|
ยักษ์อีเวนต์ 'อินเด็กซ์ฯ' กางข่ายธุรกิจรับปีเสือ เตรียม 10 โปรเจ็กต์ สานธุรกิจสู่เป้า 1,800 ล้าน
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 กุมภาพันธ์ 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หนึ่งในแนวคิดในการบริหารธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร และคงไม่มีใครเหมือนได้ คิดค้นโดย 2 ผู้บริหารแฝดในธุรกิจอีเวนต์ เกรียงกานต์ และเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ พาองค์กรเดินหน้า ในชื่อ Spider Web Strategy ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา วันนี้ใยแมงมุมของพี่น้องเมฆ-หมอก เริ่มขยายโครงข่ายให้ได้เห็นแล้ว
Spider Web Strategy คือการบริหารองค์กรด้วยการขยายขอบข่ายธุรกิจให้กว้างออกไป แต่ทุกธุรกิจล้วนมีความเชื่อมโยงไปกับธุรกิจเดิม บนพื้นฐานการคิดในแบบ Digital Thinking เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากวิชั่นของสองพี่น้องที่เล็งเห็นว่า ธุรกิจอีเวนต์ที่เป็นแกนหลักของอินเด็กซ์ฯ ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว การจะยืนหยัดรักษาภาพของความเป็นผู้นำในธุรกิจอีเวนต์ โดยไม่คิดจะก้าวขาออกไปหาธุรกิจใหม่ๆ คือ การเปิดประตูรับความถดถอยขององค์กร แต่การขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่จะยืนยันโอกาสความสำเร็จได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงมาจากธุรกิจที่อินเด็กซ์ฯ มีอยู่เดิม
ในปีที่ผ่านมา Spider Web Strategy เริ่มนำอินเด็กซ์ กางโครงข่ายออกไปจากธุรกิจอีเวนต์ไปสู่ธุรกิจสื่อสารการตลาดด้านอื่น ๆ ทั้งธุรกิจโฆษณา, ธุรกิจนิวมีเดีย ทั้งออนไลน์ โมบาย และอินเตอร์แอคทีฟ มีเดีย รวมไปถึงธุรกิจ Personal Branding ทำรายได้ผนวกกับการรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจอีเวนต์ที่รักษาการเติบโตไว้ อย่างต่อเนื่อง แม้ตลาดรวมจะมีมูลค่าลดลง ทำให้อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ปิดงบปี 2551 ด้วยรายได้ 1,505 ล้านบาท เติบโตถึง 11%
ในปีนี้แนวโน้มการเติบโตของอินเด็กซ์ฯ กลับยิ่งสดใสกว่า เพราะเพียงแค่โปรเจ็กต์ Thailand Pavilion ในงานเวิล์ดเอ็กซ์โป 2010 ที่เมืองเซียงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ทำรายได้ก้อนใหญ่ให้แล้ว แต่ Spider Web Strategy กลับทำให้ Thailand Pavilion เป็นเครื่องมือในการขยายโครงข่ายธุรกิจตามมาอีกมหาศาล นับตั้งแต่การจับมือกับบริษัททัวร์สตาร์บริดจ์ ของสาธิต ยุวนันทการุญ เป็นเอเยนซีจัดนำเที่ยวงานเวิลด์เอ็กซ์โปในครั้งนี้ ไปจนถึงการรับเป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรเข้าชมงานเวิล์ดเอ็กซ์โป จากรัฐบาลจีนแต่ผู้เดียวในเมืองไทย และจับมือกับโทเทิล รีเซอร์เวชั่น ในการจำหน่ายในเมืองไทย ที่ลงนามกันมาตั้งแต่ปีก่อน ก็น่าจะส่งดอกออกผลได้ในปีนี้
แต่ Spider Web Strategy ที่มีงานเวิลด์เอ็กซ์โปเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ขยายโครงข่ายธุรกิจไปเพียงแค่นั้น หนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่จะดึงดูดให้ผู้เข้าชมงานจากทั่วโลก เดินเข้าสู่ Thailand Pavilion คือเจ้าหุ่นยนต์ยักษ์ตัวเขียว อินทรชิต ที่ผลิตโดยบริษัทโคโรโร่ ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบผลิตหุ่นยนต์ งานเอนิเมทรอนิกส์ ในเครือซานริโอ้ เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนคิตตี้ที่โด่งดังไปทั่วโลกจากประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นที่มาของการขยายโครงข่ายธุรกิจแรกภายใต้เป้าหมาย 10 โครงการธุรกิจใหม่ ในปีนี้ ของอินเด็กซ์
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน หนึ่งในประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ กล่าวว่า ธุรกิจแรกของปีนี้ ที่อินเด็กซ์ฯ เปิดตัว เป็นความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างอินเด็กซ์ฯ และโคโรโร่ ในการนำองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นของอินเด็กซ์ มารุกตลาดในการทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิต หรือ Live Museum ในประเทศไทย
'ประเทศไทยถือว่ามีพิพิธภัณฑ์มากที่สุดในโลก ทั้งพิพิธภัณฑ์ของรัฐ, พิพิธภัณฑ์เอกชน และที่มีมากที่สุดคือพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่น แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งไว้ ไม่สามารถดึงดูดให้ประชาชนเข้าชมได้ รวมถึงไม่มีระบบการจัดการที่ดี แต่การที่นโยบายของภาครัฐ โดยกรมศิลปากร มีโครงการที่จะทุ่มงบหลายร้อยล้านบาทในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศให้ มีชีวิตสามารถสร้างรายได้ได้ เราจึงเห็นโอกาสในธุรกิจนี้ ซี่งความจริงแล้วก็ไม่ได้ถือเป็นธุรกิจใหม่ เพราะอินเด็กซ์ฯ ก็เคยทำงานในลักษณะนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้โฟกัส เมื่อได้โคโรโร่ ที่มีโนว์ฮาว เทคโนโลยี และโปรไฟล์มากมายมาร่วม จึงถือเป็นโอกาสที่เราจะรุกอย่างเต็มตัว'
โดยแนวคิดในการทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของอินเด็กซ์ฯ คือ การนำเทคโนโลยี สื่อมัลติมีเดีย และการครีเอทเข้าไปปรับปรุงให้พิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมีความน่าสนใจ มีการให้หุ่นยนต์มาเป็นจุดดึงดูด มีระบบการจัดการที่สามารถสร้างรายได้ให้คุ้มกับการลงทุน และมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดผู้ชมด้วย
ด้านฮิโร นิชิโม Area Manager of Asia บริษัท โคโรโร่ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อโชว์ในงานต่างๆ ของโคโรโร่ ไม่ได้ทำเพียงแค่อะนิเมชั่นโชว์ แต่ต้องเป็นไลฟ์โชว์ที่มีเรื่องราวสร้างความน่าสนใจ ในส่วนของการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ก็เช่นเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ให้ความรู้ แต่ต้องสามารถสร้างความน่าสนใจ ดึงดูดให้ประชาชนเดินทางมาชมได้ เพราะในวันนี้ความรู้สามารถหาได้จากสื่อใหม่ๆ อย่างอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก
'การร่วมมือกับอินเด็กซ์ฯ ที่มีความเป็นมืออาชีพในธุรกิจอีเวนต์อันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นอันดับ 9 ของโลก สร้างผลงานที่มีความโดดเด่นด้านงานครีเอทีฟ และการบริหารธุรกิจด้วยกลยุทธ์แปลกใหม่ ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านการผลิตหุ่นยนต์ของโคโรโร่ มาขยายช่องทางต่อยอดธูรกิจ เสริมแต่งไอเดียอย่างสร้างสรรค์ ด้วยสื่อและเครื่องมือด้านการตลาดที่เหมาะสม'
เกรียงไกรกล่าวว่า ธุรกิจพิพิธภัณฑ์มีชีวิตนี้ วางเป้าหมายที่จะรุกทั้งในส่วนของการสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ และการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้โครงการของภาครัฐ อินเด็กซ์ฯ ไม่มีแนวคิดในการลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์เอง โฟกัสแต่การรับปรับปรุง พัฒนา สร้างชิ้นงาน รวมถึงการบริหารการจัดการ ทำประชาสัมพันธ์ สร้างจำนวนผู้ชมให้เหมาะสมกับสถานที่ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจนี้ตนมองเป็นธุรกิจระยะยาวที่แม้จะเริ่มวางแผนแล้วในขณะนี้ แต่กว่าจะเห็นผลงานอย่างเร็วก็คงต้องเป็นปีหน้า แต่มั่นใจว่า จะเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เพราะจะมีหลากหลายหน่วยงานที่มีพิพิธภัณฑ์อยู่ในการดูแล เป็นลูกค้าเป้าหมาย
และนี่คือโครงข่ายใยแมงมุมเส้นแรก ใน 10 เส้น ที่อินเด็กซ์ฯ จะขยายออกในปีนี้ เมื่อรวม 10 โปรเจ็กต์ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ผนวกกับอีก 14 ธุรกิจเดิมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอีเวนต์ และสื่อสารการตลาด เกรียงไกรมั่นใจว่า สิ้นปี 2533 จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท แน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|