไบในเดือน เม.ย.นี้ โดยมีการตั้งเป้าขนผู้โดยสารอินเดียมาไทยประมาณกว่า 1.2-1.5 แสนคนทีเดียว
แม้ว่าไทยแอร์เอเชียจะมีเครื่องบินที่เปิดให้บริการอยู่ในมือจำนวนมากแล้วก็ ตาม แต่ด้วยกลยุทธ์สงครามราคาที่ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดให้บริการ ครั้งแรกยังคงมุ่งให้น้ำหนักไปที่การบริการราคาตั๋วที่ถูกกว่าคู่แข่งเป็น หลักเช่นเคย เนื่องจากพฤติกรรมของผู้โดยสารของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ว่ากันว่าเป็นลูกค้าจากทุกกลุ่มที่สามารถใช้บริการโดยสารเครื่องบินได้ ดังนั้น การใช้สงครามราคามาช่วยกระตุ้นสร้างแรงจูงใจจึงเป็นสิ่งที่ไทยแอร์เอเชีย ถนัดและประสบความสำเร็จจากการใช้กลยุทธ์แบบนี้ทำตลาด
ขณะที่ภาพรวมการแข่งขันธุรกิจการบิน โดยเฉพาะ โลว์คอสต์แอร์ไลน์ในปีนี้ ว่ากันว่าผู้ประกอบการสายการบินในประเทศและต่างประเทศ เช่น ไทเกอร์ แอร์ เจ็ตสตาร์ นกแอร์ วันทูโก จะไม่มุ่งการทำสงครามราคาเพื่อจูงใจผู้โดยสารให้มาใช้บริการเหมือนที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่าทุกสายการบินจะตั้งราคาตั๋วโดยสารให้สอดคล้องกับราคาต้นทุน น้ำมันมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนสะสมนั่นเอง
แม้สายการบินต้นทุนต่ำจะหลีกเลี่ยงกลยุทธ์เรื่องราคาก็ตาม แต่ไทยแอร์เอเชียยังคงไม่ประมาทเพราะเป็นสายการบินเดียวที่เล่นเรื่องของ ราคา ดังนั้น ควรหาลูกเล่นใหม่ๆ มาช่วยกระตุ้นผู้โดยสารให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คือการเพิ่มช่องทางจำหน่ายตั๋วโดยสารและระบบเช็กอินผ่านเทคโนโลยีสมัย ใหม่เพื่อประหยัดเวลาและต้นทุนการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นยุทธวิธีที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารสามารถเช็กอินล่วงหน้าผ่าน 'อินเทอร์เน็ต' จากบ้าน สามารถพิมพ์บัตรขึ้นเครื่องได้ทันที วิธีนี้ช่วยลดขั้นตอนเช็กอินหน้าเคาน์เตอร์สนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องมาก่อน เดินทาง 2 ชั่วโมง หรืออีกวิธีหนึ่งทำเช็กอินด้วยตนเองที่จุดคีออสในสนามบิน ส่วนผู้ที่มีกระเป๋าสัมภาระจะจัดเคาน์เตอร์แยกพิเศษไว้บริการเพิ่มเติม
หรือแม้แต่การเปิดขายพื้นที่โฆษณาสินค้ารอบลำตัวเครื่องด้านนอกก็เป็นอีก วิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับไทยแอร์เอเชียอีกทาง ว่ากันว่ากลุ่มหลักมักจะเป็นธุรกิจอาหารและกลุ่มของโทรศัพท์มือถือ โดยมีการตั้งเป้ารายได้จากโฆษณาดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ด้วยการลดราคาลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด ค่าโฆษณาทั้งลำเฉลี่ย 5 ล้านบาท/สินค้า/ปี ส่วนค่าโปรดักชั่นจ่ายตามจริง 1-1.5 ล้านบาท/ครั้ง
ที่ผ่านมาตลอดปี'52ไทยแอร์เอเชีย มีผู้โดยสารคนไทยและต่างชาติใช้บริการประมาณกว่า 5.1 ล้านคน มีรายได้หมุนเวียนประมาณ 8,000 ล้านบาท มีเที่ยวบินประมาณ 120 เที่ยว/วัน แยกเป็นในประเทศ 65 เที่ยว ต่างประเทศ 55 เที่ยว ขณะที่ปี 2553 จะมีการเพิ่มจุดบินใหม่ๆ และความถี่เที่ยวบินไปยังประเทศอินเดียและจีนเป็นหลัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|