เมื่อวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2528 ที่โรงแรมแกรนด์พาเลซ พัทยา ธนาคารกรุงไทยได้มีการจัดสัมมนาผู้บริหารระดับสูงร่วมกับผู้จัดการสาขาทั่วประเทศ
217 สาขา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ธนาคารพาณิชย์ของรัฐแห่งนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น
236 คน
ตามใจ ขำภโต กรรมการผู้จัดการใหญ่ครั้งกระนั้นจึงได้มีโอกาสปราศัยกับผู้จัดการสาขาทั้งหมดเป็นครั้งแรก
และแน่นอนเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเพราะเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2529 ที่ผ่านมาเขาไม่ได้รับการต่อสัญญาจากคณะกรรมการของธนาคารให้อยู่ในตำแหน่งที่เคยครอบครองติดต่อกันถึง
10 ปี
คำปราศัยครั้งนี้มีเนื้อหาใจความที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะแทบจะเป็นการพูดถึงแนวนโยบายของธนาคารกรุงไทยที่เป็นรูปธรรมแจ่มชัดที่สุด
และปฏิรูปมากที่สุดเท่าที่ธนาคารแห่งนี้เคยมีนโยบายออกมา
ลองอ่านดูก่อนนะครับ แล้วค่อยมาวิเคราะห์กันตอนท้าย
"สวัสดีเพื่อนพนักงานธนาคารกรุงไทยทุกท่านที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้
กระผมมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มากล่าวคำปราศัยในพิธีเปิดการสัมมนานักบริหารระดับผู้จัดการสาขาทั่วประเทศในวันนี้
ในการสัมมนาครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้จัดการสาขาทั่วประเทศได้เข้าสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
และรับฟังความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไขการบริหารงานของสาขาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ผู้จัดการสาขาเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ และตัดสินใจในการดำเนินงานต่างๆ
ของสาขา ตลอดจนดูแลบังคับบัญชาพนักงานของสาขาให้ปฏิบัติงานเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่คาดหวังไว้
เป็นผู้สร้างขวัญและภาพพจน์อันดีเพื่อให้พนักงานเกิดกำลังใจร่วมมือกันทำงาน
ทำให้สมรรถภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ผลงานดีไม่มีผิดพลาด
การจัดการสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการสัมมนาทราบถึงนโยบายของธนาคาร
และแนวทางในการสร้างความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานของธนาคารและเสริมสร้างความรู้ความสามารถ
อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้จัดการสาขาทุกท่าน เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสาขาให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดของธนาคาร
แนวนโยบายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารกรุงไทย มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ
1. แนวทางในการดำเนินธุรกิจซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เนื่องจากธุรกิจของธนาคารเป็นธุรกิจทางการเงิน
ซึ่งเป็นธุรกิจที่อ่อนไหว เป็นสินค้าที่มีความผันแปรสูง ในการทำธุรกิจจะต้องมีไหวพริบ
ต้องรู้สภาวะทางธุรกิจล่วงหน้าดีพอสมควร ต้องมีความกระตือรือร้น มีการตัดสินใจ
และศึกษาสภาพของเงินที่เราได้มาอย่างรวดเร็ว เพื่อหาวิธีที่จะให้เงินนั้นเกิดประโยชน์มากที่สุดเพราะเพียงระยะเวลาเพียงวันเดียวอาจจะได้ประโยชน์มหาศาลจากเงินนั้นซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง
2. การแสวงหากำไร เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะถ้าดำเนินธุรกิจแล้วไม่ได้ผลกำไร
ธนาคารคงจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ผลกำไรที่ธนาคารคาดหมายไว้ในปีต่อๆ ไปคงจะดีขึ้น
สิ่งที่ทำให้ธนาคารมีผลกำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากการลงทุนประเภทที่มีผลตอบน้อย
เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาล และการให้กู้ยืมในภาครัฐบาลที่มีผลตอบแทนน้อยซึ่งทั้ง
2 ประเภทนี้จะค่อยๆ หมดไป ซึ่งก็คงจะทำให้สภาวะของธนาคารดีขึ้น อันจะทำให้ธนาคารมีความเจริญเติบโตยิ่งขึ้นต่อไป
3. นโยบายด้านการพนักงาน พนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ธนาคารอยากให้พนักงานทุกคนทำงานให้สบายที่สุด
แต่ธนาคารยังมีความจำเป็นที่จะต้องประหยัด จึงยึดนโยบายที่จะยังไม่เพิ่มพนักงานแต่จะใช้วิธีพัฒนาพนักงานให้มีตวามรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานสูงขึ้น
และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วขึ้น
เป็นที่น่ายินดีว่าธนาคารโดยฝ่ายพนักงานได้ทำการอบรมพนักงานของธนาคารให้ได้รับความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละหลักสูตร
ซึ่งธนาคารคิดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างมากในการอบรมถึงแม้ว่าในปีหนึ่งๆ ธนาคารจะใช้เงินเป็นจำนวนมากในการพัฒนาพนักงานก็ตาม
4. นโยบายเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ และการหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ในกิจการของธนาคาร
จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้นำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกิจการของธนาคาร
โดยใช้สำนักงานใหญ่และขยายไปสู่สาขาเกือบทุกสาขาแล้ว ในสำนักงานมีเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่จะสามารถควบคุมระบบเอทีเอ็ม
ที่ติดตั้งสาขาในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อใช้ในระบบออนไลน์ และเอทีเอ็มพูลจากการที่ธนาคารพยายามจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่ทันสมัยมาใช้ในกิจการของธนาคารทำให้ธนาคารเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น
5. นโยบายด้านการตลาด การตลาดของธนาคารนั้นไม่ใช่ของใหม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องคงจะเข้าใจในการตลาดดี
คนทั่วไปเข้าใจว่า ธนาคารเป็นที่เห็นแก่ตัวและคิดว่าเศรษฐกิจฝืดเคืองก็เป็นผลมาจากธนาคาร
ดังนั้น การตลาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำเราพยายามจะทำการตลาดธนาคารแบบตรงไปตรงมาได้
หรือไม่เราจะต้องกำหนดกลยุทธ์อย่างไรถึงจะครองความเป็นเลิศทางการตลาดธนาคาร
ซึ่งจะฝากให้ผู้จัดการสาขาทุกท่านช่วยกันหาแนวความคิดเพื่อที่จะนำมาปรับปรุงการตลาดธนาคารต่อไป
นอกจากนี้ยังจะต้องคำนึงถึงการระดมเงินฝากว่าทำอย่างไรถึงจะระดมเงินฝากได้มากโดยไม่ต้องเพิ่มทุน
มีคนกล่าวว่าการที่จะได้เงินฝากเพิ่มขึ้นนั้น ควรจะเปิดสาขาเพิ่มขึ้นแต่การที่จะเปิดสาขาเพิ่มนั้นก็จะต้องเพิ่มทุนเป็นจำนวนมากอยู่ดี
สำหรับการบริการลูกค้าการพิจารณาสินเชื่อ การประเมินราคาหลักทรัพย์ ปัญหาทางด้านข้อกฎหมาย
ปัญหาในการนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ การประชาสัมพันธ์และการดำเนินธุรกิจนั้น
สิ่งเหล่านี้ธนาคารใครขอให้ผู้จัดการสาขากลับไปพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปรับปรุง
เพราะท่านทั้งหลายเป็นผู้ใกล้ชิด และประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อธนาคารจะได้นำแนวคิดของพวกท่านมาพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของธนาคาร
ในการสัมมนาครั้งนี้ขอให้ทุกท่านคำนึงว่าในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ เราควรจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาและกำหนดกลยุทธ์ในการทำงานของเราอย่างไร
อย่าไปวิตกกังวลขอให้ใช้ประสบการณ์และกำลังใจในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งจะขอฝากแนวทางและข้อคิดในการแก้ปัญหาไว้ดังนี้.-
1. ประหยัด
2. ความสามัคคี ไม่ว่าจะเป็นความสามัคคีในหน่วยงานหรือระหว่างหน่วยงานก็ตามไม่ต้องหวั่นไหวต่อคำพูดของบุคคลภายนอก
3. ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถด้วยความเต็มใจ และซื่อสัตย์
สุจริต
4 .จริงใจซึ่งกันและกัน ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของะนาคารเป็นที่ตั้ง
5. ยึดมั่นในระเบียบปฏิบัติงาน เพราะจะทำให้การปฏิบัติงานต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี
สิ่งผันแปรและปัญหาต่างๆ อาจจะมีอยู่บ้างแต่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถแก้ไขได้
เพียงขอให้ทุกท่านช่วยกันร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถก็จะทำให้ธนาคารของเราดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี
มีภูมิต้านทานที่ดีและเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับธนาคารของเราต่อไป"
ที่อยากตั้งข้อสังเกตก็ในเรื่องแนวนโยบายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารกรุงไทยในข้อที่
1 และข้อที่ 2 ถ้าหากตามใจ ขำภโต ต้องการที่จะทำตามแนวที่วางไว้จริงๆ แค่ข้อ
1 ก็เห็นได้ชัดๆ ว่า จำเป็นต้องมีการเพิ่มอำนาจกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่โดยลดความสำคัญของคณะกรรมการของธนาคารให้น้อยลง
แนวความคิดนี้น่าจะถูกต้อง เพราะแม้จะได้ชื่อว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐก็ยังจำเป็นที่ต้องมีความคล่องตัวในการบริหารพอสมควร
ไม่ใช่ว่าผู้จัดการใหญ่มีอำนาจอนุมัติวงเงินกู้แค่ 5 ล้านบาท จะให้กู้มากกว่านั้นต้องคอยเข้าที่ประชุมคณะกรรมการที่ประชุมปกติสัปดาห์ละ
1 ครั้ง แถมยังมีกฎเกณฑ์หยุมหยิมเหมือนระบบราชการ (ก็คณะกรรมการมาจากข้าราชการทั้งกระบินี่นา)
ข้อ 2 ยิ่งน่าสนใจที่ตาม ขำภโต ประกาศเลยว่าตั้งเป้าหมายไว้ที่ผลกำไร และระบุอีกว่าการที่ธนาคารกรุงไทยมีกำไรน้อยในอดีตเป็นผลเนื่องมาจากการลงทุนให้พันธบัตรและการให้กู้ยืมภาครัฐบาลที่มีผลตอบแทนต่ำ...โอ้โฮ
กล้าหาญมาก ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่ว่าใหญ่หรือเล็กแค่ไหน ยังต้องก้มหน้าก้มตาซื้อพันธบัตรรัฐบาลปีหนึ่ง
50-60 เปอร์เซ็นต์ที่ออกมา ไม่อย่างนั้นแบงก์ชาติเขาไม่ให้เปิดสาขาใหม่
ไม่นับรายการคุณขอมาอย่างเรื่องน้ำตาล เรื่องชาวไร่อ้อย เรื่องชาวนา จิปาถะที่แบงก์พาณิชย์ต้องเข้าไปช่วย
นี่ธนาคารกรุงไทยที่เป็นธนาคารที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์
มาประกาศว่าจะซื้อพันธบัตรน้อยลง จะให้ก็แก่ภาครัฐบาลน้อยลงเพื่อจะทำกำไรเพิ่มขึ้นให้เป็นที่ยอมรับของสังคม
อย่างนี้จะให้ "ซามูไรบ้าเลือด" ต่อสัญญาให้อีก เห็นจะฝันเฟื่องไปหน่อยละ
ที่ไม่เข้าใจก็คือ การจัดสัมมนาครั้งนี้ก็ดี แนวนโยบายใหม่ที่จะประกาศออกมาก็ดี
ดูเหมือนตามใจ ขำภโต จะมั่นใจเอามากๆ ว่าตนจะได้อยู่บริหารธนาคารกรุงไทยต่อไป
ถามผ่านตรงนี้เลยก็แล้วกันว่า เอาความมั่นใจมาจากไหน...หือ